|
“ชีวิตที่เหลือของผมคือเมืองจีน”
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ครั้งที่นิตยสารผู้จัดการ สนทนากับบัณฑูร ล่ำซำ เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 เขาได้รับการโหวตให้เป็น Role Model อันดับ 1 ครั้งแรกนั้น บัณฑูรเพิ่งเสร็จสิ้นการตกแต่งชั้นที่ 9 ของอาคารสำนักงานพหลโยธินให้เป็นห้องทำงานอีกห้องหนึ่งของเขา นอกเหนือจากที่ราษฎร์บูรณะ
(อ่านเรื่อง "จากรากเหง้าสู่อนาคต" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน 2549 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
การไปสนทนากับเขาอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขากำลังจัดการปรับเปลี่ยนพื้นที่บนชั้นที่ 38-40 ของอาคารราษฎร์บูรณะ โดยการรื้อผนังเดิมที่มีลักษณะลาดเอียงออกแล้วสร้างผนังขึ้นใหม่ในลักษณะตั้งฉาก
"แต่ก่อนผนังลาดเอียงอย่างนี้ ตราสัญลักษณ์ของธนาคาร ก็เลยต้องเอียงตามไปด้วย ก็เลยดูตลก ไม่มีความหมาย เราก็เลย สร้างผนังมาปิดอย่างนี้ แล้วปรับตราสัญลักษณ์ใหม่ให้ตั้งตรงขึ้น ไปอย่างนี้ ตราก็ตั้งตรง แล้วยังมาได้เทคโนโลยีไฟใหม่ที่แรงขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นไฟจะสว่าง นั่งอยู่ไกลๆ พอตกกลางคืนจะมองเห็นตราสัญลักษณ์ที่เด่นชัดแต่ไกล" บัณฑูรบอกเหตุผลกับผู้จัดการ 360 ํ
บัณฑูรตั้งใจจะเปิดพื้นที่นี้อย่างเป็นทางการในงานเลี้ยงสังสรรค์สื่อมวลชนประจำปี ในวันที่ 12 มกราคม 2553
หากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน บัณฑูรแทบจะไม่มีเวลาในการใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ของธนาคารแบบนี้มากนัก เพราะเขาต้อง ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อขอเงินสนับสนุน จากบรรดานักลงทุนต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์ของธนาคารกสิกรไทยขณะนั้นกำลังประสบปัญหาอย่างหนักเรื่องเงินกองทุน อันเป็นผลพวงจากการลอยตัวค่าเงินบาท
"โอ้ ตอนนั้นแย่ เป็นตายเท่ากัน ถ้าพูดถึง 10 ปีที่แล้วเกือบล้ม แบงก์ก็เกือบล้ม ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรมาก เอาแค่ให้ผ่าน ไปก่อน ไม่ใช่ล้มไป เงินทุนไม่พอ แบงก์ก็ต้องล้ม รัฐบาลก็ต้องเอาเงินเข้ามาใส่ เผอิญ โชคดีหาเงินเข้ามาใส่ให้ตัวเองได้"
หลังเพิ่มทุนสำเร็จ เขาทุ่มเทเวลาให้กับการปรับโครงสร้างภายใน มีโจทย์หลายข้อที่เขาต้องเข้าไปหาคำตอบ
"พอผ่านไป ได้เห็นอะไรต่างๆ ได้ ยินคำแนะนำอะไรต่างๆ ก็ออกมาเป็นความคิดใหม่ เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ อะไรต่างๆพวกนี้มีโอกาสขยายไปสินค้าทางการเงินอื่นๆ แต่ก่อนนี้ก็ไม่เคยคิดว่าจะมี K-Asset K-Security แต่ก่อนไม่เคยคิด ก็กลายเป็นมี แล้วมีครบไหม มีครบทุกอัน ตอนนี้มีครบทุกใบอนุญาตที่เขาพึงจะให้ธนาคารมีได้ ก็โอเค ก็รู้สึกดี รู้สึกดีว่า เออ ก็มีรูปแบบที่น่าสนใจ แต่ก็มีโจทย์ใหม่ว่าทำยังไง โดยรวมนี่ให้ทำงานด้วยกัน มีสินค้า บริการที่มีคุณภาพใหม่ๆ แต่ต้นทุนไม่บานเบอะ อันนี้ก็เป็น โจทย์ถาวรของทุกธุรกิจอยู่แล้ว เราก็ทำตรงนี้ด้วย"
ต้นเดือนเมษายน 2548 บัณฑูรได้ประกาศโครงสร้างธุรกิจ เครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นโครงสร้างของธนาคารครบวงจร (Universal Banking) รายแรกๆ ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม
(อ่านเรื่อง "New era of Banking Industry" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548 หรือใน www.gotomana ger.com ประกอบ)
แต่ภารกิจของเขายังไม่เสร็จ
"วันดีคืนดีก็มีโจทย์ขึ้นมาอีกว่า เมืองจีนนี่อะไรก็ไม่รู้ ฉันไม่เคยไป ฉันก็ต้องไปสักหน่อย พอไปก็รู้สึกดี มีโอกาส รู้สึกดีส่วนตัวด้วย มีโอกาสด้วย ก็คิดโจทย์ขึ้นมาว่าเราจะมาทำอะไรที่เมืองจีน ขนาดเราก็เท่านี้ เราจะมีอะไรที่จะมาเสนอเขาที่เขาสนใจ ทำไปทำมาก็เกิดรายการเอสเอ็มอีขึ้นมา ก็นำไปสู่การพบปะกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งมาจากที่ไหนก็ไม่รู้ วันหนึ่งก็มาเจอกัน พรหมลิขิต ก็เลยออกมาเป็นแนวคิดว่ามาทำร่วมกันดีกว่า ก็มาถึงวันนี้"
วันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ธนาคารกสิกรไทยประกาศความร่วมมือกับธนาคารหมินเซิง (China Minsheng Banking Corp.) ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีในจีน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะมีระยะเวลา 5 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 800 ล้านหยวนหรือประมาณ 4 พันล้านบาท โดยจะร่วมลงทุนฝ่ายละ 50%
เป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับจีนครั้งที่ 2 หลังจากปี 2548 ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศความร่วมมือกับ China Union Pay เครือข่ายบัตรเครดิต-เดบิตใหญ่ที่สุดของจีน
เดือนมิถุนายน 2551 ธนาคารกสิกรไทยได้รับใบอนุญาต ให้เปิดสาขาในกรุงเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นแห่งแรก หลังจากที่มีแต่สำนักงานตัวแทนอยู่ในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และ เมืองคุนหมิง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่เปิดบริการทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศด้วยเงินหยวน
จากโจทย์ที่ประดังเข้ามานับสิบๆ ข้อเมื่อ 10 ปีก่อน วันนี้ บัณฑูรสามารถหาคำตอบให้กับโจทย์เหล่านั้นได้เกือบหมดแล้วยังเหลือโจทย์อยู่เพียง 2 ข้อ ที่เขาตั้งใจว่าจะทำให้เสร็จก่อนที่เขา จะอายุครบ 60 ปี
"ตอนนี้ผม 57 อีก 3 ปี ภาพตรงนี้น่าจะแน่นขึ้น อะไรที่ตั้งใจว่าจะต้องทำใน 3 ปีนี้น่าจะมาครบ หลังจากนั้นบทบาทก็อาจจะเปลี่ยนสีบ้าง ไม่ได้จะไปไหนนะ แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบบ้าง เพื่อว่า...มันก็ต้องมีการปูทาง เพื่อวันหนึ่งคนอีกรุ่นหนึ่งจะต้องขึ้นมาบริหารงานของเครือธนาคารกสิกรไทย ก็ธรรมชาติของมนุษย์ วันหนึ่งผมก็ต้องไป ส่วนหลังจากนั้นจะไปใช้เวลาทำอย่างอื่น ตรงไหน อันนี้ ตอบไม่ได้ ยังไม่ชัด"
อีกช่วงหนึ่งของบทสนทนาถัดจากนี้ น่าจะอธิบายความในย่อหน้าข้างต้นให้เป็นรูปธรรมขึ้น
>> บทบาทของคุณบัณฑูรในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธนาคาร นอกจากภายในประเทศที่จะเป็นการคิดผลิตภัณฑ์ทาง การเงินที่จะนำมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า
จีน มีจีนเท่านั้น ชีวิตที่เหลือของผม ก็คือเมืองจีน
>> ช่วยอธิบาย
คือธุรกิจที่ธนาคารกสิกรไทยอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ก็คือที่ประเทศจีน การปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีจีน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมายมหาศาล ถ้าเราสามารถหารูปแบบซึ่งเราทำร่วมกันอยู่กับธนาคารหมินเซิงอยู่ตอนนี้ รูปแบบนั้นพิสูจน์แล้วว่าทำได้ คือปล่อยแล้วไม่เจ๊ง จะขยายไปอีกเท่าไรก็ได้ เพราะเมืองจีนไม่มีที่สิ้นสุด แค่นี้ก็พอแล้ว
ถามว่าจะไปอินเดียไหม บางคนเขาอาจจะไปได้ แต่ผมไปไม่ไหว ไม่มีแรง หมดแรง มีเวลาของชีวิตอยู่แค่นี้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้ข้างในแน่น อีกส่วนหนึ่งก็ไปลุยจีน จีนกับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่น
ไม่ได้หมายความว่าไปทำอะไรในญี่ปุ่น ไปญี่ปุ่นเพื่อดึงให้เขาเข้ามาทำในเมืองไทย แล้วเราก็ทำธุรกิจไปกับเขาในเมืองไทย เกาหลี ก็มีบ้าง แต่บังเอิญผมไม่ชอบกินอาหารเกาหลี เลยไม่ได้เดินทางไปที่นั่น
แต่ที่ไปทำข้างนอกจริงๆ คือเมืองจีน นั่นหมายถึงไปนั่งอยู่ตรงนั้น ตั้งออฟฟิศตรงนั้น ปล่อยสินเชื่อกับคนตรงนั้นเลย ไม่ใช่คนไทยที่ไปเมืองจีน แต่กับคนท้องถิ่นจีน มีอยู่ที่เดียวเท่านั้น ที่พูดได้ว่าเป็นนอกประเทศจริงๆ ที่เหลือไปนอกประเทศเพื่อที่จะดึงเขาเข้ามาอำนวยความสะดวกให้เขาเข้ามา
>> แล้วจีนจะขยายบทบาทไปมากกว่านี้ไหม
ถ้าที่เซินเจิ้นที่เราทำอยู่ ตอนนี้เริ่มมีการปล่อยกู้บ้างแล้ว สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าปล่อยแล้วไม่พัง เราเข้าใจโจทย์ของความเสี่ยงของลูกค้าจีน ถึงจุดหนึ่ง เราก็ขยายได้ แต่ว่าจะไม่มีใครที่จะตามหลังผมไปอีก เพราะว่าโจทย์ของจีนวิ่งหนีเร็วมาก คนที่ไม่ได้เริ่มอะไรมาแล้ว ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน แล้วเขี้ยวลากดิน จีนเก่ง ค้าขายเก่ง เพราะฉะนั้นต้องสร้างความเก่งของสินค้าบริการ กับสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้เขาเอื้ออำนวยให้เราทำมาหากินได้
ต้องทั้ง 2 อย่าง ความสัมพันธ์ก็ต้องดี สินค้าบริการก็ต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องการ มิเช่นนั้นไม่มีทางสำเร็จ คนที่รู้ นักธุรกิจ ไทยที่ไปเมืองจีน ตายมากกว่ารอด แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้ยินพวกที่ตาย เพราะเขาไม่ได้มาเล่าให้ฟัง เขาขายหน้า ที่ยังได้ยินเขาพูดอยู่ได้ตอนนี้ก็คือเขายังรอดอยู่
ไม่ง่าย เมืองจีนไม่ง่าย เพราะว่าคนเขา เก่ง
>> แล้วพฤติกรรมทางการเงินของเขา ประชากรของเขาเหมือนกับไทยไหม
แต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน เราเคยได้รับ คำเตือนว่าที่นี่มีนักธุรกิจที่กู้เงินจากแบงก์ได้แล้ว ก็วิ่งหนีไปเลย หายเข้ากลีบเมฆไปเลย เราฟังดูแล้วก็ตกใจเหมือนกัน แต่ว่าจริงๆ ก็มี แต่ยังไม่เกิดขึ้นกับเราโดยตรง จากประสบการณ์จากคู่ค้าของเรา บางทีก็เป็นคนที่ตรงไปตรงมา แต่ละที่จะมีลักษณะ พฤติกรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเราว่า ที่นี่เราควรจะทำ ที่นี่เราไม่ควรจะทำ หรือจะทำก็ต้องระวัง เพราะเป็นคนต่างเมือง
เพราะฉะนั้นจีนเป็นที่เหลือของชีวิตของผม
>> จริงๆ มองเป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยในจีนไว้ขนาดไหน และที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายแล้ว
เพิ่งแค่ก้าวแรก แค่เขี่ยๆ เท่านั้น ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
เป้าหมายที่วางไว้คืออาจจะมีอยู่สัก 5 สาขาขึ้นไป ตามที่ต่างๆ ที่ควรจะไปอยู่ แต่ไม่ใช่ที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เพราะเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องไปตรงนั้น
เราจะไปในโลกของนักธุรกิจเล็กๆ แต่เล็กของจีนนั้นไม่ใช่ เล็กกว่าไทยนะ เล็กของจีนนั้นคือใหญ่เหมือนกัน เราจะไปในมณฑลที่อยู่ทางใต้ หรือทางตะวันตก
เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ก็แค่เป็นที่ที่ต้องไปจิ้มก้องเพราะว่าอำนาจ อยู่ที่ตรงนั้น เราจะไปติดต่ออะไร เราต้องไปติดต่อคนที่มีอำนาจอยู่ที่นั่น แต่เนื้อของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น แล้วเราจะไปทำแบบแบงก์ฝรั่งใหญ่ๆ เราทำไม่ได้ ไซส์ของเราเป็นวณิพกนะ ถ้าเทียบกับคนอื่น
ธนาคารกสิกรไทยสาขาเซินเจิ้นเป็นธนาคารต่างชาติที่เล็กที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติจีนที่เขาเคยให้ใบอนุญาตทำ ไม่เคยมีที่เล็กกว่านี้อีกแล้ว เล็กมาก นี่ยังอัศจรรย์เลยที่เขายังให้ใบอนุญาตนี้มาได้
>> เล็กในที่นี้ หมายถึงขนาดของกองทุน
ใช่ ขนาดของกองทุน ตอนเริ่มต้นมีใบอนุญาต มีเงินกู้อยู่ไม่กี่สิบล้านเหรียญ ไม่กี่สิบล้านเหรียญ ถ้าเทียบกับทั้งประเทศจีน เป็นวณิพกนะ แล้วยังอุตส่าห์ได้ใบอนุญาตมาแล้วถึงจุดหนึ่ง
เราก็ต้องการสร้างขึ้นมา แต่ว่าเล็กมาก เล็กที่สุด ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่ต้องหาใครมาเล็กกว่านี้ เป็นไปไม่ได้ โชคดี ยังแหย่เท้าเข้าไปใน ประตูได้
>> ตอนนี้คนจีนรู้จักชื่อกสิกรไทยดีหรือยัง
ยัง ก็มีรู้จักในที่ที่เราไปอยู่ แล้วก็เริ่มบ้าง เราเล็กนะ แต่เมืองจีนใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม แล้วการไปปูพื้น สร้างสัมพันธไมตรีตามที่ต่างๆ เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่าสำคัญนะ วันหลังมีอะไรจะได้มีเพื่อน ถ้าไม่มีเพื่อน ถ้ามีปัญหาอะไร ก็ไม่รู้จะไปพึ่งตรงไหน
>> แต่ตอนนี้ทุกคนทั่วโลกก็มุ่งไปที่จีน
ที่มุ่งไปที่จีนก็เพราะจีนเขาเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตสูง ธรรมชาติของเงินนี่ต้องการวิ่งไปที่ที่มีการเจริญเติบโตสูง เพื่อจะได้รวยเร็ว งอกเงย ถ้าที่ไหนไม่มีการเจริญเติบโต ก็ไม่รู้จะวิ่งไปทำไม ใส่เงินไปก็แป๊กอยู่กับที่ ลงทุนอะไรไปก็แป๊กอยู่กับที่ เศรษฐกิจตรงนั้นมันไม่โต เพราะฉะนั้นจีนกับอินเดียถึงเป็นที่ที่ดูดเงินทุนของโลก เพราะว่าโอกาสที่เขาจะได้กำไรเร็ว มี
>> เราจะเห็นฟองสบู่แตกที่จีนไหม
เป็นไปได้ ฟองสบู่นี่เกิดขึ้นได้ ที่ใดที่มีการวิ่งจี๋ของเงิน
วิ่งจี๋ของการลงทุนก็เป็นไปได้ ที่ฟองสบู่ก็ต้องโผล่ตรงโน้นที โผล่ตรงนี้ที เพียงแต่ว่าใครจะพลาดไป...คือพอคนอารมณ์รุนแรงก็ไม่ยั้งคิดว่ามูลค่าที่แท้จริงของของนั้นอยู่ตรงไหน คิดอย่างเดียวว่าแม้มูลค่า จะไม่เป็นไปตามความเป็นจริงเท่าไรก็ตาม ขออย่างเดียว ให้มีคนโง่กว่าฉันอีก 1 คน รับจากฉันไปเป็นใช้ได้ ขอฉันอย่าโง่เป็นคนสุดท้าย เป็นใช้ได้
>> อย่างนี้ วิธีการระมัดระวังในการเข้าไปในจีนคืออะไร
ไม่ทำคนเดียว ทำกับหมินเซิงแบงก์ ถ้าทำคนเดียวเกิดมีคนมาถามว่าลูกค้ารายนี้ธนาคารจีนยังไม่ปล่อย แล้วมีกสิกรไทย โผล่มาจากไหน ไปปล่อยให้เขา ไม่เอา ผมไม่ต้องการเจอคำถามแบบนี้ การทำกับเขา เขาก็มีความรู้ เราก็มีความรู้อีกแบบหนึ่ง ก็มาผสมกัน แล้วก็สร้างเป็นรูปแบบ อย่างปล่อยเอสเอ็มอี นั่นคือความระมัดระวังของเรา ไม่พรวดพราด
>> อย่างน้อยมีพาร์ตเนอร์คอยสกรีน
เปล่า สร้างโจทย์ด้วยกัน เขาก็อยากจะเรียนรู้ว่าทำไมกสิกร ไทยทำเอสเอ็มอีในเมืองไทยประสบความสำเร็จ เราก็อยากจะเรียนรู้จากเขาว่าเราต้องระวังอะไรบ้าง เวลาไปเจอคนจีน การตลาดแบบจีนๆ ก็เป็นความรู้ที่มาเชื่อมกัน ทำให้เป็นทีมที่ตกลงกันได้ว่าเราจะทำร่วมกัน แต่ละคนก็ต้องมีอะไรที่จะให้ เขาก็พอใจ เพราะจีนเขาก็ไม่ได้พัฒนามาแบบเรา จีนเขาเป็นแบงก์ประเภททำตามสั่ง ทำตามรัฐบาลสั่ง จะให้ปล่อย ปล่อยก็ปล่อย เสีย ก็เสียเพราะรัฐบาลสั่งก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าถามว่ารูปแบบการบริหารความเสี่ยง หรืออะไร ไม่มี ก็ต้องมาเรียนกันใหม่
หมินเซิงแบงก์ก็มาดูงานที่กสิกรไทย เห็นกสิกรไทยฝ่าวิกฤติ มาได้ มีการพัฒนารูปแบบของการจัดการ มีกรอบของความคิด การบริหารความเสี่ยงน่าสนใจ ก็มาถามเรา แล้วเราก็ชวน อย่างนี้ก็ทำด้วยกัน ก็เป็นอย่างนั้น
>> ระบบบริหารเศรษฐกิจของจีนจะเป็นการผสมผสานระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม
สังคมนิยมนั้นไม่ใช่แบบเดิมๆ เพียงแต่ว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขาต้องเป็นคนจัดการ ที่เหลือต้องไปพัฒนา คิดค้นอะไรต่างๆ ก็อยู่ในเศรษฐกิจที่เป็นการตลาดแต่ว่ารัฐบาลเป็นคนกำหนดทิศทางใหญ่ เมื่อสั่งแล้วทุกคนต้องทำ ไม่ต้องมาเถียง ก็มีข้อดีตรง ที่สั่งแล้วเดิน แต่ถ้าสั่งผิดก็เดินผิด แต่ถ้าสั่งถูกทิศทาง พลังมันมหาศาล เพราะเงินเขาเยอะ
อย่างเช่นการใช้พลังงานทดแทน กังหันปั่นลม หรือแผงเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน จีนนำหน้าฝรั่งหมดเลย ทุนวิจัยเรื่องนี้ก็สูง ความสามารถในการผลิตในต้นทุนต่ำนี่ก็มีมาก สักพัก สินค้าพวกนี้ของจีนจะแผ่ไปตามที่ต่างๆ
>> สถานการณ์ปัจจุบันคือต้องไปปูฐานที่นั่นก่อน
อันนั้นคือสูตร ยุทธศาสตร์ที่ว่าต้องการไปทำอันเดียวที่เรา รู้สึกว่าเรามีอะไรจะไปทำตรงนั้น แล้วเราจะประสบความสำเร็จ คือปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี จะให้เราไปขยายฐานบัตรเครดิต เปิดสินเชื่อ บัญชีเงินฝากอะไรพวกนี้ ไม่ใช่โลกของเรา เขามีของเขาทำได้อยู่แล้ว เราจะไปที่ไหน เราต้องไปด้วยอะไรที่เขาไม่มี ถ้าเขามีอยู่แล้ว เราจะไปทำไม ไปแล้วไม่มีบทบาทอะไรที่จะไปเล่น ไปก็ตายเปล่า
อย่างเอสเอ็มอี เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจีนเป็นห่วงมาโดยตลอด ว่าพวกธนาคารพาณิชย์ของจีนไม่ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เราไปตามที่ต่างๆ เจอนักธุรกิจก็นั่งด่าธนาคารจีนว่าทำไมไม่ปล่อย เราก็มองว่ามีช่องว่างในตลาด แล้วตอนหลังก็ยืนยันโดยนโยบายของรัฐบาลจีนสั่งให้แบงก์ต่างๆ ไปศึกษาวิธีการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี เพราะเอสเอ็มอีมีความเสี่ยง ความเสี่ยงในเรื่องของจะได้เงินคืนหรือเปล่า ความเสี่ยงที่ว่ารายเล็ก ก็เลยต้องใช้คนทำเยอะ แล้วต้นทุนมันก็แพง ถ้าทำกับลูกค้ารายใหญ่ ทำทีเดียวมันก็ได้เงินมหาศาล ก็เป็นนโยบาย
>> คิดว่าจะใช้เวลาอีกกี่ปีในการเป็นแกนนำลุยตลาดโดยตัวคุณบัณฑูรเองในจีน
อย่างเซินเจิ้น ถ้าติดเป็นรูปธรรมอีกสักปีหนึ่ง เราอาจจะคิดที่จะมีสาขาที่ 2 คือขอให้แน่ใจว่ารูปแบบนี้ เราทำแล้วไม่พัง จีนเขาก็สนใจ ไม่งั้นเขาก็คงไม่ให้ใบอนุญาตกับผม เพราะเขาก็คิดว่าเราเอาอะไรที่เขาไม่มีมาให้กับธนาคารของเขา แล้วไปตรงกับนโยบายที่เขาต้องการให้มีการพัฒนาอยู่แล้ว ก็คือไปหารูปแบบ อย่างไรที่จะไปปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีให้เจริญให้ได้ ไม่งั้นเขาคงไม่ให้ใบอนุญาตผม เพราะผมไม่มีอย่างอื่นให้ ผมมีความรู้ อันนี้จะให้ เราไม่ใช่ประเทศที่จะมีพลังทางการเงินจะใส่ไปมากมาย ไปด้วยพลังของความรู้กับสัมพันธภาพที่ได้สร้างมาอย่างต่อเนื่อง ถึงมีช่องลง
>> เพราะฉะนั้นเป้าหมายในการแสวงหาโอกาสให้กับแบงก์ตอนนี้ คือบุกที่จีนอย่างเดียว
ยังมีโจทย์ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ก็คือทำเครือธนาคารกสิกรไทยให้เป็นปึกแผ่น ทั้งในความคิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งเทคโนโลยีต้องพัฒนา ทั้งประสานวัฒนธรรมองค์กรให้สามารถทำงานด้วยกันได้ ก้าวหน้าแต่ไม่ทะเลาะกัน ที่นี่ไม่นิยมให้ทะเลาะกัน ไม่ใช่ว่าเถียงกันไม่ได้ แต่ไม่นิยมให้มาเบ่ง ทะเลาะกัน
เพราะว่าเวลาคนเก่งๆ มาอยู่ด้วยกันอัตตาเยอะ พออัตตา เยอะ เดี๋ยวสักพักก็มีเรื่องเหยียบเท้ากัน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยก็เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ผมในฐานะผู้บริหารอยากจะสร้าง ที่องค์กรอื่นเขาก็อาจจะใช้วัฒนธรรมแบบ อื่นก็ไม่ได้แปลว่าของเขาผิด เพียงแต่ว่าที่นี่ผมเลือกที่จะทำอย่างนี้
โจทย์ของผมก็คือตัวนี้ กับเมืองจีน
ทุกวันนี้ถ้าจะให้แน่ใจก็คือ หนึ่ง-ยุทธศาสตร์ K-Strategy เดินไปถูกต้องหรือเปล่า ผู้คนเข้าใจโจทย์แล้วไม่ทะเลาะกัน ทำงาน ด้วยกันด้วยดีหรือเปล่า เสร็จแล้วก็คือเมืองจีน โจทย์เรามีอยู่แค่นี้
>> ในธนาคารกสิกรไทย ตอนนี้ถือว่าโครงสร้างครบถ้วนแล้ว หลังจากได้เมืองไทยประกันชีวิตเข้ามาครบถ้วน ครบถ้วนจริงๆ ตอนนี้
>> ทำไมใช้เวลานาน
โครงสร้าง อย่าลืมว่าแต่ก่อนนี้ก็ไม่ได้เป็น 100% แล้วแต่ก่อนเลยจะเป็นโครงสร้างแบบนี้ก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต ต้องถือแค่ 10% พอหลังจากเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เขาแก้กฎหมาย เพราะว่าบริษัทไฟแนนซ์อะไรก็อยู่ไม่ได้แล้ว ก็ไปเอามา
ไปเอามา ก็ต้องค่อยๆ ทีละขั้น แล้วส่วนใหญ่ที่เราเอามา เริ่มจากศูนย์ K-Leasing เราก็เริ่มจากศูนย์ K-Security ก็เริ่มจากศูนย์ คนที่เราใส่เข้าไป เขาได้สร้างขึ้นมาจนเป็นกอบเป็นกำ บาง อย่างเราก็ไปแบ่งกับคนอื่น อย่างเช่น K-Asset ก็ต้องไปเจรจาแพงพอสมควรนะตอนนั้น แต่ก็โอเค ก็ได้มาครบ 100% ล่าสุดก็ เมืองไทยประกันชีวิต
เมืองไทยฯ ไม่มีทางได้มา 100% และไม่จำเป็นต้องเป็น 100% ด้วย เพราะเราต้องการฝรั่ง เราต้องการอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเขารู้เรื่องนี้ดี แต่แบงก์ก็ถือครึ่งหนึ่ง ถือว่าควบคุมได้ก็เจรจา
ที่เจรจาช้า เพราะว่ามันมีประเด็นทางกฎหมายซึ่งจะต้องทำให้ถูกต้อง และอีกอย่างคือเป็นพวกเดียวกัน เป็นพวกล่ำซำ เพราะฉะนั้นการทำอะไรต้องโปร่งใส จึงต้องใช้เวลา
(อ่านเรื่อง "สาระ ล่ำซำ Changes Driver" ในนิตยสารฉบับนี้ประกอบ)
ครบแล้ว สำหรับผม ในแง่ของประเภทของธุรกิจ ครบหมด ก็เหลืออย่างเดียว คือทำให้สามารถทำด้วยกันได้ แล้วนำไปสู่ความสามารถที่สูงขึ้นในการที่จะสนองความต้องการของลูกค้า เพราะเรามีครบทุกชิ้นและชิ้นต่างๆ ต้องให้แน่ใจว่าทำงานด้วยกันได้ ไม่ใช่มาปีนเกลียวกัน แล้วก็ทะเลาะกัน วงแตกนี่ ไม่เอา
เพราะฉะนั้นถามว่ามีความคืบหน้าไหม วันนี้ หลังจากทำงานที่นี่มา 30 ปี คืบหน้า รู้สึกดีไหม รู้สึกดีมาก เพราะว่าโครง สร้างพื้นฐานมีครบ ผู้คนเก่งๆ มีมากพอสมควร วัฒนธรรมเป็นรูปธรรม เป็นรูปร่างมากขึ้น จากนี้ก็ต้องสร้างเทคโนโลยีให้เสร็จ เพราะทุกอย่างต้องเชื่อมกันด้วยเทคโนโลยี เพราะว่าข้อมูลมีมาก
เสร็จแล้ว โลกใหม่ก็คือจีน
>> เป็นโจทย์ใหญ่ของคุณบัณฑูร
เป็นโจทย์ใหญ่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|