Q3แบงก์พาณิชย์กำไรพุ่ง


ผู้จัดการรายวัน(29 กันยายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ คาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ไตรมาส 3 ดีขึ้น สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวขึ้น บวกกับไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม ขณะที่นักวิเคราะห์ แนะลงทุนหุ้นแบงก์กสิกรไทย-กรุงไทย

นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพ สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมี ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจได้มีทิศทางการปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นความจำเป็นในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจึงลดลง

ประกอบกับรายได้จากผลประกอบการของบริษัทในเครือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเท่าที่ดูตอนนี้ถือว่ามีการขยายตัวในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้เชื่อว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่จะประกาศออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้มีความพยายามในการที่จะปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าความต้องการด้านสินเชื่อในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเพิ่งจะฟื้นตัวอาจจะทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบในตอนนี้ ยังขยายตัวได้ไม่มาก มีอัตราการขยายตัวเพียง 7.8% เท่านั้น

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่าการปล่อย กู้ให้กับรายใหญ่ ประกอบกับผู้กู้เองก็มีแหล่งเงินกู้ที่หลากหลายมากขึ้นเช่นการออกหุ้นกู้ การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น เป็นต้น

นางธาริษา กล่าวต่ออีกว่า การขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยขณะนี้มีสัดส่วนแค่ 14% ของทั้งระบบ ถือว่ายังเป็นสัดส่วนไม่มากนัก และสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ประชากรตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 50% หรือ 80,000 บาท เทียบกับหนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีที่มีระดับสูงเกินกว่า 100% ซึ่งมากกว่าของไทย และถึงแม้ตัวเลขสัดส่วนหนี้ดังกล่าวจะไม่สูง แต่ธปท.ก็ไม่ได้ชะล่าใจยังคงติดตามดูแล อย่างใกล้ชิด

"ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีระบบกระบวนการปล่อยสินเชื่อดีกว่าในอดีตที่ผ่านมามีความชัดเจนในการบริหารความเสี่ยง และมีคณะกรรมการธนาคารเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น มีการใช้ระบบเครดิต บูโร และระบบเครดิตสกอริ่งมาใช้ ซึ่งยอมรับว่าการควบคุมความเสี่ยงของแบงก์มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก" รองผู้ว่าการธปท.กล่าว

จากการคาดการณ์ของธปท. ดังกล่าว สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่ยังมีคำแนะนำให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK และธนาคารกรุงไทย หรือ KTB

KBANK ราคาเป้าหมาย 50-53 บ.

โดยบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่าแม้ผลการดำเนินงานของ KBANK ไตรมาส 3 จะลดลง แต่ภาพรวมของธนาคารยังดีอยู่ โดยเฉพาะภาระดอกเบี้ยที่จะลดลงอย่าง มากในปีหน้า จึงแนะนำให้ซื้อลงทุน โดยมีราคาเป้าหมายที่ระดับ 53 บาท ขณะที่ราคาปิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 26 กันยายนอยู่ที่ระดับ 43.75 บาท

บล.ดีบีเอส ประมาณการกำไรสุทธิไตรมาส 3 ไว้ที่ระดับ 2.1 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส ก่อน 75% แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.4 % ขณะที่แผนการไถ่ถอน SLIPs จะมีการไถ่ถอนโดยใช้กำไรของธนาคารเองอย่างแน่นอน

ขณะที่ บล.บัวหลวง แนะนำให้ซื้อหุ้น KBANK ที่ราคาเป้าหมาย 53 บาท ในปี 2547 โดยคาดว่าในปีหน้าธนาคารจะมีผลการดำเนินงานโตขึ้น 60% จากปี 2546 เนื่องจากการไถ่ถอน SLIPS และการขยายตัวของสินเชื่อ สอดคล้องกับบล.กรุงศรีอยุธยา ที่ยังคงราคาเป้าหมายระยะ ยาวที่หุ้นละ 50 บาท

คาด Q3 กรุงไทยกำไรกว่า 2พันล้าน

ส่วนหุ้นของธนาคารกรุงไทย บล.กรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ผลการแปรรูปของธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ว่าไตรมาส 3 KTB จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2,361 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2 ที่ขาดทุนสุทธิ 621 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการตั้งสำรองฯ 3,545 ล้านบาท

จากประมาณการผลการดำเนินงานดังกล่าว บล.กรุงศรีอยุธยา ได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 12 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาในกระดานอยู่ที่หุ้นละ 10.20 บาท จากประโยชน์ที่จะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมในการเป็นผู้ออกแบบและดูแลระบบ บริหารเงินของรัฐบาลด้านงบประมาณแผ่นดิน ทั้งรายรับและรายจ่ายราคาปัจจุบัน และแนะนำ ซื้อ KTB เพื่อการลงทุน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.