|
อนาคตของชาวมอญที่สังขละบุรี
โดย
วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
สังขละบุรี หรือเมืองสามหมอก อำเภอเล็กๆ อันเงียบสงบใกล้ชายแดนไทย-พม่า ในจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยเนื้อที่ 3,500 ตร.กม. กับจำนวนประชากรเพียง 38,761 คน และระยะทางที่ห่างจากกรุงเทพฯ ถึงกว่า 300 กิโลเมตร ทำให้อำเภอสังขละบุรีอาจไม่เป็นที่รู้จักของใครมากนัก นอกจากนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจไปที่นั่น เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายของชีวิตเมืองกรุง
ไม่เพียงแต่เป็นดินแดนที่แม่น้ำ 3 สาย คือแม่น้ำซองกาเลีย รันตี และบีคลี่ มาบรรจบกัน ณ บริเวณที่เรียกว่าสามประสบเท่านั้น แต่สังขละบุรียังเป็นดินแดน ที่รวบรวมผู้คนหลากเชื้อชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ทั้งมอญ กะเหรี่ยง ไทย ลาว และพม่า ตรงตามความหมายของชื่อ อำเภอคือ "สังเคลียะ" ในภาษาพม่า และ "สังคละ" ในภาษาเรียกของชนพื้นเมืองเดิม ซึ่งมีความหมายว่าการผสมผสาน คละเคล้าของคนต่างชาติพันธุ์
การเป็นเมืองหน้าด่านและมีอาณา เขตติดต่อกับประเทศพม่า ทำให้สังขละบุรี เป็นเมืองที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ อย่างยิ่ง โดยเฉพาะด่านเจดีย์สามองค์ที่ชาวไทยรู้จักกันดี แม้ในปัจจุบันด่านเจดีย์สามองค์จะมีแต่เพียงตลาดเล็กๆ ที่พ่อค้าแม่ขายชาวมอญและพม่านำสินค้าจากฝั่งพม่าเข้ามารอการจับจ่ายจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่บางตา หลังจากทางการพม่าสั่งปิดด่านไทย-พม่าแห่งนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าด่านของทางการได้ปิดไปแล้ว แต่ทางเข้า-ออกที่ชาวไทยและพม่าในพื้นที่ใช้ข้ามไป-มาระหว่างทั้ง 2 ประเทศยังคงเปิดทำการอยู่ดังเดิม แม้จะเป็นเพียงประตู เล็กๆ ของร้านกาแฟใกล้ๆ กับด่านตรวจคนเข้าเมืองบริเวณเจดีย์สามองค์ก็ตาม สังเกตจากป้ายประกาศของทางการที่ติดอยู่บนประตูสังกะสีของร้านกาแฟ แจ้งให้ชาวบ้านใช้ซอยโรงเรียนพม่าเป็นทางผ่านเข้าออกประเทศเท่านั้น เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009
อำเภอเมืองสังขละบุรีได้ชื่อว่าเป็นที่พักพิงของชาวมอญในเมืองไทยที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในประเทศ ชาวมอญส่วนใหญ่เป็นชาวมอญพลัดถิ่นจากการสู้รบในประเทศพม่า ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยในประเทศ หลายคนเดินทางมาตั้งรกรากในสังขละบุรีตามรอยหลวงพ่ออุตตมะ พระเกจิอาจารย์จากพม่า ผู้ซึ่งเดินทางออกจากประเทศพม่าเข้ามาแสวงหาความสงบสุขทางธรรมในประเทศไทย และเป็นที่เคารพบูชาของทั้งชาวไทยและชาวมอญจวบจนกระทั่งปัจจุบัน แม้จะมรณภาพไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ก็ตาม
ป้าเจ้าของร้านขายของชำร่วยที่เปิดร้านริมทางข้ามสะพานไม้จากฝั่งไทยมาฝั่งมอญ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลวงพ่ออุตตมะย้ายมาประจำที่เมืองสังขละบุรีตั้งแต่อายุได้ 50 กว่าพรรษา ได้ก่อสร้างวัดวังก์วิเวการามเก่าเพื่อเป็นศูนย์รวมใจชาวมอญในพื้นที่ ชาวมอญหลายรายไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินเนื่องจากไม่มีสัญชาติไทยบางรายโชคดีมีญาติพี่น้องที่มาตั้งรกรากที่นี่ก่อน ก็สามารถพักอาศัยกับญาติๆ ได้ แต่หลายรายที่หลบหนีเข้าประเทศและไม่มีที่ดินทำกิน ต้องอาศัยปลูกบ้านริมน้ำ และย้ายบ้านหนีน้ำเอาเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก
ในปี พ.ศ.2524 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกาศจะสร้าง เขื่อนเขาแหลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ บริเวณหมู่บ้าน ป่า และที่ทำกินทั้งหมดของชาวบ้านในบริเวณอำเภอเก่าจะถูกน้ำท่วม ทาง กฟผ.ได้สำรวจพื้นที่เพื่อประเมินค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านในการย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็รวมไปถึงที่ตั้งของวัดวังก์วิเวการามเดิมของหลวงพ่ออุตตมะด้วย ชาวบ้านแต่ละรายที่ได้รับผลกระทบได้รับค่าชดเชยจากกฟผ.แตกต่างกันไป สำหรับชาวมอญจะได้รับเพียงค่าชดเชยสำหรับการรื้อถอนตัวบ้าน แต่ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสำหรับการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากไม่มีสิทธิในที่ดิน ทำกิน ต่างจากชาวไทย ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อนหน้าชาวมอญนานหลายสิบปี และได้สิทธิจับจองที่ดินทำกิน ดังนั้นจึงได้รับการจัดสรรปันส่วนที่ดินทำกินจาก กฟผ. ชาวมอญส่วนใหญ่จึงประสบความยากลำบาก พื้นที่บางส่วนที่ชาวมอญเข้าไปจับจองก็จะได้รับการแจ้งในภายหลังว่าเป็นของผู้อื่นแล้ว
เมื่อได้รับทราบถึงความทุกข์ยากของชาวมอญ หลวงพ่ออุตตมะได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดสรรพื้นที่ที่ทางกฟผ. มอบให้กรมการศาสนา ซึ่งเป็นของวัด และหลวงพ่อได้จัดสรรพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวมอญ ทำการสร้างศาลาใกล้ศาลายาวข้างเจดีย์พุทธคยาจำลอง เพื่อสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านเข้าเปิดร้านขายของที่ระลึกได้ และสร้างตลาดกลางหมู่บ้านจัดสรรที่ในตลาดให้กับชาวบ้านที่ต้องการค้าขายในแต่ละวัน โดยใช้วิธีจับฉลากจองแผง ซึ่งชาวบ้านต้องเสียเงินค่าแรกเข้า 500 บาท และค่าเช่าแผงวันละ 9 บาท เงินที่ได้จากค่าเช่าจะนำเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน
"เมื่อก่อนชาวมอญแถวนี้ไม่มีที่ดินทำกิน ทำไร่ทำนาก็ไม่ได้ รับจ้างเย็บผ้าก็ได้แค่วันละ 50 บาทเท่านั้น จะไปพอกินอะไร หลวงพ่อแบ่งที่ทำกินให้พวกเรา หลายคนเปิดเป็นร้านขายของ ใครที่ไม่ทำประโยชน์กับพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรร ก็ต้องย้ายออกไปให้คนอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์แทน เพราะฉะนั้นชาวมอญทุกคนจึงรักและเคารพหลวงพ่อมาก" ป้าเจ้าของร้านขายของชำร่วยกล่าวเป็นภาษาไทยที่ยังไม่ค่อยชัดเจนเต็มร้อย
ศรัทธาในตัวหลวงพ่ออุตตมะของชาวมอญที่ยังมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย สังเกตได้จากรูปของหลวงพ่อที่แต่ละบ้านต้องมีตั้งไว้บนหิ้งพระ นัยว่าการกราบไหว้บูชารูปหลวงพ่อจะนำความสุขความเจริญมาสู่ชาวมอญ บ้านมอญหลายหลังจะมีหิ้งพระอยู่ทุกชั้นของบ้าน ซึ่งป้าเจ้าของร้านขายของชำร่วยเล่าให้ฟังว่า ชั้นบนของบ้านจะเจาะช่องตรงผนังบ้านไว้สำหรับตั้งหิ้งพระ ซึ่งหากมองจากภายนอกตัวบ้านจะเป็นเหมือนหน้าต่างที่ยื่นออกมาจากตัวบ้านและ ชาวมอญจะนอนหันหัวไปทางหิ้งพระเสมอ ส่วนชั้นล่างอาจจะตั้งพระพุทธรูป หรือตั้งรูปของหลวงพ่ออุตตมะไว้เพื่อสักการะ
"ทุกวันนี้หลวงพ่อก็ยังอยู่กับเรายังไม่ไปไหน เพราะศพของหลวงพ่อยังคงมีเส้นผมงอกอยู่จนถึงวันนี้ และคนก็ยังแห่มาสักการะหลวงพ่อทุกเทศกาล" คำพูดดังกล่าวของป้าบ่งบอกให้เห็นถึงศรัทธาอันแรงกล้าที่เธอและชาวมอญอีกนับร้อยนับพันคนยังคงมีต่อหลวงพ่อ แม้ว่าท่านละสังขารของท่านไปแล้วก็ตาม ซึ่งในทุกวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี ทางวัดวังก์วิเวการามจะจัดงานครบรอบวันมรณภาพของหลวงพ่ออุตตมะอย่างยิ่งใหญ่ จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมงานเพื่อสักการะหลวงพ่ออย่างเนืองแน่น เช่นเดียว กับเมื่อครั้งที่หลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่
ในขณะที่ชาวมอญในพื้นที่ทำอาชีพ รับจ้าง เปิดร้านจำหน่ายของชำร่วย ทำประมงขนาดเล็กเพียงพอสำหรับเป็นอาหาร และแลกข้าวสารไว้ยังชีพ ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ในสังขละบุรีก่อนชาวมอญและมีสิทธิจับจองที่ดิน จะมีความเป็นพ่อค้าและมีช่องทางทำกินมากกว่าชาวมอญ หลายคนหันไปทำอาชีพเกษตร กรรม เพาะปลูกข้าวไร่เพื่อบริโภคและปลูก ยางกับมันสำปะหลังเพื่อขายต่อพ่อค้าคนกลาง หลายคนหันมาเป็นควาญช้าง พร้อมพานักท่องเที่ยวขี่ช้างล่องไพร ล่องแก่งอยู่ทุกวัน ไกด์ชาวกะเหรี่ยงรายหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนว่า ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกันได้ แต่แต่งงานกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน หากแต่งงานกันจะไม่เจริญ
สำหรับชาวไทยในพื้นที่ ดูจะเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงในชีวิตมากที่สุด หลาย รายเปิดร้านอาหาร ร้านค้า รวมทั้งรีสอร์ต ระดับหรูในตัวเมืองสังขละบุรี บ้างประกอบ อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับส่งนักท่องเที่ยว ไปชมด่านเจดีย์สามองค์ อีกทั้งยังสามารถเดินทางออกนอกเขตอำเภอได้อย่างอิสระ ผิดกับชาวมอญอีกหลายพันรายที่เป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าและเป็นผู้ถือบัตรสีชมพู (หมายถึงผู้ลี้ภัยการสู้รบจากประเทศ พม่าเข้ามาอยู่ในไทยก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519) และอีกหลายรายที่ได้รับการจำแนก ว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า และได้รับบัตรสีส้มซึ่งมีสิทธิต่างๆ น้อยกว่าผู้ที่ได้รับบัตรสีชมพูมาก
โดยที่ผู้ถือบัตรสีชมพูจะถูกจำกัดเขตที่อยู่อาศัยให้อยู่ในเขตอำเภอสังขละ-บุรีเท่านั้น และห้ามออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด หากมีความจำเป็นจริงๆ จะต้องทำเรื่องขออนุญาตเดินทางจากทางอำเภอ และหากต้องการทำงาน ชาวมอญผู้ถือบัตร สีชมพูจะต้องทำเรื่องขออนุญาตทำบัตรแรงงานต่างด้าวเองหรือให้นายจ้างทำให้ จึงจะออกไปทำงานนอกพื้นที่ได้ แต่เฉพาะ ในบริเวณใกล้เคียงเช่นอำเภอต่างๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ เท่านั้น
แม้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศที่จะอนุญาตให้เด็กต่างด้าวมีสิทธิเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับฟรีเหมือนกับเด็กไทยทั่วไปแล้ว แต่สิทธิด้านอื่นๆ ของชาวมอญ และคนต่างด้าวสัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ใน ประเทศไทยมาช้านาน แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทย ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ ขณะที่สังขละบุรี กำลังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจวิถีชิวิตของชาวมอญ จนกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมของชาว มอญที่เป็นแหล่งทำรายได้จำนวนมหาศาล ของอำเภอสังขละบุรี แต่ชาวมอญผู้ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ กลับยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิตและการไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต
"ทุกวันนี้ชาวมอญยังไม่ค่อยมีอาชีพ อะไรมากนัก ไม่มีงานทำ ปลูกผักทำไร่ก็ไม่ได้ เด็กหนุ่มสาวต้องย้ายออกไปหางานทำที่อื่น เช่นที่เมืองกาญจน์ หรือกรุงเทพฯ ไปรับจ้างที่อื่นได้เงินเดือน เดือนละ 5,000 กว่าบาท สักพักหนึ่งก็ค่อยกลับมาบ้าน" คือคำพูดทิ้งท้ายของเจ้าของร้านขายของชำร่วยที่แสดงให้เห็นถึงทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ไม่ค่อยมีมากนักของหนุ่มสาวชาวมอญในสังขละบุรี ณ ปัจจุบัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|