หุ่นยนต์เดินแบบแฟชั่นโชว์ ก้าวแรกของอุตฯหุ่นเชิงพาณิชย์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

อารยธรรมหุ่นยนต์เป็นเป้าหมายหลักระดับประเทศของญี่ปุ่นในงานการตลาดระดับโลกที่วางเอาไว้อย่างชัดเจน และเป็นที่รับรู้กันในบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น แต่ภายใต้ความหวังที่จะนำโลกนี้ไปสู่อารยธรรมที่ว่านี้ได้แยกเป็นกลุ่มหลักคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มุ่งสร้างหุ่นยนต์ที่ไม่ยึดติดกับโครงร่างของมนุษย์ ไม่ได้สร้างหุ่นยนต์ที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ หากแต่ต้องการสร้างหุ่นยนต์ที่มีศักยภาพแบบแมงมุม เพื่อให้หุ่นยนต์เหล่านี้ทำงานที่เสี่ยงเกินไปที่จะให้มนุษย์ทำเอง

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ยึดเอาโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตเป็นต้นแบบ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ หรือเลียนแบบพฤติกรรมของสัตว์ได้ โดยมุ่งที่งานเอนเตอร์เทนเป็นหลัก กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ต้องการให้มีลักษณะรูปร่างแบบมนุษย์ และมีการเคลื่อนไหวแบบคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จนถึงทุกวันนี้ ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าและยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อเชิงพาณิชย์ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการในประเทศอื่นใดในโลกทัดเทียมได้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามาจากการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

อย่างเช่นบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ได้ทำการพัฒนาอาซิโม หุ่นยนต์ที่สามารถเดิน เต้นรำ และพูดได้ เพียงแต่ไม่ได้ทำให้มีหน้าตาเหมือนมนุษย์เท่านั้นเอง หรืออย่างหุ่นยนต์ที่ทำโดย ฮิโรชิ โกบายาชิจากมหาวิทยาลัยโตเกียวด้านวิทยาศาสตร์ (Tokyo University of Science) และฮิโรชิ อิชิกูโร จากมหาวิทยาลัยโอซากา เป็นหุ่นยนต์ที่มีใบหน้าใกล้เคียงมนุษย์ และได้ผ่านการทดสอบบทเรียนในการทำหน้าที่พนักงานต้อนรับได้แล้วด้วย

ส่วนที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดไปไม่นานก็คือ หุ่นยนต์ที่สามารถเดินได้และพูดได้ที่มีใบหน้าเป็นผู้หญิงสาว สามารถเปลี่ยนใบหน้าให้เป็นรอยยิ้มได้ด้วย โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 43 กิโลกรัม โดยมีจุดประสงค์ที่จะเป็นต้นแบบของนางแบบแสดงแฟชั่นโชว์บนแคตวอล์ก โดยมีชื่อว่า HRP-4C

หุ่นยนต์ในแนวทางที่มีจุดประสงค์จะให้ออกมาเหมือนมนุษย์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นี้ เรียกว่า 'Cyber metic human' อย่างไรก็ตาม นักการตลาดของวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยอมรับว่า ด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในขณะนี้ ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ยังคงต้องการการพัฒนาอีก เพื่อให้คุณภาพและคุณสมบัติเป็นไปตามต้องการของตลาด

ความต้องการผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์มีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ยังเป็นความต้องการที่จะนำไปใช้งานด้านบันเทิง ในสวนสนุกงานกิจกรรมที่มีผู้คนไปร่วมงาน ทำหน้าที่ดึงดูดลูกค้า หรืออาจจำลองท่าทางการออกกำลังของคน เพื่อทำหน้าที่เป็นครูสอนอย่างมั่นใจ

หลักการสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์คือการใช้มอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อนหุ่นยนต์ ทั้งการเคลื่อนไหวของลำตัว แขนขา และการทำงานของใบหน้า ให้สามารถแสดงอาการดีใจ ยิ้มอย่างพอใจ หรือโกรธและไม่พอใจ ตลอดจนสีหน้าที่แสดงความประหลาดใจ

ด้วยความพยายามและมุ่งมั่น ขณะที่ความต้องการในตลาดก็มีอยู่แล้ว และทำท่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์คงจะเข้ามาใช้งานกันในบ้านเราอีกไม่นานเกินรอก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.