สังเวียนรบใหม่พรานทะเล เฮาส์แบรนด์ เพิ่มแชร์โฟรเซนฟู้ดพร้อมกิน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แผนชิงเค้กตลาดโฟรเซนฟู้ดพร้อมกิน 'พรานทะล' พลิกเกมรบปี'53 ปรับแนวรุกสู่สังเวียนการแข่งขันใหม่ โดยเพิ่มบทบาทเป็นผู้ลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ กับโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เกต ทั้งนี้เพื่อสร้างแต้มต่อจากซีพีเอฟ และเอสแอนด์พี ที่เป็นคู่แข่งรายสำคัญในตลาดนี้

จุดเริ่มต้นในตลาดโฟรเซนฟู้ด ด้วยจุดแข็งสินค้าที่วางตำแหน่งเป็นอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ นับว่าเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ พรานทะเล กำชัยชนะในตลาดโฟรเซนฟู้ด และนอกจากนี้ยังต่อยอดไปในสินค้ากลุ่มอื่นๆอย่าง กลุ่มซูชิ รวมถึงการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากกลุ่มธุรกิจที่เจาะช่องทางฟู้ดเซอร์วิสที่เจาะช่องทางขายโรงแรม ร้านอาหารเป็นหลัก โดยตัวเลขที่ พรานทะเล เป็นผู้นำตลาดในปัจจุบันแบ่งเป็นกลุ่มโฟรเซนฟู้ดพร้อมปรุง (Ready to Cook: RTC) 'พรานทะเล' ครองส่วนแบ่ง 60% มูลค่า 500 ล้านบาท อีกทั้งสามารถก้าวขึ้นสู่ผู้นำ ติดอันดับสองในตลาดโฟรเซนฟู้ด (Ready to Eat : RTE) พร้อมทานมูลค่า 3,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด 8% กลุ่มที่ 3 คือ ซูชิ มียอดขาย 250 ล้านบาท จากตลาดรวมมูลค่า 500 ล้านบาท ส่วนฟู้ดเซอร์วิสมียอดขาย 200 ล้านบาทจากตลาดรวมมูลค่า 2,000 ล้านบาท

สำหรับแผนการตลาดในปี'53 ของพรานทะลนั้น วางเป้าหมายจะโฟกัสกลุ่มโฟรเซนฟู้ดพร้อมกินที่ยังเป็นมวยรอง โดยแนวทางในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดนั้นมีเมนูสินค้ากลุ่มข้าวต้มเป็นหัวหอกสร้างยอดขายให้กับพรานทะเล เพื่อต่อกรกับ 'ซีพีเอฟ' ที่เป็นอันดับ 1 คุมเกมด้วยส่วนแบ่ง 30% ของตลาดตามมาด้วย 'เอสแอนด์พี' ที่เป็นคู่แข่ง พรานทะเล ครองส่วนแบ่งตลาดสูสีกัน

เกมรุกตลาดโฟรเซนฟู้ดพร้อมกินของพรานทะเลที่มีการแข่งขันรุนแรงจากผู้เล่นในตลาดกว่า 10 แบรนด์นั้น อนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยถึงนโยบายการตลาดของพรานทะเลปีหน้าว่า จะใช้ช่องว่างทางการตลาดที่ลูกค้าไม่มีแบรนด์ลอยัลตี้มาเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด โดยการขยายไลน์สินค้าที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากจุดแข็งสินค้ามีความแตกต่างจากคู่แข่งที่เป็นวัตถุดิบที่มาจากทะเล และมีความหลากหลาย อาทิ ข้าวต้มพรานทะเลในเมนูต่างๆ ซึ่งเป็นผู้เล่นในตลาดแบรนด์แรก คือ ข้าวต้มปลากะพง ข้าวต้มปลาแซลมอน ข้าวต้มปลาเก๋า และข้าวต้มกุ้ง

นอกจากการขยายตลาดโฟรเซนฟู้ด พร้อมกินของพรานทะเลในปีหน้าด้วยเมนูข้าวต้ม ภายใต้แบรนด์ 'พรานทะเล' จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนตลาดแล้ว ทว่าการเพิ่มสัดส่วนยอดขายกลุ่มอาหารนี้ด้วยบทบาทของผู้ผลิตสินค้าหรือ OEM : Original Equipment Manufacturer ถือว่าเป็นหมากสำคัญที่พรานทะเลหยิบมาใช้ในการเดินเกมเพื่อสร้างแต้มต่อสำหรับศึกชิงเค้กโฟรเซนฟู้ดพร้อมกินด้วยเช่นกัน

เหตุผลที่ พรานทะเล วางเกมการเติบโตของโฟรเซนฟู้ดพร้อมกินไปกับเฮาส์แบรนด์ นั่นเพราะที่ผ่านมา ปัจจัยจากการขยายสาขาของบรรดาช่องทางขายในกลุ่มโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ ท็อปส์ บิ๊กซี และ 7-11 ที่มีการเติบโตประมาณ 10% ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นจุดหนึ่งของโอกาสการทำตลาดโฟรเซนฟู้ด พร้อมกินในวันนี้ให้มีการขยายตัวมากขึ้น

ความพยายามในการเอ็ดดูเคตผู้บริโภคเพื่อสร้างดีมานด์ตลาด ที่สื่อสารเบเนฟิตคุณค่าจากอาหารทะเล ตอกย้ำจุดแข็งเมนูอาหารทะเลพร้อมกินเพื่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทดลองสินค้าโฟรเซนฟู้ด พร้อมกิน ผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่เข้าไปยึดหัวหาดช่องทางขายโมเดิร์นเทรดเป็นช่องทางสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของพรานทะลนั้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพที่ดีกับช่องทางขาย โดยที่ผ่านมา 'พรานทะเล' มีการจัดกิจกรรมร่วมกับช่องทางขายในกลุ่มโมเดิร์นเทรดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแคมเปญยกทัพอาหารทะเลสดใหม่นานาชนิด นำสินค้ามาจำหน่ายในราคาพิเศษที่ร่วมกับบิ๊กซี, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เดอะมอลล์, เทสโก้ โลตัส, คาร์ฟูร์

แนวรุกตลาดโฟรเซนฟู้ดพร้อมกินที่พรานทะเลเปิดเกมบุกช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ คือการเข้าไปเป็นผู้ผลิตโฟรเซนฟู้ดพร้อมกิน ให้กับเชนร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่ มาร์ท ภายใต้แบรนด์ 'ควิกเซิร์ฟ' วางตลาด 4 เมนูใน 500 สาขาทั่วประเทศ พร้อมโปรโมชั่นช่วงเปิดตัวแค่ 25 บาท จากราคาปกติ 29 บาท ส่วนสินค้าใหม่ที่จะมีการเปิดตัวในปีหน้าคือ บะหมี่นู้ดเดิ้ลคลิก รสหอยลาย โดยจะพัฒนาในรูปแบบของเอ็กซ์คลูซีฟ จำหน่ายเฉพาะในเซเว่น-อีเลฟเว่นเท่านั้น

'สำหรับการขยายธุรกิจของพรานทะเลไปในธุรกิจ OEM ผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้กับโมเดิร์นเทรดนอกจากจะเพิ่มยอดขายสร้างรายได้ และลดต้นทุนให้กับบริษัท ทว่าในอีกจุดหนึ่งยังเป็นเครื่องมือการตลาดสำหรับแคมเปญโปรโมชั่นที่สามารถลดราคาได้ทันที โดยไม่กระทบต่ออิมเมจ ซึ่งเมื่อไหร่ยอดขายตกสามารถนำมาเป็นสินค้าขับเคลื่อนได้ ทุกวันนี้หลายค่ายที่อยู่ในตลาดโฟรเซนฟู้ด เฮาส์แบรนด์ เห็นโอกาสตลาดจากกระแสอาหารทะเลเพื่อสุขภาพ และจุดแข็งที่บริษัทมี R&D เริ่มเข้ามาเป็นลูกค้าพรานทะเลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีของกลุ่มสินค้า OEM ของพรานทะเลในปีนี้มีสัดส่วน 7% คิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 2% '

ขณะที่แนวรุกการขยายฐานลูกค้าในตลาดใหม่ อย่างกลุ่มชิลด์ฟู้ดพร้อมกิน ที่มีราคาถูกกว่าโฟรเซนฟู้ดราวๆ 30% ถือว่าพรานทะเลยังเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ นั่นเพราะมีเจ้าตลาดคือ ซีพีเอฟ ที่มีจุดแข็งทางด้านเมนูหมู และไก่ เข้าไปปักธงในตลาด ทั้งนี้ สำหรับแผนรุกตลาดของพรานทะเล อนุรัตน์ กล่าวว่า จากจุดอ่อนของสินค้า ชิลด์ฟู้ดที่มีอายุการเก็บรักษาสั้นกว่าโฟรเซนฟู้ดเพียง 6 วันเท่านั้น ในปีหน้าพรานทะเลจะมีการพัฒนาสินค้าให้สามารถเก็บได้นานขึ้นเป็น 10 วัน อีกทั้งกระแสการบริโภคเนื้อขาวจากอาหารทะเลตามเทรนด์เพื่อสุขภาพนั้น จะเป็นสิ่งที่พรานทะเลนำมาเป็นตัวสร้างโอกาสตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคสวิตช์การบริโภคจากเมนูอาหารไก่ และหมูหันมาบริโภคเมนูอาหารทะเล เห็นได้จากยักษ์ฟาสต์ฟูดอย่างแมคโดนัลด์ยังหันมาใช้โปรตีนเนื้อขาวมากขึ้น ดังนั้นในปีหน้าจะเน้นการสื่อสารผู้บริโภคเป้าหมายภายใต้แนวคิด 'สุขภาพดี สมองดี ที่พรานทะเล' เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักว่าอาหารทะเลดีต่อสุขภาพ โดยจัดกิจกรรมผ่านสื่อนิตยสาร และการ Tie-in ตามรายการทีวีผ่านพรีเซนเตอร์ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไป ภายใต้งบการตลาดราวๆ 20 ล้านบาท

นอกจากนี้วางแผนจะขยายธุรกิจพรานทะเลไปในกลุ่มสินค้าผักมูลค่าตลาดปีละ 250 ล้านบาท ด้วยงบการลงทุนกว่า 20 ล้านบาท เพื่อเทกโอเวอร์บริษัทใหญ่ที่ผลิตสินค้าในกลุ่มผักป้อนให้กับโมเดิร์นเทรด ภายใต้บริษัทลูกที่ใช้ชื่อแบรนด์ 'พรานไพร' โดยจะมีการวางตลาดสินค้าใน 2 รูปแบบ คือ ภายใต้แบรนด์ลูกค้า หรือเฮาส์แบรนด์ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของพรานทะเลเอง อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการข้ามธุรกิจไปในสินค้ากลุ่มผัก นั่นเพราะพรานทะเลมีจุดแข็งด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ และจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อีกมากภายใน 2-3 ปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ 1,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1,400 ล้านบาทในปีหน้า' อนุรัตน์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.