ระยะฟื้นตัวและการขยายงาน


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการสะสมความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมาถึงห้าสิบปีเต็ม บริษัทปูนซิเมนต์ไทยซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปช้างเผือกก็พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในด้านการขยายงานด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการผลิต การปรับปรุงระบบการจัดการให้ทันสมัย การนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน ตลอดจนการเสริมฐานทางการเงินของบริษัทให้มั่นคงและคล่องตัวยิ่งขึ้นจากแหล่งการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ในปี พ.ศ.2507 หม้อเผาที่ 5 ของโรงงานบางซื่อติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มทำการผลิตด้วยกำลังผลิตปีละ 100,000 ตัน และหลังจากนั้นอีกเพียง 3 ปีโรงงานแห่งนี้ก็เพิ่มกำลังผลิตอีกครั้งด้วยการติดตั้งหม้อเผาที่ 6 ซึ่งมีกำลังผลิตปีละ 190,000 ตัน และเริ่มผลิตได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา รวมกำลังผลิตสูงสุดของโรงงานแห่งนี้ถึงปีละ 390,000 ตัน และเพื่อสนองตอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของรัฐ ซึ่งมุ่งจะพัฒนาประเทศในทุกๆ ภาค บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซิเมนต์แห่งใหม่ เป็นโรงงานที่ 3 ขึ้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2505 โดยกำหนดให้เป็นโรงงานที่ใช้ระบบการผลิตแบบแห้งอันเป็นระบบที่เหมาะแก่สภาพวัตถุดิบในบริเวณนั้น และเป็นการประหยัดพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประเทศชาติด้วย โดยเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ได้ในปลายปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา ด้วยกำลังผลิตในขั้นแรกปีละ 460,000 ตัน และต่อมาได้มีการขยายโรงงานติดตั้งหม้อเผาที่ 3 ขึ้น จนในที่สุดกำลังผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 910,000 ตันในปี พ.ศ.2523

แต่เนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเพราะเป็นระยะสิ้นสุดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 2 ต่อกับการเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 3 ประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 34.4 ล้านคน ทางหลวงแผ่นดินของประเทศเพิ่ขึ้นเป็น 26,101 กิโลเมตร ความต้องการปูนซีเมนต์เพิ่มทวีขึ้นอีกอย่างคาดไม่ถึง บริษัทจึงต้องสร้างโรงงานปูนซีเมนต์โรงที่ 4 ขึ้นที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โรงงานแห่งนี้แล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2514 ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบแห้งเช่นกันโดยมีกำลังผลิตสูงถึงปีละ 570,000 ตัน และอีก 4 ปีต่อมาคือในปี พ.ศ.2518 ได้เพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็นปีละ 1,670,000 ตัน

ส่วนที่โรงงานท่าหลวงก็ได้มีการพัฒนากรรมวิธีการผลิตและติดตั้งหม้อเผาเพิ่มกำลังผลิตอยู่ตลอดเวลา โดยในปี พ.ศ.2511 ได้ติดตั้งหม้อเผาที่ 5 โดยมีกำลังผลิตปีละ 600,000 ตัน นอกจากนั้นหม้อเผาที่ 6 ซึ่งเป็นหม้อเผาล่าสุดของโรงงานและใช้ระบบการผลิตที่ทันสมัยก็สามารถดำเนินการได้ในปี พ.ศ.2524 ด้วยกำลังผลิตปีละ 1,600,000 ตัน ในปีต่อมาเมื่อการปรับระบบการผลิตของหม้อเผาที่ 5 จากเดิมซึ่งเป็นระบบเปียกมาเป็นระบบแห้งที่ทันสมัยทำให้ประหยัดเชื้อเพลิงและเพิ่มกำลังผลิตขึ้นเป็นปีละ 1,600,000 ตัน แล้วเสร็จในตอนปลายปี โรงงานท่าหลวงจึงได้หยุดการผลิตของหม้อเผาที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งใช้ระบบการผลิตแบบเปียกที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแล้วทำการผลิตเฉพาะหม้อเผาที่ 5 และ 6 ซึ่งใช้ระบบการผลิตแบบแห้ง โดยมีกำลังผลิตรวมปีละ 3,200,000 ตัน

สำหรับที่ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อนั้น เมื่อแรกสร้างก็เป็นบริเวณชานเมืองที่ห่างไกลชุมชน ครั้นต่อมาผู้คนในกรุงเทพฯ หนาแน่นขึ้น มีการขยายแหล่งที่อยู่อาศัยออกมาตามบริเวณรอบนอกตัวเมืองมากขึ้น ส่งผลให้บางซื่อกลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่นี้เกิดปัญหาด้านมลภาวะ บริษัทจึงได้ตัดสินใจติตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากโรงงานไปทำความเดือดร้อนแก่ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงโรงงาน โดยบริษัทได้ลงทุนไปในการนี้เป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท และต่อมาก็ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นที่มีประสิทธิสูงกับโรงงานท่าหลวง ทุ่งสง และแก่งคอยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เวลาได้ผ่านพ้นไปหลายสิบปี กรรมวิธีในการผลิตปูนซีเมนต์ได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ เครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้บริษัทดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประหยัดพลังงานและสามารถเพิ่มผลผลิตได้มาก จนเป็นที่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศแล้ว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการผลิตที่โรงงานบางซื่อซึ่งใช้กรรมวิธีการผลิตแบบเก่าตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ซึ่งการหยุดการผลิตของโรงงานบางซื่อทำให้หม้อเผาที่ 3 ซึ่งเคยใช้เผาปูนซีเมนต์ขาวในระบบเปียกต้องพลอยหยุดผลิตในปีต่อมาด้วย อย่างไรก็ตาม ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การก่อสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ขาวของบริษัทที่เขาวง ต.หน้าพระลาน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี แล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตปูนซีเมนต์ขาวออกมาสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบแห้งที่ทันสมัย โดยมีกำลังผลิตปีละ 50,000 ตัน

ด้านกิจการวัสดุทนไฟได้เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคนิคในการผลิตอิฐทนไฟเสียใหม่ในปี พ.ศ.2517 โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัทฮาร์บิสัน-วอล์คเกอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้อิฐทนไฟของโรงงานท่าหลวงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล กิจการนี้มีกำลังผลิตทั้งสิ้นปีละ 30,000 ตัน

ทางด้านบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย การขยายงานได้ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้งในทุกๆ กิจการ กล่าวคือ บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย ได้ขยายงานไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่หลายประเภท ในปี พ.ศ.2509 การก่อสร้างโรงงานผลิตท่อซีเมนต์ใยหินที่ จ.นนทบุรีแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการผลิตท่อซีเมนต์ใยหินชนิดรับแรงดันสูง โดยใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเป็นโรงงานแรกในประเทศ นอกจากนั้นบริษัทได้มองเห็นประโยชน์จากปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้จำนวนมากจากโรงงานปูนซีเมนต์ทุ่งสง จึงสร้างโรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินที่ผลิตได้จำนวนมากจากโรงงานปูนซิเมนต์ทุ่งสง จึงสร้างดรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกันนั่นเอง ถึงปี พ.ศ.2511 โรงงานผลิตกระเบื้องซีเมนต์ใยหินที่ทุ่งสงก็เปิดดำเนินการผลิตสินค้ารับใช้ประชาชนทางภาคใต้เรื่อยมา การขยายงานของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทยไม่หยุดยั้งแต่เพียงเท่านั้น กล่าวคือ โรงงานที่บางซื่อได้ผลิตแผ่นกลาซโซลิทชนิดรูปลอน เช่นเดียวกับกระเบื้องมุงหลังคาที่แสงสว่างสามารถผ่านได้ขึ้นภายในประเทศในปี พ.ศ.2511 และได้เปิดโรงงานแห่งที่สี่ ขึ้นที่ จ.สระบุรี ในปีเดียวกัน ซึ่งโรงงานนี้เป็นเสมือนโรงงานหลักของบริษัท คือมีกำลังผลิตกระเบื้องมุงหลังคาชนิดลอนคู่ ลูกฟูก ลอนเล็ก และกระเบื้องแผ่นเรียบถึงปีละ 228,000 ตัน นอกจากนั้นโรงงานที่นนทบุรีของบริษัทได้ก้าวเข้าสู่ยุคพลาสติก โดยเริ่มผลิตท่อดี-พลาสต์ (พีวีซี) ขนาดต่างๆ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2525 ผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัมของบริษัทได้เริ่มออกสู่ตลาดด้วยกำลังผลิตปีละ 95,000 ตัน

สำหรับบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างนอกจากจะขยายประเภทของผลิตภัณฑ์ออกไปอีกหลายชนิด เช่น การผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ซีแพคโมเนียแล้ว ยังได้เปิดโรงงานใหม่เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเสมอ อาทิ ในปี พ.ศ.2513 ได้เปิดโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูป ที่สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พร้อมทั้งเปิดโรงงานผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงที่ จ.ขอนแก่น และโรงงานผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กที่ จ.ลำปาง ในปีเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้เริ่มผลิตท่อส่งน้ำคอนกรีตอัดแรง ซีแพคร็อคล่าออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2515 ด้วย

ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมเหล็กนั้น กิจการเหล็กของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้แยกตัวออกมาจดทะเบียนเป็นบริษัทเหล็กสยาม จำกัด ในเดือนเมษายน พ.ศ.2509 เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานและขยายงาน โดยการตั้งโรงงานรีดเหล็กเพื่อผลิตเหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้ตัดสินใจดำเนินการในเรื่องสำคัญหลายเรื่องอันเป็นผลดีต่ออนาคตของบริษัท เช่นในปี พ.ศ.2520 ได้โอนงานด้านเหล็กหล่อจากบริษัทเหล็กสยามมาก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท นวโลหะไทย จำกัด โดยเริ่มผลิตสินค้าเหล็กหล่อแบบต่างๆ ให้แก่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ น้ำตาล ปูนซีเมนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องยนต์ ฯลฯ ได้ในปี พ.ศ.2521 ต่อมาในปี พ.ศ.2522 บริษัทนวโลหะไทยได้ติดตั้งเครื่องจักรอัตดนมัติเป็นเครื่องแรกในประเทศเพือ่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตสินค้าตามสั่ง โดยเน้นด้านชิ้นส่วนและอะไหล่ของเครื่องยนต์และรถบรรทุก ซึ่งสามารถผลิตได้คราวละมากๆ เป็นหลัก บริษัทนวโลหะไทยเป็นบริษัทแรกในเครือซิเมนต์ไทยที่จัดใหมีกลุ่มส่งเสริมคุณภาพหรือคิวซี เซอร์เคิล อย่างจริงจังและส่งผลให้ช่วยลดการสิ้นเปลืองในการผลิต และเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการชี้แนะปัญหาและเสนอข้อคิดเห็นเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขและปฏิบัติงานร่วมกัน ทำให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพได้เป็นอย่างมาก

ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา เครือซิเมนต์ไทยได้เริ่มขยายการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมด้านวัสดุก่อสร้างโดยเริ่มที่บริษัทสยามคราฟท์ จำกัด ผู้ผลิตกระดาษคราฟท์รายใหญ่ของประเทศ ซึ่งภายในเวลาไม่นานนัก บริษัทสยามคราฟท์ ที่เคยมีฐานะการเงินตกต่ำใกล้ล้มละลาย จนกลุ่มผู้ถือหุ้นต้องขอร้องให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเข้าไปบริหารงาน ก็สามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ

ปี พ.ศ.2521 เป็นปีที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้เริ่มให้ความสนใจในธุรกิจด้านพาณิชยนาวีโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการขาดแคลนปูนซีเมนต์ในประเทศ อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้าปูนซีเมนต์ในระยะ 3-4 ปีก่อนหน้านั้น ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งร่วมกันรับภาระด้านการนำเข้าครั้งนี้ต้องเสียค่าระวางสินค้าให้แก่บริษัทเดินเรือต่างประเทศเป็นเงินจำนวนมาก บริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท เอสซีจี คอร์ปอเรชั่น เอส.เอ ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการลงทุนในต่างประเทศ และพร้อมกันนั้นก็ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท พรอสเพอริตี สตีมชิป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพาณิชยนาวีในฮ่องกง จัดตั้งบริษัทสยามพรอสเพอริตี ชิปปิ้ง เอส.เอ.ขึ้นโดยงานชิ้นแรกคือการซื้อเรือ "เอ็ม.วี.ท่าหลวง" ขนาดระวางบรรทุก 16,000 ตัน มาทำการขนส่งปูนซีเมนต์ผงจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มายังประเทศไทยเป็นประจำ นับเป็นการเริ่มต้นในการศึกษาหาความชำนาญในธุรกิจด้านนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อเครือซิเมนต์ไทยเป็นอันมาก

ก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของการลงทุนในระยะสิบปีที่ผ่านมา คือการตกลงใจร่วมทุนกับบริษัทคูโบต้าแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทสยามคูโบต้าดีเซล จำกัด ขึ้นเพื่อผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กเพื่อการเกษตรและอื่นๆ ภายในประเทศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2521 และสามารถผลิตเครื่องยนต์เครื่องแรกออกมาสู่ตลาดได้ในปี พ.ศ.2523 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัทนวโลหะไทยได้ทุ่มเทการผลิตส่วนใหญ่ให้กับการผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องยนต์ดังกล่าวด้วย

การตัดสินใจของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่จะส่งผลไกลที่สุด การตัดสินใจเข้าดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศไทย เปลี่ยนชื่อบริษัทค้าวัตถุก่อสร้างเป็นค้าสากลซิเมนต์ไทย จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2521 เพื่อรับผิดชอบทางด้านการจัดจำหน่ายสินค้าของเครือซิเมนต์ไทยในต่างประเทศ โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้รับโอนงานด้านการจัดจำหน่ายในประเทศมาดำเนินเอง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อสนองตอบคำเชิญชวนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ปรารถนาจะได้เห็นบริษัทคนไทยตั้งบริษัทธุรกิจประเภทนี้ขึ้น เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดดุลการค้า ซึ่งธุรกิจประเภทนี้บริษัทในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้เคยดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นเป้าหมายของบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจึงอยู่ที่การขยายตลาดผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยให้ส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายนี้ บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยจึงได้เปิดบริษัทสาขาขึ้นที่นครลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกา ชื่อว่า บริษัท เอสซีที (ยูเอสเอ) อิงค์ และตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในอีกหลายจุด คือโตเกียวประเทศ ญี่ปุ่น ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขายกับลูกค้าต่างประเทศ และเพื่อจะได้จัดซื้อวัตถุดิบได้ตามที่วงการอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องการ

ในปี พ.ศ.2522 บริษัทปูนซิเมนตืไทยและบริษัทสยามคราฟท์ได้ขยายกิจการไปสู่อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกล่องกระดาษ โดยร่วมลงทุนในบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด และร่วมลงทุนในบริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ผู้ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกในอีก 2 ปีถัดมา และในปี พ.ศ.2522 เครือซิเมนต์ไทยก็ได้ซื้อกิจการของบริษัทผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของกิจการประสงค์จะให้เครือซิเมนต์ไทยเข้าไปลงทุนและบริหาร โดยได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบริษัทเซรามิกอุตสาหกรรมไทย จำกัด และหลังจากนั้นไม่นานกิจการของบริษัทนี้ก็กระเตื้องขึ้นมาตามลำดับเช่นกัน

ในปี พ.ศ.2525 และ 2526 เครือซิเมนต์ไทยได้ขยายกิจการออกไปสู่ทิศทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในหลายๆ ด้าน เช่น การเข้าไปลงทุนในบริษัทยางไฟร์สโตน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ.2525 ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทยางสยาม จำกัด และในปี พ.ศ. 2526 บริษัทโดยบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยได้ซื้อกิจการของบริษัทแพน ซัพพลายส์ จำกัด และลงทุนในบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการจำหน่ายเครื่องจักรกลขนาดหนัก รวมทั้งเสนอขออนุมัติสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อผลิตไฮเดนซิตี โพลีเอททิลีน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันก็ได้ตัดสินใจขยายกำลังที่โรงงานปูนซีเมนต์แก่งคอย ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้เพราะบริษัทตระหนักดีถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของการพัฒนาประเทศ จึงมีนโยบายแน่วแน่ที่จะลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตปูนซีเมนต์ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2526 เป็นต้นมา และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าในราวปี พ.ศ.2530 ก็จะทำให้โรงงานแก่งคอยมีกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นอีกปีละ 1,600,000 ตัน

จากจุดเริ่มต้นในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2456 จนถึง 2526 จะเห็นได้ว่าเครือซิเมนต์ไทยได้มีการปรับปรุงและพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างสม่ำเสมอและตลอดเวลา อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเครือซิเมนต์ไทยมิเคยหยุดนิ่งหรือแม้เพียงคิดจะหยุดนิ่ง หากแต่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.