จับตาธุรกิจการบิน ปี'53 ฉวยโอกาสฟื้น 'ท่องเที่ยว'


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ในปี 2552 ที่ผ่านมาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับการขาดทุนเป็นมูลค่ามหาศาลต่อเนื่องจากในปี 2551 สอดคล้องกับการประเมินของ IATA คาดว่าในปี2552 ที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะขาดทุนเป็นมูลค่ากว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกันธุรกิจการบินของไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3/2552 แนวโน้มของธุรกิจมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า ขณะที่ปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการกระเตื้องขึ้นของการส่งออก อย่างไรก็ดี การเติบโตของรายรับอาจไม่กลับมาขยายตัวมากนักเนื่องจากอัตราค่าโดยสารและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ว่ากันว่าสภาพตลาดของการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารในช่วงไตรมาสสุดท้ายอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 13.6 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี'51) ทำให้จำนวนผู้โดยสารรวมทั้งปีอาจหดตัวประมาณร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากในปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 4.6 ขณะที่ปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 4/2552 คาดว่าอาจกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 22 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 27) อย่างไรก็ดี การตกต่ำของการส่งออกทำให้ปริมาณการขนส่งทางอากาศรวมทั้งปีจะยังคงติดลบที่ประมาณร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งหดตัวร้อยละ 4 ส่วนแนวโน้มในปีหน้า คาดว่าตลาดของธุรกิจการบินน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ (การส่งออกและการท่องเที่ยว) โดยทั้งจำนวนผู้โดยสารและปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งปี 2553 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวก

แม้ว่าสภาพตลาดโดยรวมจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ธุรกิจสายการบินของไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะการแข่งขันที่รุนแรงในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ซึ่งคู่แข่งในตลาดสายการบินรูปแบบปรกติมีการปรับปรุงบริการและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกในเครื่อง ทำให้คุณภาพการให้บริการดีขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญคู่แข่งจากสายการบินโลว์คอสต์ที่หันมาขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่การบริหารจัดการต้นทุนในภาวะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่งในการรักษาอัตรากำไรของธุรกิจ

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น สายการบินในไทยต้องมีการปรับโครงสร้างของธุรกิจและองค์กรเพื่อให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน สำหรับสายการบินโลว์คอสต์ซึ่งใช้จุดขายด้านราคาและมีการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศค่อนข้างสูงนั้น การปรับลดต้นทุนโดยการปรับปรุงระบบให้เป็นในลักษณะ Self Service ให้มากที่สุดโดยการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย การจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านทางตัวแทนการขายเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก การจับมือเป็นพันธมิตร เช่น กับสายการบินอื่นเพื่อให้สามารถครอบคลุมเส้นทางการบินให้มากขึ้น รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง น่าจะช่วยดึงดูดผู้โดยสารและช่วยเรื่องต้นทุนได้ เช่นเดียวกัน สายการบินทั่วไปที่ไม่ใช่โลว์คอสต์ควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากระบบไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารทั้งในด้านการลดต้นทุนบุคลากรและเวลา และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาด

อย่างไรก็ตาม สายการบินอาจพิจารณาโอกาสเพื่อทำธุรกิจเชิงรุกในการเปิดเส้นทางใหม่ในภูมิภาค เช่น ขยายเส้นทางบินระหว่างเมืองหลักๆ ของประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้นโดยเฉพาะในปีหน้าซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจสายการบินในระยะต่อไป ทำให้ธุรกิจต้องคอยติดตามสถานการณ์และแนวโน้มทางด้านราคาอย่างใกล้ชิด โดยสายการบินต่างๆ ควรมีการเตรียมพร้อมในด้านการบริหารต้นทุน รักษากระแสเงินสดและควบคุมภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้เพื่อให้สามารถฟันผ่าความท้าทายต่างๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะเริ่มฟื้นตัวไปได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.