วิชา พูลวรลักษณ์ Recovery Mission

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับบริษัทในตลาดหุ้นแล้ว วลีที่บอกว่า "สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" อาจมีความสำคัญน้อยกว่าวลี "วีรบุรุษตัวจริงจำเป็นต้องอยู่ในทุกสถานการณ์" โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจผลิกผันจนเกินคาดเดา

"กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผมพยายามทำตัว low profile มาก รู้สึกไม่อยากเป็นข่าว แต่ตอนนี้คิดว่าคงต้องออกสื่อบ่อยขึ้นแล้ว"

แม้ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติแต่ก็เกือบ เป็นกิจวัตรที่เกิดขึ้นทุก 2 ปีที่มักต้องมีสถานการณ์หรือสัญญาณบางอย่างกระตุ้น ให้ผู้จัดการ 360 ํ ต้องมีโอกาสได้สนทนา กับ "วิชา พูลวรลักษณ์"

หลังจากกลางปี 2550 ที่นิตยสารผู้จัดการนำเสนอแนวคิดและการทำงานของแม่ทัพแห่งเครือเมเจอร์ฯ ในฐานะที่เป็น Role Model ที่ได้รับการปรับอันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว (อ่านเรื่อง "วิชา พูลวรลักษณ์ King of Entertainment & Lifestyle" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2550 หรือใน www.gotomana ger.com ประกอบ)

สัญญาณที่เป็นเหตุจูงใจในครั้งนั้นคืออันดับของวิชาที่ได้จากการโหวต Role Model ของผู้อ่านนิตยสารผู้จัดการ ซึ่งก้าวกระโดดจากอันดับที่ 25 ในปี 2549 ขึ้นสู่อันดับที่ 9 ในปี 2550

พร้อมข่าวการลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีกว่า ก่อนการสัมภาษณ์ ซึ่งมีข่าวเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเกือบทุกครั้งจะมีวิชาเป็นผู้ออกข่าวเอง

ด้วยปัจจัยเหล่านั้นผลักดันให้ Market Cap. ของ MAJOR ณ สิ้นปี 2549 สูงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท รายได้รวมกว่า 5 พันล้านบาทและกำไรสุทธิเกือบ 700 ล้านบาท

ความแรงของ MAJOR ครั้งนั้นส่งผลต่อเนื่องมาจนสิ้นปี 2550 โดย Market Cap. กระโดดไปถึงกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท รายได้รวมกว่า 6.7 พันล้านบาทและกำไรสุทธิกว่า 1.2 พันล้านบาท โดยมี ROA และ ROE อยู่ที่ 17.66% และ 25.07% ตามลำดับ หนุนนำ ให้ราคาหุ้นกระโดดจาก 16.4 บาทไปถึง 19 บาท

ทว่า การกลับมาเจอกันครั้งนี้ดูเหมือนเมเจอร์ฯ กำลังฉายหนังคนละเรื่อง...

Market Cap. ของ MAJOR ณ สิ้นปี 2551 เหลือเพียงราวๆ 6 พันล้านบาท รายได้รวมเหลือ 5.7 พันล้านบาท กำไรลดลงเกือบ 50% เหลือเพียง 626 ล้านบาท ขณะที่ ROA และ ROE เหลือเพียง 10.44% และ 11.34% ตามลำดับ ส่วนราคาหุ้นรูดกราวเหลือ เพียง 6.95 บาท

สถานการณ์ยากลำบากยังส่งผลต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ แม้ว่า Market Cap. เมื่อสิ้นไตรมาส 3 ขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่เกือบ 7.5 พันล้านบาท แต่รายได้สถิตที่ 4.1 พันล้านบาท มีกำไรเพียง 162 ล้านบาท ส่วน ROA และ ROE ไม่ถึง 5%

ขณะที่อันดับ Role Model ของวิชา หล่นจากอันดับที่ 17 เมื่อปี 2551 มาอยู่ที่อันดับที่ 29 ดูสอดคล้องกับผลประกอบการของ MAJOR ในปีนี้

จากตัวเลขผลประกอบการ ณ วันที่ผู้จัดการ 360 ํ พบกับเขาอีกครั้ง (15 ธันวาคม 2552) มีสัญญาณเพียงตัวเดียวที่ทำให้วิชายิ้มได้คือราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นไปที่ 8.50 บาท

"เราซื้อหุ้นคืน (treasury stock) ไว้ที่ราคา 6.50 บาท ราคาวันนี้อยู่ที่ 8.50 บาท ถ้าขายวันนี้เราก็กำไรเข้าบัญชีแล้ว 100 ล้านบาท แต่เรายังมีงานต้องทำอีกมาก" วิชากล่าว

ว่าไปแล้ว ตัวเลขที่ลดลงเหล่านี้ส่วน หนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งทุกบริษัทในเกือบทุกอุตสาหกรรม ในเมืองไทยต่างก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ ความวุ่นวายทางการเมืองไทย และไข้หวัด 2009

แต่อีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพหุ้นของ MAJOR อย่างมาก ก็คือตัววิชาเอง

2 ปีก่อนหน้านี้วิชาค่อนข้างเก็บตัว พยายามไม่ไปเปิดงานบ่อยๆ เหมือนกับเมื่อ 3-4 ปีก่อน หรือหากงานไหนที่เขาต้อง ไปเขาก็มักจะหนีหน้าจากสื่อมวลชนและช่างภาพ เพื่อให้ผู้บริหารคนอื่นของเมเจอร์ฯ ได้เป็นข่าวและเป็น speaker แทน

"ไม่อยากให้เวลาที่คนมองเข้ามาในเมเจอร์ฯ แล้วเห็นแต่ "มิสเตอร์วิชา" เพียงคนเดียว" วิชากล่าวไว้ตั้งแต่การสนทนาครั้งก่อน

นี่จึงเป็นเหตุให้กว่า 2 ปีที่ผ่านมา กองเชียร์ MAJOR หลายคนสงสัยว่า "พ่อมดโรงหนัง" คนนี้หายหน้าไปไหน

"แต่ตอนนี้คงต้องเป็นเราแล้ว พูดตรงๆ เดี๋ยวผู้ถือหุ้นไม่ happy" วิชากล่าว ด้วยสีหน้าจริงจัง

"ก่อนนี้ผมก็ยังไม่เชื่อ กระทั่งบริษัท วิเคราะห์แห่งหนึ่งมาบอกผมว่า ตั้งแต่ผมกลับมา เขาดีใจมาก เพราะทำให้คนในบริษัทมีความมั่นใจที่จะเชียร์เมเจอร์เพิ่มขึ้น ผมก็ต้องรับทราบและเอามาเป็นนโยบาย แล้วก็บอกฝ่ายพีอาร์ให้ใช้งานผมเยอะๆ" เขากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

นอกจากความสบายใจของผู้ถือหุ้น และกองเชียร์ วิชายังพบว่าการตัดสินใจในหลายเรื่องจำเป็นต้องเป็นเขาคนเดียว เพราะหลายครั้งถึงจะเป็นการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อผล ประกอบการของเครือเมเจอร์ฯ ได้อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

"อย่างราคา student price ไม่ใช่จะเคาะก็เคาะได้เลย ต้องชวนเชื่อบริษัทหนังทุกราย ต้องไม่แคร์เรื่องคู่แข่ง แล้วยังมีเบื้องหลังการถ่ายทำอีกเยอะ เรื่องแบบนี้ ผู้บริหารหลายคนยังไม่กล้าตัดสินใจ ก็ต้อง เราคนเดียว" วิชายกตัวอย่าง

แคมเปญ "Student Price" เป็นหนึ่งในหลากหลายกลยุทธ์ที่เมเจอร์ฯ ใช้กระตุ้นตลาดที่ซบเซานับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว

นอกจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น ณ วันที่สนทนา ยังมีอีกเหตุที่ทำให้วิชายิ้มกว้างได้ นั่นคือการเปิดตัว "เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย" กับสื่อมวลชน

ก่อนที่จะมีงานเปิดตัวอย่างอลังการในวันรุ่งขึ้น โดยมีทั้งไฮโซ-ซีเล็บฯ ดารานักแสดง และนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย และนักธุรกิจในอุตสาหกรรมหนังจากต่างประเทศมาร่วมยินดีคับคั่ง

วิชาทุ่มทุนพันล้านบาทและทุ่มเทเวลากว่าปีครึ่งในการเนรมิตโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์รวมความบันเทิงที่หรูและใหญ่ที่สุดบนถนนรัตนาธิเบศร์ ด้วยพื้นที่

กว่า 6.7 หมื่นตารางเมตร กับ 16 โรงภาพยนตร์กว่า 4,000 ที่นั่ง โบว์ลิ่ง 24 เลน คาราโอเกะ 13 ห้อง และลานไอซ์สเกตเรืองแสงขนาด 1,500 ตารางเมตร

ไฮไลต์ที่เขาภูมิใจนำเสนอ ได้แก่ M Max โรงหนัง 3 มิติที่พิเศษด้วยจอภาพ ขนาดใหญ่ที่ไร้ขอบจำกัดแบบ Ceiling to Floor และ Wall to Wall พร้อมด้วยเทคโนโลยีความสว่างที่วิชาการันตีว่าถ้าใคร มาดู AVATAR ที่นี่ก็จะไปดูหนัง 3 มิติที่อื่น อีกไม่ได้แล้ว

อีกไฮไลต์อยู่ที่การผสมผสานความบันเทิงทั้งหลายให้เชื่อมโยงกันด้วยเลย์เอาต์ ที่สามารถมองทะลุเห็นกันได้หมด ทั้งลานไอซ์สเกตและโบว์ลิ่ง

ที่ขาดไม่ได้คือดีไซน์ ซึ่งวิชามักจะมีส่วนลงลึกในรายละเอียดการตกแต่งโรงหนังใหญ่ๆ เกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะชั้น โรงหนังที่นี่ ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายโรงแรมหรูมากกว่าที่จะเป็นโรงหนัง

"เราก็อยากให้ทุกคนเห็นว่าธุรกิจบันเทิงของเมืองไทยมาไกลถึงแค่ไหนแล้ว"

ทุกคนที่วิชากล่าว หมายรวมไปถึงนักธุรกิจในวงการโรงหนังจากทั่วโลก เพราะที่นี่จะถูกใช้เป็น "เรือนรับรอง" ที่คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของเขาจากนี้ไป

และเขายังหวังว่าจะใช้ที่นี่เป็น flagship สำหรับโชว์กับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้คู่ค้าได้เข้าใจว่าอะไรคือความเป็น "เมเจอร์"

ช่วง 2 ปีที่วิชาเก็บตัวเงียบ เขายังทำโปรเจ็กต์สำคัญอีกชิ้น ได้แก่การขยายธุรกิจไปที่อินเดีย ซึ่งนับว่าเป็นก้าวย่างสำคัญในการ go inter ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นผู้นำในในระดับภูมิภาคของกลุ่มเมเจอร์ อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของวิชา

ทั้งนี้ เมเจอร์ฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัทพีวีอาร์ ซีนีม่าร์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโรงหนังของอินเดีย เมื่อต้นปี 2551 โดยมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มก็เพื่อลงทุนในธุรกิจ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ และไอซ์สเกตในประเทศอินเดีย โดยเมเจอร์ฯ ถือหุ้น 49% ในบริษัทร่วมทุนนี้

สำหรับเป้าหมายใน 3 ปีแรก เขาหวังว่าจะเปิดโบว์ลิ่งในอินเดียอย่างน้อย 200 เลน ภายใน 5 ปี เมเจอร์ฯ น่าจะมีสาขาในอินเดียอย่างน้อย 20 สาขา กระจายตาม 15 เมืองใหญ่ของอินเดีย โดยเปิดในโรงหนังของพีวีอาร์ที่มีอยู่แล้ว หรือศูนย์ที่สร้างขึ้นใหม่

ปัจจุบัน พีวีอาร์ฯ มีโรงหนังทั้งสิ้นเพียง 100 กว่าโรง และมีสาขากว่า 20 สาขา ขณะที่กลุ่มเมเจอร์ฯ มีโรงหนังกว่า 350 โรง มีสาขาเกือบ 50 สาขาและยังมีธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ และไอซ์สเกต

สถานภาพปัจจุบันของพีวีอาร์ฯ ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้วิชาอยากกระโดดออกมาเล่นในตลาดอินเดีย หากแต่เป็นการเติบโตในอนาคตของพีวีอาร์ฯ และศักยภาพของตลาด อินเดียที่มีแรงดึงดูดมหาศาล

ในจำนวนประชากรอินเดียกว่า 1,000 ล้านคน คาดว่าจำนวนคนที่มีกำลังซื้อสูงอาจมีมากกว่า 250 ล้านคน ขณะที่อัตราการขยายตัวของประชากรสูงกว่า 18 ล้านคนต่อปี

สำหรับอัตราการเติบโตของพีวีอาร์ฯ วิชาเชื่อว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ ขนาดของพีวีอาร์ฯ จะโตเท่ากับหรือมากกว่าเมเจอร์ฯ เพราะพีวีอาร์ฯ สามารถโตได้ปีละ 80-90 โรง ขณะที่เมเจอร์ฯ อาจโตได้เพียง 30-40 โรง

เป็นเวลาเพียงปีกว่าหลังจากไปชิมลางในดินแดนภารตะ วิชามองเห็นโอกาสทางธุรกิจในอินเดียชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากผลตอบรับและตัวเลขกำไรที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้น เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว วิชาจึงตัดสินใจลงทุนเพิ่ม

แต่ครั้งนี้เขาเลือกถือหุ้น PVR ของบริษัท PVR Limited ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของพีวีอาร์ฯ ในสัดส่วน 10% ตามมติคณะกรรมการบริหารของเครือเมเจอร์ฯ ทั้งที่จริง วิชาอยากถือมากกว่านี้ แต่ว่าวันนี้หุ้น PVR ก็วิ่งขึ้นไปแล้วอย่างรวดเร็ว

"งานนี้ผมไม่ได้เหนื่อยมาก เพราะเราให้พีวีอาร์ฯ ทำงาน ผมแค่ลงทุน knowledge และ know-how เป็นหลัก ช่วยเขาวางโรดแมพและกลยุทธ์บ้าง รอว่าวันใดที่เราสามารถ ยกโมเดลของเราไปตั้งที่อินเดียได้เลย วันนั้นเราจะโตจนผมคงเป็นลมไปเลยด้วยความเหนื่อย" วิชาตระหนักดีว่ายังเป็นแค่ความฝัน แต่เขาก็หวังว่าจะเป็นฝันที่เป็นจริงสักวัน

ทั้งนี้ การบุกตลาด "Bollywood" ของวิชา เชื่อว่าเขาคงไม่ได้หวังเพียงผลตอบแทน เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่เขากำลังคิดจะเล่นอะไรสนุกๆ กับ "คอนเทนต์" จากอินเดีย

"ทุกวันนี้ ไม่มีอะไรที่เมเจอร์ฯ ทำร่วมกับอินเดียไม่ได้ ผมว่าทำได้หมด อยู่แค่ว่า ถึงเวลาเมื่อไร เท่านั้นเอง"

จริงๆ แล้ว ก่อนนี้วิชาเคยวางแผนขยายไปยังเวียดนาม แต่หลังจากวิกฤติแฮมเบอร์ เกอร์จนมาถึงดูไบเวิลด์ เขาพบว่าประเทศที่เติบโตจากการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) อย่างเวียดนาม มักจะเกิดปัญหาทันทีที่มีวิกฤติเศรษฐกิจสักแห่งของโลก

ดัชนีชี้วัดที่วิชาอ้างอิงคือตัวเลขการเพิ่มขึ้นของโรงหนังในปีหน้าของเวียดนามที่เป็นศูนย์

ขณะที่หลายคนคาดเดาว่าเมเจอร์ฯ น่าจะกำลังมองเมืองจีนเป็นอีกตลาดสำคัญ ในอนาคตเหมือนกับหลายธุรกิจ แต่สำหรับ วิชา เขามองว่าถ้าเมเจอร์ฯ เข้าไปจีนวันนี้ คงช้าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดินที่สูงลิ่ว และความพึ่งพาที่พาร์ตเนอร์จำเป็นต้องใช้ know-how และ knowledge ของเมเจอร์ฯ ก็คงไม่มีแล้ว

"ต้องยอมรับว่าวันนี้เราล้าหลังกว่าจีนแล้ว เพราะฝรั่งเข้าไปลงทุนในจีนเต็มไป หมดแล้ว คนจีนก็เรียนรู้ knowledge และ know-how จากฝรั่งเยอะแล้ว เขาก็คงไม่มี อะไรต้องมาพึ่งเราอีก เราอาจจะถูกเขาสอน เอาด้วยซ้ำ ฉะนั้นเค้กก้อนนี้ถึงจะใหญ่ก็ไม่มีเหลือมาถึงเราแล้ว"

จากคำตอบเป็นการยืนยันว่าโฟกัสของวิชาในช่วง 1-2 ปีนี้น่าจะอยู่ที่อัตราการเติบโตในตลาดเมืองไทยและอินเดียเป็นหลัก

นอกจากนี้ช่วงที่ห่างหายไป วิชายัง ซุ่มเตรียมการหลายอย่างเพื่อปูทางนำเครือ เมเจอร์ฯ เข้าสู่ธุรกิจหนังแผ่นอย่างเต็มตัว

เริ่มจากการทยอยเข้าไปถือหุ้นจน ถึงควบกิจการกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และหนังแผ่น โดยผ่านบริษัทในเครืออย่างบริษัทเอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

ผลพลอยได้ก็คือ เมเจอร์ฯ จะมีขีด ความสามารถในการพัฒนาธุรกิจหนังตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิต จัด จำหน่าย ช่องทางขาย และโปรโมต

นี่ย่อมหมายความว่า เครือเมเจอร์ฯ กำลังจะมีเครื่องจักรผลิต "คอนเทนต์" ป้อนเข้าโรงหนังตัวเองด้วย โดยหนังเรื่องแรกที่เป็นผลงานของกลุ่มเมเจอร์ผ่านทาง MPIC คือ "32 ธันวา" นำแสดงโดยแดน วรเวช, สายป่าน อภิญญา และโหน่ง ชะชะช่า เป็นต้น

"โรงจะอยู่ได้ถ้ามีคอนเทนต์ ที่ผ่านมาบางช่วง เจ้าของหนังก็จะเลือกลงโรงในช่วงเวลาดีๆ หรือตอนที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง บริษัทหนังฮอลลีวู้ดก็ไม่อยากจะเอาหนังมาลงช่วงนั้น แต่โรงหนังต้องกินทุกอาทิตย์ เมื่อเราทำคอนเทนต์ขึ้นเอง เราก็บริหารจัดการได้และก็ยังช่วยกระตุ้นตลาดได้ด้วย" วิชารีบอธิบายโดยไม่รอให้ถูกถามเรื่องการผูกขาดตลาด

ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ที่เป็นหนัง วิชามองว่า Sport Live ที่อยู่ในความสนใจระดับโลกอย่างฟุตบอลโลกที่กำลังจะมาถึง อาจจะเป็นคอนเทนต์นำเสนอในโรงหนัง ได้เหมือนกัน อีกกลยุทธ์ในการกรุยทางเข้าสู่ตลาดหนังแผ่นของกลุ่มเมเจอร์ฯ คือความพยายามในการป้องกันและ กำจัด "แผ่นผี" ด้วยวิธีการต่างๆ นานา จนดูเหมือน ว่าวิชากำลังตั้งตัวเป็น "พี่ใหญ่" ในอุตสาหกรรมหนังไทย เพื่อการปราบปรามแผ่นผีและจัดระเบียบธุรกิจหนังแผ่น

"ก่อนที่ผมจะเข้ามา ดูไม่มีระบบ ราคาก็ขายมั่ว แผ่นผีก็เยอะ ก็เลยต้องมาจัดระเบียบกันหน่อย ทั้งเรื่อง โครงสร้างราคา การจัดจำหน่าย และเรื่องอื่นๆ"

แม้หลายคนไม่เชื่อว่าการจัดระเบียบหนังแผ่นจะเกิดขึ้นได้ แต่จากประสบการณ์และความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงหนัง ทำให้วิชามั่นใจว่าเขาจะทำได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปี

ความพยายามในการจัดระเบียบธุรกิจหนังแผ่น ของเครือเมเจอร์ฯ มาจากความเย้ายวนของตลาดหนัง แผ่น ซึ่งวิชาเชื่อว่ามีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจหนังของเขาอย่างน้อย 2.5 เท่า เทียบเท่าหลักหมื่นล้านบาททีเดียว

อีกก้าวสำคัญบนเส้นทางหนังแผ่นของเมเจอร์ เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ได้แก่การแต่งตั้ง "เผด็จ หงษ์ฟ้า" อดีตเจ้าของ บมจ.ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (MPIC)

วิชาบอกว่า ถ้าทุกคนยกย่องให้เขาเป็นเจ้าพ่อธุรกิจโรงหนัง เจ้าพ่อแห่งธุรกิจหนังแผ่นก็คือ เผด็จ หงษ์ฟ้าคนนี้

ด้วยฝีมือของเผด็จ วิชามั่นใจว่าอุตสาหกรรมหนังแผ่นจะมีความหวังมากขึ้น

ภายใต้วิสัยทัศน์ของวิชา เผด็จก็ปักใจเชื่อว่าความรุ่งเรืองของหนังแผ่นจะย้อนกลับมาอีกครั้ง โดยเผด็จตั้งเป้าจะปั้น MPIC ให้ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในตลาดนี้ให้ได้ภายในปีนี้

ระหว่าง 2 ปีกว่าที่วิชาพยายามหลบสื่อ เขาก็ยังมีข่าวที่สร้างความแปลกใจให้ สื่อมวลชนออกมาให้ฮือฮา ได้แก่ข่าวการเปิดโรงแรมหรูถึง 2 แห่ง คือ VIE Hotel ที่กรุงเทพฯ และ VIE Villas ที่หัวหิน ใช้เงินลงทุนรวมกันกว่า 1.5 พันล้านบาท โดยว่าจ้างเชนแอคคอร์มาเป็นผู้บริหาร

"หลักของผมคือทำโรงหนัง ฉะนั้นผมไม่ใช้เวลากับโรงแรมในแง่การจัดการ ผมแค่อยากสร้างในสิ่งที่ผมชอบและก็ทำโรงแรมเป็นงานอดิเรก ผมว่าก็ท้าทายตัวเองดี"

นับตั้งแต่เปิดตัว โรงแรมของวิชาใช้เป็นที่จัดการประชุมระดับผู้บริหารของเครือเมเจอร์อยู่หลายครั้ง ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงรับรองพันธมิตรทางธุรกิจก็หลายครา และมักให้เช่าใช้เป็นสถานที่จัดงานเปิดตัวสินค้าแบรนด์หรูอยู่เป็นประจำ

ส่วนคืนส่งท้ายปีเก่าที่ผ่านมา โรงแรม VIE หัวหินใช้เป็นสถานที่เลี้ยงฉลองปีใหม่แบบเป็นส่วนตัวของครอบครัววิชา

แม้ว่ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวของวิชาจะค่อนข้างเงียบหายไปจากกระแสความสนใจของสื่อมวลชนอยู่บ้าง แต่จากการสนทนาครั้งนี้ ผู้จัดการ 360 ํ ก็ยังคงสรุปได้ว่าเขายังคงเป็น CEO ที่ทำงานหนัก เพื่อการวางรากฐานให้กับเครือเมเจอร์ฯ สังเกตได้จาก ตารางการทำงานที่ยังคงแน่นขนัด ไม่ต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อน

ทั้งที่วิชาเคยบอกว่าน่าจะมีเวลาให้กับลูกเพิ่มขึ้น เพราะเขาน่าจะเริ่มวางมือจากการลงรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ได้แล้ว น่าจะใช้เวลาในการประชุมน้อยลง เพราะเขาจะเข้าประชุมเฉพาะวาระสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารคนอื่นได้แสดงบทบาทและ ความสามารถมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเป็น "สถาบัน" ของเมเจอร์ฯ ตามที่เขาปรารถนา จะให้เกิดในเร็ววัน

"ถ้าทำแบบนั้นแล้วราคาหุ้นขึ้นไป 30 บาทก็อาจจะทำต่อแต่นี่หุ้นหล่นมาเหลือ 8.50 บาท ก็คงทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนแนวทาง ซึ่งเมื่อทำอย่างนี้แล้วทุกคน happy มากกว่า เราก็ต้องกลับมา" วิชากล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องยอมรับความจริงข้อนี้ให้ได้

ทว่า ในระยะยาว สิ่งที่วิชาต้องทำเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับหุ้น MAJOR นั่นก็คือ พยายามสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับเครือเมเจอร์ฯ และหุ้น MAJOR

ทั้งนี้ การขยายสาขาเอสพลานาด การขยายการลงทุนในประเทศอินเดียและความพยายามแสวงหาโอกาสในประเทศอื่น รวมถึงการเร่งสร้างธุรกิจหนังแผ่นให้เป็นรูปร่างที่วิชาทำมาตลอดช่วง 2 ปีกว่า นับว่าเป็นการวางรากฐานให้กับเครือเมเจอร์ฯ

แต่เท่านั้นคงไม่พอ เพราะอีกราก ฐานที่สำคัญที่จะทำให้เมเจอร์ฯ พ้นจากความเสี่ยงทางธุรกิจอันเกิดจากการพึ่งพาชื่อเสียงของ "วิชา พูลวรลักษณ์" เพียงอย่างเดียว ตามที่ระบุไว้ในรายงานประจำปี 2551 นั่นก็คือ การเร่งสร้าง "มืออาชีพ" ที่ มีทั้งความรู้ ความสามารถ และการยอมรับ ขึ้นมารับช่วงให้ได้

ไม่เช่นนั้นแล้ว หน้าและชื่อ "วิชา พูลวรลักษณ์" คงยังจำเป็นที่จะต้องออกสื่ออยู่เสมอๆ และวิชาก็ยังต้องแบก MAJOR เอาไว้ตลอดเวลา เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของหุ้น MAJOR และความสบายใจของผู้ถือหุ้นและกองเชียร์ตลอดไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.