แชร์เครือข่าย 3G กสทจับมือทีโอที บริการก่อนเอกชน


ASTV ผู้จัดการรายวัน(30 พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"กสท" จับมือ "ทีโอที" ใช้โครงข่ายโทรศัพท์มือถือร่วมกัน หวังชิงความได้เปรียบ 3G ก่อนกทช.เปิดประมูล ‘จิรายุทธ’ซีอีโอ กสทแจงเป็นมิติใหม่หน่วยงานรัฐแชร์ค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ผนึกพลังสู้เอกชน

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคมกล่าวว่า กสทกับบริษัท ทีโอที ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการให้ความร่วมมือระหว่างกัน ในลักษณะการใช้โครงข่ายโทรศัพท์มือถือร่วมกันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้ ทั้ง 2 องค์กรมีความแข็งแรงพร้อมที่จะแข่งขันกับเอกชนได้

‘ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นตอนเดินทางไปดูงาน 3G ที่ประเทศเกาหลี โดยรมว.ไอซีทีเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว เพราะทั้งสองต่างมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่เหมือนกัน และความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการทำธุรกิจของ ทั้ง 2 องค์กร’

ทั้งนี้ทีโอทีได้ส่งร่างข้อตกลงมาให้กสทแล้ว โดยเป็นการเสนอขอเช่าใช้สถานีฐานโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอของกสทที่มีจำนวน สถานีฐาน 1,600 แห่งใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทีโอทีมีแผนที่จะขยายโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ TOT 3G ทั่วประเทศ ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ทีโอทีสามารถนำอุปกรณ์ 3G มาติดตั้งที่สถานีฐานของ CAT CDMA ได้ โดยทีโอทีเสียเพียงค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟในขณะที่กสทจะลดต้นทุนได้ทันที ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการเงินของกสทดีขึ้นอย่างทันตาเห็น

‘ทีโอทีจะได้ประโยชน์ในด้านไม่ต้องไปหาทำเลติดตั้งสถานีฐาน ในขณะที่ถ้าลงทุนสถานีฐานละประมาณ 4-5 ล้านบาท มาเช่าของกสทจะเสียค่าน้ำค่าไฟอาจจะประมาณ 1 ล้านบาทหรือประหยัดได้ 3-4 เท่า เงินที่เหลือก็สามารถนำไปติดตั้งสถานีฐานเพิ่มเติมได้อีก ในพื้นที่ซึ่งกสทไม่มีโครงข่ายแล้วเปลี่ยนมาให้กสทเช่าบ้างก็ได้’

วิธีใช้โครงข่ายร่วมกันเชื่อว่าจะทำให้ทีโอทีติดตั้งโครงข่าย 3G ได้เร็วมากขึ้น ในขณะที่เงินลงทุนเท่าเดิม รวมทั้งทีโอทีจะได้จำนวนสถานีฐานติตตั้งเพิ่มมากขึ้นจากแผนที่วางไว้เดิม ประมาณ 3,800 ไซต์ โดยไปลงทุนเพิ่มในพื้นที่เป็นจุดบอดที่ CAT CDMA ไม่มีสถานีฐาน แล้วเปลี่ยนมาให้กสทเช่า เป็นการแชร์ต้นทุนระหว่างกันความร่วมมือดังกล่าวยังจะขยายผลไปสู่โครงข่ายซี ดีเอ็มเอของฮัทช์ที่มีอยู่อีกประมาณ 1,300 สถานีฐานที่อยู่ใน 25 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งกสทกำลังตีมูลค่าเพื่อซื้อโครงข่ายโดยมีที่ปรึกษาคือ บล.บัวหลวงและ เอิร์นแอนด์ ยัง โดยในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ที่ปรึกษาจะนำราคาประเมินมาให้บอร์ดกสทเพื่อพิจารณาหลังจากนั้นก็จะ เสนอขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ฯเพื่อพิจารณาต่อไป

‘กสทยังมีแผนที่จะขยายโครงข่ายซีดีเอ็มเอเพิ่มขึ้น รวมของกสทกับที่จะซื้อฮัทช์แล้วกสทจะมีสถานีฐานมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทุกสถานีฐานพร้อมให้ทีโอทีเข้ามาใช้โดยแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกัน ซึ่งรายละเอียดจะต้องมาคุยกันว่าจะใช้ไซต์ไหน จะคิดค่าเช่าอย่างไร ซึ่งเป็นรายละเอียดตกลงกันไม่ยาก เพราะผู้บริหารทั้งสองต่างเห็นชอบในหลักการร่วมกันแล้ว’

นายจิรายุทธกล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างความได้เปรียบและสร้างความ เข้มแข็งให้กสทกับทีโอที ในขณะที่การประมูลใบอนุญาต 3G ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะประมูลได้เมื่อไหร่ แต่ทั้งสององค์กรจะมีบริการ 3G ก่อนโอเปอเรเตอร์เอกชนในส่วนของกสทเอง ก็มีเป้าหมายที่จะเข้าร่วมประมูล 3G ของ กทช.แต่จะต้องเสียเงินน้อยที่สุดหรืออาจไม่ต้องเสียเงินเลย โดยใช้ศักยภาพของจำนวนสถานีฐานที่กสทจะมีครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่งเป็นมูลค่าในการเข้าร่วมประมูลกับพาร์ตเนอร์

‘ตอนนี้ในกทม.จะไปหาที่ติดตั้งสถานีฐานได้ที่ไหนอีก เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละรายวางกันเต็มไปหมดแล้ว แต่ถ้าใครมาเป็นพาร์ตเนอร์กับกสท ก็จะได้ที่ตั้งสถานีฐานทันที พร้อมฐานลูกค้าของฮัทช์และ CAT CDMA รวมกันอีกกว่า 1 ล้านคน ซึ่งจะเป็นมูลค่าในการเข้าร่วมประมูล 3G กทช.กับพาร์ตเนอร์’

นอกจากนี้จิรายุทธยังมองว่าในอนาคตหากเทคโนโลยี 4G หรือ LTE (Long Term Evolution) ถูกพัฒนาไปบนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ มีเวนเดอร์ผลิตอุปกรณ์และเครื่องลูกข่ายจำนวนมากราคาถูก กสทก็จะเกาะเกี่ยวไปกับเทคโนโลยีบนย่านความถี่นี้ด้วย แต่ถ้าไม่ใช่กสทก็ยังมีซีดีเอ็มเอ 2000 1X EV-DO เป็นอีกด้านของเทคโนโลยี เพื่อให้กสทมีความถี่และระบบทั้ง 2ด้านที่จะสามารถพัฒนารองรับอนาคตของเทคโนโลยีได้โดยไม่ตกกระแส

นอกจากนี้กสทยังมีแผนที่จะวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วในกทม.ด้วยเงินลงทุน ประมาณ 6 พันล้านบาทเพื่อเป็น Last Mile ในการเข้าถึงบ้านผู้เช่าหรือกลุ่มลูกค้าโดยตรง ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯโดยคาดว่าหากได้รับการ อนุมัติจะสามารถติดตั้งได้ภายในปี 2553 และจะเริ่มมีรายได้ในปี 2554

‘ผมพยายามวาง Core Network ให้กสททั้งมีสายและไร้สาย เพื่อหาบริการมาวิ่งบนเน็ตเวิร์กเหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ๆอย่างโมบายล์ บรอดแบนด์ ที่จะเป็นรายได้หลักในอนาคต จากปัจจุบันที่กสทมีรายได้หลักจากบรอดแบนด์ประมาณ 50% ของรายได้รวม ตามมาด้วยบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ’

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าความร่วมมือของกสทกับทีโอที จะเป็นเหตุผลสำคัญและสร้างความชอบธรรมให้กสทในการซื้อฮัทช์และทีโอทีในการ ขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศ เพราะผู้บริหารทั้ง 2 องค์กรไม่ได้มองเฉพาะองค์กรตัวเอง แต่มองถึงการสร้างความเข้มแข็งร่วมกัน (Synergy)ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่วันนี้พัฒนาเป็น 3G เป็นโมบายล์ บรอดแบนด์หรืออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงที่ได้ประโยชน์ทั้งด้านธุรกิจ และด้านสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลหรือระบบโทรคมนาคมของ คนในประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.