กาแฟ: ตลาดเปิดกว้าง-การแข่งขันหนักหน่วง


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กรณีที่ไทยจะต้องลดอัตราภาษีนำเข้าและยกเลิกมาตรการโควตาภาษีสินค้าเกษตรตามข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA จำนวนทั้งสิ้น 23 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป เมล็ดกาแฟและกาแฟสำเร็จรูปจัดเป็นสินค้าเกษตรที่จะต้องทำการลดอัตราภาษีนำเข้าตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย

โดยกาแฟสำเร็จรูปจะต้องทำการลดอัตราภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในขณะที่เมล็ดกาแฟจัดเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูงจะยังคง อัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 5

ในปี 2552 ประเทศไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ประมาณ 56,315 ตัน ส่วนใหญ่ใช้แปรรูปเพื่อการบริโภคในประเทศถึงร้อยละ 89.0 ของปริมาณการผลิต หรือประมาณ 50,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 11.0 จะเป็นการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในรูปของเมล็ดกาแฟ และแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป

อย่างไรก็ดี ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟเพื่อบริโภคภายใน ประเทศมีประมาณ 68,000 ตัน ซึ่งผลผลิตที่ได้มีไม่เพียงพอกับความต้องการ ประเทศไทยจึงต้องมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งปริมาณการนำเข้าเมล็ดกาแฟในแต่ละปีมีไม่สูงนัก เนื่องจากจะต้องเสียภาษีนำเข้าสูง และผู้ที่นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานราชการเท่านั้น

ทั้งนี้ ปริมาณการนำเข้ากว่าร้อยละ 84.0 เป็นการนำเข้ามา แปรรูปและบริโภคในประเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 16.0 เป็นการนำเข้ามาแปรรูปเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ไทยยังมีการนำเข้ากาแฟในรูปของกาแฟสำเร็จรูปเพื่อมาบริโภคในประเทศโดยตรง อาทิ กาแฟกระป๋อง กาแฟผงสำเร็จรูป และไทยยังมีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูปมาผ่านกระบวนการปรุงแต่งเพื่อจำหน่ายในประเทศ และบางส่วนก็ส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมกาแฟไทยที่มีความซับซ้อน การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าตามกรอบอาฟตาในปี 2553 อาจก่อ ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกันไป

ในส่วนของเกษตรกรไทยที่ผลิตเมล็ดกาแฟนั้นคาดว่าจากการลดอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเวียดนามซึ่งถือเป็นผู้ค้ารายใหญ่ติด 1 ใน 3 ของโลก รองจากบราซิลและโคลัมเบีย ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำกว่าไทยมาก

แม้ไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ และมาตรฐานที่แตกต่างจากเมล็ดกาแฟของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ และต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการแปรรูปในประเทศยังคงต้องการเมล็ดกาแฟ ของไทย ซึ่งเกษตรกรไทยควรที่จะรักษาข้อได้เปรียบในส่วนนี้ไว้ ด้วยการส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อที่จะขยายโอกาสในการส่งออกเมล็ดกาแฟจากการเปิดการค้าเสรี และสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้

ขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟจะได้รับผลกระทบไม่มากนักและมีแนวโน้มว่า หากมีการเปิดนำเข้า เสรีภายใต้กรอบอาฟตา ผู้ประกอบการบางรายจะหันไปนำเข้าเมล็ดกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่า ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกาแฟสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ ของผู้ประกอบการในประเทศถูกลง

การแข่งขันในส่วนนี้จะเน้นในเรื่องของรสชาติและรสนิยมของผู้บริโภคมากกว่า และกาแฟสำเร็จรูปของไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องของรสชาติ และคุณภาพที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ใน อาเซียน ฉะนั้นหากนำเข้าเมล็ดกาแฟที่มีต้นทุนถูกกว่าจากต่างประเทศมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิตประกอบ กับคุณภาพและรสชาติที่เป็นที่ต้องการแล้วนั้น คาดว่าจะส่งผลให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟของไทยและสร้างรายได้ ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับประเด็นที่พึงระวังอยู่ที่การปรับลดอัตราภาษีนำเข้า เมล็ดกาแฟ อาจทำให้ผู้ผลิตหันไปนำเข้าเมล็ดกาแฟเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่าและทำให้มีการผลิตกาแฟสำเร็จรูปมีต้นทุนที่ต่ำลงด้วย นอกจากนี้ผู้ประกอบการในประเทศยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับกาแฟสำเร็จรูปที่จะเข้ามาจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า

ผู้ประกอบการไทยควรมีการรับมือกับกาแฟสำเร็จรูปที่อาจจะเข้ามาตีตลาดในประเทศ ด้วยการอาศัยความได้เปรียบใน เรื่องของคุณภาพของกาแฟไทยในการแข่งขัน มากกว่าการแข่งขันทางด้านราคา ควบคู่กับการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในอาเซียนเพื่อที่จะทำการขยายผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ คาดว่ากาแฟสำเร็จรูปของไทยจะสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า และขยายช่องทางในการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนมากขึ้น

ในส่วนของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200 แก้วต่อปี จาก 50 แก้วต่อปี เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา การเปิดเสรีการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป ตามกรอบข้อตกลงอาฟตา ทำให้ผู้บริโภคในประเทศมีทางเลือกในการเลือกซื้อกาแฟสำเร็จรูปมาบริโภคมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นกาแฟสำเร็จรูปที่ผลิตในประเทศ หรือกาแฟสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เน้นปัจจัยทางด้านราคาเป็นสำคัญจะมีทางเลือกที่หลากหลายจากกาแฟนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้บริโภคบางรายที่นิยมบริโภคกาแฟ สำเร็จรูปของไทยซึ่งมีคุณภาพและรสชาติที่เป็นที่นิยม

การวางแผนเพื่อรองรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง จึงเป็นกรณีที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม ให้ปลูกกาแฟพันธุ์ดีทดแทนพันธุ์เก่า เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพของกาแฟ รวมทั้งเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนให้ผู้ปลูกกาแฟมีการปรับตัวไปปลูกกาแฟที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในประเทศมากขึ้น ซึ่งสามารถ ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพสูงได้

นอกจากนี้ ภาครัฐควรกำหนดและบังคับใช้มาตรฐานการนำเข้าสินค้ากาแฟที่มีความชัดเจนเพื่อให้การบริโภคสินค้าชาและกาแฟของผู้บริโภคในประเทศมีมาตรฐานและปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งควร มีมาตรการการออกใบอนุญาตอัตโนมัติ (Automatic Licensing) เพื่อเก็บข้อมูลการนำเข้ากาแฟควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟรูปแบบใหม่ๆ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพื่อที่จะสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคต

เพราะตลาดที่เปิดกว้างขึ้นอาจประเมินในฐานะที่เป็นโอกาสในการขยายตลาด ขณะที่การแข่งขันก็ดำเนินไปอย่างหนักหน่วงขึ้นเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.