ฉีกร่างกฎหมายแก้ปัญหาโลกร้อน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ทัศนะอีกด้านจากฝ่ายต่อต้านกฎหมายแก้ปัญหาโลกร้อนของสหรัฐฯ

ในขณะที่ Al Gore พยายามเร่งเร้าให้รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายแก้ปัญหาโลกร้อนที่เรียกว่า cap-and-trade ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญคือ ลดการแพร่ก๊าซ เรือนกระจกและเก็บภาษีคาร์บอน แต่ฝ่ายที่ต่อต้านร่างกฎหมาย นี้ก็พยายามเตือนว่า กฎหมายนี้จะทำให้สหรัฐฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่ได้ผลไม่คุ้มค่า

ฝ่ายที่ต่อต้านชี้ว่า ร่างกฎหมายนี้จะไม่บรรลุเป้าหมาย ในการควบคุมสารก่อมลพิษด้วยสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ แต่กลับจะทำให้สหรัฐฯ ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางแห่งความพินาศล่มจม เพราะราคาที่จะต้องจ่ายนั้นสูงลิ่ว หากนำกฎหมายนี้ออกใช้จะทำให้ราคาพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและน้ำมันแพงขึ้นถ้วนหน้า ไม่ว่าคนอเมริกันจะเปิดสวิตช์ไฟสตาร์ทรถ หรือซื้ออะไรก็ตาม ที่ผลิตและขนส่งภายในประเทศก็จะต้องจ่ายแพงขึ้นทั้งสิ้น

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประเมินแล้วว่า นโยบาย cap-and-trade ของประธานาธิบดี Obama จะทำให้รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1-2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนสำนักงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ รายงานว่า การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 15% ซึ่งเป็นเป้าที่ตั้งไว้ในกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ครัวเรือนอเมริกันต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 1,600 ดอลลาร์ต่อปี

ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังเชื่อว่า ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงกว่านี้ บิลค่าน้ำค่าไฟจะแพงขึ้นทั่วทุกแห่งหนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐที่เป็นรัฐผลิตสินค้า ซึ่งใช้พลังงานต่อหัวสูงกว่ารัฐอื่นๆ รวมไปถึงรัฐที่ใช้ถ่านหินเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า จะพบว่าค่าน้ำค่าไฟแพงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานใหม่ๆ

ฝ่ายต่อต้านชี้ต่อไปว่า วิธีการเก็บภาษีคาร์บอนในร่างกฎหมาย cap-and-trade ยังเป็นแบบถอยหลัง ซึ่งหมายถึงคนจนจะเสียภาษีมากกว่าคนรวย สำนักงบฯ รัฐสภาสหรัฐฯ ประเมินว่า การลดคาร์บอน ไดออกไซด์ลงเพียง 15% จะทำให้คนรวยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7% ของรายได้ ส่วนชน ชั้นกลางจะเสียค่าใช้จ่าย 2.7-2.9% แต่คนจนที่สุดกลับต้องจ่ายมากที่สุดถึง 3.3% หรือประมาณ 680 ดอลลาร์ต่อปี

กฎหมายนี้ยังจะทำให้งานหายออกนอกประเทศ ทำให้รัฐบาล และระบบราชการมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีอำนาจมากขึ้น ในการเข้า แทรกแซงและควบคุมเศรษฐกิจ จนส่งผลกระทบกับการคิดค้นนวัตกรรม ความยืดหยุ่นและการทำธุรกิจ บริษัทจะลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ ด้วยการย้ายฐานไปยังประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอนหรือจำกัดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก กฎหมาย นี้ยังทำให้บริษัทที่ทำการผลิตนอกสหรัฐฯ ได้เปรียบบริษัทที่ทำ การผลิตและสร้างงานในสหรัฐฯ บริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เพราะจะทำให้ทั้งผลกำไรและราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทที่ผลิตพลังงานจากถ่านหินจะเสียเปรียบ

ฝ่ายต่อต้านชี้ต่อไปว่า นโยบายซึ่งเป็นที่มาของร่างกฎหมาย ดังกล่าวเน้นลดคาร์บอนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พวกเขาชี้ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเพียงครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ แต่กลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีอินเดีย บราซิล และประเทศตลาดเกิดใหม่ อีกหลายประเทศ ฝ่ายต่อต้านเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจะต้องทำในระดับ "ทั่วโลก" ซึ่งจะส่งผลให้ลดการแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริงๆ และชี้ว่ายังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายในโลกที่ 3 ที่ต้องแก้ไข ก่อน เช่น การป้องกันโรคมาลาเรีย และโรคเอดส์ ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอ และการขาดแคลนน้ำสะอาดและโอกาสในการเรียนรู้ หากสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศในโลกที่ 3 เจริญรุ่งเรืองได้ พวกเขาก็จะรู้จักปกป้องสิ่งแวดล้อมของตัวเอง

ฝ่ายต่อต้านตั้งคำถามว่า ทำไมจึงคิดจะเก็บภาษีพลังงานที่คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ในราคาไม่แพง อย่างที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เพียงเพื่อจะเอาเงินไปอุดหนุนพลังงานที่ยังไม่สามารถจะแข่งขันได้ในตลาด ทั้งๆ ที่รู้ว่า เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการอุดหนุนเป็นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันต่ำ การเติบโตก็จะช้าลง และไม่สามารถสร้างงานได้ และการจะยกเลิกการอุดหนุนก็ทำได้ยากมาก ฝ่ายต่อต้านเห็นว่า เราควรหันมาเน้นการทำให้พลังงานที่เราใช้อยู่ในทุกวันนี้ ให้กลายเป็นพลังงานสะอาดมากกว่าที่จะใช้วิธีเก็บภาษี รัฐบาลควรลงทุนในการวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงาน การดักจับคาร์บอน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เช่น เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แล้วปล่อยให้ตลาดเป็นตัวตัดสินเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านั้น

ฝ่ายต่อต้านสรุปว่า ร่างกฎหมาย cap-and-trade ให้ประโยชน์เพียงน้อยนิด ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะต้องเสียไป คนอเมริกันจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 1-2 แสนล้านดอลลาร์ เพียงเพื่อที่จะลดคาร์บอนในสหรัฐฯ ลงได้เพียง 15% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 4% ของปริมาณคาร์บอนที่แพร่ออกมา ทั่วโลก หรือเรียกว่าแทบมองไม่เห็นผลดีที่จะเกิดขึ้นกับโลกเลย ฝ่ายต่อต้านกล่าวหาธุรกิจที่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ว่า เป็นธุรกิจที่เล่นเรื่องสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงแต่ผลกำไรของตัวเอง บนความสูญเสียของคนอเมริกันทั้งหมด


แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 9 พฤศจิกายน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.