น้ำตาลไทย หลัง ASEAN ปรับลดภาษี


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มกราคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนกำหนดให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มต้องปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553

จะมียกเว้นบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าใหม่อันได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนามที่ขอเวลาปรับตัว โดยจะทยอยปรับลดภาษีน้ำตาลลงเป็นลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยต่อการเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทยไปยังตลาดอาเซียนเป็นอย่างมาก

ที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นไทย ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำเป็นต้องพึ่งพา การนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ ส่วนไทยนั้นนอกจากจะสามารถ ผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอต่อความต้องการ แล้วยังมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณ ผลิตทั้งหมด ในจำนวนนั้นกว่าร้อยละ 37 เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน

แม้ว่าสินค้าน้ำตาลของไทยจะได้รับประโยชน์จากการปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยก็ยังคงต้องพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ การเพิ่มค่าความหวานของอ้อย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของน้ำตาลไทยให้สูงขึ้น

เพราะผลจากการปรับลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้เกิดตลาดผู้บริโภคน้ำตาลกว่า 500 ล้านคน จูงใจ และสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา พม่า ทั้งที่เป็น การลงทุนเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลโดยตรงของนักลงทุนท้องถิ่น หรือการลงทุนโดยนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยอาศัยศักยภาพด้านการมีพื้นที่และแรงงานราคาถูกที่ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศในอนาคต รวมทั้งมีส่วนเหลือเพื่อการส่งออกจนแข่งขันกับน้ำตาลของไทยในตลาดอาเซียน และตลาดอื่นๆ ได้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคในประเทศประมาณร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 70 จะส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ อินเดีย และจีน แม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตน้ำตาลมากกว่าไทย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 1 ใน 3 อันดับแรกของโลก โดยมีการส่งออกประมาณ 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ส่งออกประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ในเอเชียคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 90 ที่สำคัญได้แก่ ตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย อิรัก จีน ศรีลังกา และเกาหลีใต้ โดยคู่แข่งที่สำคัญทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทย ได้แก่ ออสเตรเลียซึ่งมีตลาด เป้าหมายที่ประเทศในเอเชียเช่นเดียวกันกับไทย

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพบว่าในช่วง 10 เดือนแรกปี 2552 ไทยมีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอาเซียนประมาณ 1.59 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 565.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 36.5 จากปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด 4.36 ล้านตัน มูลค่า 1,545.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียในสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 50.9 ของปริมาณการส่งออกไปยัง ตลาดอาเซียน รองลงมาได้แก่ กัมพูชา (สัดส่วนร้อยละ 24.5) เวียดนาม (สัดส่วนร้อยละ 6.9) สิงคโปร์ (สัดส่วนร้อยละ 6.5) ฟิลิปปินส์ (สัดส่วนร้อยละ 4.3) ลาว (สัดส่วนร้อยละ 3.5) มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 2.9) พม่า (สัดส่วนร้อยละ 0.3) และบรูไน (สัดส่วนร้อยละ 0.2) การปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แม้ว่าจะส่งผลดีต่อไทย เพราะทำให้ต้นทุนทางด้านภาษีนำเข้าน้ำตาลของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศอาเซียน ปรับลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยพึงระวังบางประการที่อาจส่งผลกระทบ เชิงลบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเพื่อเข้ามาแย่งตลาดและการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาแปรรูป

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ซึ่งปัจจุบันผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยค่อนข้างต่ำประมาณ 10.2 ตันต่อไร่ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 13-14 ตันต่อไร่ และบราซิลทำได้ 12.5 ตันต่อไร่ ทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยของไทยอยู่ในระดับซึ่งหากสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้เทียบเท่าคู่แข่งคือ 13-14 ตันต่อไร่ในพื้นที่เพาะปลูกเดิมแล้วก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังสามารถ ส่งออกน้ำตาลไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพของอ้อย เพราะที่ผ่านมาอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานจะมีค่าความหวานต่ำเพียงประมาณ 11-12 ซี.ซี.เอส ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียและบราซิลนั้นค่าความหวานของน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 13-15 ซี.ซี.เอส. ซึ่งค่าความหวานที่สูงจะหมายถึงปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลของไทยต่ำลงเช่นกัน สำหรับแนวทางในการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพของอ้อยให้สูงขึ้นนั้น ภาครัฐควรมีการส่งเสริม ให้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตและมีคุณภาพสูง

นอกจากนี้ควรพิจารณาจัดหาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชในราคาต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ประการสำคัญควรมีการจัด หาแหล่งน้ำรวมถึงระบบชลประทานให้เข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตอ้อยลดลงจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้อย่างมั่นคง

เมื่อถึงจุดนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยในแต่ละระดับ ตั้งแต่ชาวไร่ไปถึงผู้ส่งออกคงมีอนาคตที่หวานกว่าที่เป็นอยู่นี้อีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.