Technological Determinism

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ในฉบับปิดท้ายปี 2552 นี้ ผมอยากจะคุยเรื่องประเด็นในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศประเด็นหนึ่งที่เรียกว่า technological determinism

technological determinism เป็นคำที่เริ่มต้นใช้โดย Thorstein Veblen ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปีคริสต์ศักราช 1857-1929 หรือเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้ว

ความหมายของ technological determinism ส่วนใหญ่ที่ใช้กันจะมีสองแนวทาง คือ

หนึ่ง การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ไปตามเส้นทางที่คาดการณ์ไว้ โดยแนว ทางการพัฒนาจะอยู่เหนืออิทธิพลทางด้านการเมืองและวัฒนธรรม

สอง เป็นความหมายในแง่ว่า ในทางกลับกันเทคโนโลยีจะมีผลกระทบต่อสังคมที่มีการนำเทคโนโลยีนั้นไปใช้ หรือสังคมได้จัดโครงสร้างของสังคมให้เป็นไปในลักษณะที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการ พัฒนาเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามที่ถูกนำมาใช้

สำหรับคนที่เชื่อมั่นในเรื่องแนวคิดของ technological determinism มากๆ แล้ว จะไม่เชื่อในความแตกต่างของอิทธิพล ของเทคโนโลยีซึ่งกิดจากการใช้มากหรือน้อยหรือสามารถใช้มันได้หรือไม่ แทนที่จะคิดว่า เทคโนโลยีมีผลกระทบต่อกิจกรรม ของมนุษย์ คนเหล่านี้เชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

แนวคิด technological determinism จึงสามารถสรุปได้ว่าเป็นความเชื่อที่ว่า

3. เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำหรับการจัดการในสังคม (Merritt Roe Smith)

4. การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Bruce Bimber)

5. เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดและการที่คนเราจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้อย่างไร หรือกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเป็นตัวตัดสินประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ (Raymond Williams)

6. การพัฒนาทางด้านสังคมถูกผลักดันโดยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี (Michael L. Smith)

7. ฯลฯ

ในยุคโบราณที่ยังไม่มีเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และดิจิตอลอย่างทุกวันนี้ เทคโนโลยีของมนุษยชาติเริ่มต้นจากสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น หินปลายแหลมที่ใช้ในการหั่นหรือตัด, ท่อนไม้ที่ใช้ในการขนส่งก้อนหินขนาดใหญ่ที่ใช้ในการก่อสร้าง, การก่อไฟโดยใช้หินหรือเรื่อยมาถึงยุคที่มนุษย์สรรหาวิธีการบังคับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า ลา เพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่ง ไปจนถึงการสร้างเรือพาย

ในสมัยโบราณ เทคโนโลยีง่ายๆ อย่างที่กล่าวมาก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมนุษยชาติได้แล้ว โดยเฉพาะทำให้มนุษย์สามารถสร้างสังคมขึ้นมาได้ การรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องพื้นที่ทำมาหากินซึ่งทำให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานและอยู่ติดที่มากขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถผลิตอาหารได้มากกว่าความต้องการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า เกิดเป็นการค้าขาย ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ตามขนาดของกลุ่มคนในสังคมและความสามารถในการผลิตอาหารที่มากขึ้น

เมื่อความต้องการบริโภคอาหารได้รับการเติมเต็มอย่างเหลือเฟือ ทำให้มนุษย์ เริ่มมองหาสิ่งที่มาเติมเต็มความต้องการทางจิตใจมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปการสร้าง อาวุธสงครามเพื่อขยายอาณาเขต การแลก เปลี่ยนซื้อขายสินค้าประเภทโลหะมีค่าไปจนถึงการสร้างยานพาหนะที่สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นในเวลาที่น้อยลง และมีความแข็งแรงและอดทนในการเดินทางมากกว่าการใช้สัตว์เป็นพาหนะที่มีข้อจำกัดทางด้านศักยภาพทางด้านร่างกาย

เมื่อระบบเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น กอปรกับมนุษย์มีเวลาที่จะคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเพราะไม่ต้องคอยห่วงปากท้องตัวเองมากมายนัก ก็ทำให้เทคโนโลยีมีการพัฒนาในลักษณะก้าวกระโดด โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งทำให้ชีวิตของมนุษย์ไม่เหมือน เดิมนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

การพัฒนาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การถือกำเนิดของเครื่องพิมพ์โดยกูเทนเบิร์ก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ

การมีเครื่องพิมพ์ทำให้สามารถเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารได้รวดเร็วขึ้นและกว้างขวางขึ้น กอปรกับความก้าวหน้าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และการสร้าง หน่วยเก็บข้อมูลและหน่วยประมวลผลข้อมูล ทำให้เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อนำอินเทอร์เน็ตมาใช้เมื่อสิบกว่าปีก่อน ทำให้เกิดการเติบโตแบบแพร่กระจายไปทั่วโลก

เทคโนโลยีที่มนุษย์นำมาใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ยุคโบราณมาถึงยุคที่เริ่มนำพลังงานในลักษณะต่างๆ มาใช้จนถึงปัจจุบันที่คอม พิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เปรียบเสมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของบางสังคมไปแล้วนั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ได้มาเปลี่ยน แปลงวิถีชีวิตของคนเราในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

technological determinism น่าจะมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงเชิง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายหลังการเข้ามามีบทบาทของอินเทอร์เน็ตได้อย่างค่อนข้างชัดเจน

อินเทอร์เน็ตทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของโลก รวมถึงแต่ละหน่วยย่อยในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป อินเทอร์ เน็ตเพิ่มช่องทางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายใหญ่ออกไปอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตยังช่วยขยายตลาดเดิมที่มีอยู่แล้วให้ใหญ่ขึ้นโดยการเพิ่มช่องทางการซื้อขายแลกเปลี่ยน สำหรับสินค้าที่มีตลาดจำกัด อินเทอร์เน็ตก็ทำให้ตลาดที่จำกัดนั้นสามารถถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้เรื่อง Long Tail กลายเป็นทฤษฎีสำคัญทางการตลาดไปแล้ว

อินเทอร์เน็ตทำให้สังคมผสมผสานความหลากหลายได้อย่างลงตัวที่สุด อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงสังคมของมนุษย์ให้สามารถติดต่อสื่อสาร และสร้างสังคมย่อยซ้อนกับสังคมใหญ่อย่างซับซ้อนในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อินเทอร์เน็ตสร้าง สังคมในลักษณะที่ทำให้มนุษย์เราสวมหมวกแสดงบทบาทในสังคมหลากหลายมากขึ้นๆ

นอกจากนี้สังคมอินเทอร์เน็ตยังมีความกว้างขวางใหญ่โตกว่าที่เคยมีมาก่อน คนจากสังคมอื่นๆ สามารถมาร่วมสร้างสังคมใหม่ๆ ของตัวเองซ้อนทับกับสังคมที่ตัวเองสังกัดอยู่มากมายได้อีกหลายชั้น

นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายชุมชน หรือ social network ผ่าน Facebook, Hi5, Twitter รวมถึงอีกหลายๆ เว็บไซต์ก็กำลังจะทำให้พลังของคนตัวเล็กๆ ในสังคมเริ่มมีปากมีเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ และคนตัวเล็กๆ ที่เคยเป็นบุคคลโนเนมในสังคมกำลังจะมากำหนดทิศทางความเป็นไปในเรื่องต่างๆ ของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับอิทธิพลของฝูงชน หรือ crowd ที่กำลังจะมีบทบาทต่อการเปลี่ยน แปลงทั้งทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของโลกเราในที่สุด

สำหรับด้านการเมืองแล้ว อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของดุลอำนาจในเวทีโลก ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุดนั้น อาจกล่าวได้ว่า อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทใน ทุกๆ ขั้นตอนของการเลือกตั้งครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การหาเสียง การโฆษณาประชา สัมพันธ์นโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน การลงคะแนน ไปจนถึงการสร้างผู้ลงคะแนนเสียงที่มีความรู้และอินเทอร์เน็ตกำลังจะทำให้คะแนนเสียงของประชาชนมีความสำคัญมากขึ้นๆ เพราะเป็นคะแนนเสียงที่ลงคะแนนโดยมีความรู้และข้อมูลพื้นฐานเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับบทบาทของอินเทอร์เน็ตในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและเวทีโลก เสียงของประชาชนแต่ละคนบนโลกกำลังจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายความเป็นไปในด้านต่างๆ บนเวทีโลก หลายๆ ครั้ง การแสดงความคิดเห็นของประชาชนบนอินเทอร์เน็ตถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณากำหนดนโยบาย หรือริเริ่มทำอะไรหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นประเด็นสากลที่ต้องร่วมกันถกเถียง

อินเทอร์เน็ตจึงให้ภาพของ technological determinism ที่ชัดเจนว่า ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมและความเป็นไปในอนาคตอย่างชัดเจนในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเราสามารถมองเห็นคำตอบที่ชัดเจนในชั่วระยะเวลาเพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น

และเราคงไม่สามารถหาเทคโนโลยีไหนที่ให้ผลรวดเร็วและชัดเจนเท่านี้มาก่อน ในอนาคตอันใกล้นี้

อ่านเพิ่มเติม:
1. http://www.coursework.info/University/Mass_Communications_and_Documentation/Media_Studies/Electronic_Media_Studies/Cultural_and_Technological_ Determinism_A_L94069.html

2. http://en.wikipedia.org/wiki/Technological_determinism

3. Smith, Merritt Roe; and Leo Marx, eds. (1994). Does Technology Drive History? The Dilemma of Technological Determinism. Cambridge: MIT Press.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.