4 อนุรักษ์ของลีโอนิค

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายในห้องประชุมในโรงงานของบริษัทลีโอนิค ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ มีป้ายขนาดใหญ่ เขียนเนื้อความไว้ว่า "4 อนุรักษ์" ซึ่งประกอบไปด้วย 1. อนุรักษ์ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

2. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งใกล้ไกล

3. อนุรักษ์พลังงานทรัพยากรไว้

4. อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สำเริงบอกว่า การที่จะต้องปลูกฝังให้พนักงานของลีโอนิค ยึดมั่นในคำ "อนุรักษ์-" ทั้ง 4 ข้อ เพราะเขาเห็นว่าด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ทำให้คนส่วนใหญ่ลืมถึงธาตุแท้ของตัวตนของเราว่ามาจากอะไร กำลังทำอะไร และจะเดินต่อไปทางไหน

ความพยายามที่จะอนุรักษ์สิ่งดีๆ ที่มีอยู่ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด น่าจะเป็นการเตือนใจคนให้ย้อนกลับมาดูตนเอง ให้เห็นว่าสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคยทำเอาไว้ยังคงมีสิ่งที่ดีๆ อยู่อีกมาก

เขาอธิบายความหมายของคำ "อนุรักษ์" ทั้ง 4 ข้อว่า ข้อ 1 และ 2 คือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม คือ ในการตั้งโรงงานจะต้องไม่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้รอบๆโรงงาน เพื่อให้โรงงานมีความเป็นสีเขียว

ต้นไม้ที่สำเริงนำมาปลูก ทุกต้นจะเป็นไม้ไทย ดอกหอม เพื่อให้พนักงานทุกคนสำนึกในความเป็น คนไทย ประกอบด้วยต้นปีบ ต้นโมก ต้นหว้า ฯลฯ นอกจากนี้ในบริเวณด้านหลังของโรงงานยังปลูกต้นขนุน เพื่อทำตามความเชื่อของคนไทยโบราณ ที่จะได้มีแรงหนุนส่งให้ประสบความสำเร็จในการกระทำทุกอย่าง

ขณะเดียวกัน เขายังได้กันพื้นที่จำนวนหนึ่ง จากเนื้อที่ทั้งหมด 4 ไร่ที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงงาน เพื่อขุดบ่อ ไว้เลี้ยงปลา เพื่อสร้างทัศนียภาพของโรงงานให้มีความเย็นสบาย

ส่วนข้อ 3 คือ การอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรนั้น เขาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การจะเป็น SMEs ประสบความสำเร็จ เพราะพลังงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพราะฉะนั้นภายในโรงงานเขาจะเน้นในเรื่องของการประหยัดเป็นอันดับแรก

ในบริเวณโรงงาน หากในจุดไหนที่ไม่มีพนักงานเข้าไปทำงาน จะปิดไฟไว้ตลอด โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นโกดังเก็บวัตถุดิบ และหากพนักงานจะต้องเข้าไปหา วัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิต จะมีรถเข็นที่ติดไฟนีออนไว้ เพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอต่อการหาของ ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟทั้งหมด

และในส่วนที่พนักงานทำงาน ก็จะใช้การเปิดไฟสลับดวง เพื่อให้แสงสว่างสามารถครอบคลุมถึงเพียงพอต่อการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดทุกดวง

ในกระบวนการผลิต หากขั้นตอนใดที่เขาเห็นว่าสามารถใช้กำลังฝีมือแรงงานคนมาผลิตได้ โดยไม่ต้องสั่งซื้อเครื่องจักร เขาก็จะใช้คนให้มากที่สุด ส่วนในขั้นตอนใดที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักร เขาจะพยายามสร้างเครื่องจักรชิ้นนั้นด้วยทรัพยากรที่มีอยู่เอง

ในโรงงานของลีโอนิค เครื่องจักรเพียงชิ้นเดียว ที่มีราคาแพงที่สุด คือ เครื่องประกอบแผงวงจร ซึ่งสามารถประกอบได้ถึง 2 แสนแผ่นต่อเดือน ซึ่งสำเริง ซื้อมาในราคา 20 ล้านบาท

ส่วนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยนั้น สำเริงใช้วิธีนำสิ่งของ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย มาวางไว้ตามจุดต่างๆ ภายในโรงงาน โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้า มีการวางเกวียนเก่าไว้คู่กับแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตามกาลเวลา

นอกจากนี้ในบริเวณห้องประชุม เขายังได้จัดมุมวางผลิตภัณฑ์ที่มาจากงานฝีมือคนไทย จากทั่วทุกๆ ภาค ซึ่งเขาใช้ทุนส่วนตัวซื้อสะสมไว้นานแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.