1 ทศวรรษ Role Model


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

โปรแกรม "50 Role Model" เปิดตัวฉบับแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2543

หลังวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 เกิดแรงกดดันสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับโครงสร้าง "ความเป็นผู้นำ" ของธุรกิจที่ชัดเจนและเป็นช่วงแห่งความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจึงนับเป็นครั้งสำคัญที่สังคมไทย โดยเฉพาะสังคมธุรกิจจะได้ศึกษาบทเรียนจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้

โปรแกรมนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแสดงพลังของผู้บริหารที่สำคัญของไทย ทั้งในเชิงความเป็นผู้นำทางความคิดและผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดูกลมกลืนกับความเป็นมืออาชีพ

2 ปีแรกเป็นการคัดเลือกผู้บริหารโดยกองบรรณาธิการเป็นผู้คัดสรรบุคคลที่คิดว่าน่าจะมีบางแง่มุมเหมาะสมแก่การเป็น "ต้นแบบ" และสร้าง "แรงบันดาลใจ" ให้กับผู้อ่าน

นับตั้งแต่ปีที่ 3 "50 Role Model" เป็นผลการคัดเลือกโดยผู้อ่าน

ผลการคัดเลือกและอันดับการเปลี่ยนแปลงใน "50 Role Model" โดยเฉพาะกลุ่ม 10 อันดับแรกประจำแต่ละปี ย่อมเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในแต่ละช่วงได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผู้บริหารใน 10 อันดับแรกของ "50 Role Model" ประจำปีนี้ เมื่อมอง ย้อนกลับไปตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบภาพสะท้อนที่น่าสนใจอยู่หลายมิติ

1. ผู้บริหารทั้ง 10 ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ยกเว้นธวัชไชย สุทธิกิจพิศาล และกานต์ ตระกูลฮุน ที่เป็นลูกจ้างมืออาชีพ แม้ว่าปัจจุบันตัน ภาสกรนที จะมีฐานะเป็นลูกจ้างเบอร์ 1 ของเครือโออิชิ แต่เขาก็กระโดดขึ้นแท่นด้วยครั้งแรกในฐานะผู้ประกอบการ และดูเหมือนยังเป็นภาพแห่งความทรงจำของผู้อ่าน

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมธุรกิจของไทยเข้าสู่ยุคที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เริ่ม เปลี่ยนทัศนคติจากการทำงานเป็นลูกจ้างหรือภาครัฐเพื่อความมั่นคง กลายมาเป็นเจ้าของกิจการที่อาศัยความกล้าได้กล้าเสียและความเป็นผู้นำเป็นอีกคุณสมบัติหลัก

ซึ่งก็พบเห็นได้ในคุณสมบัติของผู้บริหารส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกทั้ง 10 อันดับ

2. ขณะที่ผู้บริหารรุ่นใหม่วัย 40 ต้นๆ ที่เข้ามาติดอันดับ มีเพียงศุภชัย เจียรวนนท์ และโชค บูลกุล ซึ่งล้วนแต่เป็นทายาทที่สืบทอดธุรกิจมาจากผู้เป็นพ่อ จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมสงสัยว่าที่มาอยู่ ณ จุดที่สังคมยอมรับเป็นเพราะเก่งเองหรือ "เฮง" ที่มีพ่อสร้างไว้ให้ดี โดยเฉพาะศุภชัย

ส่วนโชคดูเหมือนสังคมจะหมดข้อกังขาไปแล้ว เมื่อเขากระโดดเข้ามาด้วยแนวคิด ใหม่ที่เขานำเสนอต่อสังคมผ่านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบบูรณาการที่ต่อยอดมาไกลจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวด้วยลำแข้งของตัวเอง

3. ในบรรดา 10 อันดับแรก ล้วนไม่ใช่ผู้บริหารหน้าใหม่ ทุกคนเคยติดอันดับ ใน "50 Role Model" มาไม่ต่ำกว่า 4 ปี นี่สะท้อนให้เห็นว่าจากที่เป็น "แรงบันดาลใจ" หรือเป็น "บทเรียน" ทั้งเรื่องความสำเร็จและความล้มเหลว แต่มาวันนี้บุคคล เหล่านี้กลายเป็นบรรทัดฐานความเป็น "มือ อาชีพ" ที่ใครก็ตามที่ปรารถนาจะก้าวขึ้นมาสู่ "แถวหน้า" ในสังคมธุรกิจไทยต้องมีมาตรฐานไม่น้อยกว่าคนเหล่านี้

4. อันดับที่ขึ้นลงของผู้บริหาร 10 อันดับแรก...แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการขององค์กรที่พวกเขาบริหาร แต่หลายๆ ครั้งมาจาก "สถานการณ์"

บางคนสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ขณะที่บางคนก็เป็นผู้ตั้งรับกับสถานการณ์ที่เข้ามาท้าทาย...และเมื่อผ่านพ้นสถาน การณ์เหล่านั้นมาได้ด้วยดี ผู้บริหารเหล่านี้ ก็ขึ้นแท่นอันดับต้นของ "50 Role Model" แทบจะทันที

แต่สำหรับองค์กรใดก็ตามที่แน่นิ่ง ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีการท้าทายและไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้มีผลประกอบการดีกว่าปีก่อนๆ แต่อันดับก็อาจตกลงมาได้

นอกจาก "บัณฑูร ล่ำซำ" ที่นำเสนอเป็นปกผู้จัดการ 360 ํ ฉบับนี้ในฐานะที่ติด 50 Role Model มาตลอดทศวรรษ และเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องกันมาถึง 4 ปี ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้

ส่วนผู้บริหารอีก 5 คน ได้แก่ ศุภลักษณ์ อัมพุช, บุญทักษ์ หวังเจริญ, สาระ ล่ำซำ, วิชา พูลวรลักษณ์ และศุภชัย เจียรวนนท์... ที่กองบรรณาธิการเลือกนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาและเธอก็มาจากเหตุผลข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ใช่ผู้บริหารที่ติด 10 อันดับต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.