|
ปตท.ฮุบเหมืองอินโดฯเพิ่ม
ASTVผู้จัดการรายวัน(19 พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท.จ่อขยายธุรกิจถ่านหินที่อินโดนีเซียเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากที่เมื่อต้นปีได้ลงทุนธุรกิจถ่านหินเป็นครั้งแรก ตั้งเป้า 5ปีข้างหน้าผลิตถ่านหินไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัน จากปีนี้ที่มีรายได้จากการขายถ่านหิน500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ เตรียมถือหุ้นกึ่งหนึ่งในโครงการFLNG ร่วมกับปตท.สผ.ในออสเตรเลียด้วย
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือปตท. กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อเหมืองถ่านหินที่เกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม นอกเหนือจากเหมืองถ่านหินเดิม โดยเหมืองถ่านหินดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการสำรวจและพร้อมที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 6เดือนข้างหน้านี้
ในปีนี้บริษัทวางแผนจะผลิตถ่านหินจากเหมืองที่มีอยู่ราว 9 ล้านตัน จากราว 7-8 ล้านตัน/ปีในปีที่แล้ว คาดว่าจะทำให้มีรายได้จากการขายถ่านหินประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ และปีหน้าจะขยายการผลิตเพิ่มเป็น 11-12 ล้านตัน และเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20 ล้านตันภายใน 5 ปีข้างหน้า
การลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดฯมีความก้าวหน้าตามลำดับ และพยายามหาแหล่งใหม่ๆเข้ามาเพิ่ม ซึ่งถ่านหินที่ผลิตได้จะส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน แต่ไม่ส่งกลับมายังประเทศไทย ซึ่งการขยายธุรกิจทำเหมืองถ่านหินเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซฯและน้ำมัน และเพิ่มโอกาสในการเติบโตของปตท.ในระยะยาว โดยประเมินรายได้จากการทำเหมืองถ่านหินน่าจะอยู่ที่ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปตท.ถือหุ้นในธุรกิจถ่านหินนี้อยู่ 60%”นายจิตรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปตท.ได้เข้าลงทุนในธุรกิจถ่านหินผ่านทางพีทีที อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อต้นปีนี้ โดยถือหุ้น 60% ใน PTT Asia Pacific Mining Pty Limited (PTTAPM) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ขณะที่ PTTAPM ถือหุ้น 47.1% ใน Straits Asia Resources (SAR) ซึ่งมีเหมืองถ่านหินใน อินโดนีเซีย 2 เหมืองที่มีการผลิตแล้ว ได้แก่ Sebuku และ Jambayan ขณะที่มีโครงการ สำรวจอีก 1 เหมือง
นอกจากนี้ PTTAPM ยังถือหุ้นในบริษัทที่ทำธุรกิจถ่านหินในบรูไน และเกาะมาดากัสกา
นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้ลงทุนโครงการปลูกปาล์ม บนพื้นที่ 8.75 หมื่นไร่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยได้ปลูกปาล์มไปแล้วเกือบ 2 หมื่นไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะทยอยปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีแผนจะลงทุนสร้างโรงงานน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซล (บี100) คาดว่าจะแล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2554-2555 นับเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจน้ำมัน ไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน
รวมทั้งมีแผนจะเข้าไปร่วมทุนพัฒนาโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ(FLNG) ของปตท.สผ. ในแหล่งCash Maple ที่ออสเตรเลีย โดยปตท.จะเข้าไปถือหุ้นร้อยละ 50 ร่วมกับปตท.สผ. ประเมินว่าแหล่งดังกล่าวจะผลิตFLNGได้ในปี 2556-2557
ก่อนหน้านี้นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.วางแผนที่เพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 20% ของรายได้รวมภายใน 5 ปีจาก ปัจจุบันที่มีกว่า 10% ซึ่งมาจากธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนในต่างประเทศ
นายวีระศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาการระงับการดำเนิน 76 กิจการในนิคมฯมาบตาพุด คงจะจบได้ประมาณ 1-2 เดือนนี้ เพราะเชื่อว่าคณะทำงาน 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จะกำหนดแนวทางแก้ปัญหาได้ ขณะที่ภาคเอกชนก็พร้อมจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้โรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 ของปตท.สามารถเปิดดำเนินการได้
“ ระหว่างที่ โรงแยกก๊าซฯหน่วย 6 ยังไม่สามารถเปิดผลิตได้ ทางปตท.เคมิคอลได้เลื่อนเวลาการปิดซ่อมบำรุงโรงแครกเกอร์ 1 จากไตรมาส 3 เป็นปลายปีนี้ และหลังจากที่แครกเกอร์ 1 ปิดแล้ว ก็จะนำเอทิลีนมาใช้ในโรงเอทิลีนแครกเกอร์ล้านตันแทน แต่จะทดแทน 60% เท่านั้น จึงหวังว่าปัญหามาบตาพุดจะจบโดยเร็ว” นายวีระศักดิ์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|