วิสัยทัศน์ของนิวซีแลนด์ บทบาทของชาติขนาดเล็กในลีกของมหาอำนาจ

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้นำจากประเทศต่างๆ ได้เดินทางไปมหานครนิวยอร์กเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้นำชาติต่างๆ ตามข่าวผู้นำบางคนขึ้นไปพูดก็เหมือนไม่ได้พูด เพราะไม่มีสาระอะไรให้จดจำ ผู้นำบางคนขึ้นไปก็ปล่อยมุกแป้ก เช่นผู้นำเผด็จการของลิเบียที่ออกมาโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติในเรื่องเดิมๆ เช่น การให้ห้ามหาอำนาจเป็นมนตรีความมั่นคงถาวรหรืออำนาจวีโต้ บรรดานักรัฐศาสตร์ต่างรู้เหตุผลที่เรียกกันว่า Hegemonic Stability คือการให้มหาอำนาจเป็นผู้ควบคุมเกมในองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะอนาธิปไตย และส่งผลให้เกิดการล่มสลายขององค์กรแบบที่เคยเกิดขึ้นกับ League of Nations ซึ่งนำไปสู่สงครามโลก

เจอมุกแป้กแบบนี้เป็นการบ่งบอกถึงภูมิปัญญาของจอมเผด็จการว่าน้อยกว่านักศึกษาปีสองด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียอีก หรือมุกสุดแป้กของผู้นำ อิหร่านซึ่งโจมตีอิสราเอล งานนี้ทำเอาผู้ชมวอล์กเอาต์ไปเลย โดยประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีหลายชาติลุกออกไปไม่ฟังสุนทรพจน์ของผู้นำอิหร่าน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีไทยตอกย้ำถึงความสำคัญของ Chaingmai Initiative ซึ่งจะนำมาสู่เสถียรภาพของการค้าและการเงินในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งแม้จะไม่โดดเด่นแต่ก็เรียกได้ว่าสอบผ่าน

ถ้าจะพูดถึงการสอบในเวทีโลกแล้ว การสอบ ผ่านย่อมดีกว่าสอบตกอย่างผู้นำโดยมาก หรือติด F อย่างผู้นำเผด็จการในหลายๆ ประเทศ แต่จะให้ดีกว่านั้นคือการสอบให้ได้เกรด A ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าประเทศที่จะทำเกรด A ให้นานาชาติสนใจนั้นส่วนมากต้องเป็นมหาอำนาจ เพราะชาติเหล่านี้มีทั้งเศรษฐกิจ กำลังทหาร เทคโนโลยี และทรัพยากรเหนือกว่าประเทศอื่นๆ สำหรับประเทศที่ ไม่ได้เป็นมหาอำนาจและอยากทำให้ประเทศของตน มีชื่อเสียงในระดับสากลนั้นก็สามารถทำได้สองกรณี แน่นอนครับ อันแรกคือทำแบบผู้นำเผด็จการทั่วไปคือทำตัวเองให้สอบตกแบบกราวรูด งานนี้ดังแน่แต่เป็นชื่อเสียล้วนๆ วิธีที่สองคือการใช้ยุทธวิธีทางรัฐศาสตร์ที่เรียกว่า Small States in the League of Big Players หรือชาติขนาดเล็กที่อยู่ในระดับเดียวกับมหาอำนาจ

ตรงนี้มีหลายท่านอาจสงสัยว่าทำได้หรือเพราะทฤษฎีหลายๆ ทฤษฎีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกของความเป็นจริง ตรงนี้ผมขอตอบเลยว่าเป็นไปได้ครับ แต่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง อันที่จริงผมก็ต้องขอยอมรับตรงๆ ว่าเมืองไทยเองหลังจากปลดหนี้ IMF ได้ใหม่ๆ ก็ได้ก้าวไปสู่นโยบายดังกล่าว น่าเสียดายว่าปัญหาการเมืองในประเทศทำให้การพัฒนาทางด้านนี้หยุดชะงักไป

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศขนาดเล็กโดยมากมีลักษณะใกล้เคียงกัน กล่าวคือไม่นิยมที่จะแสดงออกในสังคมโลก เพราะเข้าใจว่าตนเองมีทรัพยากรที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีนโยบายต่างประเทศที่แคบและให้ความสำคัญแต่นโยบายของตนเองต่อมหาอำนาจ ขาดวิสัยทัศน์ในด้านโลกาภิวัตน์แต่นิยมให้ความสำคัญต่อลัทธิชาตินิยม ซึ่งทำให้ทั้งนโยบายและประชาชนขาดความคิดสร้างสรรค์ในโลกยุคไร้พรมแดน ดังนั้นการที่ประเทศเล็กจะเข้าไปนั่งอยู่ในวงของมหาอำนาจนั้นในทางทฤษฎีแล้วศาสตราจารย์ริชาร์ด เคนนาเวย์ได้เขียนในงานวิจัยก่อนที่ท่านจะล่วงลับ โดยชี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศขนาดเล็กก้าวพ้นภาวะประเทศ ลูกไล่ของมหาอำนาจไปได้

ปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดคือการแสดงออกในสังคมโลก แนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ประเทศเล็กๆ ไป แสดงบทบาทอันธพาลเหมือนชาติที่สอบตกกราวรูดในเวทีโลก แต่เป็นการสอบให้ได้เกรดสี่ นั่นคือการให้ความสำคัญในสิ่งเล็กๆ ที่มหาอำนาจมองข้ามหรือไม่สามารถกระทำได้ เอาจุดเด่นนั้นๆ มาเป็นจุดขายในนโยบายของประเทศตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ในอุตสาหกรรมธุรกิจได้กระทำมาเป็นเวลานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก การที่บริษัทขนาดเล็กจะตีตลาดได้จำเป็นต้องทำสินค้าที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่สามารถทำได้อย่างถนัดมือ เช่น บริษัทรถยนต์ชื่อดังแต่มีขนาดเล็กอย่างปอร์เช่ โรลสลอยซ์ จากัวร์ แอสตัน มาร์ติน หรือเฟอรารี่ ที่มีจุดขายในตลาดที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าโตโยต้าหรือจีเอ็มจะพยายามตีตลาดนี้กี่ครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะภาพลักษณ์ความเป็นบริษัทที่ผลิตรถโหลนั่นเอง

คำถามมีอยู่ว่าทำอย่างไรให้ประเทศขนาดเล็ก เป็นโรลสลอยซ์ หรือแอสตันมาร์ติน ในการเมืองระดับ สากล ในขั้นแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าประเทศเล็กหรือใหญ่ไม่ได้ดูที่ขนาด เพราะประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี หรือแม้แต่ฝรั่งเศสเองนั้นก็มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่โตแต่อย่างใด ส่วนมากเล็กกว่าประเทศไทยเสีย ด้วยซ้ำ ยกเว้นแต่ฝรั่งเศสที่มีขนาดไล่เลี่ยกับเรา ใน ขณะที่ประเทศอย่างซูดานหรือมองโกเลียก็มีพื้นที่มหาศาลแต่กลับโดนจัดว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก ถ้าเอาประชากรเป็นที่ตั้งประเทศไทยก็มีประชากรไล่เลี่ย กับมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสหรืออังกฤษ ขณะที่ประเทศบังกลาเทศที่มีประชากรกว่าร้อยล้านก็ยังโดน มองว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก นักวิชาการโดยมากบอกว่าประเทศจะใหญ่หรือเล็ก ในเวทีสากลนั้นขึ้นอยู่กับภาวะและวิสัยทัศน์ของผู้นำ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ เพราะถ้าผู้นำมีศักยภาพที่ดี แม้จะเป็นประเทศที่เล็กกว่า อ่อนแอกว่า ประชากรน้อยกว่าก็สามารถนำศักยภาพดังกล่าวมาเป็นตัวต่อรองให้ได้เปรียบประเทศที่ใหญ่กว่าได้

แต่ภาวะผู้นำอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ต้องมีองค์ประกอบบางประการ สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือประชาชนที่มีศักยภาพ ตรงนี้นักวิชาการเรียกว่า Effective Population หมายถึงประชากรที่มีคุณภาพสูงและมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาประชาชน ส่วนมากของประเทศไม่ได้ถูกจัดอยู่ในระดับ Effective Population ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วประชากรโดยมากจะเป็น Effective Population ซึ่งทำให้ประเทศพัฒนาแล้วที่มีประชากรน้อยกว่ากลับมีศักยภาพมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายเท่า ตัวอย่างเช่นประเทศ จีนซึ่งมีประชากรกว่าพันล้านคนกับสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรสามร้อยกว่าล้าน แต่เมื่อวัดจำนวนประชากรที่มีความ Effective จริงๆ จะพบว่า จีนยังคงเป็นรองสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้สหรัฐอเมริกายังคงเป็นมหาอำนาจ ที่มีอำนาจมากกว่าจีนในทุกด้าน

เมื่อเอาคอนเซ็ปต์ดังกล่าวมา apply กับประเทศต่างๆ จะพบว่าประเทศที่มีพื้นที่และประชากรไม่มาก เช่น เดนมาร์ก สวีเดน นิวซีแลนด์ สวิตหรือเนเธอร์แลนด์ กลับมีบทบาทที่โดดเด่นบนเวทีสากลมาอย่างต่อเนื่องและ มากกว่าประเทศที่มีทั้งประชากรและพื้นที่มากกว่าหลายประเทศ เช่น คองโก แองโกลา มาลี แทนซาเนีย หรือเอธิโอเปียหลายเท่าตัว หากวัดเป็นบริษัทแล้วผู้นำที่ดีก็ เหมือนกับผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ประชากรที่ Effective ก็เหมือนกับพนักงานที่มีคุณภาพ แบบที่เราเรียกกันว่าแรงงานมีฝีมือ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสินค้าคุณภาพสูง แม้จะมาจากบริษัทขนาดเล็กแต่สิ่งสำคัญที่สุดคือสินค้า การเมืองสากลก็เหมือนสินค้า

การที่ประเทศใดๆ ก็ตามจะสามารถโดดเด่นได้ในเวทีสากล ประเทศนั้นๆ ต้องมีจุดยืนและเป็นผู้นำใน นโยบายสากลที่โดดเด่นกว่าชาติอื่น นั่นคือการเป็นผู้นำ ในนโยบายที่ประเทศมหาอำนาจไม่สามารถหรือไม่มีศักยภาพที่จะผลิตได้ในขณะนั้น ในจุดนี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำที่จะหานโยบายออกมาสู้ เช่นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้นำแนวคิด การค้าเสรีในระดับภูมิภาคมาเป็นสินค้าควบคู่ไปกับการประกาศไม่รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศแต่นำเงินไปช่วยพัฒนาประเทศด้อยพัฒนาในภูมิภาคนี้ ตอนนั้นทั่วโลกมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศพัฒนาแล้วเพราะเราเข้าไปเล่นในเกมที่เรียกว่า ODA (Oversea Development Aid) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ประเทศขนาดเล็กอยู่บนโต๊ะเดียวกับมหาอำนาจได้ ODA ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะประเทศขนาดเล็กในยุโรปและนิวซีแลนด์นำมาเป็นจุดขายมานาน คล้ายกับโครงการอาสาพัฒนา ในบ้านเรา แต่เป็นระดับโลกใครเป็นสมาชิกค่ายอาสาสังคม มักจะมองว่าเป็นคนที่เสียสละ ประเทศที่เล่น ODA ก็จะโดนมองจากสังคมโลกแบบเดียว กัน แต่การเป็นสมาชิกค่ายอาสา ประเทศนั้นๆ ต้องประกาศก่อนว่าตัวเองพร้อมไม่ต้องให้ใครมาช่วย แต่พร้อมไปช่วยคนอื่น อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์ง่ายๆ แต่ไม่ค่อยเห็นผู้นำชาติกำลังพัฒนานำไปทำ

นิวซีแลนด์นั้นแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เล็กแต่มีนโยบายที่โดดเด่นมากกว่าแค่ ODA โดยเริ่มจากการเป็นผู้นำด้านจริยธรรมโดยเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิสตรีในการเลือกตั้ง เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เล่นการเมือง รวมทั้งเป็นประเทศแรกใน โลกที่มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงติดต่อกันสองคนรวมสี่สมัย ซึ่งตรงนี้ทำให้นิวซีแลนด์คงชื่อเสียงการเป็นประเทศผู้นำในด้านสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง

ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจำกันได้ว่าตอนที่ศุภชัย พานิชภักดิ์ลงชิงตำแหน่งประธานองค์การการค้าโลก ก็ต้องแข่งขันกับไมค์ มัวร์จากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็น หนึ่งในความพยายามของรัฐบาลกีวีที่จะผลักดันประเทศ เล็กๆ ของตนเองให้มีบทบาทในระดับโลก สุดท้ายจบลงที่แบ่งเก้าอี้กันคนละสมัย นอกจากนี้ประเทศนิวซีแลนด์ ยังเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศนโยบายเขตปลอดนิวเคลียร์ นำไปสู่นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในยุค 80s ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โลกได้รับการจุดประกายด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเริ่มจากการต่อต้านการทดลองระเบิดปรมาณู โดยนิวซีแลนด์ได้นำประเทศฝรั่งเศสไปขึ้นศาลโลกถึงสองหน

ในที่สุดบรรดามหาอำนาจของโลกทั้งหมดต้องยอมทำสนธิสัญญาที่จะทำการวิจัยด้านระเบิดปรมาณูในห้องแล็บและไม่ทดลองขีปนาวุธบนผิวโลกอีกต่อไป นิวซีแลนด์เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านนี้ขึ้นทั้งๆ ที่เป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรแค่สี่ล้านคน แต่นโยบายดังกล่าวกลับมีผลกระทบต่อมหาอำนาจของโลกรวมทั้งชาติเสรีอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นหรืออาเซียนเองที่นำนโยบายเขตปลอดนิวเคลียร์มาใช้

นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังเป็นผู้นำในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาประเทศขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยให้ความสำคัญ แม้ว่าอัล กอร์จะเป็นนักรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน แต่ในประเทศใหญ่ๆ เช่น อเมริกา จีน หรือออสเตรเลีย ต่างประสบปัญหาในการผลักดันนโยบายดังกล่าว นิวซีแลนด์กลับเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่นำการค้ามาผูกกับสิ่งแวดล้อม โดยการให้ประเทศคู่สัญญา มีการแสดงมาตรฐานในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก่อนที่จะตกลงทำสัญญาการค้าต่อกัน นโยบายดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นนโยบายหลักของประเทศจากกลุ่มสหภาพยุโรปและนิวซีแลนด์ในการจัดมาตรฐานประเทศคู่ค้า ซึ่งในอดีตการจัดอันดับมักจะมาจากการดูเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงานเด็ก

ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากหันมาให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก การให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดนโยบาย ใหม่ๆ เช่นการต่อต้านการล่าปลาวาฬควบคู่ไปกับธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา และ นิวซีแลนด์ เช่น ทัวร์ชมปลาวาฬ ซึ่งต่อมาได้พัฒนา เป็นธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและนิวซีแลนด์เองก็เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในด้านนี้

สิ่งที่นิวซีแลนด์พยายามกระทำนั้นแม้จริงๆแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศนั้นๆ ต้องมีประชากรมหาศาล หรือกองทัพขนาดใหญ่ แม้แต่เศรษฐกิจที่ใหญ่โตแต่อย่างใด ทั้งหมดนั้นมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำนิวซีแลนด์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่เต้นตามกระแสของโลก แต่พยายามที่จะหาจุดยืนใหม่ๆ ให้กับประเทศของตน และเป็นผู้นำของโลกในด้านนั้นๆ

ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทย หากเราได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และไม่หลงเต้นไปตามกระแสโลก ผมเชื่อมั่นว่าประเทศเราก็สามารถที่จะเป็นผู้นำของโลกได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.