|
ข้าว: เหยื่อที่อ่อนไหวของการค้าเสรี?
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน มีข้อผูกพันจะต้องลดภาษีสินค้าทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีสินค้าปกติ (Inclusion List: IL) เป็นร้อยละ 0 ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า จะลดภาษีสินค้าทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีสินค้าปกติเป็นร้อยละ 0 ภายในปี 2558
นอกจากนี้ ภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ยังมีรายการสินค้าภายใต้บัญชีอ่อนไหว (Sensitive List: SL) และบัญชีอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List: HSL) ที่จะยังไม่ลดภาษีเป็นร้อยละ 0 อีก 93 รายการจากรายการสินค้าทั้งหมด 8,300 รายการ
ในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมดที่อยู่ในบัญชีสินค้าปกติที่ไทยต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 นั้น สินค้าข้าวเป็นสินค้าที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงผลกระทบต่อชาวนาและผู้เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าว เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก โดยไทยต้องลดภาษีนำเข้าข้าวจากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0
ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์นั้นข้าวอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง ดังนั้น มาเลเซียจะลดภาษีนำเข้าข้าวลงจากร้อยละ 40 ในปี 2552 เหลือร้อยละ 20 ในปี 2553 อินโดนีเซียขอไว้เท่ากับอัตราเดิมที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลกคือ ร้อยละ 30 และจะลดลงเหลือร้อยละ 25 ในปี 2558 ส่วนฟิลิปปินส์จะคงภาษีนำเข้าไว้ที่ร้อยละ 40 ไปจนถึงปี 2557 และลดภาษีเหลือร้อยละ 35 ในปี 2558
ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมา หลังจากการลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 คือปริมาณการนำเข้าข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวของไทย ตั้งแต่ชาวนา โรงสี โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากข้าว ผู้บริโภคข้าวในประเทศ ไปจนถึงผู้ส่งออกข้าว ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ การตัดสินใจของทั้งฟิลิปปินส์และรัฐบาลไทยเองว่าจะเลือกปฏิบัติตามกรอบข้อตกลง AFTA หรือไม่ เนื่องจากสินค้าข้าวทั้งของฟิลิปปินส์และไทยเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง และมีผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชาวนาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องใช้ความรอบคอบอย่างมากในการตัดสินใจ เพราะหากพิจารณาเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามกรอบข้อตกลง AFTA โดยไทยยังคงภาษีนำเข้าข้าวไว้ที่ร้อยละ 5 โดยอ้างว่าฟิลิปปินส์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งผลให้ไทยไม่สามารถเรียกร้องชดเชยความเสียหายจากฟิลิปปินส์ได้ และยังอาจถูกประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายคือ พม่า กัมพูชา และลาว เรียกร้องให้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ประเทศเหล่านี้ต้องเสียภาษีนำเข้าข้าวร้อยละ 5 แทนที่จะเสียภาษีร้อยละ 0
ทางเลือกดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในการเจรจาในระดับพหุภาคีในอนาคต เนื่องจากถือว่าเป็นการไม่รักษา พันธกรณีที่มีการตกลงกันไว้แล้ว ขณะที่หากเลือกปฏิบัติตามกรอบข้อตกลง AFTA โดยลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือร้อยละ 0 แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โดยไทยก็สามารถเจรจาเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่รัฐบาลคงต้องติดตามดูแลเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตั้งแต่ชาวนา โรงสี โรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผู้บริโภคข้าวในประเทศ ไปจนถึงผู้ส่งออกข้าว ความอ่อนไหวของข้าวภายใต้ข้อผูกพัน AFTA นับจากนี้อาจเป็นเพียงตัวอย่างใกล้ตัวจากผลของการค้าเสรี ซึ่งทางเลือกของสังคมไทยอาจไม่สามารถพิจารณาจากพื้นฐานที่อ่อนด้อยของผู้ประกอบการแต่เพียงลำพัง
หากแต่อาจถึงเวลาที่ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติของสินค้าเกษตรชนิดนี้และชนิดอื่นๆ ที่ข้ามพ้นวาทกรรมทางการเมืองอย่างฉาบฉวยอย่างจริงจังเสียที
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|