เบื้องหลังของท่าหลวง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

มิสเตอร์คาร์สเตน ฟรีส เยสเปอร์เซ่น ร่วมงานกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นเวลายาวนานถึง 34 ปี และดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่อยู่นานถึง 24 ปี คือในระหว่างปี พ.ศ.2478 ถึง 2502 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ปัญหาสงครามและผลกระทบต่างๆ หลังสงคราม การดำเนินธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวเป็นภารกิจที่หนักหน่วงและยากลำบาก เพราะไม่เพียงแต่จะต้องอาศัยความชาญฉลาดของผู้บริหารเท่านั้น หากยังหมายถึงการทำงานที่ต้องทุ่มเทอย่างสุดชีวิตจิตใจด้วย ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้ มีอยู่พร้อมในตัวมิสเตอร์เยสเปอร์เซ่น อันเป็นที่ยอมรับของพนักงานในบริษัทโดยทั่วกัน ปี พ.ศ.2527 มิสเตอร์เยสเปอร์เซ่นได้กลับไปใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุที่บ้านเกิดเมืองนอนในประเทศเดนมาร์กโดยยังมีสุขภาพแข็งแรง และยังคงขยันขันแข็งเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้นยังมีความทรงจำที่แม่นยำเป็นเลิศ แม้จะมีอายุถึง 81 ปีแล้ว ดังจะเห็นได้จากบทความที่ได้เขียนเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้อย่างละเอียดยิ่งทุกเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่ถ่ายทอดมาบันทึกไว้ในที่นี้จะเน้นหนักเฉพาะในส่วนที่เป็นเบื้องหลังของการตัดสินใจก่อสร้างโรงงานที่ท่าหลวง และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโรงงานแห่งนี้เท่านั้น

"ผมเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2469 โดยมารับตำแหน่งเป็นวิศวกรโยธา รับผิดชอบงานทางด้านการก่อสร้างทั้งหลาย งานชิ้นแรกของผมก็คือทำแผนที่ที่ถูกต้องของแหล่งดินขาวที่บ้านหมอ ที่ดินบริเวณนั้นเป็นของหลวงพัฒน์พงศ์พานิช ซึ่งต่อไปผมจะเรียกว่าหลวงพัฒน์ฯ งานชิ้นนี้ทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับครอบครัวนี้จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า หลวงพัฒน์ฯ คือพ่อของผมในประเทศไทย

ตอนที่ผมมาอยู่กับปูนซิเมนต์ไทยนั้น ผู้จัดการใหญ่คือ มิสเตอร์อีริค ทูน พอเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ขึ้น มิสเตอร์ทุนได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อเดินทางกลับไปยังทวีปยุโรป ในช่วงนี้เองผมก็ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่สืบแทน ตอนนั้น นาวาโท ดับบลิว.แอล.กรุต เป็นประธานกรรมการของบริษัท หากท่านไม่อยู่ พลโทหม่อมเจ้าเสรฐศิริ กฤดากร จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานแทน ซึ่งผมก็สามารถทำงานร่วมกับท่านทั้งสองนี้ได้เป็นอย่างดี

วันหนึ่งหลวงพัฒน์ฯ ได้มาหาผมที่บริษัทแล้วบอกว่า ตอนนี้มีข่าวว่าจะมีการสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่ขึ้นที่ อ.ท่าเรือ โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนด้วยการร่วมเข้าหุ้นด้วย

ผมตัดสินใจเข้าพบหลวงประดิษฐมนูธรรม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อจะหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างยิ่งขึ้น โดยขอให้ท่าช่วยยืนยันข่าวดังกล่าวและในขณะเดียวกันก็เสนอว่าหากเรื่องนี้เป็นความจริง ปูนซิเมนต์ไทยก็จะยุติแผนการสร้างโรงงานที่ท่าหลวง

หลวงประดิษฐฯ ยืนยันว่า ข่าวนั้นเป็นความจริง และยังได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการให้ความสนับสนุนแก่ผู้ผลิตรายใหม่ด้วยว่า เนื่องจากผู้ผลิตรายใหม่คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ได้ในราคาถูกกว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และเพื่อเป็นการยืนยันหลักการดังกล่าว หลวงประดิษฐฯ ได้นำต้นทุนการผลิตที่ได้มีการคำนวณไว้มาให้ดู แล้วมอบให้ผมโดยขอให้ช่วยพิจารณาออกความเห็นในเรื่องนี้ด้วย

ผมรีบกลับสำนักงานที่บางซื่อ หยิบเอาสมุดลงบัญชีที่บันทึกรายการต้นทุนซึ่งเตรียมไว้สำหรับใช้ในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทมาตรวจดู ผมงงไปหมด ต้นทุนการผลิตของเราที่ระบุหน่วยเป็นสตางค์มียอดเท่ากับต้นทุนการผลิตของบริษัทที่จะจัดตั้งใหม่แบบรายการต่อรายการเลยทีเดียว จะต่างกันก็เฉพาะตัวเลขล่าสุดที่เกี่ยวกับค่าซ่อมบำรุง ค่าเสื่อมราคา และรายการอื่นๆ อีกเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทำให้ต้นทุนของบริษัทใหม่ตามรายการที่หลวงประดิษฐฯ มอบให้ต่ำกว่าของปูนซิเมนต์ไทยจริง วันรุ่งขึ้นผมก็ขออนุญาตเข้าพบหลวงประดิษฐฯ แล้วเปิดเผยตัวเลขต้นทุนการผลิตทั้งสองรายการซึ่งเกือบจะเหมือนกันในทุกๆ ด้านให้ท่านทราบ ท่านจึงเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วสั่งให้เลขานุการร่างจดหมายเป็นภาษาอังกฤษตามคำที่ท่านบอก ใจความของจดหมายก็คือ ให้คำรับรองกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยว่ารัฐบาลล้มเลิกแผนการที่จะสนับสนุนการก่อตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่ อ.ท่าเรือ ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้ปูนซิเมนต์ไทยขยายโรงงานตามแผนการที่กำหนดเอาไว้ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนปูนซีเมนต์ หลวงประดิษฐฯได้ขอให้ผมรอจนจดหมายพิมพ์เสร็จ ท่านเซ็นชื่อแล้วก็มอบจดหมายให้ผมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มพร้อมกับอวยพรให้ผูนซิเมนต์ไทยโชคดี

วันต่อมาเรานั่งรถไฟไปลงที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วเดินเลียบริมฝั่งน้ำป่าสักไปยังเขื่อนที่ ต.ท่าหลวง ที่นี่เองผมเห็นทำเลที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ถ้าหากขุดคลองขึ้นใหม่เชื่อมกับคลองที่มีอยู่เดิมในบริเวณเหนือเขื่อนด้านขวามือของ ต.บ้านหมอ

สิ่งที่ผมต้องการก็คือที่ดินสักหนึ่งริมแม่น้ำป่าสักโดยมีช่วงหนึ่งเป็นผืนแคบๆ เพื่อจะได้ขุดเชื่อมกับคลองที่มีอยู่เดิมได้สะดวก ที่ดินผืนนี้ทั้งหมดจะต้องซื้อในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะถูกได้และเมื่อถึงเวลาก็จะโอนกลับมาเป็นของบริษัทโดยไม่ต้องเสียค่านายหน้า

สำหรับการสำรวจเพื่อก่อสร้างโรงงานตามโครงการที่เกาะสีชังนั้น ได้กระทำอย่างเป็นความลับที่สุด โดยไม่มีการแพร่งพรายข่าวใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเลย ตลอดระยะเวลาหลายเดือนผมได้ใช้เวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์อยู่ที่เกาะสีชังทำทีไปเล่นน้ำทะเลและอ่านหนังสือ

เมื่อได้รับแบบร่างของโรงงานและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและดำเนินงานกลับมาจากต่างประเทศ ก็มีการเรียกประชุมคณะกรรมการ ผมได้อธิบายให้คณะกรรมการได้ทราบว่า การขยายโรงงานที่บางซื่อแม้จะใช้ทุนไม่มากนักแต่ต้นทุนการผลิตสูงมาก โครงการที่บ้านหมอหรือที่ท่าหลวงจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด และต้องการค้าใช้จ่ายในการลงทุนขนาดปานกลาง สำหรับโครงการที่เกาะสีชังจะสูงทั้งค่าใช้จ่ายในการลงทุนและต้นทุนการผลิต ด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอที่ประชุมให้เลือกโครงการที่ท่าหลวง

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ กรรมการท่านหนึ่งได้เสนอข้อคิดว่า โครงการของเราจำเป็นจะต้องซื้อที่ดินจำนวนมาก การเก็งกำไรจะทำให้ราคาที่ดินสูงลิบลิ่ว ผมจึงได้บอกความจริงไปว่า ขณะนี้หลวงพัฒน์ฯ ได้ซื้อที่ดินเอาไว้ในนามของท่านเอง และที่ดินนี้พร้อมจะโอนเป็นของบริษัทในราคาที่ท่านซื้อไว้ ที่ประชุมได้ปรบมือกันอย่างพร้อมเพรียง ก็เป็นอันว่าโครงการท่าหลวงรับอนุมัติให้ดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนั้น

นอกเหนือจากการเปิดเผยถึงเบื้องหลังของการก่อสร้างโรงงานที่ท่าหลวงอย่างละเอียดดังกล่าวข้างต้น ณ โรงงานท่าหลวงแห่งนี้ มิสเตอร์เยสเปอร์เซ่นยังมีความประทับใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสวมชุดพ่อครัวประกอบอาหารเดนมาร์กขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงาน ซึ่งมิสเตอร์เยสเปอร์เซ่นได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

"เมื่อท่าหลวงเจริญขึ้นมีการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกสบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโรงงานท่าหลวง และได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสแก่คณะกรรมการและพนักงานของบริษัทให้ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวัน ทั้งนี้นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ผมประกอบอาหารเดนมาร์กขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย พระองค์คงจะทรงรำลึกถึงอาหารที่ค่อนข้างแปลกไปจากชาติอื่นเมื่อครั้งประทับอยู่ ณ สถานทูตไทยในเดนมาร์ก ผมจึงได้ประกอบอาหารครั้งนั้นอย่างครบชุดและสุดฝีมือ ปกติอาหารเดนมาร์กส่วนใหญ่มักจะมากด้วยของขบเคี้ยวและต้องรับประทานกับเบียร์ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่สนิทสนมเป็นกันเองให้เกิดขึ้นได้ง่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งให้ผมร้องเพลง "ฮีลาน ฮาลวาน แอนด์ เทร์ซาน" นำกลุ่ม ทุกคนสามารถร้องตามได้อย่างดีภายในเวลาอันรวดเร็ว วันนั้นไม่ได้มีการนำเอาอาหารกลางวันชนิดอื่นที่จัดเตรียมไว้ขึ้นโต๊ะเลย มีแต่อาหารเดนมาร์กที่ผมจัดเตรียมเท่านั้น จากภาพถ่ายในโอกาสนั้นยืนยันได้ว่า อาหารเดนมาร์กของผมเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และผู้ที่ร่วมรับประทานด้วยโดยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.