|
โรงแรมสีเขียวของ AGODA
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ธันวาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังขยายบริบทแผ่กว้างครอบคลุมและกลายเป็นจุดขายใหม่ให้กับภาคธุรกิจเกือบทั้งระบบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต ซึ่งครั้งหนึ่งถูกระบุว่าเป็นธุรกิจที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญ
ล่าสุด AGODA บริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์สำรองห้องพักในโรงแรม แบบออนไลน์ซึ่งรับประกันราคาห้องพักที่ถูกที่สุดในเอเชีย เปิดเผยรายชื่อ 10 อันดับสุดยอดโรงแรมและรีสอร์ต อนุรักษ์ธรรมชาติในเอเชียประจำปี 2552 เพื่อเป็นการสนับสนุนและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใส่ใจต่อการรักธรรมชาติ โดยโรงแรมและรีสอร์ตเหล่านี้ได้ยึดถือนโยบายสีเขียว ซึ่งเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไมเคิล เคนนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AGODA ระบุว่าหลังจากที่ AGODA ริเริ่มคัดเลือกสุดยอดโรงแรมและรีสอร์ต อนุรักษ์ธรรมชาติในเอเชีย เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีโรงแรมและรีสอร์ตหันมาให้ความสนใจและความสำคัญกับการท่องเที่ยว แบบยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นเรื่องที่ดีมากที่ได้เห็นผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกโรงแรมอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น นอกเหนือจากการส่งเสริมและสื่อสารมิติในการอนุรักษ์ให้กับผู้เข้าพักแล้ว AGODA ยังได้ให้คะแนนพิเศษแก่โรงแรมและรีสอร์ตที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ รวมไปจนถึงการสนับสนุนชาวท้องถิ่นให้ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและนำนโยบายสีเขียวมาปฏิบัติ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนโดย 10 อันดับสุดยอดรีสอร์ตอนุรักษ์ธรรมชาติของ AGODA ประจำปี 2552 มีความหลากหลายและสะท้อนเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของท้องทราย เบย์ เกาะสมุย ประเทศไทย รีสอร์ตซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหาดเฉวงที่ได้ริเริ่ม "โครงการสีเขียว" เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสีย การรีไซเคิล และการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ท้องทราย เบย์ รีสอร์ท ยังได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นด้วยการก่อตั้ง "โรงเรียนรักษ์สมุย" และร่วมมือกับโรงแรมอีกหลายเพื่อรักษาความงดงามของเกาะสมุยไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังสืบต่อไป ซึ่งนับเป็นโรงแรมไทยรายเดียวที่ได้รับเลือกให้อยู่รายชื่อโรงแรมรักษ์สิ่งแวดล้อมในครั้งนี้
ขณะที่อลิลา อูบุด และอลิลา แมงกิส เกาะบาหลี อินโด นีเซีย ซึ่งเคยได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อรีสอร์ตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ AGODA มาแล้วในปี 2550 โดยทั้งคู่มีนโยบายที่จะลดผลกระทบในแง่ลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติหลากหลายชนิด เช่น การเดินป่า การขี่จักรยาน และชั้นเรียนสอนทำอาหาร รวมถึงมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้แก่แขกผู้เข้าพักเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาวบาหลี ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดโรงแรมรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปีนี้
กรณีของบันยันทรี เกาะบินตัง อินโดนีเซีย เป็นรีสอร์ตของอินโดนีเซียอีกแห่งที่ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 โรงแรมรักษ์ธรรมชาติของ AGODA จากแนวความคิดว่าด้วยการออกแบบ และวางแนวคิดเพื่อปกป้องและรักษาป่าเขตร้อนบริเวณรอบๆ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้อายุตั้งแต่ 50-100 ปี ไม่เพียงเท่านั้น บันยันทรี บินตังยังให้การสนับสนุนการพัฒนาของชาวบ้านและการอนุรักษ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านเครือข่ายหมู่บ้านและพันธมิตรกว่า 40 แห่ง ในภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้โซฟิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท, กัมพูชา ซึ่งเป็นรีสอร์ตแห่งเดียวในกัมพูชาที่เคยได้รับรางวัล "เอเชี่ยน เอเนอร์จี้ อวอร์ด" จากการให้ความร่วมมือกับองค์กรอิสระ Agrisud ในการต่อสู้และขจัดความยากจน ให้หมดไปจากเสียมเรียบ โดยโซฟิเทลได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์จาก เกษตรกรท้องถิ่นและจ้างแรงงานจำนวนหลายร้อยคนได้รับเลือกให้อยู่ในบัญชีนี้ด้วย
กรณีดังกล่าวใกล้เคียงกับการได้รับคัดเลือกของโฮเต็ล เดอ ลา เปย์ กัมพูชา หลังจากที่โรงแรมหรูแห่งนี้ให้ความช่วยเหลือ ทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานแก่ชาวท้องถิ่นและสนับสนุนกิจกรรมหลากหลายประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การจัดตั้งศูนย์เย็บปักถักร้อย ซึ่งให้การฝึกอบรมด้านทักษะและความรู้แก่หญิงชาวเขมรที่พิการ รวมถึงการมอบโอกาสให้ผู้เข้าพักได้มีส่วนร่วมในการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียน หรือบริจาคจักรยาน บ่อน้ำ และหมูแก่ครอบครัวที่กำลังต้องการสิ่งของเหล่านี้
ความโดดเด่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมของเอล นิโด รีสอร์ท เกาะมินิลอค ฟิลิปปินส์ ซึ่งสามารถลดปริมาณของเสียที่จะก่อให้ เกิดมลภาวะแก่หมู่แมกไม้และป่าโกงกางที่อยู่รอบๆ ด้วยการรีไซเคิลและอนุรักษ์พลังงานผ่านการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นในการทำความสะอาดชายฝั่ง และเฝ้าระวังระบบนิเวศ และการให้พนักงานของรีสอร์ตทุกคนเข้าร่วมในการฝึกอบรมสัมมนาที่มีชื่อว่า "Be G.R.E.E.N."(Guard, Respect, Educate El Nido) เป็นเวลา 5 วัน ส่วนกรณีของฟรานจิพานี่ ลังกาวี รีสอร์ท แอนด์ สปา มาเลเซีย เป็นตัวอย่างการนำแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติหลากหลายแนวทาง มาประยุกต์ใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยรีสอร์ตแห่งนี้มีนโยบายที่จะลดการบริโภคบริหารจัดการพลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกรองน้ำทิ้งให้สะอาดด้วยระบบบำบัดน้ำเสีย
ไม่เพียงแต่โรงแรมและรีสอร์ตหรูหราในภูมิภาค ASEAN เท่านั้นที่ได้รับคัดเลือกจาก AGODA ให้เป็นสุดยอดโรงแรมรักษ์สิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ หากแต่เดอะ ออร์คิด โฮเต็ล มุมไบ อินเดีย ซึ่งถือเป็นโรงแรมในเอเชียแห่งแรกที่ได้ประกาศนียบัตร ECOTEL อีกทั้งยังชนะเลิศรางวัลมาแล้วมากกว่า 61 รางวัลตลอดช่วงระยะ เวลา 11 ปีที่เปิดให้บริการก็ได้รับเลือกด้วยเช่นกัน โดยโรงแรมแห่งนี้มีถังที่ใช้สำหรับเลี้ยงฟาร์มไส้เดือน 9 ถัง และโรงบำบัดน้ำเสีย รวมถึงปุ่มสีเขียวพิเศษสำหรับให้ลูกค้ากดเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ ภายในห้องขึ้น 2 องศาเซลเซียสเพื่อเป็นการลดการบริโภคพลังงาน
ขณะที่โซนีวา ฟูชิ บาย ซิกซ์เซ้นส์เซส มัลดีฟส์ ได้ริเริ่ม โครงการสีเขียวไว้มากมาย เช่น โครงการปลูกต้นไม้ การรณรงค์ให้งดรับประทานหูฉลาม และแผนงานลดปริมาณคาร์บอนได ออกไซด์ในประเทศอินเดียโดยหันมาใช้กังหันลม รวมถึงการมีนักชีววิทยาทางทะเลประจำการอยู่ที่รีสอร์ตคอยให้ความรู้แก่แขก ผู้เข้าพักและดำลงไปสำรวจใต้มหาสมุทร ถือเป็นจุดเด่นในการผนวกการพักผ่อนเข้ากับการให้ข้อมูลความรู้อย่างลงตัว
บทบาทของคิงฟิชเชอร์ เบย์ แอนด์ วิลเลจ เฟรเซอร์ ไอส์แลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1992 และได้รับรางวัลมาแล้วมากมายในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการก่อตั้งศูนย์วิจัยและศึกษาไว้คอยจับตามองสภาพแวดล้อมของเกาะอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัด Eco tour ให้ความรู้แก่ผู้เข้าพักตั้งแต่ในเรื่องป่าโกงกางไปจนถึงวัฒนธรรมของชาวอะบอริจินรีสอร์ตแห่งนี้ยังมีฟาร์มไส้เดือนเพื่อหมักของเสียให้กลายเป็นปุ๋ยและนำกลับมาใช้กับสวนสมุนไพร นับเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รีสอร์ตจากดินแดน down under แห่งนี้ได้รับเลือกเป็น 1 ในสุดยอดรีสอร์ตรักษ์สิ่งแวดล้อม
แม้ว่าการดำเนินงานของโรงแรมและรีสอร์ต ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนี้ จะได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นเพียงความพยายามหาจุดขายใหม่ๆ หากในความเป็นจริงภาพสะท้อนของอันดับโรงแรม รักษ์สิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ปฏิเสธได้ยากว่าด้านหนึ่งเป็นกรณีที่สอดรับกับกระแส CSR (Corporate Social Responsibility) หรือแม้กระทั่ง Green Economy ที่กำลังเป็นประหนึ่งมาตรฐาน ใหม่ในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจในห้วงปัจจุบัน
ซึ่งหากประเมินในมิติดังกล่าว สิ่งที่น่ากังวลในระยะต่อไป ก็คือผู้ประกอบการของไทยจะสามารถปรับเปลี่ยนและอาศัยเงื่อนไขเหล่านี้มาเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยความหมายได้หรือไม่และอย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|