|
"ประกันชีวิต"เสียหลักต้านแรงปะทะไม่อยู่วิกฤตการเงินโลกส่งสัญญาณธุรกิจปรับตัว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์"ยังไม่จบ อาฟเตอร์ช็อกใส่ภาคประกันชีวิตถึงขั้นเสียหลักเซถลาจากฐานที่มั่นโดยเฉพาะบริษัทลูกครึ่งสองสายเลือด "ไอเอ็นจี กรุ๊ป" จากแดนกังหันลมประกาศตัดสายสัมพันธ์ธุรกิจประกันชีวิตทิ้งทั้งยวงซึ่งรวมถึง "ไอเอ็นจี ประกันชีวิต" ของไทยด้วย โดยก่อนหน้านี้ "เอไอเอ" บริษัทในเครือ "เอไอจี" ก็ถูกจับแยกออกไม่ขึ้นกับเปเช่นกัน ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นรักษาสถานภาพบริษัทแม่ให้คงอยู่ต่อไปได้ในอนาคต เป็นอีกภาพที่สะท้อนสัญญาณการปรับตัวครั้งใหญ่เช่นเดียวกับ "เมืองไทยประกันชีวิต" อีกหนึ่งดีลใหญ่ทิ้งท้ายปีวัว ถูก "แบงก์กสิกรไทย" ซื้อหุ้นเพิ่ม แต่เคสนี้นอกจากเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจยังเป็นการเจรจาแบบพี่เพื่อน้อง ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ยังมีอาฟเตอร์ช็อกออกมาให้เห็นกันเรื่อยๆ โดยเฉพาะภาคการเงินในธุรกิจประกันชีวิต ที่แม้ว่าผลของแรงกระแทกดังกล่าวจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ก็ตามที แต่อาการเจ็บป่วยของบริษัทในเครือที่มีอยู่เกือบทั่วโลกเพิ่งจะสำแดงอาการให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2552 ซึ่งเป็นปีวัวที่คิดว่าน่าจะเป็น "ปีชง" สำหรับบริษัทประกันชีวิตบางแห่ง
จำเลยของปีนี้ ตกไปอยู่ที่ "ไอเอ็นจี ประกันชีวิต" ที่ถูกบริษัทแม่สัญชาติเนเธอแลนด์ประกาศลอยแพตัดทิ้ง โดย "เอไอจีกรุ๊ป" มองว่าการตัดขายธุรกิจประกันชีวิตออกไปเพราะมองว่าไม่ใช่ธุรกิจหลัก ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วธุรกิจประกันชีวิตสร้างกำไรและผลประกอบการที่ดีให้กับ "เอไอจีกรุ๊ป" มากกว่าธุรกิจธนาคาร แต่เป็นที่รู้กันการขายสินทรัพย์ที่คุณภาพดีออกไปยอมง่ายกว่าขายสินทรัพย์ที่มีปัญหา แถมราคายังดีกว่าด้วย งานนี้ "เอไอจีกรุ๊ป" จึงกัดฟัดตัดทิ้งธุรกิจมีอนาคตออกไป
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น "เอไอจีกรุ๊ป" ขายทิ้งทั้งยวง เม็ดเงินที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจประกันชีวิตที่ประเทศใดก็ตามในนามของบริษัทประกาศชัดเจนแล้วว่าขาย!!! เพื่อนำเงินที่ได้นั้นมาชำระหนี้ให้กับรัฐบาล หลังจากที่กู้ยืมมาเพื่อรักษาสถานภาพขององค์กรร์มห้อยู่รอดปลอดภัย
ราเจซ เสฐฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอเอ็นจีประกันชีวิต บอกว่า การตัดขายธุรกิจประกันชีวิตเป็นการปรับโครงสร้างของ "เอไอจีกรุ๊ป" ที่ยื่นออกไปแล้วได้รับการอนุมัติแผนดังกล่าวผ่าน ทำให้มีการออกมาประกาศอย่างเป็นทางการไอเอ็นจีกรุ๊ป ต้องขายสินทรัพย์ใด และต้องการเก็บสินทรัพย์ใดไว้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อ
"แต่แผนการปรับโครงสร้างนี้จะยังไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตในเร็ววันนี้ เพราะกว่าแผนดังกล่าวจะสำเร็จบรรลุผลเห็นจะกินเวลาถึง 4 ปีได้ ดังนั้นยังอีกนานและอย่าเพิ่งตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในไม่ช้า บริษัทอีกหลายแห่งก็จะเปิดแผนปรับโครงสร้างหนี้ออกมาให้เห็นอีก ดังนั้นเราจะไม่ใช่รายเดียวและรายสุดท้าย"
มาตรการที่ไอเอ็นจีกรุ๊ปใช้ในการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเงิน คือ แยกธุรกิจการธนาคารและธุรกิจประกัน ภายในปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยมีสถานะภาพปลอดหนี้
ทั้งนี้ไอเอ็นจี กรุ๊ปจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อขอมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการแยกธุรกิจธนาคาร และประกันชีวิตออกจาก กัน รวมทั้งการขายธุรกิจประกันชีวิตออกไปด้วยการออกตราสารสิทธิ์เพิ่มทุน จำนวน 7,500 ล้านยูโร ขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อหาเงินชำระหนี้ให้กับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จำนวน 5,000 ล้านยูโร และค่าธรรม เนียมที่เกี่ยวข้อง ในเดือนมกราคม 2553
และต้องจับตาในปี2553 การปรับโครงสร้างหนี้ที่ไอเอ็นจีจะกรุ๊ป ตัดสินใจขายภาคธุรกิจประกันชีวิตออกไปนั้น ใครจะเป็นผู้กล้าขี่ม้าขาวมาช่วยไว้ นั่นเพราะเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนไม่ใช่น้อยๆ ที่สำคัญมากกว่านั้น คือ อาการแพนิคจากลูกค้าจะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาหรือไม่? เป็นสิ่งที่ต้องจับตา
เพราะต้องบอกกันไว้ก่อนว่า อินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ หรือ (เอไอเอ) ได้เผชิญวิกฤตดังกล่าวมาแล้ว และเป็นรายแรกแถมรายใหญ่ในไทยที่ต้องเปิดตัวแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อกลบกระแสขาดศรัธา พร้อมกับเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา
แม้ในวันนี้ เอไอเอ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อ "อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์" (เอไอจี)ก็ตามแต่แน่นอนว่าในเรื่องของความเชื่อมั่นนั้น ลูกค้าย่อมหวาดระแวงเป็นธรรมดา ดังนั้นสิ่งที่ เอไอเอ ต้องเร่งคือการปรับโครงสร้างองค์กรให้เสร็จโดยเร็ว เพราะยิ่งเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อ กลุ่มบริษัทเอไอเอ
ก่อนหน้านี้ เอไอจี ได้บรรลุข้อตกลงกับธนาคารกลางสหรัฐในการดำเนินการนำหุ้นของเอไอเอ บริษัทผู้นำธุรกิจประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชีย เข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเอไอจีได้โอนหุ้นเอไอเอที่ถือไปยังนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าว โดยธนาคารกลางสหรัฐจะได้รับหุ้นบุริมสิทธิของนิติบุคคลเฉพาะกิจเอไอเอ ขณะที่เอไอจียังคงถือหุ้นสามัญทั้งหมดในนิติบุคคลเฉพาะกิจเอไอเอ
มาร์ค วิลสัน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทเอไอเอ บอกว่า กลุ่มบริษัทเอไอเอ และ อเมริกัน อินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป, อิงค์ (เอไอจี) ได้ประกาศว่า จะเลือกตลาดหลักทรัพย์ประเทศฮ่องกงเสนอขายหุ้นของเอไอเอแก่ประชาชนทั่วไปตามแผนงานที่ได้ประกาศออกไป การประกาศใช้ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศฮ่องกงเป็นสถานที่เสนอขายหุ้นถือเป็นก้าวสำคัญในการเป็นบริษัทมหาชน
แต่เหนือกว่านั้นคือทำให้ กลุ่มเอไอเอ มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
และเหมือนเรื่องขำขัน เมื่อก่อนหน้านี้ "ไอเอ็นจี" ต้องคอยออกมาแก้ข่าว เมื่อถูกกล่าวอ้างอย่างผิดๆในการเขียนข่าว "เอไอเอ" ซึ่งในสถานการณ์นั้นเอไอเอกำลังเข้าจุดวิกฤต เพราะบริษัทแม่ เอไอจีกรุ๊ปมีปัญหาทางการเงินจนรัฐบาลต้องถมเงินเข้าช่วย แต่วันนี้สถานการณ์ ไอเอ็นจี ก็เหมือน คนละเรื่องเดียวกัน เพราะบริษัทแม่ ไอเอ็นจี กรุ๊ป ก็ประสบภาวะปัญหาทางการเงินรัฐบาลเข้ามาอุ้มเช่นเดียวกัน
ในขณะที่สถานการณ์ของสองบริษัทนี้ดูจะเงียบ เรียบ ไม่ไหวติง แต่การรายงานข่าวที่ต่างประเทศ จะเห็นถึงรายงานการขายบริษัทลูกที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้ให้กับภาครัฐ รวมถึงกลับไปตั้งหลักยังมาตุภูมิเดิมให้มั่นก่อน
สัญญาณดังกล่าวเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจประกันชีวิตไทยถึงเวลาแห่งการปรับตัวครั้งใหญ่ และในปีวัวนี้เองการเคลื่อนไหวปรับโครงสร้างองค์กร ไม่ใช่มีแค่ ไอเอ็นจี และเอไอเอเท่านั้น หากยังมี "เมืองไทยประกันชีวิตด้วย"
แต่สำหรับ "เมืองไทยประกันชีวิต" โครงสร้างที่เปลี่ยนไปเป็นการเปลี่ยนเพื่อขยายอำนาจทางธุรกิจ แบงก์กสิกรไทยเ และเมืองไทยประกันชีวิต เหมือนสองพี่น้องต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความเป็น "ล่ำซำ" และการดำเนินธุรกิจทั้งสงฝ่ายดำเนินมาอย่างยาวนานนั้นทำให้ แบรนด์ของสององค์กรนี้แกร่งสมกัน การขมวดสองธุรกิจที่ ทำให้การขมวดธุรกิจเข้าด้วยกันจึงเป็นเรื่องที่ดำเนินไปได้อย่าลงตัว
แน่นอนว่าการก้าวเข้ามาของกสิกรไทยด้วยการซื้อหุ้นของเมืองไทยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นจะทำให้ ภาคประกันชีวิตขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการขยายเบี้ยประกันชีวิตให้เติบโต ไม่แพ้ช่องทางขายผ่านตัวแทน เช่นเดียวกัน กสิกรไทยจะได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มจากการทำธุรกรรมผ่านแบงก์
สำหรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นของเมืองไทยประกันชีวิต เดิมที่ ธนาคารกสิกรไทยถืออยู่ 10% ในเมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 51% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโฮลดิ้ง ขณะที่กลุ่มล่ำซำเดิมถืออยู่ 65.05% ก็ลดสัดส่วนลงเหลือ 41.08% และโฟร์ทิสเดิมถืออยู่ 20% ก็ลดลง มาเหลือ 8.2% ส่วนสวิสรีที่เคยถืออยู่ประมาณ 4.95% ส่วนนี้ก็ถูกธนาคารกสิกรไทยซื้อไปด้วย เท่ากับผู้ถือหุ้นหลักของเมืองไทยฯประกอบไปด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งโดยภาพรวมจะถือหุ้นในสัดส่วน 38% กลุ่มล่ำซำ ถืออยู่ 31% และกลุ่มโฟร์ทิส ถืออยู่ 31% เท่ากัน
และการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งนี้ทำให้ โครงสร้าง ของคณะกรรมการ (บอร์ด) เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง (MTGH) มีการเปลี่ยนในส่วนของรองประธานกรรมการ โดยคนของกสิกรไทย คือ "ประสาน ไตรรัตน์วรกุล" กรรมการผู้จัดการ กสิกรไทยเข้ามานั่งเพิ่ม จากเดิมที่มีเพียง โจเซฟ เดอ เมย์ ประธานคณะกรรมการ โฟร์ทิส อินชัวรันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นวี ส่วนโครงสร้างการบริหารจัดการก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านตัวบุคคล
แต่มีการปรับเพิ่มตำแหน่ง "สาระ ล่ำซำ" กรรมการผู้จัดการ ขึนเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป
นี่เป็นเพียงบางส่วนของไฮไลท์ธุรกิจประกันชีวิตในปีวัวที่กำลังจะผ่านไป และเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับโครงสร้างกันยกใหญ่ การปรับที่ว่าคือการเพิ่มอำนาจการดำเนินธุรกิจด้วยการวิ่งเข้าหาโอกาสให้มากสุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญคือการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำคัญลูกค้าในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีความแข็งแกร่งและมั่นคงสูง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|