สิ้นสุดธันวาคม 2526 เครือซิเมนต์ไทยมีสินทรัพย์รวม 15,590 ล้านบาท (ยังไม่รวมบริษัทยางสยาม
จำกัด ที่ซื้อจากไฟร์สโตน บริษัท ไออีซี จำกัด และบริษัท แพน ซัพพลาย จำกัด)
และมียอดขาย 19,626 ล้านบาท
"กำไรปี 2527 ของปูนใหญ่คงจะประมาณพันกว่าล้านบาทได้" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บอกกับ
"ผู้จัดการ"
ถ้านับกำไรเป็นอัตราส่วนต่อทุนจดทะเบียนทั้งหมดแล้วก็จะตกอยู่ราว 40% ของทุน
2,373 ล้านบาทหรือประมาณ 8% ของสินทรัพย์รวม
นี่ถ้าบริษัทนี้อยู่ในสหรัฐฯ ก็คงจะเป็นกรณีศึกษากันเป็นอย่างแน่แท้!
และเบื้องหลังของตัวเลขเมื่อสิ้นสุดธันวาคม 2526 นี้คือ การวางแผนอย่างชาญฉลาดของคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด ในการตั้งผู้จัดการใหญ่
จุดเปลี่ยนแปลงของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเห็นจะเป็นช่วงปี 2515 ที่พูนเพิ่ม
ไกรฤกษ์ ได้เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัท และได้บุญมา วงศ์สวรรค์ เข้ามาเป็นกรรมการด้วย
บุญมา วงศ์สวรรค์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดการใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในปี
2517 ซึ่งพอจะเรียกได้ว่า เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของระบบเศรษฐกิจการเมืองของชาติ
บุญมาอยู่ปูนซิเมนต์ไทยในช่วงปี พ.ศ.2517-2519 ช่วง 3 ปีนี้เป็นปีที่บุญมาได้พยายามประคองปูนซิเมนต์ไทยให้ผ่านพ้นปัญหาต่างๆ
ตั้งแต่กรณีพิพาทแรงงาน ไปจนถึงการเริ่มวางระบบและหลักเกณฑ์ในการทำงานเพื่อเป็นพื้นฐานขั้นแรกของการก้าวขยายต่อไปในปีข้างหน้าของปูนซิเมนต์ไทย
ในยุคปี พ.ศ.2517-2519 สินค้าปูนกลายเป็นสินค้าการเมืองไปโดยปริยาย เพราะจากแรงกดดันของกลุ่มพลังต่างๆ
ประกอบกับกระแสต่อต้านการค้าแบบทุนนิยมและเสรีนิยม ทำให้รัฐบาลในช่วงนั้นต้องโอนอ่อนไปตามกระแสแห่งการเรียกร้องและเป็นผลทำให้ปูนซีเมนต์ต้องกลายเป็นสินค้าที่ถูกควบคุม
ในยุคนั้นสมัยนั้นคำว่ากำไรดูเหมือนจะเป็นวลีที่สกปรกและน่ารังเกียจ แม้แต่สื่อมวลชนเองจะเป็นหนังสือพิมพ์ทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็ก
ต่างไม่เข้าใจถึงคำว่ากำไรที่เป็นพื้นฐานของการค้า เพื่อการขยายงานและปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้น
และผลงานของการควบคุมราคา ซึ่งถึงแม้จะถูกยกเลิกในปี พ.ศ.2519 ก็ตาม ทำให้ประเทศไทยต้องสั่งปูนจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายตั้งแต่ปี
พ.ศ.2521 ถึง 2523 จนกระทั่งการขยายโรงงานที่ท่าหลวงและทุ่งสงเสร็จสิ้นลงในปี
พ.ศ.2523 จึงทำให้สภาวการณ์ปูนดีขึ้น
บุญมา วงศ์สวรรค์ เข้ามาบริหารปูนซิเมนต์ไทยในจังหวะที่ปูนซิเมนต์ไทยกำลังจะถูกคุมกำเนิดด้วยการควบคุมราคา
เลยทำให้บริษัทต้องหันไปสู่ทิศทางใหม่โดยผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น
และช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ปูนซิเมนต์ไทยเริ่มวางรากฐานของการขยายงานไปด้านอื่นๆ
ในปีข้างหน้า
บุญมา วงศ์สวรรค์ อาจจะนับได้ว่าเป็นคนค่อนข้างจะอยู่วงนอกแล้วได้เข้ามาบริหารปูนซิเมนต์ไทย
โดยเข้ามาเป็นกรรมการก่อนในปี พ.ศ.2515 การที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์และการคลัง
คงจะทำให้คณะกรรมการบริษัทคิดว่าจะเป็นผู้ที่สามารถวางรากฐาน และหลักการของบริษัทในระยะเริ่มแรกสืบเนื่องต่อจากฝรั่งได้
อีกประการหนึ่งก็ต้องยอมรับกันว่าในช่วงนั้นปูนซิเมนต์ไทยยังขาดคนที่สามารถจะมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ได้จริงๆ
ที่มีประสบการณ์และคอนเนกชั่นขนาดบุญมา วงศ์สวรรค์
ในช่วงปีที่บุญมาเป็นผู้จัดการใหญ่ขณะนั้นจรัส ชูโต เองก็ยังเพิ่งจะทำงานอยู่ที่บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง
ในขณะที่อายุส อิศรเสนาฯ ยังอยู่ค้าสากลซิเมนต์ไทย (สมัยนั้นเรียกว่าค้าวัตถุก่อสร้าง)
ในขณะที่อายุส อิศรเสนาฯ ก็เพิ่งจะเริ่มเข้าไปในบริษัทเหล็กสยามและอมเรศ
ศิลาอ่อน ก็เพิ่งจะเข้าไปจับสยามคราฟท์ที่กำลังร่อแร่
บุญมาจึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ซึ่งเข้ามาปูพื้นฐานเพื่อรอให้คนของปูนซิเมนต์ไทยพร้อมมากขึ้นที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน
ถ้าจะให้บุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นผู้จัดการองค์กรและวางหลักเกณฑ์แล้ว ก็ต้องให้สมหมาย
ฮุนตระกูล เป็นผู้บุกเบิกทำการค้าขายให้กับปูนซิเมนต์ไทยอย่างเต็มที่ สมหมาย
ฮุนตระกูล เข้ามาบริหารปูนซิเมนต์ไทยในปลายปี พ.ศ.2519 จนถึง 2523 จากการที่เป็นญาติสนิทกับพระยาศรีวิศาลวาจา
อดีตองคมนตรี และการที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์
ซึ่งมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้น และจากประสบการณ์ในการทำงานทั้งธนาคารชาติและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ทำให้สมหมาย ฮุนตระกูล สามารถได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดของปูนซิเมนต์ไทยให้เข้ามานำปูนซิเมนต์ไทยเดินต่อไปในโลกอุตสาหกรรม
ยุคของสมหมาย ฮุนตระกูล เรียกได้ว่าเป็นยุคแตกหน่อของปูนซิเมนต์ไทยจริงๆ
นอกเหนือจากการขยับขยายไปในอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ เช่น สยามคูโบต้าดีเซล หรือแยกนวโลหะไทยออกจากเหล็กสยาม
หรือเปลี่ยนค้าวัตถุก่อสร้างมาเป็นค้าสากลซิเมนต์ไทย ยุคของสมหมายคือยุคของการบุกเบิกตลาดทั้งส่งเสริมการขาย
คงจะจำกันได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคที่ค้าวัตถุก่อสร้างบุกตลาดอย่างหนัก มีทั้งโชว์รูมในสยามเซ็นเตอร์
รวมทั้งการขยายโชว์รูมไปทั่วมุมเมือง และยุคนั้นที่อายุส อิศรเสนาฯ ก็แสดงฝีไม้ลายมือในการตลาดอย่างเต็มที่
ในช่วงเวลา 4 ปีที่สมหมาย ฮุนตระกูล กุมบังเหียนอยู่นั้น ยอดขายของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยขึ้นจาก
5,314 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2519 ปีสุดท้ายของบุญมา วงศ์สวรรค์ มาเป็น 15,201
ล้านบาท เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2523 หรือเพิ่มขึ้น 300%
และแล้วก็มาถึงยุคทองของจรัส ชูโต ลูกหม้อของปูนซิเมนต์ไทยที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของปูนซิเมนต์ไทย
เมื่อสมหมาย ฮุนตระกูล ต้องจากปูนซิเมนต์ไทยไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จรัส ชูโต เข้ามาบริหารปูนซิเมนต์ไทยในช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะลำบาก เพราะในปี
พ.ศ.2523 ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ในระหว่างตกต่ำอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์
อุตสาหกรรมการก่อสร้างอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย ภาวะเงินตึงอย่างหนัก การขยายตัวของเศรษฐกิจแทบจะไม่มี
จะเห็นได้ว่าในปี พ.ศ. 2524 ยอดขายของเครือปูนซิเมนต์ไทยที่เพิ่มขึ้นจากปี
2523 เพียง 11% ในขณะที่ยอดขายปี พ.ศ.2524 เพิ่มขึ้นกว่าปี พ.ศ.2523 ถึง
35% ทีเดียว แต่จรัสก็สามารถจะพาปูนซิเมนต์ไทยผ่านพ้นมาได้จนสิ้นปี พ.ศ.2526
นี้ที่คาดว่าคงจะกำไรร่วมพันล้านบาท
ถ้าจะนับยุคของสมหมายเป็นยุคการตลาดแล้วก็ต้องถือว่ายุคของจรัสคือยุคของการพัฒนาคน
จรัส ชูโต จบวิศวกรรมจากจุฬาฯ ก่อนเข้าร่วมงานกับปูนซิเมนต์ไทยเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของเอสโซ่และได้ร่วมกับปูนซิเมนต์ไทยในปี
พ.ศ.2509 จรัส ชูโต ถูกอายุส อิศรเสนาฯ ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทค้าวัตถุก่อสร้างชวนเข้ามาทำงาน
จากการที่เคยผ่านงานด้านปฏิบัติการจากบริษัทข้ามชาติเช่นเอสโซ่มาทำให้จรัสค่อนข้างจะเน้นในเรื่องการจัดการธุรกิจ
ดร.ทองธัช หงส์ลดารมภ์ แห่งการไฟฟ้านครหลวง เล่าให้ฟังว่า "คุณจรัสสมัยโน้นยังเคยสอนหนังสือผมเลย
สอนด้าน Discounted Cash Flow ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นวิชาใหม่ที่แยกแยะมาว่า
Project ทุกวันนี้จะต้องมา Revise Cash Flow กันใหม่ แกเป็นคนสอนเก่งมากโดยเฉพาะในด้าน
Management Science"
จรัส ชูโต ได้มีโอกาสแสดงฝีมือทางด้าน Management Science ในตอนที่เขาได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทและวัตถุก่อสร้าง
ซึ่งในปี 2519 ที่เขาได้เข้ารับตำแหน่ง บริษัทได้ขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี
จรัสแก้ปัญหาด้วยการตัดสินค้าที่ไม่มีอนาคตออกส่งเสริมสินค้าที่ขายดีหรือมีอนาคตไกล
ลดคนงาน โดยไม่รับคนเพิ่มมาเป็นเวลา 3 ปี เปลี่ยนแปลงการผลิตให้ทันสมัยโดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ๆ
ตลอดจนพัฒนาพนักงาน
ซึ่งผลงานที่ได้ทำสามารถทำให้บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างสามารถจะมีกำไรในปีถัดมาทันที
จรัส ชูโต เชื่อว่า "บริษัทต้องการที่จะเติบใหญ่ด้วยคนของเราเองมากกว่า
ที่จะนำเอาบุคคลภายนอกมาช่วยเหลือ ยกเว้นเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น"
ยุคของจรัส ชูโต จึงเป็นยุคของการปรับปรุงคุณภาพของคน ซึ่งแม้กระทั่ง "โครงการพัฒนาพนักงานบริหารระดับสูง"
ซึ่งปูนซิเมนต์ไทยได้ติดต่อมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์คเลย์เป็นผู้จัดหลักสูตรด้านการจัดระดับสูงให้
และต่อมามหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เชิญศาสตราจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอื่นๆ
เช่น ฮาร์วาร์ด, สแตนฟอร์ด และเพนซิลเวเนียสเตท ร่วมเป็นผู้บรรยายด้วย
โครงการดังกล่าวจัดขึ้นที่เชียงใหม่ติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยเน้นหนักเรื่องการตลาด
การผลิต การเงิน พฤติกรรมมนุษย์และเทคนิคการตัดสินใจ ใช้เวลาในการฝึกอบรมทั้งก่อนและขณะเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณครึ่งปี
และผลของการประเมินโครงการนี้พบว่าประมาณร้อยละ 30-40 ของพนักงานบริหารระดับสูงเหล่านี้
เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทำงานเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ใช้จิตวิทยาในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น
พอจะพูดได้ว่ายุคของจรัส ชูโต นี้ เป็นยุคที่ปูนซิเมนต์ไทยมี depth ของ
executive มาก ทั้งนี้เพราะในคำพูดของจรัส ชูโต เองที่ว่า "เราจะขยายงานออกไปสู่ทิศทางใหม่
นอกเหนือไปจากธุรกิจอุตสาหกรรมดั้งเดิมซึ่งเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง...และผลของวงการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ทำให้เราต้องตระเตรียม "คน" ที่จะไปบริหารกิจการนั้นๆ ไว้ให้พร้อมอยู่เสมอด้วย
ซึ่งหมายความว่าตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุดหรือตำแหน่งสำคัญรองลงมาของบริษัทหรือกิจการนั้นๆ
ควรเป็นเจ้าหน้าที่จากเครือซิเมนต์ไทย"
พอจะพูดได้ว่าตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ที่จรัส ชูโต ที่เป็นอยู่นี้ นอกจากจะเป็นตำแหน่งที่มาจากคนของปูนซิเมนต์ไทยเองแล้ว
ยังเป็นบทพิสูจน์ให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อย่างต่อเนื่องกันโดยไม่มีการขาดตอน