ไอบีเอ็ม พีซี ยูสเซอร์คลับ แหล่งรวมนักเล่นไมโครคอมพิวเตอร์


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจจะเป็นเพราะบ้านเราเพิ่งจะเริ่มตื่นตัวด้านคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ความไม่เข้าใจในหลายสิ่งหลายอย่างย่อมต้องมีบ้างเป็นธรรมดา

สาเหตุน่าจะเป็นเพราะคอมพิวเตอร์ขนาดแรกที่เข้ามาในบ้านเราเป็นเครื่องใหญ่หรือที่เรียกกันว่า "เมนเฟรม" จากนั้นจึงติดตามด้วยเครื่องขนาดเล็กลงมาซึ่งเรียกกันว่า "มินิคอมพิวเตอร์" เพิ่งจะเข้ามาวาดลวดลายสร้างความฮือฮาเมื่อประมาณ 2-3 ปีนี้เอง

"เมนเฟรม" กับ "มินิคอมพิวเตอร์" นั้นกว่าจะใช้ประโยชน์ได้คงพอทราบกันดีว่า จะต้องวางระบบ วางโปรแกรม และจะต้องมีบุคลากรในจำนวนเหมาะสม ซึ่งยุ่งยากซับซ้อนอยู่ไม่น้อย ทำไปทำมาจึงเกิดเป็นธรรมเนียมที่คนขายจะต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้ให้คนซื้อและจะต้องซัปพอร์ตด้านต่างๆ ให้จนกว่าเครื่องจะพังไป หรือไม่คนขายก็ชิงปิดกิจการเสียก่อน

ที่จริงเพียงแค่นั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรหรอก ทั่วโลกเขาก็เป็นกัน แต่บ้านเราอาจจะพิเศษมากกว่าตรงที่คนขายบ้านเราล้วนแล้วแต่ใจถึง กล้าทุ่มเอาใจลูกค้า อยากได้อะไรขอให้บอก รับรองถ้าช่วยได้หรือทำได้ เป็นต้องทำให้หมด เรื่องการวางระบบโปรแกรม หรือมีปัญหาทำงานแล้วติดขัดอย่างไรคนซื้อจึงพึ่งคนขายทุกเรื่อง ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ดีต่อคนซื้อคอมพิวเตอร์ไปใช้ ส่วนคนขายถ้าไม่พยายามเอาใจเช่นนั้นเขาก็คงอยู่ในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันไม่ได้

อย่างไรก็ดี การให้บริการชนิดถึงลูกถึงคนของผู้ขายเครื่องเมนเฟรมและเครื่องมินินี้ ในที่สุดเมื่อเครื่องไมโครไม่ว่าจะเป็นเปอร์ซอนนอลคอมพิวเตอร์ หรือโฮมคอมพิวเตอร์ เริ่มมีขายและมีใช้กันค่อนข้างแพร่หลายในบ้านเรา ก็อดทำให้คนจำนวนมากที่ยังเข้าใจระบบการทำงานของเครื่องไมโครไม่ลึกซึ้งเพียงพอ โมเมเอาว่าไมโครคอมพิวเตอร์นั้นคงไม่ต่างจากเครื่องเมนเฟรมหรือเครื่องมินิไปเท่าใด

หลายคนซื้อมาแล้วก็คิดว่าจะต้องมานั่งวางระบบเขียนโปรแกรม และก็ต้องให้คนขายช่วยดูแลจัดการเสียให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย เหมือนกับซื้อเครื่องเมนเฟรมหรือซื้อเครื่องมินิ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดคอนเซ็ปต์อย่างสิ้นเชิง

ที่ว่าผิดก็คือไมโครคอมพิวเตอร์นั้นผู้ผลิตเขามุ่งผลิตออกมาแบบ Mass Production ตั้งเป้าขายได้มากเข้าไว้ และโดยหวังว่า ผู้ซื้อจะเป็นผู้นำไปใช้โดยตรง ไม่ต่างจากการซื้อเครื่องคิดเลขไว้เป็นสมบัติประจำตัวสักชิ้น การออกแบบจึงมุ่งทำให้สามารถเรียนรู้การใช้งานได้เร็ว ง่ายดายอีกทั้งไม่ต้องวางระบบ หรือมานั่งเขียนโปรแกรมกันให้เมื่อย เขามีโปรแกรมสำเร็จรูปเป็นแอพพลิเคชั่นแพ็กเกจ (Application Package) ตระเตรียมไว้เสร็จ การพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใช้เครื่องจริงๆ ผู้ผลิตหรือผู้ขายแทบจะไม่ได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องเลย

ในสหรัฐฯ หรือในหลายๆ ประเทศผู้ใช้เข้าใจคอนเซ็ปต์นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง ดังนั้น เขาจึงตั้งชมรมผู้ใช้เครื่องไมโครยี่ห้อต่างๆ ขึ้นใครใช้เครื่องแอปเปิลก็ไปเข้าชมรมผู้ใช้เครื่องแอปเปิลหรือใครใช้เครื่องทีไอ (เทกซัสอินสตรูเมนต์) ก็เข้าชมรมผู้ใช้เครื่องทีไอ เป็นต้น จากนั้นผู้ใช้แต่ละชมรมเขาจะทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือประสบการณ์ระหว่างกัน เช่น เครื่องที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร? ด้อยตรงไหน ดีตรงไหน? ใครใช้แพ็กเกจตัวไหนอยู่? เอาไปทำงานอะไร? ได้ผลไหม? เรื่องเหล่านี้ผู้ใช้เขาจะแลกเปลี่ยนความรู้กัน ทำให้ผู้ใช้รายใดซื้อเครื่องไปใช้แล้วมีปัญหา ก็อาจจะแก้ปัญหาที่ตนพบได้โดยอาศัยบทเรียนจากผู้ใช้รายอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีวารสารหรือนิตยสารด้านไมโครคอมพิวเตอร์ออกมารองรับ ก็ดูเหมือนการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์จากการใช้เครื่องแพ็กเกจประเภทต่างๆ ยิ่งขยายวงกว้างขวางมากขึ้น ใครที่ไม่มีเวลาพอไปนั่งแลกเปลี่ยนความเห็นในชมรมก็หาความรู้เอาจากวารสารหรือนิตยสาร เป็นต้น

สำหรับบ้านเราที่จริงก็มีการก่อตั้งชมรมประเภทนี้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งให้เป็นศูนย์รวมประเภทนี้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งให้เป็นศูนย์รวมของนักเล่นเกมส์ ไม่ได้มุ่งที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการนำเครื่องไมโครไปใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ โดยส่วนใหญ่แล้วคนขายเขาจะเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น จึงไม่น่าจะจัดเป็นชมรมตามจุดมุ่งหมายที่หลายๆ ประเทศเขาทำกัน

จนเมื่อไม่นานมานี้นั่นแหละ ชมรมผู้ใช้ไมโครที่พอจะจัดเป็นชมรมของผู้ใช้ตามคอนเซ็ปต์ที่ควรจะเป็นจึงได้เกิดขึ้นมา บอกเสียเลยก็ได้ว่าเป็นชมรมผู้ใช้เครื่องไอบีเอ็ม พีซี ซึ่งประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันนัดแรกเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

กำเนิดของชมรมนี้นอกจากจะเป็นเรื่องของความพร้อมใจระหว่างผู้ใช้อย่างไอบีเอ็ม พีซี หลายสิบรายมาแล้ว แกนกลางประสานงานก็คือบริษัทคอมพิวเตอร์ยูเนียน-ผู้แทนจำหน่ายผู้หนึ่งในสองตัวแทน

ในด้านวัตถุประสงค์ของชมรม พิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี กรรมการผู้จัดการคอมพิวเตอร์ยูเนียน ได้กล่าวไว้ชัดเจนในการประชุมนัดแรกนั้นว่า "เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน จะเป็นทัศนะในทางดีหรือไม่ดีในการใช้พีซีของไอบีเอ็มก็ตาม นอกจากนี้อีกอันหนึ่งก็คือหลายท่านจะได้รับทราบความคิดเห็นจากผู้มีประสบการณ์ที่เราจะจัดบรรยาย และเพื่อประโยชน์ที่พวกเราจะได้พึ่งพาอาศัยกันต่อไป"

พิลาศพงษ์เน้นว่า "ในปัจจุบันผมคิดว่าทางผู้ใช้จะต้องพาอาศัยกันเองบ้าง เพื่อให้การใช้พีซีเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ช่วยเหลืองานเราได้มากขึ้น นอกจากนี้ในแง่ส่วนตัวผมถือว่ามันเป็นความบันเทิง สำหรับผมแล้วใช้พีซี เพื่อความสุขใจของผมเอง ผมชอบ ใช้แล้วรู้สึกว่ามันสามารถทำงานแปลกๆ ได้หลายอย่าง ผมว่าหลายๆ ท่านคงอาจจะรู้สึกเหมือนกับผมในประการนี้..."

มีผู้สงสัยว่า ชมรมนี้จะไปได้รอดในระยะยาวหรือไม่ เพราะมีไม่น้อยคนเหมือนกันที่เชื่อว่าคนไทยชอบทำตัวสบายๆ เรื่องจะให้ไปเที่ยวสังกัดชมรมหรือสมาคมที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบนั้นเดี๋ยวก็จะสนใจกันชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งก็อาจจะทำให้เป้าหมายที่จะให้ผู้ใช้มาช่วยกันพัฒนาการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ไม่ได้รับผลสำเร็จ ข้อสงสัยนี้สำหรับแกนกลางประสานงานผู้รวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกันอย่างพิลาศพงษ์ก็คิดอยู่ ดังนั้น ในการประชุมนัดแรกนี่อีกนั่นแหละที่เขารีบชิงทำความเข้าใจเสียก่อนว่า "เราก็ตกลงว่าจะไม่จะไม่ให้มันเป็นชมรมหรือสมาคมที่ต้องมีกฎมีระเบียบอะไร เอาเป็นว่า เรามารวมตัวกัน คุยกันในหมู่คนที่พูดกันเข้าใจใช้ภาษาเดียวกัน เนื่องจากเราไปพูดกับคนอื่นเขาไม่ฟัง เขาไม่รู้เรื่อง มันมีแต่ศัพท์แสงด้านคอมพิวเตอร์ ขั้นแรกนี้เราหวังเท่านั้น..."

ในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และในยุโรป ผู้เกี่ยวข้องกับวงการไมโครคอมพิวเตอร์ทุกส่วนเขาได้ตระหนักถึงหน้าที่ของกันและกันเป็นอย่างดี กล่าวคือ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เขาก็จะทำหน้าที่ผลิตเครื่องที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็จะผลิตแพ็กเกจที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าเครื่องของใครและแพ็กเกจของใครที่ทำงานได้ผลจริงๆ ดังนั้น การรวมตัวของผู้ใช้เพื่อหาข้อสรุปว่า เครื่องยี่ห้อใดดีด้อยอย่างไร และแพ็กเกจตัวไหนทำงานได้ไม่ได้ จึงกลายเป็นจุดที่ทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จำต้องยึดเป็นแนวทางสำหรับพัฒนาโปรดักส์ของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในที่สุด

การก่อตั้งชมรมผู้ใช้ไอบีเอ็มพีซีในบ้านเราก็ต้องถือเป็นการกระทำที่ถูกทางแล้วนั่นเอง

ในการชุมนุมนัดแรกของชมรมผู้ใช้ไอบีเอ็มพีซีซึ่งจัดขึ้นที่ห้องวิภาวดีบอลรูม โดรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซา ที่ว่ามาแล้วนั้นมีผู้ให้เกียรติขึ้นพูดแสดงความเห็น 4 ท่านด้วยกันคือ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งวงการคอมพิวเตอร์บ้านเรายอมรับว่าเป็นผู้รู้ระดับหัวแถว

ท่านที่สอง-พันเอกทวี บรรลุศิลป์ ผู้ช่วยปลัดบัญชีทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

ท่านที่สาม-ม.ร.ว.วีรเดช เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์บริษัทจอห์สันแอนด์จอห์นสัน (ประเทศไทย)

ท่านสุดท้าย คุณวิวัฒน์ ทองปุสสะ ผู้จัดการโรงงานบริษัทอุตสาหกรรมพรมไทย (พรมไทปิง) ทั้ง 4 ท่านนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใช้ไอบีเอ็มพีซีกับแพ็กเกจนานาประเภททั้งสิ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.