|

เบียร์สิงห์ปรับตัวอัดแผนระยะสั้นโต้รีดภาษีราคาขายปลีกปฏิบัติยาก
(9 ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ค่ายเบียร์สิงห์ เคาะแผนการตลาดปี 53 เดินเกมระยะสั้น 2 เดือน รับสถานการณ์ผัวผวน ลั่นอัดงบการตลาดเต็มสูบป้องเบียร์ช้างโค่นบัลลังก์ สิ้นปีนี้ยอดขายโต 3.5% กวาด 1,155ล้านลิตร รั้งตำแหน่งผู้นำโกยแชร์ 65% จวกกรมสรรพสามิต ชงจัดเก็บภาษีจากราคาขายปลีกปฏิบัติจริงยาก
นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ เปิดเผยว่า แนวทางการตลาดจากนี้ไป บริษัทจะดำเนินแผนงานในระยะสั้นโดยปรับทุก 2 เดือน จากที่ผ่านมา บริษัทจะวางกลยุทธ์การตลาดระยะ 6 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้การปรับตัวดังกล่าวเพื่อรองรับกับการเมืองที่ไม่ความแน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนปัจจัยภายนอกด้านอื่นๆ
“ที่ผ่านมาทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเมืองมามาก ซึ่งเชื่อผู้ประกอบการทุกรายไม่สนใจปัญหาการเมืองไทย เพราะเงื่อนไขการตลาดอยู่ที่การเมืองไม่ได้แล้ว อยู่ที่ผู้ผลิตมากกว่า เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอะไรที่คาดเดายากและเราควบคุมไม่ได้ ภาคธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับบทบาทในธุรกิจของตัวเองให้มากที่สุด”
สำหรับภาพรวมรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัว พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ภาพรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยตลาดหดตัว 14% จากมูลค่าตลาดเบียร์ประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ปีนี้หดตัวเหลือ 8 หมื่นล้านบาท สำหรับภาพรวมของบริษัทในช่วง 11 เดือน หดตัว 6% และสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตราว 3.5% หรือมียอดจำหน่าย 1,155ล้านลิตร โดยเบียร์สิงห์ยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 65%
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้สัญญาณทางเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่จะยังไม่ส่งผลมาถึงตลาดเบียร์ให้กลับมาเติบโต สำหรับปีหน้านี้บริษัทมุ่งเน้นการรักษาตำแหน่งผู้นำตลาด แม้ที่ผ่านมาคู่แข่งอย่างเบียร์ช้างจะมีการปรับภาพลักษณ์แล้วก็ตาม และที่สำคัญสิงห์จะไม่ลดงบในการทำตลาด โดยจะเน้นการใช้สื่ออย่างถูกต้องในทุกช่องทาง รวมถึงจะชูกลยุทธ์การให้บริการลูกค้าเพื่อเพิ่มความพึงพอใจ และการจัดการระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนได้มากที่สุด
“การแข่งขันปีหน้าจะรุนแรงจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนหรืออาฟต้า ที่อาจมีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดมากขึ้น แต่เชื่อว่าผู้บริโภคคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของแบรนด์ โดยเฉพาะแบรนด์ในประเทศ”
สำหรับกรณีที่กรมสรรพสามิต วางแนวทางจัดเก็บภาษีโดยพิจารณาจากราคาขายปลีก ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะราคาขายปลีกในแต่ละช่องทางมีการตั้งราคาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเบียร์พรีเมี่ยม เบียร์ระดับกลาง และล่าง ดังนั้นระบบการจัดเก็บภาษีจึงควรปรับเป็นคิดตามปริมาณดีกรีของแอลกอฮอล์ตามมาตรฐานสากลแทนการระบบจัดเก็บภาษีตามมูลค่า ณ โรงงานตามเซกเมนต์ของเบียร์
ส่วนกรณีนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขต หรือมีการปฏิบัติเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จากการที่ภาครัฐได้มีการออกกฎระเบียบต่างๆ ในการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ล่าสุดบริษัทได้ยื่นหนังสือด่วนไปถึงคุณหมอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ให้พิจารณาการทำหน้าที่ของตนเอง เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบทุกอย่าง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|