KidZania Magnet และ Connection

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการ KidZania เป็นอีกผลงานหนึ่งของศุภลักษณ์ อัมพุช ที่สามารถดึงนักลงทุนต่างชาติจากเม็กซิโก และซาลิม กรุ๊ป เข้ามาลงทุนในวงเงิน 700 ล้านบาท ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โครงการนี้จะเป็นอีกแม่เหล็กอันหนึ่งของสยามพารากอนที่จะเห็นในปลายปี 2553

สิ่งยืนยันถึงความชำนาญของศุภลักษณ์ได้เป็นอย่างดี ในการดึงโครงการใหญ่ๆ ระดับเวิลด์คลาสเข้ามาในประเทศ อย่างเช่น สยามโอเชี่ยนเวิร์ล ของประเทศออสเตรเลีย หรือการสร้างสวนน้ำขนาดยักษ์ของกลุ่มเดอะมอลล์

ล่าสุดคือโครงการ KidZania แหล่งบันเทิงเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กวัย 3-12 ปี

จะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ศุภลักษณ์จะเชี่ยวชาญในการทำโครงการสำหรับเด็ก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าสถานบันเทิงสำหรับเด็กในประเทศไทย หรือในภูมิภาคเอเชียมีค่อนข้างน้อย แตกต่างจากในยุโรปหรือในสหรัฐอเมริกา ที่มีพิพิธภัณฑ์หรือสวนสนุก เธอจึงมองเห็นโอกาสมากมาย

โครงการ KidZania เป็นโครงการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองสวมบทบาทของผู้ใหญ่ ที่เด็กๆ ฝันอยากเป็นในอนาคต เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส หมอ พยาบาล นายธนาคาร นักธุรกิจ นักร้อง นักแสดง นักดับเพลิง ตำรวจ หรือช่างเสริมสวย

ในแง่ของธุรกิจ KidZania คือการสร้างแบรนด์ให้ผู้ประกอบการ ให้เด็กเกิดการจดจำสินค้าต่างๆ ด้วยมีวิธีการสร้างเมืองและจำลองสถานการณ์จริงๆ ให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสหรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นการโฆษณาโดยตรงเหมือนที่ยิงผ่านโทรทัศน์ หรือตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์

ตามแผนธุรกิจของโครงการ KidZania ในประเทศไทยจะเป็นโครงการใช้พื้นที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาคือ 10,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าที่ญี่ปุ่น เม็กซิโก และอินโดนีเซีย

โครงการ KidZania เป็นโครงการที่จะเข้ามาแทนโรงละครหรือโอเปร่าที่สยามพารากอนเคยร่วมมือกับเนเชอรัลปาร์ค แต่ผู้ร่วมทุนติดปัญหาและสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อาจทำให้เกิดความเสี่ยง เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนต่างชาติ

ศุภลักษณ์ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ในการเจรจาธุรกิจกับฮาเวียร์ โลเปซ แอนโคนา ประธานบริษัท KidZania De Mexico. S.A. de C.V จากประเทศเม็กซิโก ซึ่งผู้ก่อตั้งและเดวิด ซาลิม ประธานกรรมการบริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์

เธอเป็นพันธมิตรรายสุดท้ายที่ได้พูดคุยกับทีมผู้บริหาร KidZania เพราะก่อนหน้านั้นได้เจรจากับผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน 5-6 รายด้วยกัน

รวมทั้งกลุ่มเซ็นทรัล

ฮาเวียร์ให้เหตุผลที่เลือกศูนย์การค้าสยามพารากอน เพราะเป็นศูนย์การค้าที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งดีมาก และเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโครงการสยาม โอเชี่ยนเวิร์ล ซึ่งไม่คิดว่าจะทำให้เด็กได้มากขนาดนี้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทีมผู้บริหาร KidZania เลือกศูนย์การค้าแห่งนี้น่าจะเป็นเพราะว่าข้อเสนอของศุภลักษณ์ ที่จะช่วยหาพันธมิตรภายในประเทศให้เข้ามาร่วมโครงการส่วนหนึ่ง เพราะเป้าหมายโครงการนี้จะต้องมีพันธมิตรทั้งหมด 60 แห่ง แบ่งเป็นภายในประเทศครึ่งหนึ่งและต่างประเทศครึ่งหนึ่ง

ในวันที่ศุภลักษณ์และฮาเวียร์ รวมถึงปีเตอร์ บลานีย์ เดวิดสัน กรรมการบริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ ให้สัมภาษณ์ ผู้จัดการ 360 ํ เธอได้นัดกับสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เพื่อชักชวนให้เข้ามาร่วมในโครงการ KidZania

และสาระก็ตกลงเข้าร่วมหลังจากที่ใช้เวลาคุยกับศุภลักษณ์เพียง 30 นาทีเท่านั้น!!!

ศุภลักษณ์บอกว่า เธอทำงานให้กับพันธมิตรธุรกิจมากกว่าเป็นแค่พาร์ตเนอร์ และเธอมีเป้าหมายเจรจากับสายการบินแอร์เอเซีย สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและดิจิตอลยี่ห้อโซนี่ กล้องนิคอน และอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมในโครงการนี้อีก

ความร่วมมือในโครงการ KidZania เกิดจาก 3 ฝ่าย คือศูนย์การค้าสยามพารากอน บริษัท KidZania De Mexico. S.A.de C.V ในฐานะผู้ก่อตั้ง และเจ้าของแฟรนไชส์ KidZania บริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์

บริษัท คิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ได้รับสิทธิทำแฟรนไชส์ให้กับ KidZania ในประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากที่โครงการ KidZania ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งบริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด มีอลัน เฮ็บเบิร์น เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ (ประเทศไทย) มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 1 คน และต่างด้าว 3 คน บริษัทไทยที่ถือหุ้น คือบริษัทสปีน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นของปีเตอร์ บลานีย์ เดวิดสัน ซึ่งมีภรรยาเป็นคนไทย ทำกิจการเครื่องหนังยี่ห้อ "จาคอบ"

ส่วนพันธมิตรอีก 3 ราย มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน คือบริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ คัมปะนีลิมิเต็ด บริษัทสตาร์ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด และบริษัทสตาร์ เพิร์ล ดีเวลลอปเม้นท์ ลิมิเต็ด

ส่วนบริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ จากประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ (ประเทศไทย) มีเดวิด ซาลิม เป็นประธานกรรมการทำธุรกิจ World Family Edutainment Center

เดวิด ซาลิม เป็น 1 ในทายาทของตระกูลซาลิม เจ้าของซาลิมกรุ๊ป

ซาลิมกรุ๊ปก่อกำเนิดโดยมหาเศรษฐีลิม ซูเหลียง หลายปีที่แล้วเขาสามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงในประเทศอินโดนีเซีย เป็นทั้งเจ้าของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม น้ำมัน ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เมื่อ 20 ปีก่อน ซาลิมกรุ๊ปเคยขยายอิทธิพลทางธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (ก่อนขายหุ้นให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดี เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว) เคยมีชื่อว่าจะเข้ามาซื้อธนาคารนครหลวงไทยในยุคที่ความขัดแย้งระหว่างตระกูลมหาดำรงค์กุลกับกลุ่มบุญชู โรจนเสถียรถึงจุดแตกหัก

บริษัทในเครือซาลิมกรุ๊ป ที่ชื่อเฟิสท์ แปซิฟิค เคยเข้ามามีบทบาทโดดเด่นในธุรกิจไทย มีทั้งกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์ ก่อนที่จะถอนตัวออกไปหลังเกิดวิกฤติปี 2540

ด้วยความที่ลิม ซูเหลียงสามารถสร้างอาณาจักรได้ เพราะมีความสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ หลังจากซูฮาร์โต้หลุดจากอำนาจเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ธุรกิจของซาลิมกรุ๊ปในอินโดนีเซียหลายแห่งได้รับผลกระทบ จึงย้ายฐานออกไปเติบโตในต่างประเทศ มีทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกา

(รายละเอียดอ่านเรื่อง "มานูเอล ปังกิลินัน พยัคฆ์หนุ่มแห่งเฟิสท์ แปซิฟิค" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมกราคม 2533 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)

สำหรับโครงการ KidZania ในประเทศไทย บริษัทคิดส์ เอ็ดดูเทนเม้นท์ ใช้เงินลงทุน 700 ล้านบาท และมีแผนเปิดโครงการในเซี่ยงไฮ้ ในปี 2553 และปักกิ่งตามลำดับ และมีเป้าหมายลงทุนในเวียดนามอีกด้วย

โครงการ KidZania เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างปรากฏการณ์ตื่นตาตื่นใจให้เกิดขึ้นในศูนย์การค้าสยามพารากอนบนใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยฝีมือผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่อ ศุภลักษณ์ อัมพุช


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.