สุพจน์ เดชสกุลธร อีนุงตุงนังกับวงการคอมมอดิตี้ด้วย


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

คนทั่วไปที่พอจะรู้จักสุพจน์ เดชสกุลธร จากหน้าหนังสือพิมพ์ มักเข้าใจว่าสุพจน์เป็นเจ้าของเฉพาะกิจการเงินทุน 3-4 แห่งกับบริษัทประกันภัย-ประกันชีวิต และก็คงไม่ผิดถ้าจะสรุปว่าตัวสุพจน์เองก็อยากให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างนั้น

มีไม่มากคนนักหรอกที่ทราบว่า นอกจากกิจการดังกล่าวแล้วสุพจน์ยังเป็นบุคคลระดับ “ผู้หนุนหลัง” ของวงการคอมมอดิตี้ ซึ่งกิจกรรมด้านนี้ สำหรับสุพจน์แล้วก็คงไม่อยากให้ใครทราบอยู่ด้วย

“โธ่ คุณเรื่องอย่างนี้ใครอยากเปิดตัว วงการคอมมอดิตี้นั้นน่ะถูกมองว่าเป็นพวกบ่อนการพนัน ใครจะเอาชื่อเสียงไปเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่มีกิจการด้านเปิดเป็นสถาบันการเงินอย่างสุพจน์...” แหล่งข่าวระดับสูงที่ทราบเรื่องดีชี้ถึงเหตุผล

ส่วนว่าสุพจน์เข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการคอมมอดิตี้ได้อย่างไรและทำไมถึงก้าวขึ้นมาเป็นบุคคลระดับ “เจ้าพ่อ” ได้นั้นแหล่งข่าวหลายคนได้ช่วยกันเล่าให้ฟังว่า ประเด็นสำคัญก็คือวงการนี้เขาแตกกันเป็นก๊กคุมกันไม่ติด ก็เลยเกิดช่องว่างพอที่สุพจน์จะเข้าไปสร้างอาณาจักร...

กล่าวคือเมื่อประมาณปลายปี 2521 ผู้ประกอบธุรกิจคอมมอดิตี้ ได้รวมตัวก่อตั้งเป็นชมรมผู้ประกอบการคอมมอดิตี้ขึ้น มีทนุ กุลเศรษฐศิริ เจ้าของบริษัทเมอร์ลิน คอมมอดิตี้ส์ เทรดดิ้ง เป็นประธานของชมรมคนแรก ชมรมที่ว่านี้ได้รวบรวมกิจการคอมมอดิตี้กว่า 10 แห่งเข้ามา อย่างไรก็ตาม พอรวมตัวได้ไม่นานนักก็ได้เกิดข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงในเรื่องโครงการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าล่วงหน้าขึ้นในบ้านเรา เสียงส่วนใหญ่นั้นต้องการให้ชมรมฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ทนุค้านหลักการข้อนี้ สุดท้ายเรื่องก็ลงเอยโดยทนุต้องลาออกจากตำแหน่งประธานฯ แยกออกไปตั้งตัวเป็นก๊ก ก๊กหนึ่งข้างนอก

ทนุร่วมกับกิจการคอมมอดิตี้อีกประมาณ 5 แห่งเมื่อออกมาจากชมรมฯ ก็พยายามวิ่งเข้ามาธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง ผ่านทางกลุ่มพ่อค้าส่งออก เสนอความคิดขอให้ธนาคารใหญ่แห่งนั้นรับเป็นผู้ดำเนินงานจัดตั้งตลาดกลางคอมมอดิตี้ขึ้น ว่ากันว่าการเดินทางของก๊กทนุนี้ ทำไปได้ถึงขั้นสต๊าฟวิชาการของธนาคารใหญ่ให้ความสนใจจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากตลาดชิคาโกมาให้คำปรึกษาอยู่พักหนึ่ง แต่ลุ้นกันได้พักเดียวก็เงียบไปจวบจนขณะนี้

ด้านชมรมฯ หลังจากการลาออกของทนุก็มีก๊กใหม่ขึ้นมานำคือก๊กของ สุขุม พหูสูตร เจ้าของบริษัทสยามอินเตอร์ คอมมอดิตี้ส์ แอนด์แชร์, ประสาท ผลนุกูลกิต เจ้าของบริษัทเอเซีย คอนติเนนตัล คอมมอดีตี้ส์ และทวีศักดิ์ อชรางกูร เจ้าของบริษัทคิงลี่ ออร์แกไนเซชั่น ก๊กนี้พยายามวิ่งเต้นตั้งตลาดกลางฯ เช่นเดียวกันจะต่างกันก็แต่เส้นทางที่ผลักดันกลับผ่านทางสภาผู้แทนฯ และดำเนินงานไปไกลขนาดเคยพาคณะกรรมาธิการการเงินการคลังสมัยที่พานิช สัมภวคุปต์ กับสมัคร สุนทรเวช เป็นประธาน แต่ละคณะอยู่ไปดูงานตลาดกลางซื้อขายล่วงหน้าที่ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์มาแล้ว

หลังกลับจากดูงานการยกร่างกฎหมายจัดตั้งตลาดกลางก็เริ่มขึ้นและเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ โดยประธานกรรมาธิการเศรษฐกิจ แต่ที่สุดก็ไม่เป็นผลเช่นเดียวกันเพราะพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และบังเอิญผู้ที่รู้เรื่องและเห็นความสำคัญหลายคนหลังเลือกตั้งต้องแปรสภาพเป็น ส.ส.สอบตก ความพยายามของก๊กนี้จึงพับตามไปด้วย “ตอนนี้หลายคนวางมือเลิกกิจการไปแล้วก็มีครับ...” แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่า

ในขณะที่กิจการคอมมอดิตี้ 2 ก๊กนี้กำลังพันตูกันอย่างสุดเหวี่ยงเพื่อช่วงชิงการเป็นผู้จัดตั้งตลาดกลางฯ นั้นที่จริงยังมีกิจการคอมมอดิตี้ขนาดเล็กๆ ประมาณ 10 แห่งวางตัวอยู่วงนอกเฉยๆ หรือปล่อยให้กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ เขาว่ากันไป

ครั้นความขัดแย้งระหว่ง 2 ก๊กนับวันยิ่งรุนแรงและยังไม่มีก๊กใดเพลี่ยงพล้ำแก่ก๊กใด การเคลื่อนไหวรวมตัวของกลุ่มบริษัทเล็กๆ นี้ก็เกิดขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายไม่ได้เป็นการรวมตัวเพื่อผลักดันการตั้งตลาดกลางเหมือนกับ 2 ก๊กแรก หากแต่เน้นการทำธุรกิจโดยอาศัยช่องว่างและระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนจะมีตลาดกลางเกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์เท่านั้น

ตรงนี้เองที่สุพจน์ เดชสกุลธร เริ่มเข้ามา...

ต้นปี 2525 ได้มีการตั้งบริษัทโปรเกรส อินเวสเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแต้นท์ ขึ้นและบริษัทดังกล่าวนี้มีสุพจน์สนับสนุนอยู่เงียบๆ ข้างหลัง

โปรเกรสฯ เมื่อตั้งขึ้นมาแล้วก็รวบรวมบริษัทเล็กบริษัทน้อยประมาณ 10 บริษัทที่ไม่สังกัดก๊กใดนั้นเข้ามาเป็นเครือข่ายและกลายเป็นอีกก๊กหนึ่งที่น่าเกรงขามของวงการในเวลาที่ออกจะรวดเร็วไม่น้อย

ต่อมาก็เป็นที่ทราบกันว่าก๊กที่รวบรวมกันขึ้นใหม่นี้มีชื่อเรียกว่า “กลุ่มนักธุรกิจสัมพันธ์” มีคนระดับนำอยู่ 4 คนด้วยกันคือ บุญสิทธิ์ วิบูลย์ลาภ แห่งบริษัทแซบุ อินเวสต์เม้นท์ฯ นิพนธ์ ช่อชัยทิพย์ แห่งจอมเทียนลิซซิ่งฯ มาโนชญ์ ตันติปาลกุล แห่งโปรเกรส อินเวส์เม้นท์ฯ และคนหนุ่มไฟแรง วีรศักดิ์ เอื้อวงศ์เชิดชู แห่งโปรเกรส เครดิต

สำหรับนิพนธ์แล้วเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเขาเป็น “มือขวา” ของสุพจน์ ส่วนคนอื่นๆ ก็ล้วนใกล้ชิดกับสุพจน์ทั้งสิ้น

ปัจจุบันเชื่อกันว่าเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในวงการคอมมอดิตี้เกือบครึ่งตกอยู่กับก๊กนี้ ก็อย่างนี้แล้วจะไม่เรียกเป็น “เจ้าพ่อ” ได้อย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.