The New Influence of China

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนตุลาคมที่ผ่านมาถือเป็นความจงใจปนกับความบังเอิญที่ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือนดินแดนทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน ภายในรอบเดือนเดียว

ชาวจีนเรียกจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวันกันสั้นๆ ว่า "เหลี่ยงอั้นซานตี้ " หรือ "สองฝั่งสามแผ่นดิน" โดยคำว่า "สองฝั่ง" นั้น หมายความถึงดินแดนสองฝั่งซึ่งถูกคั่นกลางไว้ด้วยช่องแคบไต้หวัน (Taiwan Strait) และมีนัยถึงการแบ่งแยกการปกครองระหว่างดินแดนสองฝั่ง โดยฝั่ง หนึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐไต้หวัน ขณะที่คำว่า "สามแผ่นดิน" นั้นหมายความ ถึงดินแดน 3 แห่ง อันประกอบไปด้วยจีนแผ่นดินใหญ่ เกาะฮ่องกง และเกาะไต้หวัน ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของชาวจีนโดยสมบูรณ์

แม้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตัวผมเองจะได้ใช้ชีวิตและผูกพันอยู่กับประเทศจีนมาระยะหนึ่ง แต่การไปไต้หวันครั้งนี้ของผม ถือเป็นการเดินทางไปครั้งแรก กระนั้นแม้จะเป็นการไปไต้หวันครั้งแรก แต่ก็มีความพิเศษตรงที่ผู้นำทางผมไปครั้งนี้คือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ซึ่งมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันในช่วงทศวรรษ 60 ของศตวรรษที่ 20 โดยท่านได้ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) หรือ ไถต้า มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของไต้หวันและมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของเอเชีย

เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว คุณสนธิใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันราวหนึ่งปี ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยท่านเล่าให้ฟังว่านอกจากตึกและอาคาร ต่างๆ ในบริเวณรั้วไถต้าแล้ว สภาพบ้านเมืองและสถานที่ต่างๆ ของกรุงไทเปนั้นเปลี่ยนแปลงไปจนแทบจำไม่ได้

"ไต้หวันเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างญี่ปุ่นกับฮ่องกง เนื่องจากช่วงหนึ่งญี่ปุ่นเคยเข้ามายึดครองไต้หวัน ทำให้อิทธิพลของญี่ปุ่นนั้นมีสูงมากบนเกาะไต้หวัน เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าอาคารบ้านเรือนหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะหน่วยราชการจะคล้ายๆ กับอาคารของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นสร้างทิ้งเอาไว้" คุณสนธิกล่าวพร้อมอธิบายต่ออีกว่า ในส่วนของนิสัย ใจคอของผู้คนไต้หวันก็เป็นส่วนผสมระหว่างชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวฮ่องกง และชาวญี่ปุ่น

"สังเกตได้ว่าวิธีการบริการของคนไต้หวันจะไม่กระแทกกระทั้นเหมือนกับคนฮ่องกงที่มีความเป็นตะวันตก เป็นสากลมากเพราะเคยตกเป็นดินแดน ในปกครองของอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้อ่อนน้อม เวลาคำนับทีก็โค้งตัวเสียจนขนานกับพื้นดินเหมือนคนญี่ปุ่น" ศิษย์เก่าไต้หวันตั้งข้อสังเกต

ระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบริเวณชั้นในและชั้นนอกของกรุงไทเป เรามีโชเฟอร์เป็นชายชาวไต้หวันวัย 60 แซ่เหยียน เป็นผู้แนะนำสถานที่ต่างๆ โดยระหว่างทางผมกับลุงเหยียนก็มีโอกาสได้พูดคุยกันในหลายๆ เรื่อง เรื่องเมืองไทย เรื่องไต้หวัน เรื่องเมืองจีน อาหาร ผู้คน การเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมือง ฯลฯ

ในตอนหนึ่งเมื่อผมถามว่า ปัจจุบันค่าเช่าห้องพักต่อเดือนในกรุงไทเปนั้นราคาขั้นต่ำประมาณเท่าไร และบัณฑิตที่จบปริญญาตรีในไต้หวันนั้นมีรายได้ต่อเดือนประมาณเท่าใด?

ลุงเหยียนให้คำตอบว่าตอนนี้ราคาห้องพักในไทเปอย่างต่ำก็ประมาณ 1 หมื่นเหรียญไต้หวัน (NT$) ต่อเดือน ขณะที่บัณฑิตชาวไต้หวันที่เรียนจบจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ราว 2-3 หมื่นเหรียญไต้หวัน (1 NT$ = 1.03 บาท)

"เมื่อก่อนเงินเดือนเริ่มต้นของคนไต้หวันสูงกว่านี้นะ แต่ช่วง 1-2 ปีมานี้เศรษฐกิจไต้หวันแย่ลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โรงงานต่างๆ ก็ย้ายไปอยู่แผ่นดินใหญ่กันหมด ตอนนี้คนว่างงานก็มีเยอะขึ้น อย่างว่าล่ะนะเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ไปอยู่ที่จีนกันหมด" โชเฟอร์วัยใกล้เกษียณเล่าแกมบ่นถึงความเปลี่ยน แปลงของสภาพชีวิตและความเป็นอยู่

นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศเมื่อ 30 ปีก่อน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสองฝั่งจะลุ่มๆ ดอนๆ แต่นักธุรกิจจากไต้หวันก็ถือเป็นนักธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่แผ่นดินใหญ่ โดยในแต่ละ ปีเงินลงทุนทางตรง (FDI) ส่วนใหญ่ของไต้หวันนั้นถูกเทไปตามมณฑลต่างๆ บริเวณชายฝั่งของจีน ซึ่ง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมารวมแล้วคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปริมาณการค้าระหว่างสองฝั่งก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว

ในอดีตสมัยที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีน แผ่นดินใหญ่กับรัฐบาลไต้หวันยังไม่ราบรื่น เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างสองฝั่งนั้นมีเกาะฮ่องกงเป็นตัวเชื่อม แต่ด้วยพัฒนาการและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีส่วนทำให้ทิศทางของการเมืองภายในของไต้หวันนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่พรรคก๊กมินตั๋งกลับมา กุมอำนาจในการบริหารอีกครั้งทำให้ความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝั่งนั้นถือว่าราบรื่นที่สุดในรอบหลายสิบปีและส่งผลให้มีการเปิดเที่ยวบินตรง เส้นทางการขนส่งทางทะเลตรงระหว่างสองฝั่ง รวมไปถึงการลงทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งนั้นเปลี่ยนรูปแบบไปมากพอสมควร

กล่าวคือ จากแต่ก่อนที่ไต้หวันเป็นฝ่ายขนเงิน ไปลงทุนในจีน ปัจจุบันนี้จีนกลับเป็นฝ่ายที่เรียกร้อง ให้ไต้หวันเปิดประตูรับการลงทุนจากจีนบ้าง จนทำให้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวัน ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าฯ เมืองไทเปและสังกัดพรรคก๊กมินตั๋งต้องเริ่มทยอยเปิดทางให้ทุนจากแผ่นดินใหญ่สามารถเข้ามาลงทุน ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและสาธารณูปโภคถึง 99 สาขา

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการทรัพยากรต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน เพื่อมาหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเป็นประเทศมีเงินทุนสำรองประเทศมากที่สุดในโลกถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยเหล่านี้เมื่อผนวกเข้ากับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินกลางของโลก อีกทั้งเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความล่มสลายของสภาวะ "ขั้วอำนาจเดียว" ของโลกภายใต้การชี้นำของสหรัฐ อเมริกา จีนในฐานะเจ้าหนี้คนสำคัญของสหรัฐอเมริกา (เนื่องจากเป็นประเทศที่สะสมเงินสำรองในรูปพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุด) จึงต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการนำเงินไปลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคและประเทศอื่นๆ ทั้ง ในรูปแบบของการลงทุนทางตรงและทางอ้อม

รายงานของนิตยสารฟอร์จูน (เอเชียแปซิฟิก) ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2552 ระบุว่า ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนและบริษัทสัญชาติจีนทุ่มเงินในการซื้อกิจการในต่างประเทศไปแล้วมากถึง 115,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีที่แล้ว (2551) เพียงปีเดียว จีนลงทุนในกิจการต่างประเทศมากถึงราว 25,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการลงทุนดังกล่าวเป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในหลากหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น การลงทุน/ปล่อยกู้ในอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไนจีเรีย คองโก บราซิล คาซัคสถาน อิรัก อิหร่าน อุตสาห-กรรมเหล็กในออสเตรเลีย อุตสาหกรรมสิ่งทอในเลโซโท ภาคการเงินในสหรัฐฯ ความพยายามการซื้อ กิจการบริษัทรถยนต์ชื่อดังอย่างวอลโว่จากเครือฟอร์ด ไม่นับรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง อาหาร ซอฟต์แวร์ โทรคมนาคม เป็นต้น

การสยายปีกทางเศรษฐกิจจีนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์และพัฒนาศักยภาพทางด้านการเมือง การต่างประเทศและการทหารให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยชาวจีนและผลประโยชน์ของตัวเองที่กระจายอยู่ทั่วโลกให้ได้

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะกล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของผู้อื่น ทว่าอิทธิพลและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนที่แผ่ขยายไปทั่วโลกได้บีบให้รัฐบาลจีนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเข้ามามีส่วนกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ/ภูมิภาคต่างๆ ที่ตัวเอง มีผลประโยชน์ให้ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยวิธีการทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย อย่างที่เกิดขึ้นในไต้หวัน ตะวันออกกลาง และอีกหลายประเทศในแอฟริกา เป็นต้น

แน่นอนว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคนี้ เราจึงมีความจำเป็นต้องรู้เท่าทัน "อิทธิพล จีน" ระลอกใหม่ที่กำลังจะโถมทับท่วมโลก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.