ชำแหละ TOT 3G หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย รัฐทำล่มซ้ำซาก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

พลันที่ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กดปุ่มเปิดบริการ "TOT 3G" อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประเทศไทยต้องรอการให้บริการ 3G มาอย่างยาวนาน และการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช. กับผู้ให้บริการรายใหม่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถดำเนินการได้เมื่อไร ซึ่งอาจกินระยะเวลาอีกเป็นแรมปีกว่าจะมีผู้ประกอบการเอกชนสามารถเปิดให้บริการ 3G ในประเทศไทย

ก่อนหน้าที่ทีโอทีจะเปิดให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) นั้นได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ให้เป็นผู้ดำเนินการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3G และได้รับการโอนหุ้นของบริษัท เอซีที โมบาย จากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 โดยเอซีที โมบาย เป็นบริษัทจำกัดที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 1900 MHz และพัฒนาไปสู่บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G โดยกทช.เห็นชอบให้ทีโอทีเป็นผู้ได้รับการโอนสิทธิและหน้าที่ในการบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว

ประเด็นคำถามคาใจหลายๆ คนจึงเริ่มต้นขึ้นว่าทีโอทีจะสามารถดำเนินธุรกิจ TOT 3G ได้เดินหน้าและธุรกิจหลักของทีโอทีต่อไปในอนาคต รวมถึงสามารถให้บริการผู้บริโภคคนไทยที่รอคอย 3G ได้จริงหรือไม่

"เราต้องรอดูว่า TOT 3G เป็นของจริงหรือไม่" เป็นคำกล่าวของ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค และว่า "วันนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักทั้ง 3 ราย ไม่ว่าจะเป็นดีแทค เอไอเอส ทรูมูฟ ไม่ได้พูดถึงการให้บริการ 3G ในปีหน้ากันแล้ว เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ อาจทำให้การให้บริการ 3G ของผู้ให้บริการรายใหม่น่าจะเห็นได้เร็วที่สุดในปี 2554Ž

นั่นคือเสียงท้าทายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเดิม 2G ที่ไม่ได้หวั่นวิตกต่อการเปิดตัวของ TOT 3G เลย โดยเชื่อว่าหากผู้ประกอบการเอกชนให้บริการน่าจะดีกว่า เหมือนอย่างที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในปัจจุบัน

โจทย์สำคัญของทีโอทีที่ต้องขบคิดอย่างหนักกับการผลักดันธุรกิจของ TOT 3G ให้ติดตลาดให้ได้และเป็นที่ยอมรับ จึงน่าจะเป็นข้อสอบที่หินมากสำหรับเหล่าผู้บริหารทีโอทีในปัจจุบัน เนื่องจากต้องยอมรับว่าการเปิดให้บริการ TOT 3G วันนี้มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมเพียงกรุงเทพฯและปริมณฑล ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยแต่ละพื้นที่ยังต้องมีการตรวจสอบอีกว่าสามารถให้บริการได้จริงหรือไม่

พื้นที่การให้บริการที่จำกัดดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดการติดขัดด้านการติดต่อสื่อสาร ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน และอาจนำไปสู่การไม่เลือกใช้ในที่สุด เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นแพกเกจโปรโมชั่นที่ทีโอทีเปิดตัวออกมานั้น ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากที่ผู้ให้บริการในระบบ 2G ให้มากนัก จะมีจุดเด่นที่แตกต่างก็เพียงเรื่องของความเร็วในระดับบรอดแบนด์ที่บริการ 3G สามารถให้ได้ แต่นั่นหมายความว่าผู้ใช้บริการต้องอยู่ในพื้นที่การให้บริการ หากออกนอกพื้นที่ 3G การใช้งานด้านข้อมูลจะไม่สามารถโรมมิ่งกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ ไม่เหมือนกับการใช้งานทางด้านเสียงที่สามารถโรมมิ่งได้

ผู้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G หรือ MVNO (Mobile Visual Network Operator) รายหนึ่งได้ให้ทัศนะว่าบริการ TOT 3G จะไปรอดหรือไม่นั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การลงทุนต่อเนื่องของการขยายโครงข่ายการให้บริการ 3G ของทีโอทีว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร และหากเกิดความล่าช้าในการลงทุนย่อมส่งผลกระทบต่อการทำตลาดของ MVNO ทุกราย ที่สำคัญผู้บริโภคจะไม่นิยมใช้งาน TOT 3G จนกว่าจะเกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต

ด้านสุรช ล่ำซ่ำ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนเครือข่ายของทีโอที หรือ MVNO กล่าวว่าทีโอทีต้องจัดหาเน็ตเวิร์กให้กับ MVNO ทุกราย เพื่อนำไปใช้ในการขายบริการ อย่างบริการของ i-Kool 3G ที่ล็อกซเล่ย์ เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชั่นไว้นั้น หากทีโอทีไม่มีการขยายพื้นที่บริการ 3G ให้ทั่วประเทศ บริการ i-Kool 3G ก็จะไม่เป็นที่ต้องการของบรรดาผู้ประกอบการที่ล็อกซเล่ย์เล็งไว้ได้

ยิ่งไปกว่าต้องยอมรับว่าวันนี้ผู้ให้บริการ MVNO ทุกรายยังไม่พร้อมที่จะให้บริการแบบเต็มรูปแบบสำหรับบริการ 3G โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของแอปพลิเคชั่นที่จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งอาจกินเวลาถึง 4-6 เดือน กว่าจะเริ่มต้นให้บริการได้

"วันนี้เราอาจจะประกาศว่าเมืองไทยให้บริการ 3G แล้วในกรุงเทพฯเพื่อไม่ให้ขายหน้าฝรั่งต่างชาติเท่านั้น" สุรช กล่าว

หวั่นปมการเมือง
ทำ TOT 3G ล่ม

ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังจับตามองกันว่าก้าวต่อไปของทีโอทีในการพัฒนาโครงข่าย 3G จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เมื่อการลงทุนโครงข่าย 3G เป็นปัจจัยที่จะทำให้ TOT 3G อยู่รอดได้ ทำให้ MVNO อยู่รอดได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นอาจจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ทีโอทีอยู่รอดได้ในอนาคตด้วยซ้ำ หลังจากที่รายได้จากสัมปทานมือถือเดิมมีอันต้องหมดไป

และจากการที่ทีโอที เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที ปมประเด็นการเมืองจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงและถูกนำมาเป็นเครื่องต่อรองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อแผ่นดิน

งบประมาณสองหมื่นกว่าล้านบาทสำหรับการลงทุน TOT 3G ภายใต้การดูแลของร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ เจ้ากระทรวงไอซีทีกำลังถูกท้าทายและตั้งเป็นประเด็นคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางกระทรวงการคลังที่มี กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทวงถามถึง

"กระทรวงอื่นไม่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาก้าวก่ายงานของกระทรวงไอซีที ทำได้แค่แนะนำเท่านั้น ส่วนโครงการ 3G ทั่วประเทศมั่นใจการนำเสนอเข้าครม.ปีหน้า ครม.จะไฟเขียวแน่นอน เพราะตอนนี้ได้ทำความเข้าใจกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว"เป็นคำประกาศดังๆ ของเจ้ากระทรวงไอซีทีในวันเปิดตัวบริการ TOT 3G อย่างเป็นทางการ และก็เป็นการประกาศให้พรรคอื่นๆ รับรู้ว่านี่คือขอบเขตของพรรคเพื่อแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าวว่า เลขหมาย 3G ที่มีอยู่จำนวน 5 แสนเลขหมายจะขายหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อย่างแน่นอน เนื่องจากผลของการเปิดตัวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ส่วนโครงการขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศมูลค่า 29,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ชี้แจงรายละเอียดกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าใจตรงกัน ฉะนั้นเชื่อว่าการนำแผนดังกล่าวกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปีหน้าจะได้รับความเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการอย่างแน่นอน และคาดว่าในเดือน เม.ย.-พ.ค. ปีหน้าจะได้ผู้ชนะการประมูลสร้างโครงข่าย 3 G ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามทีโอทีถูกมองว่า กำลังกลายเป็นเหยื่อการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในการเข้ามาแสวงผลประโยชน์ของนักการเมือง ด้วยการใช้รูปแบบสงครามตัวแทนผ่านกรรมการบอร์ด ทำมาหากินจากงานประมูลต่างๆ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และเล็ก ที่ทุกวันนี้แทบจะรู้ล่วงหน้าว่าใครจะชนะประมูล เพราะฮั้วกันนอกรอบเรียบร้อย

สำหรับโครงการ 3G ของทีโอที ที่เปิดให้บริการภายใต้คอนเซ็ปต์การตลาดแบบใหม่ อย่างการให้เอกชนมาเช่าโครงข่ายแล้วทำตลาดหรือ MVNO กำลังเป็นที่จับตามองของตลาดมากว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ในมุมมองของ MVNO ทั้ง 5 รายไม่ว่าจะเป็นสามารถ ไอ-โมบาย, ล็อกซเล่ย์, 365, เอ็ม คอนซัลต์ และไออีซี ต่างเห็นว่าแค่จำนวน 2-3 หมื่นเลขหมายในช่วงแรกไม่น่าจะพอทำตลาด เพราะ MVNO ทั้ง 5 รายเปรียบเหมือนแม่ทัพการตลาด 5 คนช่วยกันขายช่วยกันทำตลาด แต่ละรายมีจุดแข็งที่ต่างกัน น่าจะเป็นประโยชน์กับทีโอทีอย่างมาก ซึ่งทีโอทีควรมีแผนขยายเน็ตเวิร์กให้ทั่วประเทศและขยายความสามารถรองรับของระบบ(Capacity) ในลักษณะที่เติบโตไปด้วยกัน

แต่กลายเป็นว่าทีโอที ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยกำลังถูก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และกรณ์ จาติกวณิชย์ รมว.คลังประสานเสียงเตะสกัดแผนขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศของทีโอที

โดยนายอภิสิทธิ์ต้องการให้ทีโอทีชะลอการลงทุนโครงการ 3G ทั่วประเทศของทีโอทีไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในการประมูลใบอนุญาต 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

ในขณะที่นายกรณ์ต้องการให้มีการแปรสัญญาสัมปทานของบริษัทเอกชนก่อนที่กทช.จะประมูลใบอนุญาต 3G เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเห็นว่าหากไม่มีการแปรสัญญาสัมปทานแล้วกทช.ประมูลใบอนุญาต 3G จะทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท

คำถามต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นมานั้น แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วไม่มีคำตอบ

เพราะประการแรกกทช.แจ้งให้ทราบแล้วว่าการขยายโครงข่าย 3G ทีโอทีไม่เกี่ยวข้องกับการประมูลใบอนุญาต 3G ของกทช. ประการที่สองการแปรสัญญาจำเป็นต้องให้คู่สัญญาด้านเอกชนเห็นชอบด้วย รัฐไม่สามารถทำตามใจชอบได้

แม้กระทั่งเอกชนคู่สัญญาอย่างเอไอสกับดีแทค ยังเห็นว่าการแปรสัญญากับการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ควรนำมาผูกกัน โดยเอไอเอสเสนอแนวทางแปรสัญญาที่สนใจคือการเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุน เสนอให้ทีโอทีเข้ามาถือหุ้นได้สูงสุดถึง 30% เพียงแต่เอไอเอสต้องประมูลได้ใบอนุญาต 3G จากกทช.ก่อน รวมทั้งทรูมูฟก็ยังเห็นว่าการแปรสัญญาสามารถทำคู่ไปกับการประมูล 3G ได้

ความต้องการของนายกฯและรมว.คลังในเรื่องนี้ คือ การยื้อเรื่องซื้อเวลาไปมามากกว่า และเป็นเรื่องของการเจรจาระหว่างขั้วต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานนี้มากกว่า

ประกอบกับตัวแทนทุนการเมืองที่ดูแลสภาพัฒน์ฯ มีแนวโน้มที่จะเตะสกัดแผนธุรกิจของทีโอทีให้ล่าช้าออกไป หลังรมว.คลังมาตั้งข้อสังเกตว่าทีโอทีจะลงทุนโครงข่าย 2 หมื่นล้าน แต่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจแบบขายส่งหรือขายปลีก เพราะทุนการเมืองเชื่อว่ายิ่งทีโอทีวางโครงข่าย 3G ทั่วประเทศล่าช้าจะเป็นประโยชน์กับบริษัทตัวเอง เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาต 3G เหตุผลทั้ง 2 ส่วนถูกโยงมารวมกันทำให้เชื่อว่า หากรัฐบาลชุดนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทีโอทีก็ไม่น่าจะมีโอกาสขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศได้

แม้ว่าเจ้ากระทรวงไอซีทีจะออกตัวมาเคลียร์กับนายกฯ แล้ว แต่อนาคตที่จะมาถึงในปี 2553 นั้นย่อมออกหน้าไพ่ได้ทุกอย่างเช่นกัน เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ยิ่งเป็นเรื่องปมการเมือง ผลประโยชน์ด้วยแล้ว ปัญหาที่ทีโอทีกำลังประสบอยู่จึงไม่ใช่ความสามารถที่จะพัฒนาบริการ 3G ไปได้ แต่อยู่ที่ปมการเมืองมาจะสะสางได้หรือไม่มากกว่า และนั่นอาจทำให้ TOT 3G ล่มซ้ำซากเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากับการให้บริการไทยโมบาย

และหากพิจารณาถึงประเด็นที่เกิดขึ้นของไทยโมบายนั้น การลงทุนอย่างมากแต่กลับได้ลูกค้าเพียงหลักหมื่นรายนั้น ได้กลายเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะหากทีโอทีมีการลงทุนโครงข่าย 3G จำนวนมาก และไม่สามารถหาลูกค้าได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้โมเดลธุรกิจที่อาศัย MVNO ทั้ง 5 รายก็ยังไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น จะกลายเป็นห่วงรัดคอทีโอทีได้ในอนาคต

บริการ TOT 3G
ไม่ใช่ของใครหรือค่ายใด

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดให้บริการ TOT 3G อย่างเป็นทางการนั้น วรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เคยประกาศไว้ว่าบริการ 3G เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นของใคร หรือค่ายใดค่ายหนึ่ง แต่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป และอนาคตก็ไม่ได้หยุดแค่ 3G แต่ยังมี 4G มีอะไรอยู่อีกมากมาย

"อนาคตเราต้องโตขึ้นไปเรื่อยๆ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำ 3G คือตอนนี้ เพราะในอนาคต 3G จะกลายเป็นระบบที่ล้าสมัย เหมือน2G ในอดีตที่ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในปัจจุบัน"

สำหรับประเด็นการซ้ำรอยไทยโมบายนั้น เอ็มดีทีโอที มองว่าที่ผ่านมาTOT และCAT เป็น 2 หน่วยงานแรกที่ได้รับในคลื่นความถี่ 2100 MHz ตั้งแต่ปี 2547 และร่วมกันเปิดบริการภายใต้คอนเซ็ปต์ของไทยโมบาย ต่อมาเกิดอุปสรรคในการดำเนินงาน ในเรื่องของการบริหารและการลงทุนร่วมกัน เพราะต่างคนก็ต่างลงความคิดเห็นแตกต่างกัน พอถึงยุคนี้ก็มีการหารือกันเพื่อหาข้อสรุปไม่อย่างนั้นจะไปไม่รอด จึงมีการเจรจาโอนสิทธิความถี่ซึ่งกันและกัน จนสามารถตกลงกันได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารความถี่ด้วยทีโอทีแต่เพียงผู้เดียว

เมื่อทีโอทีได้บริหารจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดให้บริการ 3G ทันทีหลังจากที่ทีโอทีได้โอนสิทธิในการบริหารความถี่แต่เพียงผู้เดียวสาเหตุที่เริ่มต้นล่าช้าเพราะในอดีตการบริหารงานแบ่งเป็น 2 หน่วยงาน ปัญหาอุปสรรคต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินงาน หรืองบประมาณลงทุน ก็มีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น เพราะแต่ละหน่วยงานต่างก็มีขั้นตอน การบริหารจึงไม่ทันเหตุการณ์กับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ในขณะที่การดำเนินการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ก็ประสบปัญหา จึงต้องกลับมาทบทวนในการโอนสิทธิคลื่นความถี่ให้กันและกัน

ในแง่ของความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกค้าหลังการล้มเหลวของไทยโมบาย วรุธ ยอมรับความจริงว่า เมื่อดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาล้มเหลว ก็เหมือนภาพที่สะท้อนความรู้สึกด้านลบของลูกค้าที่มีต่อทีโอที ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ เพราะตอนนั้นทีโอทีเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีโอทีต้องแก้ไข ต้องดำเนินการเพื่อสร้างข้อพิสูจน์ให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบว่า สิ่งที่ทีโอทีให้บริการในอดีตกับปัจจุบันต่างกัน


*************

บทเรียน "ไทยโมบาย"
ทำทีโอทีล้มไม่เป็นท่า

ไทยโมบายคือบทเรียนสำคัญที่หลายคนกำลังหยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามถึงอนาคตของ "TOT 3G" เพราะอดีตที่ผ่านมา "รัฐ" คือตัวปัญหาที่ทำให้ไทยโมบายล้มไม่เป็นท่า และวันนี้ก็ทำท่าว่า "รัฐ" กำลังเดินตามรอยอดีตที่ผ่านมาและอาจเป็นคนล้ม TOT 3G สักเอง

หากไม่ได้นำเรื่องของการบริหารที่ขัดแย้งกันระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ในการช่วยกันทำ "ไทยโมบาย" ตัวการปัญหาที่แท้จริงคือ "รัฐ" นั่นเองที่เตะตัดขาไทยโมบายจนไม่สามารถผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าได้

เหตุการณ์เมื่อครั้งไทยโมบายนั้น มีความพยายามที่จะอัพเกรดสถานีฐานเพื่อให้บริการ 3G แต่ทุกอย่างก็จบ พร้อมๆ กันอนาคตของไทยโมบาย เมื่อกทช.ไม่อนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์มาอัพเกรดโครงข่าย ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลยุคพรรคไทยรักไทย พยายามที่จะสกัดกั้นไม่ให้ไทยโมบายสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เป็นที่รู้กันว่าหากไทยโมบายมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อเอไอเอส ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญของตระกูลชินวัตรได้

มาวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำในสิ่งเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยทำกับไทยโมบาย และกำลังเป็นตัวสกัดความก้าวหน้าของ TOT 3G โดยการหาปมประเด็นต่างๆ มาสกัดไม่ให้ครม. อนุมัติงบการลงทุนโครงข่าย 3G ในเฟสที่สอง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าหาก TOT 3G ไม่สามารถขยายโครงข่าย 3G ได้อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ อาจจะต้องจอดป้ายเพียงการลงทุนเฟสแรกเท่านั้น

"เราไม่เข้าใจว่ารัฐบาลเล่นเกมอะไร" เป็นสิ่งที่ผู้บริหารทีโอทีเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้

แม้ปัจจุบันการอัพเกรดติดตั้งสถานีฐานสำหรับเฟสแรกจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมให้บริการกับลูกค้า 5 แสนเลขหมายแล้ว แต่ถ้า ครม.ให้ชะลอการลงทุนขยายสถานีฐานอีก 3,802 แห่ง ให้ครอบคลุมทั่วประเทศจะมีผลกระทบแน่นอน เพราะการเปิดเฟสแรกเป็นการกระตุ้นตลาด สร้างดีมานด์ให้ผู้ใช้ หากไม่มีการขยายเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า สุดท้ายความต้องการในตลาดจะเสื่อมถอย

"ทีโอที" จะเสียโอกาสทางธุรกิจและภาพลักษณ์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจำฝังใจต่อไปว่า บริการ 3G ของทีโอทีมีปัญหา

ความหวังของทีโอทีตอนนี้ คือ ให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้ทีโอทีเข้าตลาด 3G ก่อน สิ่งที่รัฐบาลบอกว่า ทีโอทีขาดความเชี่ยวชาญในการทำตลาด จังหวะนี้คือโอกาสที่จะเข้าตลาดได้ง่ายที่สุด เพราะยังไม่มีผู้เล่นอื่น ขณะที่มีคนจำนวนไม่น้อยอยากใช้ 3G อยากใช้บรอดแบนด์ไร้สาย ถ้าทีโอทีทำได้ก็สามารถสร้างประสบการณ์ผูกใจลูกค้าได้ ถ้ารอให้ กทช.ให้ใบอนุญาต 3G ก่อน ทีโอทีจะเหนื่อยกว่านี้แน่นอน


***************

ผ่า 5 โมเดลธุรกิจ “MVNO”
การตลาดมือถือรูปแบบใหม่

สูตรการตลาด TOT 3G กับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ “MVNO” กำลังกลายเป็นที่จับตาว่าจะเกิดการตลาดมือถือรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน แต่เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในตลาดต่างประเทศ 5 โมเดลจาก 5 MVNO คือบทพิสูจน์สำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ TOT 3G จะยืนหยัดให้บริการในวงการมือถือไทยในอนาคตได้หรือไม่

การเปิดตัวขึ้นบริการ TOT 3G ได้มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์การตลาดรูปแบบใหม่ด้วยการเปิดทางให้บริษัทอื่นเข้ามาร่วมบริการ 3G บนโครงข่าย 3G ของทีโอที หรือที่เรียกว่า MVNO (Mobile Visual Network Operator) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 ราย ได้แก่ กลุ่มสามารถ ไอ-โมบาย ที่บริการภายใต้แบรนด์ i-mobile 3G X กลุ่มล็อกซเล่ย์ ภายใต้แบรนด์ i-KooL 3G กลุ่มไออีซี ภายใต้แบรนด์ IEC 3G กลุ่มเอ็นคอนซัลต์ ภายใต้แบรนด์ MOJO 3G และบริษัท 365 ภายใต้แบรนด์ 365

ทั้ง 5 MVNO เสมือนแม่ทัพการตลาด 5 รูปแบบที่จะเข้ามาช่วยกันเติมเต็มการให้บริการ TOT 3G โดยแต่ละรายมีจุดเด่นจุดแตกต่างกันในการให้บริการ ซึ่งต้องรอพิสูจน์ว่าโมเดลธุรกิจไหนจะโดนใจตลาดผู้ใช้บริการมากที่สุด หรือจะมีค่ายไหนที่ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง

i-mobile 3G X
ครบเครื่อง 3G

ยักษ์ใหญ่สุดในกลุ่ม MVNO วันนี้น่าจะต้องยกให้กับกลุ่มสามารถ ไอ-โมบาย ที่พร้อมทำตลาด 3G ภายใต้แบรนด์ i-mobile 3G X บอสใหญ่อย่างวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบรหาร บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด ประกาศว่ากลยุทธ์หลักทางธุรกิจของไอ-โมบายในปี 2553 คือการก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจร โดยการให้บริการระบบ 3G ของทีโอทีในรูปแบบ MVNO

ทั้งนี้ไอ-โมบายมุ่งเน้นที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ใช้ด้วยการให้บริการภายใต้แบรนด์ i-mobile 3G X ในรูปแบบเติมเต็มประสิทธิภาพ 3G เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย

แพกเกจบริการ 3G พร้อมการบันเดิลผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 3G ทั้งแบรนด์ไอ-โมบายและแบรนด์อื่นๆ การให้บริการคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่น เช่น VDO Messaging, VDO Chat และ VDO Horo และการให้บริการลูกค้าผ่านไอ-โมบายชอป และตัวแทนจำหน่ายของไอ-โมบายที่ครอบคลุมพื้นที่

ไอ-โมบายได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์แบรนด์ชั้นนำต่างๆ เพื่อให้บริการอย่างครบครันกับผู้ใช้ โดยไอ-โมบายจัดแพกเกจผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างในแต่ละกลุ่ม พร้อมนำเสนอบริการใหม่ซึ่งพัฒนาต่อยอดได้บนระบบ 3G

ไอ-โมบายได้เตรียมผลิตภัณฑ์สำหรับรองรับการใช้งาน 3G ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือไอ-โมบายรุ่นใหม่ และแอร์การ์ด ส่วนการพัฒนาคอนเทนต์และแอปพลิเคชั่นนั้นได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยบริษัท เบรน ซอร์ส จำกัด โดยเน้นการใช้งานด้านข้อมูล โดยแบ่งแอปพลิเคชั่นเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ Video Streaming สามารถดูภาพยนตร์แบบเต็มเรื่อง ชมคลิปฟุตบอลไทยลีก VDO Messaging VDO Horo ดูดวงสดแบบเห็นหน้ากับหมอดูชื่อดัง EDT Map การแนะนำสถานที่กินดื่มเที่ยวพร้อมพิกัดแผนที่ การใช้งาน Social Networking เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ และ Start Pages หน้าอัพเดทข่าวเมื่อเชื่อมต่อผ่านยูเอสบีโมเด็ม ส่วนแพกเกจโปรโมชั่นบริการนั้นไอ-โมบายก็มีทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน

i-KooL 3G
ทำตลาด M2M

การสร้างตลาด 3G ที่แตกต่างเป็นจุดที่โมเดล MVNO ของกลุ่มล็อกซเล่ย์กำลังจะพัฒนาขึ้นภายใต้แบรนด์ i-KooL 3G โดยลักษณะการให้บริการของแบรนด์ i-KooL 3G นี้ จะประกอบด้วยบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งผู้ใช้สามารถซื้อซิมการ์ดไปใช้งานกับอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ 3G เช่น แอร์การ์ด ยูเอบีดอนเกิล 3G เราเตอร์ และสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์จำเพาะการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ (Machine to Machine : M2M) เช่น กล้องวงจรปิด ระบบติดตามยานพาหนะ ระบบตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ระบบวัดระดับน้ำ ระบบตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ

“i-KooL 3G เน้นเรื่องการให้บริการด้านการเชื่อมต่อข้อมูลเป็นหลัก คือแบบ M2M” สุรช ล่ำซ่ำ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) กล่าว

กลุ่มเป้าหมายของ i-KooL 3G จึงเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กร เช่น หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หน่วยงานอิสระ นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการการติดต่อสื่อสารด้วยความเร็วสูง ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล เช่นการประชุมทางไกลแบบเรียลไทม์ทั้งภาพและเสียง การนำเสนอพรีเซนเทชั่นสำหรับธุรกิจ การรับ-ส่งข้อมูลระหว่างการประชุม รองรับการใช้งานในการฝึกอบรม และการสัมมนาเหมือนอยู่ในสถานที่จริง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายรองจะเป็นกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เช่น นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ พนักงานออฟฟิศทั่วไป ที่ต้องการการรับส่งข้อมูลประมาณมากๆ ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการความทันสมัย เกาะติดแฟชั่นและต้องการการติดต่อสื่อสารตลอดเวลา

“ธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องมีลูกค้าเป็นล้านๆ ราย หากเรามีเซอร์วิสที่ตรงกับความต้องการ เราก็สามารถสร้างรายได้จากลูกค้าเพียงหลักพันรายได้นับร้อยล้านบาท”

รูปแบบการให้บริการของแบรนด์ i-KooL 3G จึงเน้นความเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์ที่เน้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สอดรับกับความต้องการใช้งานของกลุ่มลูกค้ามากที่สุด โดยจะมีการนำเสนอบริการ 3G ให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมของกลุ่มล็อกซเล่ย์เป็นหลักด้วย

IEC 3G ชู
ระบบ ECA

ในฝั่งของกลุ่มไออีซี เทคโนโลยี ที่บริการ 3G ภายใต้แบรนด์ IEC 3G นั้นได้มีการพัฒนาบริการเสริมและมีการเสริมคุณภาพการบริการบนโครงข่ายเพื่อสนองตอบความต้องการจำเพาะของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยไออีซี 3G ได้จัดเตรียมโซลูชั่นที่มีนวัตกรรมการบริการที่แตกต่าง

“บริการที่แตกต่างทั้งระบบโพสต์เพดและพรีเพด เพื่อให้บริการสนองความต้องการและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้บริการแบบเดิมๆ ที่ผ่านมาในอดีต” อรรถวุฒิ เลาหภักดี กรรมการผู้จัดการบริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด กล่าวถึงจุดเด่นของบริการไออีซี 3G

ไออีซีมีการพัฒนาระบบ Enhance Charging Application (ECA) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานประเภทพรีเพดสามารถได้รับการบริการหรือมีรูปแบบ Tariff ตรงใจเหมือนกับระบบโพสต์เพด เช่น เติมเงินเพียงหมายเลขเดียวสามารถครอบคลุมการใช้บริการของหลายหมายเลขและสามารถกำหนดรูปแบบจำเพาะของแต่ละเลขหมายได้ เช่น สามารถกำหนดวงเงินใช้ของแต่ละหมายเลขหรืออนุญาตให้เลขหมายสามารถใช้หรือไม่สามารถใช้บริการหนึ่งหรือหลายบริการได้ ซึ่งรูปแบบ Charging นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ไออีซีได้พัฒนาและเตรียมให้บริการ

นอกจากนี้ระบบ ECA ยังรองรับผู้ใช้งานโพสต์เพดให้สามารถเติมเงินแบบระบบพรีเพด เพื่อให้เลขหมายของตนเองสามารถมี Credit Limit มากขึ้นหรือสามารถจำแนกการใช้บริการต่างๆ ตามต้องการได้

ในส่วนบริการเสริม ไออีซีเตรียมโซลูชั่นรองรับทั้งบริการมาตรฐานทั่วไป เช่นบริการดนตรีรอสาย หรือบริการเสมือน FaceBook Hi5 Video Surveillance ระบบความปลอดภัยส่วนบุคคลบนโครงข่าย 3G รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพส่วนบุคคลผ่านโครงข่าย 3G ที่ไออีซีพัฒนามาเพื่อกลุ่มลูกค้าเฉพาะผ่านะระบบบรอดแบนด์ 3G เช่น ระบบ EKG Monitoring สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องการการดูแลจากแพทย์แม้อยู่ห่างจากแพทย์

เอ็มคอนซัลต์ร่วมพันธมิตร
เปิดกลยุทธ์ 3S รุก 3G

ด้านเอ็มคอนซัลต์นั้นได้เชิดศักด์ กู้เกียรตินันท์ เข้ามารับเป็นแม่ทัพในการทำตลาด 3G ภายใต้แบรนด์ MOJO 3G โดยมีพาร์ตเนอร์อีก 2 รายคือเจมาร์ท และ ไฮเทค เน็ตเวิร์ก ทำให้กลายเป็นการผนึกจุดเด่น 3 ด้าน เนื่องจากเอ็มคอนซัลต์เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญการติดตั้งโครงข่าย เจมาร์ทถือว่ามีประสบการณ์ตรงและความชำนาญในธุรกิจเกี่ยวกับแฮนด์เซ็ต มีช่องทางจำหน่าย เจมาร์ทมีร้านในกรุงเทพฯ 100 กว่าสาขา ต่างจังหวัดมี 90 กว่าสาขารวมแล้ว 200 กว่าสาขาทั่วประเทศ และยังมีไอทีจังก์ชั่น ตามหัวเมือง มีคอลเซ็นเตอร์ มีเซอร์วิสเซ็นเตอร์ มีแพกเกจบริการจำนวนมาก ส่วนไฮเทค เน็ตเวิร์ก เป็นบริษัทในเครือคอม-ลิ้งค์ มีความชำนาญเรื่องการบริหาร กลยุทธ์ และการเงิน

เอ็มคอนซัลต์จะใช้กลยุทธ์ 3 S หรือ 3 Services ในการทำตลาดคือ Service ที่หนึ่งคือสิ่งที่ลูกค้าสัมผัสได้เลยคือเรื่องแฮนด์เซ็ต ตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือและการให้บริการลูกค้าหลังการขาย Service ที่สอง คือเรื่องดาต้าเซอร์วิส ซึ่งลูกค้าที่จะใช้บริการ 3G จะไม่ใช่บริการทั่วไปแต่จะเน้นเรื่องมัลติมีเดีย ดาต้า บรอดแบนด์ แอปพลิเคชัน ซึ่ง MVNO มีหน้าที่จะต้องดีไซน์ เซอร์วิสพวกนี้ Service ที่สามคือ Network Service ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีโอที ในการควบคุมคุณภาพเครือข่าย พื้นที่ครอบคลุมความชัดเจน การส่งต่อสัญญาณระหว่างเซลล์ไซต์ เป็นสิ่งสำคัญ

“เราจะมีแพกเกจง่ายๆแต่ให้เข้าถึงลูกค้า และสร้างความแตกต่างMVNO ไม่ได้แข่งที่ cost แต่แข่งที่ differentiate เพราะทุกคนแข่งกันที่ราคาต่ำอยู่แล้ว และไม่ได้แข่งที่วอยซ์ แต่แข่งที่บริการ”

เชิดศักดิ์ กล่าวว่าservices mapping มีหมดแล้ว ตามแผนที่เสนอทีโอทีไป แต่เอ็มคอนซัลต์พูดพร้อมกันไม่หมด เพราะต้องดูความพร้อมของเน็ตเวิร์กด้วย ทีโอทีเร่งเครื่องเต็มที่เรื่องเขา เอ็มคอนซัลต์ก็เร่งเครื่องเต็มที่เรื่องเราเซอร์วิสคงพร้อมเต็มที่ในเดือนม.ค.2553 ต้องให้เวลา

“MVNO คงสตาร์ทจากจุดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้แบรนด์ ราคา ระบบบิลลิ่ง แล้วหลังจากนั้นค่อยมาวัดกัน เพราะอนาคตแต่ละบริษัทต้องเติบโตต่างกัน เพราะ MVNO จะมีกลยุทธ์ที่ต่างกันเพราะยิ่งใส่เซอร์วิสเข้าไปมาก แต่มีลูกค้าน้อย ต้นทุนต่อลูกค้าก็จะสูงส่วนรายได้ก็น่าจะต้องสูงกว่า ARPU วอยซ์ประมาณ 2 เท่า ปัจจุบันบางเน็ตเวิร์กประมาณ 200 ต้นๆบางเน็ตเวิร์ก 170 กว่าบาทผมว่าน่าจะได้ประมาณ 10 เหรียญก็น่าจะเวิร์กได้”

เชิดศักดิ์ ย้ำว่าในธุรกิจบริการโทรศัพท์มือถือ การขยายเน็ตเวิร์ก เป็นเรื่องที่หยุดไม่ได้ ต้องขยายและมีการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายเน็ตเวิร์กต้องติดตามตลาดหรือดูความต้องการลูกค้าเป็นหลักไม่ใช่การขยายเน็ตเวร์กตามใจตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าทีโอทีมีข้อมูลของบริษัทสัมปทานในด้าน traffic distribution ก็พอรู้แล้วว่าจะขยายเน็ตเวิร์กไปทางไหน

365 เน้นตลาดออนไลน์
พร้อมลุยเมื่อแบรนด์พร้อม

365 กลายเป็น MVNO ที่ดูจะมีปัญหามากที่สุด เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอกระทรวงพาณิชย์ให้ใช้โลโก้ 365 ในการทำตลาดได้ ทำให้แผนที่วางไว้ว่าจะแจกซิมให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าต้องตั้งหน้าตั้งตารอกันก่อน

แนวทางการทำตลาดที่บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น เตรียมไว้นั้น จะเน้นการทำตลาดผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลักโดยผู้ใช้ต้องมีการใช้งานเว็บเครือข่ายสังคมหรือ Social Network เช่น เฟซบุ๊ค , ไฮไฟว์ หรือทวิตเตอร์ รวมกลุ่มมา 5 คนรับซิม 3จีไปทดลองใช้ได้ เพราะ 365 เชื่อว่ากลุ่มผู้ใช้งาน 3จี ต้องเป็นคนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตและรับส่งข้อมูลมาก

ทั้งนี้ การทำตลาดออนไลน์น่าจะตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด 365 มีการแจกซิมทดลองใช้ล็อตแรก จำนวน 1,000 ซิมมีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.365.co.th ครบแล้ว และได้นัดหมายให้มารับในงานวันที่ 3 ธ.ค. ให้ใช้ฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 1 เดือนแต่ก็กลับมาติดปัญหากับกระทรวงพาณิชย์ทำให้ต้องชะลอการแจกซิมออกไป

สำหรับแผนหลังจากนี้จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ และออกโปรโมชั่นที่เหมาะสม โดยระหว่างนี้ได้เปิดให้ลงทะเบียนรับซิมล็อตต่อไปแล้ว

โมเดล MVNO ทั้ง 5 รายใครจะโดนใจผู้สนใจ TOT 3G ในช่วงแรก คงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป และแขนขา MVNO วันนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องการติดตามต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.