กสิกรฯรุกรายย่อยเต็มสูบ ลุ้นรัฐต่อมาตรการหนุนสินเชื่อบ้าน


Positioning Magazine( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กสิกรไทยเผยแผยรายย่อย ตั้งเป้าสินเชื่อเพิ่ม 15% พร้อมรุกทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน และบัตรเครดิต ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะโต 36% จาการวางแผนยกระดับบริการสู่ไฟแนนเชียล เวิลด์ อินดัสตรี ให้บริการด้วยมาตรฐานโลก ลุ้นรัฐบาลคงมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมอสังหาฯที่จะหมดเดือนมี.ค.53 ช่วยดันสินเชื่อบ้าน

นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานด้านธุรกิจรายย่อยของธนาคารในปี 2553 ว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 9.2 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 19% จากปัจจุบันที่มีลูกค้ารายย่อย 7.7 ล้านราย และตั้งเป้าหมายยอดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเติบโตที่ 15% คิดเป็นเม็ดเงินปล่อยกู้ใหม่ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นสินเชื่อบุคคลตั้งเป้าเติบโตสูงสุด 47% รองลงมาคือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 13% และสินเชื่อบัตรเครดิต 7% ซึ่งจะมาจาก 2 รูปแบบคือการเติบโตยอดบัตรใหม่ 3 แสนใบและการกระตุ้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรไปพร้อมกับการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ที่จะให้อยู่ไม่เกิน 2.3% จากส่วนยอดเงินฝากจะโตอีก 10%

ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมในปีหน้าก็ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 36% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ค่าธรรมเนียมจะมาจากธุรกิจขายประกันผ่านสาขาธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ที่ตั้งเป้าว่าจะมีการเติบโตสูงสุดประมาณ 100% รายได้ด้านการโอนเงิน (Money Transfer) ที่จะเติบโต 56% การขายกองทุน (Mutual Fund) 43% และจากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโตอีก 32%

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้วางเป้าหมายเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าในระดับสูงสุด โดยวางแผนยกระดับบริการสู่ไฟแนนเชียล เวิลด์ อินดัสตรี (Financial World Industry) โดยดัชนีความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction Index) ที่สำรวจโดยนีลสัน ได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 79 ในปี 2549 เป็น 88 ในปี 2552 ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็นระดับ 90 ในปี 2553 และเป็น 91 ในปี 2554 ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพบริการของธนาคารอยู่เหนือมาตรฐานเฉลี่ยของโลก ด้วยการมุ่งยกระดับประสบการณ์ล้ำเลิศให้กับลูกค้าใน 3 มิติ คือ 1.การสร้างความประทับใจในทุกด้านที่ลูกค้าเข้าไปสัมผัส โดยธนาคารจะขยายจุดให้บริการของสาขากว่า 800 สาขา

2.การใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอล เพื่อตอบสนองการให้ข้อมูล และบริการในโลกดิจิตอลยุคใหม่ ทั้งบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต บริการทางโทรศัพท์มือถือ ที่ครองความเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งถึง 75% เป็นที่หนึ่งธุรกิจรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตทางอินเทอร์เน็ตมาตลอด และ3.การสร้างประสบการณ์ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจแบบบูรณาการ ตอบสนองความต้องการตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างยั่งยืน ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ที่เครือธนาคารและพันธมิตรพัฒนาร่วมกัน

ส่วนผลการดำเนินงานธุรกิจรายย่อยของธนาคารในปี 2552 ว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ โดยยอดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยมีการเติบโต 9% คิดเป็นเม็ดเงินปล่อยใหม่ 1.54 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีการเติบโต 9% คิดเป็นเม็ดเงินปล่อยใหม่ 1.22 แสนล้านบาท สินเชื่อบุคคลเติบโต 16% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิตเติบโต 7% คิดเป็นเม็ดเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.1% ซึ่งต่ำกว่าระบบ และมียอดเงินฝากรวม 7.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากธุรกิจลูกค้ารายย่อยเติบโตเพิ่มขึ้น 20% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจแบงก์แอสชัวรันซ์ (Bancassurance) มีการเติบโตสูงสุดประมาณ 56% รองลงมาได้แก่ค่าธรรมเนียมด้านการโอนเงิน (Money Transfer) เติบโต 27% และการขายกองทุน (Mutual Fund) เพิ่ม 23%

นายกฤษฎา ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่จะหมดอายุในเดือน มี.ค. 2553 เนื่องจากมองว่าประชาชนยังคงมีความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างแท้จริง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือภาคประชาชนได้ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะเริ่มมีการขยับขึ้นช่วงครึ่งหลังปีหน้า เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงติดตามการเคลื่อนไหวแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก่อน ซึ่งเฟดได้ออกมาระบุว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปราวกลางปีหน้า

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ เชื่อว่าจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาวะการแข่งขันทางด้านเงินฝากของแต่ละธนาคารที่จะเริ่มแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องระวังและจับตาอย่างต่อเนื่องจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางการเมือง ความไม่ชัดเจนในโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการประมูลระบบ 3จี โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยับไปข้างหน้าได้

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีหน้าอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านเดี่ยวจะมีสัดส่วนการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 40% จากปีนี้ที่การเติบโต 37% ส่วนคอนโดจะเติบโต 40-45% จากปีนี้ที่เติบโต 49% สำหรับทาวน์เฮ้าส์จะเติบโต 12% และบ้านแฝดจะเติบโตอยู่ที่ 2% ใขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-5% เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องปรับสูงขึ้นตามประมาณ 5-10% บวกกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ 0.5-0.75% ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำลังการใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น 6% หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นทุก 1%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.