พิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ในย่านเลอ มาเรส์ (Le Marais) เต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ มีทั้งนิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราว เป็นเหตุให้กลับไปเยือนบ่อยๆ หากนิทรรศการชั่วคราวอยู่ในความสนใจหรือยามต้องพาญาติมิตรไป หนึ่งในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นมีพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ (musee national Picasso) ด้วย

เลอ มาเรส์เคยเป็นหนองน้ำที่เป็นสมบัติของวัดต่างๆ ต่อมาน้ำเหือดแห้ง นักบวชจึงปลูกต้นไม้และสวนครัว ในศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 5 (Charles V) ย้ายราชสำนักมายังโอเตล แซงต์ ปอล (Hotel Saint Paul) ในเลอ มาเรส์ และกษัตริย์อองรีที่ 4 (Henri IV) ให้สร้างปลาซ รัวยัล (Place Royale) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นปลาซ เดส์ โวจส์ (Place des Vosges) หลุยส์ที่ 14 พำนักที่พระราชวังตุยเลอรีส์ (Tuileries) พวกขุนนางย้ายไปอยู่ย่านโฟบูรก์ แซงต์-แจร์แมง (Faubourg Saint-Germain) และโฟบูรก์ แซงต์-ออนอเร (Faubourg Saint-Honore) เลอ มาเรส์จึงเริ่มซบเซา กลายเป็นที่อยู่ของพ่อค้าและ ช่างฝีมือ โรงงานเข้ามาแทนที่ไร่สวน

โอเตล ซาเล (Hotel Sale) เป็นคฤหาสน์อันเป็นบ้านพักของปิแอร์ โอแบรต์ เดอ ฟงเตอะนัว (Pierre Aubert de Fontenoy) ผู้มีหน้าที่เก็บภาษีเกลือ จึงเป็นที่มาของชื่อ Sale ในภาษาฝรั่งเศส sel แปลว่า เกลือ และ sale แปลว่า เค็ม โอเตล ซาเลสร้างเสร็จในปี 1659 และโอเตล ซาเล นี่เองที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ

การไปพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซแต่ละครั้งรู้สึกว่ายุ่งยาก ห่างจากย่านเลอ มาเรส์ที่เคยคุ้น เพราะไปตั้งหลักไกล และมัวแต่เดิน วนจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก หากครั้งหลังสุดนี้ พบว่าพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซอยู่ใกล้นิดเดียว ไปตามถนนฟรองก์-บูร์จัวส์ (rue Francs-Bourgeois) อันคับคั่งด้วยผู้คน เลี้ยวเข้าถนนเอลเซวีร์ (rue Elzevir) เดินไปจนสุด และเข้าถนนตอรีญี (rue de Thorigny) ก็ถึงแล้ว

อ่านข่าวพบว่าพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซจะปิดเพื่อบูรณะใหญ่ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2009 เป็นเวลาหลายปี จึงเป็นที่มาของการ ไปชมผลงานของปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยไปแล้วเมื่อครั้งมีนิทรรศการเปรียบเทียบผลงานของปาโบล ปิกัสโซและแองเกรอะส์ (Ingres)

ปาโบล ปิกัสโซเกิดในปี 1881 ที่เมืองมะละกา (Malaga) ในสเปน พ่อเป็นจิตรกรและครูสอนวาดเขียนในโรงเรียน ปาโบล ปิกัสโซเขียนรูป Le Picador ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เป็นภาพสีน้ำมัน ต่อมาในปี 1895 เขียนรูป Premiere communion เป็นภาพขนาดใหญ่ เขาเรียนที่วิทยาลัยศิลปะที่เมืองบาร์เซโลนา แรกๆ ใช้ชื่อว่า รูอิซ บลาสโก (Ruiz Blasco) ต่อมาเปลี่ยน เป็นปาโบล ปิกัสโซ ในปี 1897 เขาสอบเข้า Academia San Fernando ที่มาดริด ในปี 1899 เขาไปบาร์เซโลนา คลุกคลีอยู่ที่คาบาเรต์ดังในขณะนั้นชื่อ Els Quatre Gats และได้รู้จักกับการ์โลส กาซาเฆมาส (Carlos Casagemas) กลายเป็นเพื่อนรัก ที่เขาหอบหิ้วไปไหนมาไหนด้วย เมื่อฝ่ายหลังฆ่าตัวตายหลังจากพยายามฆ่าแฟนสาวซึ่งเป็นนักเต้นของคาบารต์มูแลง รูจ (Moulin Rouge) ในกรุงปารีส ปาโบล ปิกัสโซเสียใจมาก และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพชื่อ La mort de Casagemas เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนรูปที่เน้นสีฟ้า อันแสดงถึงความเศร้า ความตาย ความทุกข์ยาก

ปาโบล ปิกัสโซไปๆ มาๆ ระหว่าง บาร์เซโลนาและปารีส ในปี 1901 จึงพำนัก ที่ปารีสที่ถนนคลีชี (boulevard de Clichy) ในบ้านที่การ์โลส กาซาเฆมาสเคยใช้เป็นสตูดิโอเขียนภาพ ต่อมาในปี 1905 มาที่ Bateau-Lavoir ในย่านมงต์มาร์ทร์ (Montmartre) และได้รู้จักกับสาวคนแรกในชีวิตคือ แฟร์นองด์ โอลิวีเอร์ (Fernande Olivier) เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตสดใสออกสีชมพู เพราะมีความสุข เป็นช่วงที่เขียนเกี่ยวกับสวนสัตว์และละครสัตว์ ตัวตลกในคณะละครสัตว์ โดยเฉพาะอาร์เลอแกง (Arlequin) ที่สวมชุดลาย สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทว่าเขียนเป็นลายเส้นมากกว่าภาพสี เขาพาแฟร์นองด์ โอลิวีเอร์ไปบาร์เซโลนาในปี 1906 และเริ่มเขียนภาพแบบ cubiste ใช้รูปแบบเรขาคณิต ระหว่างปี 1907-1914 เขาเขียนภาพแบบ cubiste ร่วม กับจอร์จส์ บราค (Georges Braque) จิตรกรกระแส cubiste มีอาทิ ฆวน กริส (Juan Gris) ฟรองซัวส์ ปิกาเบีย (Fran"ois Picabia) บรองกูซี (Brancusi) โรแบรต์ เดอโลเนย์ (Robert Delaunay) เป็นต้น

ปาโบล ปิกัสโซพบสาวคนใหม่คือ เอวา กูแอล (Eva Gouel) และเริ่มทำภาพ แบบ collages ใช้วัสดุต่างๆ มาปะติดปะต่อเป็นภาพ เช่นภาพ Nature morte a la chaise cannee ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาไปโรมกับฌอง กอกโต (Jean Cocteau) ซึ่งแนะนำให้เขารู้จักกับแซร์จ ดีอากีเลฟ (Serge Diaghilev) ปาโบล ปิกัสโซจึงทำฉากให้บัลเลต์ของฝ่ายหลัง เป็นช่วงที่เขารู้จักกับอิกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinski) และโอลกา โคโคลวา (Olga Khokhlova) ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาคนแรกของเขา เป็นช่วงที่ปาโบล ปิกัสโซเขียนภาพโอลกาและลูกชาย

ในปี 1925 ปาโบล ปิกัสโซเริ่มเขียน ภาพรุนแรงและเหนือจริง (surrealiste) ชีวิตแต่งงานมิได้ทำให้ปาโบล ปิกัสโซหยุด มีหญิงอื่น เขามีความสัมพันธ์กับมารี-เตแรส วัลแตร์ (Marie-Therese Walter) และโดรา มาร์ (Dora Marr) ความโหดเหี้ยมของสงครามกลางเมืองในสเปนทำให้ปาโบล ปิกัสโซเขียนภาพ Guernica และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้ระเบิด เขาเขียนภาพนกพิราบขาว Colombe de la paix ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ

ปาโบล ปิกัสโซได้พบกับฟรองซ็วส จีโลต์ (Fran"oise Gilot) ซึ่งเป็นแม่ของปาโลมา ปิกัสโซ (Paloma Picasso) ในปี 1948 เขาย้ายไปพำนักที่วัลโลริส (Vallauris) เมืองทางใต้ของฝรั่งเศส เป็นเมืองเซรามิกเขาจึงผลิตผลงานเซรามิกจำนวนมาก และ ในปี 1952 เขียนภาพ La guerre et la paix บนผนังโบสถ์ของเมืองวัลโลริส

ภรรยาคนสุดท้ายของปาโบล ปิกัสโซคือ ฌาคเกอลีน รอค (Jacqueline Roque) ซึ่งเขาแต่งงานด้วยในปี 1961 ปาโบล ปิกัสโซถึงแก่กรรมในปี 1973 ศพฝังอยู่ที่เมืองมูแจงส์ (Mougins) ในฝรั่งเศส เขาทิ้งมรดกล้ำค่าไว้มาก มาย ภรรยาและลูกมอบผลงานส่วนหนึ่งของปาโบล ปิกัสโซทดแทนภาษีมรดก จึงทำให้รัฐเกิดความคิดที่จะทำ พิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ ทายาทยินยอมให้รัฐเลือกผลงานก่อนที่จะมีการแบ่งมรดก รัฐจึงได้ภาพเขียน 203 ชิ้น รูปปั้น 158 ชิ้น ภาพพิมพ์ 1,600 ชิ้น ภาพลายเส้นและ collages 1,500 ชิ้น และอื่นๆ เมื่อฌาคเกอลีน ปิกัสโซเสียชีวิต ในปี 1990 ผลงานของสามีในครอบครองของเธอมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ปิกัสโซอีก มีทั้งภาพเขียน ภาพลายเส้น ภาพพิมพ์ เซรามิก รูปปั้น และเอกสารส่วนตัวของปาโบล ปิกัสโซ รัฐเลือกโอเตล ซาเลเป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ และเปิดในปี 1985

ช่วงก่อนปิดเพื่อการซ่อมแซม มีนิทรรศการของดาเนียล บูเรน (Daniel Buren) โดยการติดตั้งกระจกในส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ภาพเขียนของปาโบล ปิกัสโซในพิพิธภัณฑ์ยังคงดูยิ่งใหญ่ หากก็ยังไม่อาจทำใจให้ชอบภาพผู้หญิงที่ตาข้างหนึ่ง ไปทาง อีกข้างหนึ่งไปอีกทาง ดูน่ากลัวมาก กว่าสวย ถึงกระนั้นหลายภาพก็ตระการตา เช่น ภาพผู้หญิงแต่งตัว ซึ่งมีขนาดใหญ่เต็ม ผนังด้านหนึ่ง ภาพของโอลกาและปอลลูกชายนั้น ปาโบล ปิกัสโซวาดได้ละมุนละไม

นอกจากภาพเขียนแล้ว ยังมีรูปปั้น เซรามิก และภาพเขียนที่เขาสะสมไว้ เป็นผลงานของเพื่อนจิตรกร เช่น อองรี รูสโซ (Henri Rousseau) อองรี มาติส (Henri Matisse) จอร์จส์ บราค (Georges Braque) อองเดร เดอแรง (Andre Derain) ฆวน มิโร (Juan Miro) ปอล เซซานน์ (Paul Cezanne) ปอล โกแกง (Paul Gauguin) เอดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.