เปิดโมเดลน้องใหม่ เฮาส์แบรนด์มือถือ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

มนต์เสน่ห์เฮาส์แบรนด์มือถือไทยยังคงหอมหวนดึงน้องใหม่แจ้งเกิดได้ตลอดเวลา เมื่อธุรกิจนี้เกิดง่าย กำไรดี แต่ก็พร้อมเจ๊งได้ทุกเมื่อ และโมเดลน้องใหม่เฮาส์แบรนด์มือถือที่อยากจะปักหลักทำธุรกิจนี้อย่างยั่งยืนต้องทำอย่างไรเมื่อต้องการเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่รอดได้ จากการคาดการณ์ว่าอนาคตอันใกล้จะเหลือเฮาส์แบรนด์มือถือไม่เกิน 5 รายในตลาดไทยเท่านั้น

เฮาส์แบรนด์มือถือที่มีการประมาณการว่าจะมีการเติบโตไปถึง 30-35% ของตลาดรวมโทรศัพท์มือถือไทย คือกระแสแรงดึงดูดที่เสมือนแม่เหล็กให้บรรดาน้องใหม่แจ้งเกิดเข้าสู่ตลาดนี้ตลอดเวลา ที่สำคัญตลาดนี้มีผู้บุกเบิกจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไอ-โมบาย จีเน็ท เวลคอม การเปิดตัวของแบรนด์น้องใหม่จึงสามารถนำบทเรียนที่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต่อยอดให้ตัวเองมีที่ยืนบนตลาดนี้ได้

แบรนด์ 'INET' (ไอเน็ท) ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จากคนที่คลุกคลีในวงการโทรศัพท์มือถือไทยและพร้อมที่จะนำประสบการณ์มาสานต่อให้แบรนด์นี้เป็นอีกหนึ่งเฮาส์แบรนด์มือถือไทยที่จะทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

'เราต้องการเป็นหนึ่งในเฮาส์แบรนด์มือถือไทยที่จะทำตลาดร่วมกับอีก 4-5 แบรนด์ที่จะสามารถยืนหยัดทำธุรกิจนี้ได้ในอนาคต' เป็นคำกล่าวของ อรรถวิชญ์ เอกธนิตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเน็ท คอนเน็ค จำกัด ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ไอเน็ท

ไอเน็ทมองว่าที่ผ่านมาตลาดเฮาส์แบรนด์มือถือเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย สามารถทำกำไรได้ดี แต่ก็พร้อมที่จะเจ๊งได้ทุกเมื่อ การเข้ามาทำธุรกิจนี้จึงต้องมีการจัดการที่ดีให้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

'ธุรกิจนี้ต้องมีสายป่านที่ดีและยาวเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจนี้ไปได้'

ภายใต้แบรนด์ 'ไอเน็ท' จึงมาพร้อมกับประสบการณ์กว่า 20 ปีที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการธุรกิจสื่อสารของอรรถวิชญ์และกลุ่มผู้ถือหุ้น ทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและพยายามที่จะสร้างจิ๊กซอว์ที่แตกต่างให้กับแบรนด์ไอเน็ท ด้วยการร่วมมือกับกลุ่มไออีซี บลิสเทล และเทเลแม็กซ์ มาร่วมเป็นพันธมิตร และพร้อมที่จะส่งสัญญาณให้กับบรรดาตัวแทนร้านค้าโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศให้ช่วยขายมือถือไอเน็ท โดยอาศัยคอนเนกชั่นที่มีกันมาอย่างยาวนาน

ปัจจัยหลักที่จะทำให้แบรนด์ไอเน็ทแตกต่างจากเฮาส์แบรนด์มือถือรายอื่นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งผลิตด้วยการออกแบบสินค้าที่มีคุณภาพ มีความโดดเด่นและแตกต่าง ไอเน็ทได้ลงทุนเปิดสาขาอยู่ที่ประเทศจีน เพื่อควบคุมและคัดเลือกสินค้าจากแหล่งผลิต เรื่องซอฟต์แวร์และคอนเทนต์ที่ปัจจุบันตลาดมีความต้องการ Social Networking ไอเน็ทต้องตอบกระแสนิยมตรงนี้ผ่านมือถือรุ่นต่างๆ และการมี Strategic Partner ที่แข็งแกร่ง

'ไอเน็ทต้องศึกษาข้อมูลและนำมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมจุดขายให้กับโทรศัพท์มือถือในแต่ละซีรีส์'

ทั้งนี้ ปัจจุบันไอเน็ทได้วางสินค้าเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่ม Intelligence เป็นเครื่องที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานที่หลากหลาย เน้นเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชั่นต่างๆ และระบบปฏิบัติการที่รองรับอยู่บนตัวเครื่อง รวมถึงเอกลักษณ์ของตัวเครื่องที่มีแป้นพิมพ์รองรับการใช้งานง่าย กลุ่ม New User เป็นเครื่องที่มีฟังก์ชั่นพื้นฐานสำหรับผู้ใช้งานเริ่มต้นในระบบ 2 ซิม

กลุ่ม Entertainment เป็นสินค้ารองรับทุกรูปแบบความบันเทิง ทั้งภาพและเสียง ไฟล์ขนาดใหญ่ และสื่อมัลติมีเดีย รวมถึงเกมและจาวาแอปพลิเคชั่น และกลุ่มสุดท้ายกลุ่ม Trendy กลุ่มที่เน้นรูปลักษณ์การออกแบบตัวเครื่องที่ทันสมัยและมีฟังก์ชั่นที่กำลังอินเทรนด์ นอกจากนี้ไอเน็ทยังได้ให้ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์เตรียมการพัฒนาไปถึงระบบ 3G เมื่อระบบ 3G พร้อม

ไอเน็ทได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2553 การแข่งขันในตลาดมือถือเฮาส์แบรนด์จะยิ่งเข้มข้นขึ้น เนื่องจากประเทศไทยจะเริ่มใช้ระบบ 3G ซึ่งมือถือเฮาส์แบรนด์รุ่นใหม่ๆ จะต้องมีฟังก์ชั่นนี้รองรับ นอกเหนือไปจากจุดเด่นเรื่องการดีไซน์และฟังก์ชั่นแบบ 2 ซิมและดูทีวีได้

และในอนาคตไอเน็ทไม่เพียงแต่ทำตลาดเฉพาะในกลุ่มมือถือเท่านั้น แต่จะมีการทำตลาดแอร์การ์ด เราเตอร์ เน็ตบุ๊กและสินค้าอื่นๆ น่าจะทำให้ไอเน็ทเป็นแบรนด์ที่ครบเครื่องจากสินค้าที่หลากหลายในการทำตลาด และกลายเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างได้อีกจุดหนึ่งจากคู่แข่งขันรายอื่น

อรรถวิชญ์ วางเป้าหมายสำหรับไอเน็ทน่าจะมียอดขายอยู่ที่ปีละ 1,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 30,000 เครื่อง หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณ 3-4%

'เราต้องการเป็นเพียงบริษัทเล็กที่ไม่ต้องตั้งเป้ายอดขายจำนวนมากๆ เหมือนบริษัทใหญ่ๆ แต่ในความเป็นบริษัทเล็กๆ ของไอเน็ทจะเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งและเต็มไปด้วยประสบการณ์ความรู้ที่จะทำให้การทำงานมีความสุขและสนุกกับการทำธุรกิจ' อรรถวิชญ์ กล่าว

การมาของไอเน็ทแม้ว่าจะเป็นน้องใหม่เฮาส์แบรนด์มือถือไทย แต่ถือเป็นน้องใหม่ที่เคี่ยวประสบการณ์ ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดนี้ยิ่งมีสีสันการแข่งขันมากขึ้น ในฐานะที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากยักษ์ใหญ่เฮาส์แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ไอ-โมบาย จีเน็ท เวลคอม เจโฟน และเอ็มทีเอ็มที่เป็นน้องใหม่เฮาส์แบรนด์มือถือเช่นกัน




อัพเดดล่าสุด 12/4/2009 2:31:50 PM โดย Chaotip Kleekhaew

หมายเหตุ เส้นแบ่งข่าว หมายถึง ข่าวถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ
keyword :

Close


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.