การที่ใหญ่ ก็มีข้อดี มีคนเชื่อถือและยกของดีให้


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเล่มที่แล้ว "ผู้จัดการ" เขียนถึงปูนซิเมนต์ไทยว่าใหญ่ไปก็ไม่ดี ก็มีเสียงบ่นจากกลุ่มบางซื่อว่าเสียภาพพจน์

มาเล่มนี้ก็ขอเอาเรื่องใหญ่ไปก็มีข้อดีมาลงให้สบายใจกันบ้าง

เครือซิเมนต์ไทยในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ก็นับว่าเป็นช่วงของการขยายตัวอย่างมาก

การขยายตัวนั้นก็จะตั้งอยู่บนพื้นฐาน Capital Intensive รวมทั้งกิจการนั้นต้องเป็น high Technology และต้องมีวัตถุดิบภายในประเทศด้วย

บริษัทยางสยาม (ไฟร์สโตนเก่า) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการแผ่ขยายของเครือซิมเมนต์ไทย

แต่บางครั้งบริษัทที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของซิเมนต์ไทยนั้น กลับเป็นเพราะว่าบริษัทนั้นต้องการให้เครือซิเมนต์ไทยเอาไปทำเพื่อความเจริญสืบต่อไปโดยไม่ต้องเกี่ยงกันในเรื่องราคาซื้อขาย

และบริษัท IEC ก็คือตัวอย่าง!

บริษัท IEC เดิมทีเป็นของเทียม กาญจนจารี ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท AEC (Almalgamated Engineering) ด้วย

ก่อนนั้น IEC เป็นตัวแทนแทรกเตอร์ยี่ห้อ Caterpillar ก่อนถูก Metro Machinery แย่งเอเย่นต์ไป หลังจากนั้น IEC ก็เป็นเอเย่นต์แทรกเตอร์ของ Fiat Allis Heavy Equipment และสินค้ามีชื่ออีกหลายตัว ส่วน AEC นั้นก็เป็นเอเย่นต์แทรกเตอร์ Tadano

บริษัท IEC ตั้งอยู่บนที่ดินผืนงามริมถนนสุขุมวิท

อาจจะเป็นเพราะ เทียม กาญจนจารี เริ่มเห็นว่าตัวเองอายุมากแล้ว และบรรดาลูกๆ ที่บริหารบริษัท IEC อยู่คงจะไม่สนใจในกิจการบริษัทมากเท่ากับสนใจในด้านอื่น

IEC จึงอยู่แต่ในภาวะของทรงกับทรุด

เทียม กาญจนจารี จึงตัดสินใจขาย IEC

การขาย IEC นั้นไม่ใช่ขายเพื่อเอากำไร แต่เป็นการขายเพื่อให้มีความต่อเนื่องและผู้รับช่วงจะต้องทำความเจริญให้กับมัน เพราะ IEC คือสิ่งที่เทียม กาญจนจารี สร้างมันขึ้นมา มีความรักและผูกพัน

สุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็เคยเข้าไปลองเชิงเพราะที่ผืนงามริมถนนสุขุมวิท แต่เทียมต้องการคนที่มาพัฒนาบริษัทไม่ใช่คนที่มาเอาประโยชน์กับที่ดินของบริษัท

มีผู้เสนอเข้ามารายหนึ่งเป็นกลุ่มบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่กลุ่มหนึ่ง เสนอมาในราคาที่น่าจะตกลงกันได้

แต่เทียม กาญจนจารี ยังไม่แน่ใจ จนกระทั่งเขาคิดถึงซิเมนต์ไทย เทียมเลยยกทั้ง IEC และ AEC ให้กับเครือซิเมนต์ไทยในราคาเพียง 70 กว่าล้านบาท ต่ำกว่าที่กลุ่มรถยนต์ได้เสนอมาหลายสิบล้านบาท

เพียงเพราะเทียมเชื่อว่า IEC และ AEC ภายใต้ปีกของเครือซิเมนต์ไทยจะต้องเจริญรุ่งเรือง

สำหรับเครือซิเมนต์ไทยแล้วการเข้ามารับ IEC และ AEC และจากการซื้อบริษัท Pan Supply ของบุญเกื้อ เหล่าวานิช ซึ่งเป็นเอเย่นต์แทรกเตอร์ Hi-Tech ทำให้เครือซิเมนต์ไทยกลายเป็นเจ้ายุทธจักรในวงการแทรกเตอร์ไปโดยปริยาย

แต่เครือซิเมนต์ไทยก็คงจะได้ใช้ประโยชน์กับบรรดาแทรกเตอร์เหล่านี้แน่ๆ จากการที่มีเหมืองหินอยู่มากมายซึ่งต้องการอุปกรณ์ประเภท Heavy Equippment อีกมาก

เห็นหรือยังว่าบางทีใหญ่เกินไปก็มีข้อดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.