บางกอกแลนด์ (B-LAND) ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ในอดีต เพิ่มทุนใหม่ครั้งมโหฬารอีก
4,500 ล้านบาท จาก 6 พันล้านบาท เป็น 1.05 หมื่นล้านบาท ขายนักลงทุนเฉพาะเจาะจง
หุ้นละ 1.60 บาท พร้อมแจกวอร์แรนต์ผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์
และลดพาร์เหลือ 1 บาท แจงนำเงินชำระหนี้และเป็นทุนหมุนเวียน จะทำให้หนี้สินต่อทุน
(D/E) ลดจาก 9.81 เหลือเพียง 4.77 เท่า ส่งผลแมลงเม่าเทขายหุ้นกลุ่มอสังหาฯ วานนี้หนัก
ขณะที่เอ็นซี เฮ้าซิ่ง (NC) เตรียมเข้าตลาดหุ้นปี 47 ส่วน ขณะที่ชาญอิสสระ (CI)
ออกกองทุนอสังหาฯ พันล้านบาท ขายนักลงทุนทั่วไป โดย บลจ. วรรณบริหาร
นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) (B-LAND)
เปิดเผยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ว่า อนุมัติโอนเงินจากสำรองส่วนทุนและจากทุนสำรองตามกฎหมาย
และทุนสำรองส่วนล้ำมูลค่าหุ้น เพื่อลดขาดทุนสะสมบางส่วนของบริษัท
เพื่อให้การโอนเงินจากทุนสำรองดังกล่าว เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งรวมถึง
แต่ไม่จำกัดเพียงการติดต่อกับผู้สอบบัญชีบริษัท เพื่อตรวจสอบขาดทุนสะสมของบริษัท
ณ 30 ก.ย.
นอกจากนี้ อนุมัติลดทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 10,000 ล้านบาท เหลือ 6,000 ล้านบาท
โดยยกเลิกหุ้นที่ยังไม่ได้จำหน่าย 400 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เพื่อบริษัทจะเพิ่มทุน
และอนุมัติลดมูลค่าหุ้น ที่ตราไว้จากเดิมหุ้นละ 10 บาทเหลือ 1 บาท
ทุนจดทะเบียนบริษัทจะคงเดิม คือ 6,000 ล้าน บาท แต่หุ้นสามัญบริษัทจะเพิ่มจาก
600 ล้านหุ้น พาร์ 10 บาทเป็น 6,000 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท
ยังมีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 6,000 ล้านบาท เป็น10,500 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่
4,500 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท ยังอนุมัติออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ
(วอร์แรนต์) ไม่เกิน 2,000 ล้านหน่วยให้ผู้ถือหุ้นซึ่งมีชื่อในสมุดทะเบียนบริษัท
ณ 20 ต.ค.
วอร์แรนต์ดังกล่าวอายุ 3 ปี อัตราส่วน 3 หุ้นเดิม ซึ่งจะคิดจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นถืออยู่ใหม่
หลังลดพาร์เหลือหุ้นละ 1 บาทแล้ว จะมีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วยฟรี
อัตราใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้น จำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ เพื่อรองรับใช้สิทธิ
2,000 ล้านหุ้น หลังจากลดพาร์เหลือหุ้นละ 1 บาท ราคาใช้สิทธิ 1.80 บาท
นายอนันต์กล่าวว่า บอร์ดบริษัทฯ ยังอนุมัติจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน 4,500 ล้านหุ้น
แบ่งเป็น 2,500 ล้านหุ้น จัดสรรเพื่อเสนอขายบุคคลวงจำกัด ซึ่งรวมถึงผู้ลงทุนสถาบัน
ราคา 1.60 บาทต่อหุ้น
การออกและเสนอขายหุ้นดังกล่าว จะทำหลังจากบริษัทลดพาร์เหลือหุ้นละ 1 บาทแล้ว
ส่วนอีก 2,000 ล้านหุ้น สำรองสำหรับการใช้สิทธิของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิ
นายอนันต์เปิดเผยวัตถุประสงค์เพิ่มทุนว่าเพื่อใช้คืนหนี้บางส่วนของบริษัท แบ่งเป็นเงินประมาณ
1,500 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระคืนเงินมัดจำ และค่างวด รวมทั้งดอกเบี้ยให้ลูกค้าบริษัท
ภายใต้สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์
"ผมรู้สึกยินดีที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในอนาคตธุรกิจอสังหาฯ ของไทย
ซึ่งการเพิ่มทุนเพื่อขาย PP จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนให้กับนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้
และเมื่อภาระหนี้สินลดลง จะทำให้บริษัทสามารถขยายโครงการตามแผนที่ตั้งไว้" นายอนันต์กล่าว
โดยเงินประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระหนี้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างตามสัญญาจ้าง
ซึ่งลูกค้าและผู้รับเหมาก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
และ/หรือผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เงินที่เหลือ 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริษัท
ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการเพิ่มทุน / การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน บริษัทสามารถนำไปชำระหนี้บริษัท
จะทำให้หนี้สินบริษัทลดลง ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งฐานะการเงินบริษัท และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น
(D/E Ratio) ลดจาก 9.81 เหลือ 4.77 คำนวณจากงบการเงินสอบทาน ณ 30 มิ.ย.ทำให้บริษัทมีเงินหมุนเวียนเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจบริษัทมากขึ้น
กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่
1/2546 และสิทธิจองซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 20 ต.ค.
จนกว่าการประชุมผู้ถือหุ้น ดังกล่าวจะเสร็จ
ราคาหุ้น B-LAND วานนี้ รับข่าวการเพิ่มทุนบริษัทมโหฬารครั้งนี้ กระทบดัชนีตลาดหุ้นไทยลดต่อเนื่อง
วานนี้ หุ้น B-LAND ราคาปิด 19.50 บาท ลดลง 1.60 บาท วูบ 9.14% มูลค่าซื้อขาย 401.69
ล้านบาท ติดอันดับหุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุดอันดับ 6
เอ็น.ซี.ฯ เล็งเข้าตลาดฯ ต้นปี 47
ทางด้านนายสมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง
จำกัด ในเครือเอ็น.ซี.กรุ๊ป กล่าวว่าบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ขณะนี้อยู่ระหว่างการมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์
ซิกโก้ แอดไวเซอรี่ ศึกษาเรื่องการจัดโครงสร้างใหม่ เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาและเข้าจดทะเบียนได้ในราวต้นปีหน้า
"ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 266 ล้านบาท คาดว่าจะต้องเพิ่มทุนเป็น 800 ล้านบาท
ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ลงทุนในโครงการบ้านจัดสรรแห่งใหม่ รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนิน
งาน จากปัจจุบันที่มีโครงการอยู่ระหว่างดำเนินงาน 6 แห่ง และล่าสุดได้เปิดตัวโครงการใหม่
2 แห่ง ได้แก่ โครงการบ้านฟ้า กรีนพาร์ค รอยัล พุทธมณฑล สาย 1 มูลค่า 771 ล้านบาท
และโครงการบ้านฟ้า รังสิต คลอง 2 มูลค่า 200 ล้านบาท"
ด้านผลประกอบการในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดขายแล้ว ประมาณ 2,100 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะมียอดขายอีก
1,100 ล้านบาทเศษ รวมเป็นมียอดขายทั้งสิ้น 3,200 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา
30% ที่มียอดขาย 2,400 ล้านบาท
กองทุนรวมอสังหาฯ บางกอกเปิดจอง 10-20 ต.ค.นี้
นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ
จำกัด เปิดเผยในพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายและตัวแทนจำหน่าย "กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก"ในฐานะผู้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนฯ
ว่า กองทุนนี้มีขนาดเริ่มต้นที่ 1,000 ล้านบาท โดยจะลงทุนในห้องชุดสำนักงานและห้องชุดพาณิชยกรรมในอาคารอิสสระทาวเวอร์
1 และ 2 โดยทั้งสองอาคาร มีพื้นที่รวม 29,386.24 ตารางเมตร มีค่าเช่าเฉลี่ยตารางเมตรละ
250-260 บาท โดยมีอัตราการเช่าที่ 90.68% และ 95.83% ตามลำดับ
กองทุนนี้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนร่วมเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ
10,000 บาท จะได้เงินปันผลปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุน
อีกทั้งเป็นกองทุนเปิดสามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหลักทรัพย์ทั่วไป
ในหมวดของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเริ่มซื้อขายได้หลังจากที่เปิดให้จอง 30 วัน โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่
10-20 ตุลาคมนี้
ขณะเดียวกัน ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์
และสำหรับบุคคลธรรมดาบริษัทจัดการจะทำการให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% และไม่ต้องนำเงินได้จากการปันผลไปคำนวณเพื่อเสียภาษี รวมทั้งไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรจากการขายหน่วยลงทุนด้วย ซึ่งจุดเด่นดังกล่าวเชื่อว่า
กองทุนฯ จะได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีเงินออม เพราะจะมีผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินไว้ที่สถาบันการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก
คาดว่าจะมีผลตอบแทนประมาณ 5%
ด้านนายสงกรานต์ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด
ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารกองทุน กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์ด้านการบริหารอาคารสูงหลายแห่ง
ทั้งอาคารของบริษัทเองและอาคารของบริษัทอื่น ได้แก่ อาคารชาญอิสสระทั้ง 2 อาคาร,
อาคารสิรินรัตน์, อาคารเบญจจินดา,อาคารลาส โคลินาส และ อาคารบรมราชกุมารีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นต้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารอาคารได้ดี เห็นได้จากที่กลุ่มบริษัทชั้นนำในระดับสากล
เลือกใช้พื้นที่ของอาคารชาญอิสสระ เช่น กลุ่มบริษัทซีเมนส์ บริษัท บูทส์ รีเทล
รวมถึงสายการบิน
"แม้ว่าบริษัทจะขายอาคารชาญอิสสระทั้งสองอาคารให้กับกองทุน ในราคารวมทั้งสิ้นประมาณ
1,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้บริษัทขาดรายได้จากค่าเช่า เพราะบริษัทถือหน่วยลงทุนประมาณ
30% ซึ่งจะมีรายได้ผลตอบแทนจากการลงทุน และรายได้จากการบริหารอาคาร"
นายสุรเกียรติ วงศ์วาสิน หัวหน้ากลุ่มพาณิชย์ธนกิจ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ธนาคาร ดีบีเอส ไทยทนุ ในฐานะที่ปรึกษากองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนฯนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการนำเงินไปลงทุน
ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพและสามารถก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำมาจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
และธนาคารเองก็จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษา
ธนาคารได้นำประสบการณ์และความสำเร็จจากการเป็นผู้บุกเบิกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
หรือ REITS ในประเทศสิงคโปร์ มาเป็นแนวทางในการศึกษาเพื่อจัดโครงสร้างในแบบของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสมกับประเทศไทย
"แนวคิดในการทำกองทุนฯ ในลักษณะนี้นอกจากกลุ่มอาคารสำนักงานแล้ว ยังจะขยายไปยังกลุ่มที่พักอาศัย
และศูนย์การค้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน และทางธนาคารเองก็จะพิจารณาว่า
NPA ตัวไหนของธนาคารมีศักยภาพพอก็อาจนำมาปัดฝุ่นเพื่อจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้ขึ้นอีกก็ได้"
นายสุรเกียรติกล่าว
นายสุรเกียรติกล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์นี้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งขึ้นอีกหลายกอง
โดยร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จักการกองทุนอื่นที่มีความพร้อมในขณะนั้น เนื่องจากมองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวก
เพราะเมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของจีดีพีหากเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าปีหน้าที่ระดับ
8% ก็น่าจะมีกองทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นอีกมาก