ปลุกชีวิตหุ่น Chadar Badar

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เสียงกลองและขลุ่ยดังมาจากท้ายตลาด งานแห่เจ้าแม่ธุรคาประจำปีก็เสร็จสิ้นไปแล้ว เทศกาลบูชาเจ้าแม่กาลีก็ยังมาไม่ถึง ขบวนแห่ชนิดใดกันถึงส่งเสียงรื่นเริงเช่นนี้ ฝูงชนที่ใคร่รู้ใคร่เห็นทยอยตามเสียงดนตรีไป พบว่าต้นเสียงคือกลุ่มนักดนตรีชาวสันธัล หนนี้พวกเขาไม่เพียงแต่ร้องรำเพลงพื้นบ้านอย่างเคย หากมาพร้อมกับโรงหุ่นหลังน้อยที่เรียกกันว่า Chadar Badar

สันธัล (Santhal) เป็นชนพื้นเมืองเดิมของอินเดีย คล้ายกับชาวอะบอริจินีสในทวีปออสเตรเลีย และในบรรดาชนพื้นเมืองเดิมที่มีอยู่หลากหลาย สันธัลเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด ตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพเพาะปลูกกระจายอยู่ในรัฐจาร์คันด์ พิหาร เบงกอลตะวันตก มัธยประเทศ อัสสัม ตริปุระ และโอริสสา ทั้งพบได้ในเขตประเทศเนปาล บังกลา เทศ ภูฏาน และชายแดนพม่า ชาวสันธัล มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างอย่างเด่นชัดจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะเรื่องภาษา พวกเขาขึ้นชื่อในความสามารถ ที่จะรักษาภาษาดั้งเดิมของตนคือสันธาลีไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งเป็นผู้รักการร้องรำทำเพลง

แม้ทุกวันนี้เพลงฮินดีจากบรรดาหนังบอลลีวูดจะเป็นที่ฮิตติดปากคนหนุ่มสาว แต่เมื่อถึงช่วงเทศกาลประจำปี เสียงเพลงพื้นบ้านจังหวะครึกครื้น ก็ยังมีให้ฟังอยู่ไม่ขาด

ขณะที่ดนตรีและการเต้นพื้นบ้านที่เรียกกันว่า Santhali Dance เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ศิลปะพื้นบ้านแขนงหนึ่งของชาวสันธัลกลับจางหาย จนแม้ในหมู่ชาวสันธัลเองมีคนไม่มากนักที่รู้จักหรือได้เห็นได้ชม นั่นคือศิลปะหุ่นกลไกชาดาร์ บาดาร์

Ravi Kant Dwivedi คนทำวิดีโอสารคดี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านการค้นคว้าและบันทึกข้อมูลของ Asian Heritage Foundation ในกรุงเดลีย้อนเล่าถึงครั้งแรกที่เขาได้เห็นหุ่นชาดาร์ บาดาร์ เมื่อปี 1985 ว่าขณะนั้นเขาอยู่ระหว่างตระเวนเก็บข้อมูลศิลปะพื้นบ้านและชนเผ่า (Folk/Tribal Art) ในหมู่บ้านนวชาร์ เขตดุมการ์ รัฐจาร์คันด์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวสันธัล บังเอิญไปเห็นหุ่นไม้แปลกตา แขวนเก็บอยู่ในเพิงมุงจากในบ้านของ Lukin Murmu เมื่อสอบถามเจ้าบ้านก็นำออกมาปัดฝุ่นพร้อมอธิบายว่าเป็นชุดหุ่นกลไกที่เรียกในภาษาสันธาลีว่า ชาดาร์ บาดาร์

ชุดหุ่นดังกล่าวประกอบด้วยหุ่นไม้แกะสลักสูง 7-9 นิ้ว ราว 12 ตัว ยืนล้อมเข้าหากันอยู่บนวงล้อภายในกรอบไม้สี่เหลี่ยมที่มีกระโจมหลังคาโค้งเป็นเหมือนโรงละคร หุ่นแต่ละตัวระบายสีและนุ่งห่มในชุดพื้นบ้านสันธาลี ส่วนหัวและแขนขยับได้ด้วยกลไกที่เชื่อมกับคานดีดคานงัดด้านล่าง โรงหุ่นนี้ตั้งอยู่บนกระบอกไม้สูงระดับอกทำหน้าที่เป็นเสาตั้งโรงหุ่นเวลาแสดง ภายในซ่อนไว้ด้วยเชือก ซึ่งปลายข้างหนึ่งผูกกับคานควบคุม อีกข้างร้อยไปโผล่ที่ช่องเล็กๆ ด้านล่าง สำหรับผู้เชิดใช้หนีบด้วยนิ้วเท้าควบคุมจังหวะเคลื่อนไหวของหุ่น

หุ่นแต่ละชุดจะมีการจัดองค์ประกอบต่างกันไป ส่วนใหญ่เป็นเหมือนการจำลองฉากงานเทศกาลของชาวสันธาลี ซึ่งชาวบ้านจะมาล้อมวงร้องรำ ฟากหนึ่งเป็นหมู่นักดนตรีข้างกายมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างกลองตามัคและตุมดัค อีกฟากเป็นหญิงชาวบ้านในชุดหลากสี การเคลื่อนไหวของหุ่นแม้จะเรียบง่าย ขยับขึ้นลงซ้ำไปมาได้เพียงส่วนหัวและแขนทั้งสองข้าง แต่เมื่อเชิดประกอบกับเพลงพื้นบ้าน ประโคมด้วยเสียงกลอง เครื่องเคาะจังหวะ และขลุ่ย หุ่นไม้ไร้ชีวิตเหล่านั้นก็ราวจะโลดเต้นร้องรำรื่นเริง

ระวีเล่าเสริมว่าเขาประทับใจกับหุ่นพื้นบ้านดังกล่าวมากและพยายามสืบสาวที่มาเพิ่มเติม แต่หลังจากสอบถามบรรดาผู้รู้ในแขนงต่างๆ ไม่ว่านักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและนิทานพื้นบ้าน ก็ไม่มีใครเคยเห็นหรือ ได้ยินเกี่ยวกับหุ่นกลไกชาดาร์ บาดาร์มาก่อน กระทั่งในหมู่ชาวสันธัลเองก็เห็นเป็นเรื่องแปลก มีเพียงผู้เฒ่าเพียงไม่กี่คนที่บอกว่าเคยได้ชมหุ่นทำนองนี้สมัยตนเป็นเด็ก

ในปี 1985 นั้นที่หมู่บ้านนวชาร์ยังพอมีนักเชิดหุ่นชาดาร์ บาดาร์อยู่ 4-5 กลุ่ม ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวนาชาวสวนและอาศัยช่วงท้ายฤดูกาล เพาะปลูกระหว่างรอเก็บเกี่ยวพืชผล นำชุดหุ่นออกตระเวนแสดง ช่วงเวลาดังกล่าวมักอยู่ระหว่างหลังเทศกาลบูชาเจ้าแม่ธุรคาและก่อนงานแห่เจ้าแม่กาลี ราวเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฟ้าโปร่งหมดหน้ามรสุม ในช่วงไม่กี่วันนี้ นักเชิดหุ่นจะรวมกลุ่มกับเพื่อนนักดนตรีราว 6-7 คน เดินเท้าไปตามหมู่บ้านละแวกใกล้ เมื่อถึงตลาดหรือย่านชุมชนพวกเขาจะตั้งชุดหุ่นที่เป็นเหมือนโรงหุ่นเคลื่อนที่ นักดนตรีจะตีกลองเป่าขลุ่ย คนเชิดก็เบิกม่านโรงหุ่น ชักเชิดบรรดาหุ่นไม้ตัวน้อยเข้าจังหวะ กับเพลงพื้นบ้านหรือเรื่องตลกชวนหัวที่เล่าสลับ โดยไม่เน้นเรื่องราวใดเป็นพิเศษ หากเน้นบรรยากาศรื่นเริงและเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู เมื่อจบการแสดงก็ขอเรี่ยไรเงิน ระหว่างตระเวนแสดงพวกเขาจะค่ำไหนนอนนั่น หุงหาอาหารกินกันง่ายๆ จนเมื่อใกล้ถึงช่วงเก็บเกี่ยว จึงเดินทางกลับหมู่บ้าน นำเงินที่ได้มาจัดปิกนิกสังสรรค์และปันเงินที่เหลือแก่กัน

ในปี 2005 ระวีซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ผลิตรายการสารคดีให้กับสถานีโทรทัศน์ดูดาร์ชาน กลับไปดุมการ์ อีกครั้งเพื่อหวังจะถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับหุ่นชาดาร์ บาดาร์

"ผมตระเวนไปทั่วแต่ไม่พบนักเชิดหุ่นสักกลุ่ม คนที่เคยรู้จักอย่างลุกคิน มูร์มูก็เสียชีวิตไปแล้ว บ้างสูงอายุจนเลิกแสดง บางคนก็เลิกไปด้วยเหตุผลอื่น ชุดหุ่นที่เคยมีก็เก่าเก็บจนพังใช้เชิดไม่ได้มีเพียงโมฮันนักเชิดหุ่นคนหนึ่ง ที่หุ่นยังพอซ่อมแซมได้ แกก็สู้ อุตส่าห์ค้นออกมาซ่อมและเชิดให้ผมได้ถ่ายวิดีโอ"

หนแรกที่เขากลับไปดุมการ์นั้นเป็นช่วงเดือนมกราคมซึ่งไม่ใช่ฤดูการแสดง ราวเดือนตุลาคมปีเดียวกันเขากับทีมย้อนกลับไปอีกครั้ง และตระเวนไปแทบทุกหมู่บ้าน คราวนี้เขาพบว่ามีคนหนุ่ม สันธัลกลุ่มหนึ่งทำหุ่นชาดาร์ บาดาร์ขึ้นมาใหม่ทั้งนำออกแสดง เมื่อถามว่าทำไมถึงมาสนใจศิลปะหุ่นที่แทบไม่มีใครรู้จักนี้ คนหนุ่มเหล่านั้นบอก ระวีซื่อๆ ว่า

"คุณรู้ไหมเมื่อหลายเดือนก่อนมีคนจากเดลีขับรถตระเวนไปทั่ว มาตามหาหุ่นชาดาร์ บาดาร์ พวกเขาอุตส่าห์มาตั้งไกลเสียทั้งเงินทั้งเวลา นั่นก็แสดงว่าหุ่นนี้มีคุณค่าความสำคัญ เราก็ไม่ควรทิ้งให้มันตายไป"

ถ้อยคำเหล่านั้นทำให้ระวีเห็นว่า ศิลปะที่ดูเหมือนจะถูกลืมนี้แท้จริงยังฝังลึกอยู่ในสายเลือดของชาวสันธัลซึ่งพื้นนิสัยรักดนตรีและการร้องรำ หากได้รับโอกาสและการสนับสนุนชาวสันธัลรุ่นใหม่ก็อาจช่วยคืนชีวิตแก่หุ่นชาดาร์ บาดาร์อีกครั้ง เขาจึงเสนอโครงการเวิร์กชอปขนาดเล็กขึ้น และได้รับการสนับสนุนโดย Sir Dorabji Tata Trust เวิร์กชอปนี้มีขึ้นที่ศานตินิเกตัน รัฐเบงกอลตะวันตก โดยมีคนหนุ่มชาวสันธัล 8 กลุ่ม จาก 8 หมู่บ้านเข้าร่วม ภายในเวลาสองอาทิตย์พวกเขาได้เรียนรู้การแกะสลักและงานไม้จากช่างฝีมือท้องถิ่น ส่วนเรื่องกลไก และการเชิดหุ่นมี Bhulu Murmu บุตรชายของลุกคิน มูร์มูผู้ล่วงลับมาช่วยสอน

ช่วงท้ายของเวิร์กชอปซึ่งตรงกับฤดูการแสดง หุ่น นักเชิดหุ่นรุ่นใหม่ก็มีโอกาสนำหุ่นที่ตนทำออกตระเวนแสดง เรียนรู้ข้อบกพร่องของกลไกและฝึกปฏิภาณไหวพริบในการเชิดเพื่อดึงดูดผู้ชม

"หุ่นที่ทำขึ้นเหล่านี้เรายกให้แต่ละกลุ่ม แม้ ว่าพวกเขาจะยังอ่อนฝืมือในความประณีตของตัวหุ่น และการเชิด ก็หวังว่าพวกเขาจะกลับไปพัฒนาและนำหุ่นออกแสดงในปีต่อๆ ไป" ระวีกล่าวในวันสุดท้ายของเวิร์กชอป ราวจะฝากความหวังไว้กับคนหนุ่ม เหล่านั้น และยังไม่ทันที่เวิร์กชอปจะเลิกราก็มีเสียง ตอบรับที่ให้แววหวังมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน เช่นที่หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นซึ่งทราบข่าวหุ่นชาดาร์ บาดาร์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ได้ติดต่อกับทางกลุ่มนักเชิดว่าอยากจะใช้ศิลปะหุ่นนี้เป็นสื่อในการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยแก่ชาวบ้านในหมู่บ้านห่างไกล แถมยังมีผู้ผลิตสินค้าบางชนิดทาบทามขอว่าจ้างคณะหุ่นไปตระเวนแสดงเป็นสื่อโฆษณาสินค้าของตน

หากมีคนเห็นคุณค่าของสื่อละครหุ่นเช่นนี้ เชื่อว่าหลังเทศกาลเจ้าแม่ธุรคาของทุกปี หุ่นชาดาร์ บาดาร์คงจะได้กลับมามีชีวิตชีวาอยู่เรื่อยไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.