|
Eco Car Motivation
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ครั้นกล่าวถึง Eco Point* ไปเมื่อฉบับเดือนกันยายน 2552 หากไม่ได้หยิบยกเรื่องเกี่ยวกับ Eco Car ขึ้นมาอรรถาธิบายด้วยนั้นก็ดูเหมือนแนวคิดที่ว่าด้วย "Ecology x Economy" คงจะขาดความสมบูรณ์ไปส่วนหนึ่ง
เนื่องเพราะทั้งโครงการ Eco Point และ Eco Car Motivation นับเป็นทุติยบทของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศญี่ปุ่นที่กำเนิดขึ้นมาภายใต้แนวคิดเดียวกันเพียงแต่มีบริบทการจัดการและดำเนินการในท่วงทำนองที่ต่างออกไปเท่านั้น
แม้ว่า Eco Car Motivation ริเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี Taro Aso แต่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดซึ่งพรรค DJP (Democratic Party of Japan) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองญี่ปุ่นเปลี่ยนขั้วมาเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล** นั้นโครงการนี้ได้รับการสานต่ออย่างสอดคล้องกับหนึ่งในนโยบายหลักด้านสิ่งแวดล้อมของนายกรัฐมนตรี Yukio Hatoyama ที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ถึง 25% เมื่อเทียบกับปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในปี 1990
ตัวเลขดังกล่าวมิอาจอวดอ้างออกมาด้วยวาท-กรรมอันเลื่อนลอยหากแต่ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจน แผนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนความร่วมมือจากประชาชนในทุกหน่วยย่อยของสังคม นอกจากนี้ยังต้องอาศัยทรัพยากรเงินทุนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีหลายประเทศที่นำ "เหตุผลทางเศรษฐกิจ" มาเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อหลบหลีกการรับภาระควบคุมการแพร่ก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก
ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาก็ตามที ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือทุกชาติล้วนบริโภคทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กับก่อปัญหามลภาวะ ดังนั้นการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของทุกชาติหากแต่จะมากน้อยต่างกันไปตามอัตราส่วน
ในระดับประเทศก็เช่นกัน เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ด้วยนโยบายและความพยายามจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวเพราะฉะนั้นประชาชนคนญี่ปุ่นจึงมีหน้าที่ช่วยแบกรับภาระที่ว่านี้ด้วยส่วนหนึ่ง
รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งดำเนินโครงการ Eco Car Motivation ผ่านกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค ขนส่ง และการท่องเที่ยวร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณเสริมราว 370.2 พันล้านเยนสำหรับเป็นงบพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ Eco Car กันมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของทศวรรษนี้
Eco Car ในนิยามของรัฐบาลญี่ปุ่นหมายรวมถึงยานพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงในการเผาผลาญ เชื้อเพลิงและไม่ก่อมลพิษ หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เขม่ารวมทั้งควันพิษในปริมาณต่ำตามข้อกำหนดของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) รถยนต์ ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 2) รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเมทานอลหรือ Compressed Natural Gas (CNG) 3) รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง Compressed Air และ 4) รถยนต์ไฮบริด (HV)
รัฐบาลญี่ปุ่นสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ที่ซื้อ Eco Car ตั้งแต่ช่วงวันที่ 10 เมษายน 2009 ถึง 31 มีนาคม 2010 หรือจนกระทั่งงบประมาณเสริมที่ตั้งไว้หมดลงโดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้พร้อมกับลดภาษีรถยนต์ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไปแล้วแต่กรณี
ระบบเงินช่วยเหลือเมื่อซื้อ Eco Car ภายในช่วงแคมเปญมีข้อกำหนดคร่าวๆ ดังนี้
1. สำหรับผู้ซื้อรถใหม่
1.1 รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง +15% ตามมาตรฐานในข้อกำหนดปี 2010 และปล่อยควันเสียในระดับต่ำ (4 ดาว) ซึ่งยังแยกย่อยได้ อีก 2 กรณีคือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์ขนาดเล็กที่มีความจุของเครื่องยนต์ 1,300-2,500 ซีซี (หรือที่เรียกว่า K-car) จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1 แสนเยนและ 5 หมื่นเยนตามลำดับ
1.2 รถบัสและรถบรรทุกที่มีค่า NOX หรือค่า PM ลดต่ำกว่า 10% ตามมาตรฐานการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่กำหนดไว้ในฉบับปี 2015 นั้นยังแยกย่อยได้อีก 3 กรณีคือรถขนาด 3.5, 8.0 และ 12.0 ตัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2 แสนเยน, 4 แสนเยน และ 9 แสนเยน ตามลำดับ
2. สำหรับผู้ที่นำรถเก่าซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 13 ปีขึ้นไปเปลี่ยนมาใช้ Eco Car
2.1 รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิงเป็นไปตามมาตรฐานในข้อกำหนดปี 2010 ยังแยกย่อยได้ อีก 2 กรณี คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและ K-car จะได้รับ เงินช่วยเหลือ 250,000 เยนและ 125,000 เยนตามลำดับ
2.2 รถบัสและรถบรรทุกขนาด 3.5, 8.0 และ 12.0 ตันจะได้รับเงินช่วยเหลือ 4 แสนเยน, 8 แสนเยนและ 1,800,000 เยนตามลำดับ
ส่วนลดภาษีรถยนต์จะคิดคำนวณจากปริมาณควันเสียที่ปล่อยออกมาและประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิงตามข้อกำหนดปี 2010 สำหรับ (1) รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย Green Diesel จะได้รับการยกเว้นภาษี 100% (2) รถที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สโซลีนซึ่งปล่อยมลพิษในระดับต่ำ (4 ดาว) และมีประสิทธิภาพตรง ตามมาตรฐานการเผาไหม้เชื้อเพลิง +25% ได้รับส่วนลดหย่อนภาษี 75% (3) รถที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สโซลีนซึ่งปล่อย มลพิษในระดับต่ำ (4 ดาว) และมีประสิทธิภาพตรงตามมาตรฐานการเผาไหม้เชื้อเพลิงอยู่ระหว่าง +15% ถึง +25% จะได้รับส่วนลดหย่อนภาษี 50% ทั้งนี้จะต้องยื่นแบบฟอร์ม การเสียภาษีรถยนต์ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2012
นอกจากนี้ยังมีส่วนลดอื่นๆ ที่ทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายนำมาร่วมรายการเพื่อดึงดูดใจลูกค้า ซึ่งแตกต่างกันออกไป
ขั้นตอนการยื่นแบบฟอร์มขอรับเงินช่วยและส่วน ลดหย่อนภาษีรถยนต์สามารถกระทำผ่านทางดีลเลอร์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทั้งหมดกับ Japan Automobile Dealers Association (JADA) หรือ Japan Mini Vehicles Association ก่อนส่งมอบต่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย
เช่นเดียวกับ Eco Point ที่กำลังสร้างสีสันให้กับตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศญี่ปุ่นช่วง 1-2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดรถยนต์ซึ่งขับเคลื่อนด้วย Eco Car Motivation ก็ดำเนินไปอย่างคึกคักไม่แพ้กัน
เมื่อพิจารณาในระดับจุลภาคแล้วโครงการนี้นับเป็นข้อเสนอที่ดีซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้นวัตกรรม Japanese Eco Car อันล้ำหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในราคาที่น่าพอใจซึ่งในระยะยาวนอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงแล้วยังประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องวิตกกับความผันผวนของราคาน้ำมันโลกเหมือนที่ผ่านมาพร้อมกับช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นก็ส่อสัญญาณฟื้นตัวจากรายงานยอดจำหน่ายรถยนต์ของหลายบริษัทที่กลับมาเป็นตัวเลขบวกซึ่งส่งอานิสงส์ไปถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2009 ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.2% มาอยู่ที่ระดับ +4.8%
พร้อมกันนี้ในระดับมหภาคนั้น Eco Car Motiva-tion กระตุ้นให้มีจำนวนเม็ดเงินไหลเวียนอยู่ภายในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้อย่างคล่องตัว ในขณะเดียวกันก็สอดประสานไปกับโครงการลดราคาค่าทางด่วน*** ที่มี ผลบังคับใช้ก่อนหน้านี้และเป็นกลไกหนึ่งที่แสดงให้เห็นบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะประเทศผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
อ่านเพิ่มเติม :
* ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกันยายน 2552
** ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนตุลาคม 2552
*** ผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนเมษายน 2552
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|