วัชระ ตันตรานนท์ ยกระดับทุนภูธรสู่สากล

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

วัชระ ตันตรานนท์ เคยเป็นนักธุรกิจที่ต่อสู้เพื่อความคงอยู่ของธุรกิจท้องถิ่นเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อไม่สามารถต้านทานกับกระแสทุนส่วนกลางที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรุนแรงได้ เขาจึงต้องปรับกลยุทธ์แต่กลยุทธ์ใหม่ที่เขานำมาใช้กลับยกระดับให้ ณ วันนี้ เขาไม่ใช่แค่ทุนท้องถิ่นธรรมดาอีกต่อไปแล้ว

หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านแมคโดนัลด์ ที่โดดเด่นบนถนนช้างคลานเยื้องกับไนท์บาซาร์ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองเชียงใหม่ทุกวันนี้ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเคยเป็นที่ตั้งของปั๊มน้ำมันเชลล์ ที่ว่ากันว่ามียอดขายสูงที่สุดในภาคเหนือในขณะนั้น ซึ่งเป็นของวัชระ ตันตรานนท์

ตระกูล "ตันตรานนท์" เคยเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน ตระกูลนี้เป็นเจ้าของกิจการหลายอย่าง อาทิ ห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้าตันติยานันท์ ตลาดช้างเผือก บริษัทเชียงใหม่การเคหะ ฯลฯ

แต่ดูเหมือนว่าจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่หมุนวนอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ชื่อเสียงของตระกูลนี้ถูกพัดเลือนหายจากหูของผู้คนไปเรื่อยๆ

จะเหลือเพียงธุรกิจในสายของวัชระ ตันตรานนท์ ที่ยังคงดูคึกคักและมีก้าวกระโดดอย่างน่าสนใจ

ทั้งๆ ที่เขามิได้เป็น "ตันตรานนท์" ในสายหลัก

วัชระ ตันตรานนท์เคยได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน "50 Role Model" ในส่วนของนักธุรกิจภูธรจากกิจกรรมคัดเลือก "50 Role Model" ที่นิตยสารผู้จัดการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2543

(อ่านรายละเอียดในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2543 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

เขาเคยเป็น 1 ในแกนนำกลุ่ม "บี 12" ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจในเชียงใหม่ ซึ่งพยายามอย่างยิ่งในการต่อสู้กับการรุกคืบของทุนจากส่วนกลางเข้ามาในพื้นที่เมื่อกว่า 20 ปีก่อน

แต่เมื่อไม่สามารถต้านทานการหลั่งไหลของทุนเหล่านั้นได้ เขาปรับกลยุทธ์ไปใช้วิธีการร่วมทุนกับทุนเหล่านั้นแทน

(อ่านเพิ่มเติมจากเรื่อง "เชียงใหม่กึ่งศตวรรษ กงเกวียนกำเกวียน!!??" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2530 หรือใน www.gotomanager.com)

วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ส่งผลกระทบกับธุรกิจของวัชระพอสมควร แต่เขาก็สามารถ ปรับกลยุทธ์จนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้อีกครั้ง

ที่สำคัญ สามารถขยายฐานธุรกิจออกไปได้กว้างไกลกว่าเดิม

ฐานธุรกิจของวัชระ ณ วันนี้ มิใช่เป็นเพียงทุนภูธรหรือทุนระดับประเทศ

แต่เขากำลังคืบหน้ายกระดับตนเองขึ้นไปเป็นทุนระดับสากล

เรื่องราวของวัชระ ตันตรานนท์จึงมีสีสันและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

"ผมทำก่อนคนอื่นเขา พอรายอื่นเริ่มโดดลงมา ผมก็ไปทำอย่างอื่น จับตลาดอื่นแล้ว ไม่ต้องแข่งขันมาก"

เป็นบทสรุปแนวคิดในการลงทุนในระยะ 40 กว่าปีบนเส้นทางธุรกิจของวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกลุ่มวีกรุ๊ป คอนสตรัค ชั่น จำกัด นักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของเชียงใหม่และภาคเหนือที่ล่าสุด เขากำลังกระโดดเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว ในห้วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังปั่นป่วน หลังจากที่เขาสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านบาทได้แล้ว

วัชระบอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ ว่า อาจนับเป็นโชคดีที่เส้นทางธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จมาตลอด ตั้งแต่จบการศึกษาด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งการทำปั๊มน้ำมันบนทำเลทองย่านไนท์บาซาร์ ก็สามารถทำยอดขายได้สูงที่สุดในภาคเหนือ การร่วมทุนกับกลุ่มพรี เมียร์ มาร์เก็ตติ้งของตระกูลโอสถานุเคราะห์ เพื่อขายรถยนต์มิตซูบิชิในเชียงใหม่ ก็เคยทำยอดขายมากกว่าโตยาต้ามาแล้ว รวมถึง การร่วมธุรกิจกับ "บุญทวี ตันตรานนท์" ผู้เป็นป้าสะใภ้ก่อตั้งบริษัทนอร์ทเทิร์น ซัพพลายฯ เพื่อขายสินค้าอุปโภคบริโภค

พร้อมกับการสะสมทุนและแลนด์แบงก์ไว้ในมืออย่างต่อเนื่อง

จากนั้นเขาก็กระโดดเข้าสู่วงการพัฒนาที่ดินเป็นรายแรกๆ ของเชียงใหม่

โดยร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของเชียงใหม่ ในนาม "กลุ่มบี 12" ที่มี "นิตย์ วังวิวัฒน์" เจ้าของชาระมิงค์ อดีตประธาน หอการค้าเชียงใหม่เป็นแกนหลัก และมีโรงเรียน "ลานนาพาณิชย์การ" และโครงการมงฟอร์ต วิลล่า เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม มาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นก็เริ่มปั้นธุรกิจพัฒนา ที่ดินของตนเองทั้งโครงการ "มิสตี้ฮิลล์" อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, บ้านจัดสรรแถบวัด เจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งวัชระ บอกว่า เขาสามารถปิดการขายได้ 100% ภายใน 2 ปี

เมื่อมีผู้เล่นในตลาดบ้านจัดสรรเพิ่ม ขึ้นวัชระก็หันไปจับโครงการคอนโดมิเนียม ที่ยังไม่มีใครลงทุนในเชียงใหม่ในยุคนั้น โดย ใช้บริษัทวีกรุ๊ป คอนสตรัคชั่น เป็นโฮลดิ้งคอมปานีผุดโครงการคอนโดมิเนียม ฮิลล์ ไซด์ 1 ถึง 5 และอื่นๆ เช่น ทาวน์เฮาส์ "เดอะ ฮิลล์เพลส" ฯลฯ

"รวมแล้ว 9 แท่ง 3,000 กว่ายูนิต ที่ผมปลุกปั้นขึ้นมาในเชียงใหม่ จนถึงวันนี้ ผมก็ขายเกือบหมดแล้ว" วัชระกล่าวย้ำ

ปี 2539 วีกรุ๊ปได้ซื้อที่ดินติดถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง ของ "ทนง ศิริปรีชาพงษ์" หรือ ป.เป็ด เนื้อที่ 300 ไร่ ในราคา 1,200 ล้านบาท จากนั้นก็ได้นำบางส่วนของที่ดินแปลงดังกล่าวค้ำประกัน เงินกู้จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ และบริษัทเงินทุนจีซีเอ็น (ทั้ง 2 บริษัทถือหุ้นใหญ่โดยตระกูลโอสถานุเคราะห์) วงเงิน รวมประมาณ 1,800 ล้านบาท ก่อนจะกลายเป็นลูกหนี้ของ ปรส.ในปลายปี 2541 เนื่องจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ถูกสั่งปิด

แต่เขาสามารถประมูลซื้อที่ดินแปลง ดังกล่าวคืนมาจาก ปรส.ได้ในภายหลัง

ที่ดินแปลงนี้กลายเป็นทำเลทองของเขาในเมืองเชียงใหม่ภายใต้โครงการที่ชื่อ "เชียงใหม่บิสสิเนสพาร์ค: CBP" อันเป็น ฐานที่มั่นของวัชระ เพื่อให้เขาต่อยอดสร้าง มูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องทั้งเปิด ให้เช่าพื้นที่ระยะยาว รวมถึงการขยายเครือข่ายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ

เขายังสะสมแลนด์แบงก์เพิ่มเติมทั้ง เขตอำเภอรอบนอกของเชียงใหม่ ทั้งย่าน หางดง-จอมทอง อีกนับพันๆ ไร่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา รอเวลาที่จะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ ตลอดจนโครงการพัฒนาที่ดินอีกหลากหลายรูปแบบในอนาคต

เช่นเดียวกับที่เขาดำเนินการกับ ที่ดินแปลงงามติดถนนสายอ้อมเมือง จ.เชียงใหม่ ประสบผลสำเร็จมาแล้วกับโรงเรียนเชียงใหม่เทคโนโลยีและโรงเรียนวชิรวิชย์ ทั้งระดับประถมในย่านถนนช้างคลานกลางใจเมืองเชียงใหม่ และระดับมัธยม บนพื้นที่บางส่วนของ CBP ในขณะนี้

"เมื่อมีคนมาลงทุนทำคอนโด มิเนียมเพิ่มขึ้น ผมก็หันไปธุรกิจอื่น โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่ผมมองว่า เชียงใหม่ยังขายได้ ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก เพราะมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์อยู่ในตัว แต่ยังไม่ได้รับการเจียระไนจากช่างฝีมือที่ดีพอเท่านั้น" วัชระกล่าว

ด้วยจังหวะที่ยุคหนึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองบ้านเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ ได้รับอานิสงส์ค่อนข้างมากหลากหลายเมกะโปรเจ็กต์ถูกโยกมาลงเมือง เชียงใหม่เพื่อสานฝันให้เชียงใหม่กลาย เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและลุ่มแม่น้ำโขง

วัชระเริ่มปลุกปั้นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวด้วยการนำพื้นที่บางส่วนของ CBP มาต่อยอดลงทุนทำ "คุ้มขันโตก" โชว์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ดึงดูดนักท่องเที่ยว ล่าสุดก็คือโครงการรีสอร์ตสไตล์บูติก "ปริ๊นซ์คุ้มพญารีสอร์ทแอนด์สปา" ที่เพิ่ง Grand Opening ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2552 อย่างยิ่งใหญ่ มีอมรพันธ์ นิมานันท์ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิด พร้อมด้วยนักธุรกิจคนดังในแวดวงสังคมเข้าร่วมคับคั่ง ทั้งเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช., พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ., คะแนน สุภา พ่อตาของเนวิน ชิดชอบ, ยูกิฮิโร วาทานาเบ ประธานกลุ่มโรงแรมปริ๊นซ์ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

วัชระบอกว่า ปริ๊นซ์คุ้มพญาฯ เป็นบูติกโฮเต็ลขนาด 87 ห้อง ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ที่มีรูปแบบสไตล์ ล้านนามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปัจจุบัน เช่น แป้นเกร็ดหลังคาโบราณที่นำมาใช้มากกว่า 1 ล้านแผ่น ล้วนเป็นแป้นเกร็ดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 70 ปี ที่เขาเก็บสะสม มานานร่วม 20 ปี และเชื่อว่าจะใช้ได้อีกนับ 100 ปี, ซุ้มชฎาบริเวณทางเข้าโรงแรม ก็เป็นของเก่าที่มีอายุกว่า 100 ปี วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดกว่า 80% เป็นวัสดุท้องถิ่นที่ผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ เฟอร์นิเจอร์ในห้องพักแต่ละห้องล้วนมีอายุเกิน 50 ปีทั้งสิ้น ขณะนี้พร้อมที่จะเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก

เขามองว่าการท่องเที่ยวเชียงใหม่ยังขายได้โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ของล้านนา แต่บูติกโฮเต็ลที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นแบบบาหลี ทั้งที่เชียงใหม่มีของดีอยู่แล้ว เขาจึงตัดสินใจที่จะทำบูติกโฮเต็ลสไตล์ล้านนาอย่างแท้จริงขึ้นมา นอกจากตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างแล้ว พนักงานจะแต่งกาย แบบล้านนา พูดภาษาท้องถิ่น มีบริการนวดแผนไทยแบบล้านนา ห้องอบสมุนไพร ไทย 100% และอนาคตก็จะมีทั้งอาหารพื้นเมืองและอาหารนานาชาติให้บริการด้วย

การกำเนิดของ "ปริ๊นซ์คุ้มพญาฯ" นับเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสหลักอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เขาสร้างตำนานในวงการอสังหา ริมทรัพย์ของเชียงใหม่มาแล้ว เพราะเป็น การกำเนิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก จำนวนโรงแรมล้นเชียงใหม่ จนมีการประกาศขายกันทั้งระดับ 5 ดาวลงมาจนถึงโรงแรม 2-3 ดาว

แต่วัชระยืนยันว่า ปริ๊นซ์คุ้มพญาฯจะคืนทุนได้ภายใน 7 ปี หรือบางทีอาจจะเร็วกว่านั้นก็เป็นได้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัชระมั่นใจว่าอัตราการเข้าใช้บริการในปริ๊นซ์คุ้มพญาฯ จะสูงจนสามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 7 ปี ก็คือการดึงกลุ่มปริ๊นซ์โฮเต็ล ในเครือ "เชบู" เข้ามาร่วมบริหารนั้นจะทำให้ดึงลูกค้าญี่ปุ่นเข้ามาใช้บริการได้อีกมาก

"เชบู" เป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีทั้งโรงแรมในเครือข่ายมากถึง 56 แห่งทั้งในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน รวม 2-3 หมื่นห้อง อัตราการเข้าพักเกือบ 100% เต็ม ธุรกิจรถไฟใต้ดิน ศูนย์การค้าเชบู สนามกอล์ฟอีก 41 แห่ง ซึ่งบางสนามเป็นสนามขนาด 108 หลุม

ลำพังกลุ่มปริ๊นซ์โฮเต็ลก็มีสมาชิกในเครือข่ายมากกว่า 70,000 คนแล้ว อย่าง น้อยการที่กลุ่มปริ๊นซ์เข้ามาบริหารคุ้มพญา ก็ทำให้คนญี่ปุ่นร่วมแสนคนรู้จักคุ้มพญาเชียงใหม่ทันที

วัชระบอกว่าที่ทำให้เขาตัดสินใจดึง เชนญี่ปุ่นเข้ามาบริหาร ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจรจากันนานกว่า 1 ปี เป็นเพราะ 1. คนญี่ปุ่นมาเชียงใหม่เกือบแสนคนต่อปี ขณะที่ปริ๊นซ์คุ้มพญาฯ มีห้องพักแค่ 87 ห้อง จึงไม่ยากที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาใช้บริการ 2. ในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก คนญี่ปุ่นถือเป็นนักท่องเที่ยวเกรด A ที่ไม่เคยสร้างปัญหา 3. นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็น กลุ่มที่พร้อมใช้จ่ายอย่างไม่อั้น

ด้วยปัจจัยที่ว่านี้ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า จุดคุ้มทุนของปริ๊นซ์คุ้มพญาฯ อาจจะมาถึงเร็วกว่ากำหนด 7 ปี

ล่าสุดหลัง Grand Opening ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว ปรากฏว่าตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นปี 2553 มีนักท่องเที่ยวจองห้องพักเข้ามาเต็ม 100% แล้ว ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปี เชื่อว่าจะมีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 60% แน่นอน

ที่สำคัญสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้อีกในอนาคต

เขามองตลาด Long stay ของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจนถึงขณะนี้ก็มีคนญี่ปุ่นเข้ามาพักอาศัยระยะยาวในเชียงใหม่แล้วกว่า 3,000 ครอบครัว เมื่อเขาสามารถดีลกับกลุ่มเชบู ยักษ์ใหญ่ของธุรกิจญี่ปุ่นแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายความร่วมมือทางธุรกิจสร้าง แหล่งพำนักระยะยาวรองรับคนญี่ปุ่นในอนาคตขึ้นมาอีก

"โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว การลงทุนในอนาคตต้องหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ เข้ามาด้วย" วัชระบอกพร้อมกับย้ำว่า

ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวในหลายๆ ด้าน และอนาคตคงเป็นเรื่องยากมากขึ้นหากจะรอพึ่งแหล่งเงินทุนภายในประเทศเพียงแหล่งเดียว เพราะเงื่อนไขและมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มเข้มงวดมากขึ้น และในวันข้างหน้ายังมีแนวโน้มว่าค่าเงินของไทยจะลดลง การดึงกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและจะทำให้ธุรกิจของทุนท้องถิ่นมีความเป็นสากลมากขึ้น

ขณะนี้เขาก็กำลังดีลกับกลุ่มทุนต่างประเทศหลายราย ทั้งสิงคโปร์ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) ฯลฯ เพื่อร่วมลงทุนในหลากหลาย รูปแบบ ทั้งศูนย์การค้า รีสอร์ต โรงแรม อพาร์ตเมนต์ รวมถึงท่าเรือน้ำลึกที่เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต รองรับเรือท่องเที่ยวขนาด 3-4 พันคนได้ คาดว่าจะเปิดตัวโครงการนี้ในปี 2553

ล่าสุดวัชระนำวีกรุ๊ปสร้างตำนานบทใหม่อีกครั้งหนึ่งในเร็ววันนี้ ด้วยโปรเจ็กต์ ยักษ์ที่กำลังซุ่มเขียนแบบ-เตรียมแหล่งเงินทุนอยู่ในขณะนี้ อันมีทั้งคอนโดมิเนียม และการพัฒนาที่ดินในรูปแบบอื่นๆ ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ที่ว่า

"ทำก่อนที่คนอื่นจะเข้ามาแชร์ตลาด"

ปลายเดือนตุลาคม 2552 วัชระเดินทางไปร่วมงานเปิดตัวโรงแรมในเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา (เชียงรุ่ง) มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ของกลุ่ม King Land Tourism Investment Group และ Haicheng Group พร้อมกับ หารือแนวทางร่วมลงทุนในเชียงรุ่งของกลุ่ม วีกรุ๊ปในอนาคต

หลังจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมปีเดียวกัน วัชระได้นำ Thai Lanna Food & Cultural Center Company Limited ในเครือวีกรุ๊ป ลงนามใน MOU ร่วมกับกลุ่ม King Land-Haicheng Group เพื่อร่วมพัฒนาพื้นที่ในโครงการ "เก้าจวงสิบสองจิ่ง" หรือโครงการเก้าท่า สิบสองเมือง บนพื้นที่ งอกริมฝั่งแม่น้ำโขง วางเป้าเป็นเขตศูนย์ กลางใหม่ช้างเจียงในสิบสองปันนา หวังพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระหว่าง ประเทศในย่านลุ่มน้ำโขงตอนบน, ศูนย์ กลางการท่องเที่ยวในเขตร้อนชื้น, ศูนย์ กลางของแม่น้ำโขงที่จะสัมผัสถึงวัฒนธรรม ชนเผ่าไทลื้อ แหล่งชอปปิ้งริมน้ำโขง ศูนย์ รวมโรงละครใหญ่แม่น้ำโขงสิบสองปันนาฯลฯ

วัชระบอกว่า การลงทุนในจีนยังมีตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้อยู่อีกหลายอย่าง ดังนั้นในเบื้องต้นเขาอาจเข้าไปรับบริหารในส่วนของร้านอาหารริมแม่น้ำโขงในรูปแบบ "คุ้มขันโตก" และรีสอร์ตสไตล์ล้านนา ที่จำลอง "ปริ๊นซ์คุ้มพญาฯ" เข้าไปดำเนิน การแต่จะไม่นำเงินเข้าไปลงทุน 100%

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็อาจจะมีการขยายการลงทุนเพิ่มได้ เพราะตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก เฉพาะ 5 มณฑล ทางตะวันตกเฉียงใต้ ก็มีผู้บริโภคมากกว่า 300 กว่าล้านคน เฉพาะสิบสองปันนาเอง ก็มีเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีน-ต่างประเทศเข้ามามากถึง 12 ล้านคนภายใน 2 ปีต่อจากนี้ หากสามารถดึงนักท่อง เที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาไทยได้ อาจจัดโปรแกรม ท่องเที่ยว 4 ประเทศ 5 เชียง (เชียงราย เชียงใหม่-ไทย, เชียงรุ่ง-จีน, เชียงตุง-พม่า และเชียงทอง [หลวงพระบาง]-สปป.ลาว) ใน 2-3 วัน หรือ 2 คืน 3 วันขึ้นมาได้โดย ผลักดันให้รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศใช้เอกสารบัตรผ่านแดน (Border Pass) แทนวีซ่า

"ขอแค่ 20% ของนักท่องเที่ยวที่เข้า เชียงรุ่งเราก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภาคเหนือมากถึง 2 ล้านกว่าคนแล้ว" วัชระกล่าว พร้อมกับบอกอีกว่าเบื้องต้นเรื่องเอกสารบัตรผ่านแดนหลายฝ่ายได้หารือกัน ทั้งในระดับผู้ว่าราชการและกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ก็เห็นชอบกันในเบื้องต้น กงสุลไทยในคุนหมิงเองก็จะเข้ามาประจำ ที่เชียงรุ่ง 2 วันต่อสัปดาห์ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้

ภายใต้คอนเนกชั่นกับทุนจีนที่กำลัง คืบหน้านั้น วัชระไม่พลาดแน่สำหรับตลาดท่องเที่ยวจีนด้านนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.