|

ธุรกรรมเงินหยวน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บทบาทของการค้าไทย-จีนคืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อการค้าต่างประเทศสามารถชำระธุรกรรมด้วยสกุลเงินหยวนผ่านบริการของธนาคารกสิกรไทยกำลังเริ่มขึ้นอย่างช้าๆ ธนาคารกสิกรไทยซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการค้าของสองประเทศให้คล่องตัวขึ้น และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า หลังจากกสิกรไทยพัฒนาโครงการ Trade Innovation และการให้บริการธุรกิจการค้าต่างประเทศ (K-Inernational Trade) ล่าสุดธนาคารกสิกรไทยได้เปิดให้ผู้ประกอบ การไทยสามารถค้าขายกับคู่ค้าในจีนเป็นสกุลเงินหยวนอีกทางหนึ่งด้วย
การให้บริการดังกล่าวนับเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่สามารถให้บริการด้านต่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนหลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ใช้สกุลเงินหยวน (CNY) ในการทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศกับบริษัทในประเทศจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนจำนวน 365 บริษัท ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ตลาดธุรกิจการค้าต่างประเทศไทยกับจีนเติบโตได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน
บริการธุรกรรมการค้าต่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนที่ธนาคารกสิกรไทยให้บริการจะครอบคลุมการชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าทุกประเภท ทั้ง L/C, B/C และ T/T ซึ่งจะช่วย ให้การประกอบธุรกิจกับคู่ค้าในประเทศจีนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีทางเลือกในการชำระเงินหรือรับชำระเงินจากคู่ค้าในประเทศจีนเป็นสกุลเงินหยวนได้จากเดิมที่จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักและยังจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
การเปิดทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศเป็นสกุลเงินหยวนจะช่วยส่งเสริมการค้าและอำนวยความสะดวกแก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้ากับจีนได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับต้นๆ ของไทย โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากมูลค่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และเชื่อว่าการค้าไทย-จีนมีแนวโน้มจะเติบได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนมีการขยายตัวประมาณ 17-24% ต่อปี
นอกจากนี้ยังเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งตามการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ จีดีพีของจีนจะอยู่ที่ 8.5% ในปี 2552 และ 9.0% ในปี 2553 จึงน่าจะส่งผลให้ตลาดธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของจีนและประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นลำดับ
แต่มูลค่าการค้าที่เพิ่มมากขึ้นและบริการชำระธุรกรรมด้วย เงินหยวนที่ว่าจะเอื้ออำนวยความสะดวกและประโยชน์กับคู่ค้าฝ่ายใด เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาและติดตามไม่น้อยเลย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|