|
ร้อยสีร้อยสายวัฒนธรรมในภาพเขียนผนังวัดอัลชิ
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
Alchi เป็นหนึ่งในอารามสำคัญของลาดักซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธวัชรยาน มีอายุเก่าแก่ร่วมพันปี ทั้งภายในประดับด้วยภาพเขียนผนังอันงดงาม จนได้ชื่อว่าเป็น 'เพชรเม็ดงามแห่งเอเชีย' ภาพเขียนผนังเหล่านี้นอกจากจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์ยังแฝงเล่าประวัติศาสตร์หลายบทตอนของดินแดนในภูมิภาคนี้
อัลชิตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลาดัก (Ladakh) ดินแดนในรัฐชัมมูแคชเมียร์ทางตอนเหนือสุดของอินเดีย ห่างจากเลห์เมืองหลวงไปราว 70 กิโลเมตร ตามประวัติเชื่อกันว่ามณฑลของวัดก่อตั้งโดยรินเชน ซังโป ผู้ที่กษัตริย์ Yeshes 'od แห่งทิเบตตะวันตกส่งไปยังแคชเมียร์ ราวปี ค.ศ.970 เพื่อสืบทอดพุทธธรรมคัมภีร์ ระหว่างเดินทางกลับได้สถาปนาอารามพุทธขึ้นในเขตหิมาลัยตะวันตก 108 แห่ง โดยวัดที่มีหลักฐานยืนยันค่อนข้างแน่ชัดว่าสถาปนาโดยรินเชน ซังโป ได้แก่ Tabo, Nyarma, Sumdo ในอินเดียปัจจุบัน และ Toling และ Nako ในทิเบต
วัดอัลชิปัจจุบันประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง และเจดีย์ใหญ่ ซึ่งจากการศึกษาทางโบราณคดีและจารึกพบว่าอาคารดั้งเดิมที่มีภาพเขียนผนังจากช่วงแรกสถาปนาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-13 คือ Sumtsek (แปลว่าอาคารสามชั้น) และ Dukhang (ที่ประชุมสงฆ์) ซึ่งดูคังนั้นเป็นอาคารหลังแรก สร้าง โดยพระชื่อ Kalden Sherab ส่วนซุมเต็กและเจดีย์ใหญ่สร้างโดยพระชื่อ Tshulthim 'od และเมื่ออ้างอิงจากภาพเขียนผนัง เดิมอัลชิน่าจะเป็นวัดในนิกายกาดัมปะหรือต่อมาอาจอยู่ภายในนิกายดิคุงปะ แต่ปัจจุบันเป็นอารามที่ไม่มีพระจำวัดหรือใช้ประกอบ พิธีทางศาสนา และอยู่ภายใต้การดูแลของพระจากวัดลิเคียร์ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งเป็นวัดในนิกายเกลุกปะ
อารามอัลชินี้ตั้งอยู่บนพื้นราบเช่นเดียวกับวัดตาโบในเขตสปิติ แสดงให้เห็นว่าวัดทั้งสองสร้างขึ้นก่อนที่จะมีธรรมเนียมการสร้างวัดบนยอดเนินหรือยอดผา ดังที่เห็นอยู่ทั่วไป
ในแง่สถาปัตยกรรม ทั้งโครงสร้างและเทคนิค การก่อสร้างเป็นสไตล์พื้นถิ่นของลาดัก คือเป็นทรงเกือบจัตุรัสหลังคาราบ ผนังหนาราวหนึ่งเมตรเป็นงานก่อหินถือปูน ฉาบเรียบด้วยโคลนและปูนขาว หลังคามุงด้วยไม้ป็อปลาร์และกิ่งหวายแล้วฉาบโคลน ทาสีน้ำตาลแดง ซึ่งเป็นลักษณะงานก่อสร้างที่แทบจะไม่เปลี่ยนมาตลอดหลายศตวรรษ แต่ในส่วนงานไม้โดยเฉพาะระเบียงอาคารด้านหน้าของซุมเต็กซึ่งลักษณะการตกแต่งหัวเสาและประดับช่องระหว่างเสาด้วยกรอบไม้แกะสลักทรงหน้าจั่วภายในมีรูปจำหลัก ถือเป็นสไตล์ที่ต่างจากงานไม้ที่พบทั่วไปในลาดักและทิเบตตะวันตก นักประวัติศาสตร์ศิลป์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าเป็นอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของแคชเมียร์ระหว่างศตวรรษที่ 8-12 อันมีต้น รากจากศิลปะยุคกันธาระ ลักษณะงานไม้นี้ประกอบ กับสไตล์สถาปัตยกรรมรวมถึงเครื่องนุ่งห่มที่ปรากฏในภาพเขียนผนัง ทำให้เชื่อกันว่าศิลปินผู้ฝากผลงาน ไว้แก่อัลชิ น่าจะมาจากแคชเมียร์หรืออย่างน้อยก็ผ่าน การฝึกปรือจากตระกูลช่างศิลป์ในแคชเมียร์
ภายในซุมเต็กซึ่งมืดสลัว เนื่องจากเป็นอาคารที่ไม่มีหน้าต่าง แสงลอดเข้ามาได้ก็จากช่องประตูเตี้ยๆ ทางด้านหน้าของอาคารแต่ละชั้น หากยืนปรับ สายตาสักครู่ จะพบว่าที่กึ่งกลางผนังทั้งสามด้านมีลักษณะเป็นคูหาประดิษฐานด้วยปฏิมากรสูง 4-4.6 เมตร เบื้องซ้ายคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กายเป็นสีขาวฝ่ามือทาสีแดง เบื้องขวาคือพระมัญชุศรี กายสีแดงพระพักตร์สีทองสวมมงกุฏห้ายอด เบื้องหน้าคือพระไมตรียะ พระพักตร์สีทองกายสีเหลือง แต่ละองค์ขนาบซ้ายขวาด้วยเทพปางต่างๆ ข้างละสององค์ เทพเหล่านี้เป็นงานปั้นลอยตัวจากผนัง ไม่พบในวัดอื่นของลาดัก จะมีที่เหมือนกันก็แต่วัดตาโบ ในเขตสปิติ รัฐหิมาจัลประเทศ ปฏิมากรเหล่านี้เป็นงานปั้นดินผสมฟางและใยไม้ โดยน่าจะมีแกนไม้เป็นโครงอยู่ด้านใน
ธรรมเนียมสร้างพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ขนาดใหญ่ แม้จะพบทั่วไปจากชมพูทวีปถึงจีนและญี่ปุ่น กระนั้นการยืนอยู่ต่อหน้าพระโพธิสัตว์ที่ตระหง่านง้ำอยู่ในคูหาแคบๆ ก็ชวนให้ระลึกถึงพระพุทธรูปจำหลักในคูหาหินแห่งบามิยัน อัฟกานิสถานจากศตวรรษที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นต้นแบบของปฏิมากรในวิหารถ้ำแห่งหลงเหมินและยุนคังทางตอนเหนือของจีน เป็นไปได้ว่าปฏิมากรทั้งองค์พระโพธิสัตว์และรูปปั้นลอยตัวบนผนัง อาจได้รับอิทธิพลหรือเป็นการจำลองงานจำหลักหินที่พบได้จากใจกลางชมพูทวีปถึงเอเชียกลางมาไว้ในอารามหลังย่อม
ตลอดทั่วทุกผนังรวมถึงเพดานและโดตี (ผ้านุ่ง) ขององค์พระโพธิสัตว์ดารดาษด้วยภาพเขียนโมทีฟต่างๆ นับจากพุทธประวัติ ภาพมณฑล (Mandala) มหากาฬ พระโพธิสัตว์อมิตาภะ เทพตาระ ฯลฯ ภาพเขียนเหล่านี้แม้จะมีอายุกว่า 700 ปี แต่ยังสดในเฉดสีและคมชัดอยู่เป็นส่วนใหญ่คงเนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่เย็นแห้งของลาดัก ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทะเลทรายบนหิมาลัย การอยู่ในสภาพแสงที่มืดสลัว ประกอบกับซุมเต็กไม่ใช่ที่สำหรับประชุมสงฆ์หรือดำเนินพิธีกรรมใดๆ จึงไม่ถูกรมด้วยควันจากธูปและ ตะเกียงเนยเช่นในกรณีของดูคัง ซึ่งภาพเขียนหม่นมัวและหลุดลอกไปมาก
สำหรับดูคังนั้นมีพระไวโรจนาเป็นองค์ประธาน ประดิษฐานอยู่ในคูหาด้านหลังล้อมรอบด้วยเทพสำคัญต่างๆ ส่วนภาพเขียนผนังมีมณฑลเป็นธีมหลัก โดยผนังแต่ละด้านเขียนเป็นภาพมณฑลขนาดใหญ่ด้านละสองมณฑล ตามหลักพุทธศาสนาวัชรยาน มณฑลเป็นภาพรหัสนัยแสดงแผนผังของจักรวาลและจิตมนุษย์ ซึ่งในการฝึกปฏิบัติอาจารย์จะเลือกมณฑลธาตุที่ตรงกับจริตของศิษย์ แล้วใช้เป็น เครื่องอภิเษกให้ศิษย์ใช้พิจารณาขณะฝึกสมาธิภาวนา นอกจากภาพมณฑลทั้งหกภาพเขียนในดูคังยังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจอีกสองแห่ง คือภาพเจดีย์ที่เขียนอยู่ระหว่างมณฑลทั้งสองบนผนังด้านขวา ซึ่งมี โครงสร้างคล้ายกับเจดีย์ในภาพเทพตาระในซุมเต็ก ต่างกันที่ยอดฉัตร 13 ชั้นของภาพเจดีย์ในดูคังเขียน คลุมไว้ด้วยผ้าแดง ภาพเจดีย์นี้อาจเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับใช้ศึกษาลักษณะเจดีย์ของแคชเมียร์ที่สร้างขึ้นในยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรือง อาทิ เจดีย์ใหญ่ที่ฮาร์วาน และปาริหัสปุระที่ประมาณว่าเคยสูงถึง 100 ฟุต ภาพเขียนที่น่าสนใจอีกตำแหน่งอยู่ทางด้านซ้ายของประตูทางเข้า เป็นภาพงานเลี้ยงในราชสำนัก ซึ่งราชินีที่เห็นในภาพน่าจะเป็นองค์อุปถัมภ์สำคัญของวัดอัลชิ ดังปรากฏซ้ำในภาพเขียนอีกหลายแห่ง ขณะที่กษัตริย์ในภาพอยู่ในชุดเสื้อคลุมลายวงกลมภายในเป็นรูปสิงโตและใส่ผ้าคาดเอวตาหมากรุก อันเป็นสัญลักษณ์เด่นของศิลปะยุค Sasanian แห่งเปอร์เชีย ซึ่งลายนี้เราจะเห็นซ้ำในผ้าคลุมของมหากาฬในซุมเต็ก
ภาพเขียนอื่นที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์ ได้แก่ ภาพเขียน เทพตาระ ภาพบนผ้านุ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และภาพเขียนเพดาน ซึ่งล้วนแต่อยู่ในซุมเต็ก โดยภาพเขียนเทพตาระเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์และเด่นชัดของสไตล์ศิลปะภาพเขียนของอินเดียเหนือในช่วงศตวรรษที่ 11 อาทิ การเน้นเส้นโครงร่างที่เด่นชัดประกอบด้วยการแรเงาให้เกิดมิติ การเขียนภาพหน้าหันข้าง 3 ใน 4 และ การเขียนตาข้างที่อยู่ด้านหลังให้เกินมาจากเส้นโครงหน้า ซึ่งลักษณะสองประการหลังนี้เริ่มปรากฏบ้างแล้วในภาพ เขียนผนังถ้ำ Ellora จากศตวรรษที่ 8 ก่อนจะพัฒนาเด่นชัดในทิเบตตะวันตกและเนปาลช่วงศตวรรษที่ 11-12 และเผยแพร่ต่อไปยังพม่าและจีน ทั้งกลายเป็นเอกลักษณ์ ของภาพเขียนในศาสนาเชนอยู่จนถึงศตวรรษที่ 15
ในส่วนผ้านุ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเขียน ลายเป็นพระราชวังและวัดราว 13 แห่ง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น สถานที่สำคัญในอดีตของศรีนาการ์ (ศรีนคร) เมืองหลวง ของแคชเมียร์
สำหรับเพดานของซุมเต็ก แรกเห็นคนทั่วไปอาจ เข้าใจว่าขึงไว้ด้วยผ้าทอผืนใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าลวดลายวิจิตรที่เห็นนั้นเป็นภาพเขียนลายผ้า 48 ลายบนเพดานไม้ ซึ่งช่างเขียนตั้งใจเก็บรายละเอียดของลวดลาย เทคนิคการย้อมสีและถักทอ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นความพยายามจำลองธรรมเนียมปฏิบัติของผู้คนในสมัยนั้น ที่จะขึงผ้าทอผืนงามไว้ใต้เพดาน เพื่อการประดับตกแต่งและกันฝุ่นละอองตกจากเพดาน เนื่องจากบ้านเรือนในอดีตทั้งในลาดักและแคชเมียร์ ใช้ดินผสมฟางเป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้าง ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ยังคงสืบสายมาจนถึงปัจจุบัน เช่นที่ชาวลาดักจำนวนไม่น้อยยังนิยมขึงผ้า ไว้ใต้เพดานบ้าน ส่วนชาวแคชเมียร์สานต่อธรรมเนียม นี้ไปใช้กับสุเหร่าและศาลสำคัญในศาสนาอิสลาม เช่นที่สุเหร่าบางแห่งเป็นเจ้าของผ้าทอผืนโตที่ประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งคหบดีในอดีตบริจาคไว้เพื่อประดับเพดาน
ภาพเขียนผนังแห่งอัลชิจึงเป็นหลักฐานชั้นดี ที่บอกเล่าว่าสายวัฒนธรรมเคยร้อยเชื่อมอินเดีย ทิเบต ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และจีนเข้าด้วยกัน อย่างไม่ระย่นย่อต่อความต่างทางเชื้อชาติ ภาษา หรือแม้แต่ศาสนา อีกแง่หนึ่งแคชเมียร์และลาดัก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ปัจจุบันการเมืองและศาสนาทำให้ผู้คนแปลกแยกต่อกันราวกับคนต่างโลก หากชนรุ่นหลังของแคชเมียร์จะตระหนักว่า มรดกศิลปะอันล้ำค่าของตนถูกเก็บรักษา ไว้ในอารามพุทธแห่งอัลชิ และชาวลาดักพึงระลึกว่า เพชรเม็ดงามที่พาให้ผู้คนจากทุกทิศมาเยี่ยมชมอัลชิ นั้น มีศิลปินจากอีกฟากฝั่งของหิมาลัยเป็นผู้ร่วมสร้าง วันนี้ผู้คนก็คงจะเป็นมิตรต่อกันมากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|