ความตื่นตัวท่ามกลางความขัดแย้ง

โดย ยงยุทธ สถานพงษ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างไทยและกัมพูชาช่วงกว่าเดือนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่คนไทยเป็นจำนวนมาก สิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวดังกล่าวคือเวทีเสวนาที่หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูดที่เกิดขึ้นหลากหลายเวทีด้วยกัน

ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาช่วงเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดเวทีวิพากษ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างหลากหลาย หัวข้อที่พูดคุยกันในบางเวทีก็มีความน่าสนใจ เพราะมุ่งถกกันในเรื่องการค้า-การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ท่ามกลางกระแสข่าวที่มุ่งเน้นนำเสนอในประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

อย่างวงประชุมของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการประชุมได้พูดคุยถึงโอกาสการลงทุน ในอินโดจีน โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศ กัมพูชา เป็นประเด็นร้อนแรงที่ได้รับการถกกันอย่างเข้มข้น

ดวงใจ จันทร กรรมการการส่งเสริมเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เลขาธิการหอการค้าจังหวัดตราด ที่ปรึกษาของสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงลู่ทางลงทุนในกัมพูชาที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกในวันข้างหน้า

โดยอะไหล่ยานยนต์คือสินค้าที่ยังมี ความต้องการสูงในพื้นที่ 3 เขตการปกครอง ของกัมพูชา คือพนมเปญ พระตะบอง (บัตดัมบอง) กำปงจาม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสำคัญในระบบโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงเข้าถึงกันได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นสามารถเชื่อมโยงออกไปยังกลุ่มประเทศใกล้เคียงได้ และกำลังซื้อของคนในพื้นที่ยังมีมาก บวกกับนิสัยของคนเขมรที่ "ถ้าของไม่ดีจริงเขาไม่ซื้อ"

แม้จะมีนักวิชาการบางท่านเห็นว่าพื้นที่และโอกาสการลงทุนน่าจะมีมากกว่านี้โดยเฉพาะในพื้นที่เสียมเรียบ

สำหรับดวงใจมองว่าที่นักวิชาการบางคนเสนอว่าในพื้นที่เหล่านี้มีคู่แข่งจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งเธอก็ไม่มองข้าม

ข้อเสนอและการหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ยังไม่มีข้อสรุปจากที่ประชุม แต่มีข้อสังเกตว่าในที่ประชุม ไม่มีการพูดถึงหรือวิเคราะห์ถึงแนวโน้มความขัดแย้งที่อาจจะส่งผลต่อการลงทุนของพวกเขาเองแม้แต่น้อย

ที่สำคัญ การลงทุนในกัมพูชาที่วิทยากรนำเสนอ มองเพียงพื้นที่ติดต่อชายแดนไทยกัมพูชาแถบตะวันออก แต่มองข้ามการลงทุนตามชายแดนทางภาคอีสานตอนล่าง

ดวงใจบอกว่า พื้นที่ในแถบชายแดนทางภาคอีสานเหมาะสมกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางด้านช่องสะงำ บริเวณอำเภอ ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และช่องจอม บริเวณอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีเส้นทางที่สะดวกสบาย สามารถเชื่อมไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชา เช่น นครวัด นครธมได้

แต่นักท่องเที่ยวกลับนิยมมาพักในโรงแรมบริเวณชายแดนภาคตะวันออกของไทยที่สะดวกสบายกว่า เพราะพื้นที่นี้ยังไม่มีการขยายการลงทุนทางอุตสาหกรรมมากนัก

ในวันถัดมา (11 พ.ย.) ในเวทีเสวนา หัวข้อ "หัวอกคนไทยและธุรกิจในกัมพูชา" ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งทศวรรษ ของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

วิทยากรในเวทีนี้ประกอบด้วยวิชัย กุลวุฒิวิลาศ กรรมการผู้จัดการบริษัท สไมล์ภัณฑ์ จำกัด สม ไชยา บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ CTN กัมพูชา สมศักดิ์ รินเรืองสิน นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา ปรีดา สามแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัททีดี อินเตอร์เทรด 92 จำกัด ประภา พรรณ ศรีสุดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดไทย-กัมพูชา โดยมี รศ.ดร.พิภพ อุดร เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.เกศินี วิฑูรย์ชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และเมื่อเสร็จสิ้นการเสวนา รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้กล่าวปัจฉิมกถา ระหว่างการเสวนา ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ได้อยู่ร่วมฟังตลอดการเสวนาด้วย

วงเสวนานี้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังจำนวนมากมีทั้งนักธุรกิจ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประชาชนคนทั่วไปมีไม่มากนัก การประชุมมุ่งความสำคัญไปที่การทำธุรกิจในกัมพูชา ที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทาง การเมือง โดยบนเวทีได้แสดงความกังวลเรื่องการปิดจุดผ่านชายแดนที่อาจจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชนคนไทยในแนวตะเข็บชายแดน และคนกัมพูชาทั้งประเทศที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แม้สถานการณ์จะเกิดจาก ผลพวงของการกระทำของคนเพียงไม่กี่คน

นักธุรกิจที่อยู่บนเวทีเสวนาคาดการณ์ว่าการปิดด่านมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น เวทีการเสวนาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในวันต่อมา (12 พ.ย.) ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนไทย ใน คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่า ด้วยสิทธิมนุษยชน ในกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนได้พูดในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนกับประชาชนอาเซียน" โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ซึ่งได้พูดถึงประเทศไทยกับ "ดินแดน" ในกัมพูชา และลาว ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อธิบายเกี่ยวกับสงครามการค้าและชาตินิยม ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

แม้ว่าพื้นที่สำหรับจัดการเสวนาครั้งนี้ไม่ค่อยกว้างขวางสักเท่าไร แต่ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังมากทีเดียว โดยเฉพาะมีคนที่เป็นประชาชนกัมพูชาเข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้ด้วย เช่น บรรณาธิการสถานีโทรทัศน์ของกัมพูชา รวมถึงนักศึกษากัมพูชาที่เกิดในกำปงจาม แต่ได้รับทุนการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาให้มาเรียนสาขาอุษาคเนย์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนจากกรุงพนมเปญของกัมพูชาอีกหนึ่งคนมาร่วมรับฟังอยู่ด้วย

วงเสวนาเกี่ยวกับปัญหาไทย-กัมพูชา ยังคงมีตามมีอีกต่อเนื่อง โดยในวันที่ 19 พฤศจิกายน มีกิจกรรมด้านเสวนาในหัวข้อ "หยุดศึก ชักศึก หรือเปิดศึก: ความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชาฯ" ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 22 พฤศจิกายน มีการเสวนา หัวข้อ "ยกเลิก MOU กับกัมพูชา-ไทยได้อะไร-เสียอะไร" จัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และวันที่ 27 พฤศจิกายน มีการจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "รัฐชาติ-พรมแดน: ความขัดแย้งและข้อยุติบนเส้นทางสันติภาพ อาเซียน" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคม ศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.