ธปท.ยันคงนโยบายผ่อนคลาย ชี้ศก.เสี่ยง-คาดQ4เงินเฟ้อบวก


ASTVผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติยันยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เหตุเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง ส่วนที่เงินเฟื้อพื้นฐานไตรมาส 2-3 ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน มั่นใจไม่ใช่สัญญาณเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และเงินเฟ้อจะดีดกลับเข้าสู่เป้านโยบายการเงินไม่เกินไตรมาส 2 ของปีหน้า แม้ภาครัฐต่อมาตรการค่าครองชีพในสิ้นปีนี้ ส่วนกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปีหน้ายังคงใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.5-3% เหมือนในปี 52

นายอัมพร แสงมณี ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอยู่ ทั้งด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างช้าๆ และการขยายตัวประเทศในกลุ่มประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะเชื่อว่าจะช่วยในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปอยู่

ส่วนในปีหน้าที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นนั้น ธปท.มองว่าหากต่อไปเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงเป็นแรงขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองได้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินมากอาจไม่ค่อยมีความจำเป็น แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)

ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้จะติดลบอยู่ที่ระดับ 0.1% และ 0.5% ตามลำดับ ซึ่งอยู่นอกเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้ในการกำหนดนโยบายการเงิน คือ 0.5-3% ในปีนี้ เนื่องจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง ประกอบกับมาตรการเพื่อการลดค่าครองชีพของรัฐ ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากปกติอีก 1.8% ในช่วงไตรมาส 2 และ 1% ในไตรมาส 3 รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะหลุดจากกรอบเป้าหมายถึง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าจะเกิดปัญหาเงินฝืดในอนาคต เนื่องจากมองว่าราคาสินค้าทุกประเภทไม่ได้ปรับลงพร้อมกัน และภาคเอกชนไม่ได้คาดการณ์ว่าต่อไปอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ รวมถึงผลจากมาตรการเพื่อลดค่าครองชีพของรัฐจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น แต่หากหักมาตรการออกไปอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดอยู่ โดยไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 1.7% และไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.6%

สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่าเป้าอยู่ ซึ่งกนง.ประเมินไว้ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่าจะติดลบ 0.5%-0.5% แต่คาดว่าตัวเลขจริงจะเป็นบวกอยู่ แต่ไม่ถึงขอบล่างของเป้าหมาย คือ 0.5% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อระดับดังกล่าวได้รวมมาตรการภาครัฐไว้แล้วด้วย เนื่องจากฐานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีก่อนต่ำผลจากราคาน้ำมัน

นายอัมพร กล่าวว่า แม้หากในช่วงสิ้นปีนี้ภาครัฐจะตัดสินใจต่ออายุมาตรการค่าครองชีพเช่นเดิม ทำให้การกลับเข้าสู่เป้าหมายอาจต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่ประเมินไว้ จากไตรมาสแรกของปีหน้าจะเป็นไตรมาส 2 แทน ซึ่งมาตรการของภาครัฐจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแค่ 1 ปีเท่านั้น

สำหรับเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 53 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตกลงระหว่างธปท.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคาดว่ายังคงใช้เป้าหมายเดิมในปี 52 ที่ได้ใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา คือ กำหนดให้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 0.5-3%ต่อปี ซึ่งเป้าหมายที่เสนอให้คลังได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวแล้ว และมองว่าเป้าหมายควรนิ่ง โดยหากเทียบกับในต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้เป้าหมายเดิม ซึ่งในแต่ละปีจะพิจารณาว่าเป้าหมายดังกล่าวจะครอบคลุมหรือไม่เท่านั้น จึงเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปเป้าหมายนโยบายการเงินในปีหน้าได้ภายในเดือนธ.ค.ของปีนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.