ทุ่มสกัดบาทแข็ง แบงก์ชาติปล่อยผี ลงทุนนอกไม่อั้น!!!


ASTVผู้จัดการรายวัน(16 พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.เผยเล็งผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินทุนไหลออกเพิ่มเติม หวังเปิดโอกาสให้คนไทยหาผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง โดยวางแผนแบบระยะสั้น 1-2 ปี เปิดช่องให้คนไทยถือสกุลเงินตราต่างประเทศไม่จำกัดเวลาและปริมาณเงิน ซื้อเงินดอลลาร์สะสมได้เพิ่มขึ้น เพิ่มวงเงินให้กองทุน FIF และ FDI รวมถึงลดขนาดบริษัทที่มีสินทรัพย์ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปสามารถลงทุนในต่างประเทศได้และเพิ่มวงเงิน ขณะที่แผนระยะยาวเน้นให้รายย่อยป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างทำแผนผ่อนคลายให้นำเงินทุนออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติม หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการเปิดเสรีให้เงินทุนไหลเข้ามายังไทยได้มากขึ้น ซึ่งจะมีทั้งแผนแบบระยะสั้นในช่วง 1-2 ปีนี้ และแผนระยะยาว เพื่อสร้างความสมดุลให้เงินทุนที่ไหลเข้าและออกไทย พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้แก่คนไทยหาผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ แผนช่วงระยะสั้นจะเน้นขจัดอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ออกไป โดยขณะนี้กำลังศึกษา 3-4เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1.จะขยายช่องทางให้ผู้ที่มีแหล่งที่มาหรือรายได้จากต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออก เงินกู้จากต่างประเทศ หรือเงินที่ได้รับจากการบริจาค เป็นต้น ซึ่งเงินเหล่านี้ต้องนำเงินเข้ามายังไทยภายใน 1 ปี สามารถฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ไทยในสกุลเงินตราต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนและระยะเวลาการฝาก

“แม้จะขยายให้วิธีการฝากเงินตราต่างประเทศในไทยได้เต็มจำนวนและนานแค่ไหนก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะไม่สร้างแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า เพราะสุดท้ายแล้วธนาคารพาณิชย์จะนำเงินตราต่างประเทศเหล่านั้นไปฝากยังต่างประเทศ”

2.ซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐสะสมได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันหากซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศกำหนดให้รายละไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือวางแผนส่งเงินเพื่อเรียนในต่างประเทศที่ปัจจุบันสะสมไม่ให้เกิน 3-5 แสนเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งเงินในส่วนของภาคธุรกิจก็ให้เป็นไปตามภาระผูกพัน เป็นต้น

3.เพิ่มวงเงินในส่วนกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIF) จากปัจจุบันที่ธปท.ให้วงเงิน 3 หมื่นล้านเหรียญ รวมถึงนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ(FDI) ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถลงทุนได้ไม่มีข้อจำกัด แต่ต่อไปจะผ่อนคลายให้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ทำธุรกรรมเพิ่มเติมและวงเงินเพิ่มเติม จากปัจจุบันกำหนดให้กู้หรือส่งเงินให้บริษัทในเครือในต่างประเทศ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

และ4.ลดขนาดบริษัทที่มีสินทรัพย์ 2,000 ล้านบาทขึ้นไปให้สามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ รวมถึงเพิ่มวงเงินลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่กำหนดให้บริษัทที่มีสินทรัพย์ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนในต่างประเทศได้วงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐได้โดยไม่ต้องขออนุญาตธปท. แต่พบว่า บริษัทที่ เข้าข่ายลงทุนไม่มากนัก ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจผิดว่าเป็นการลงทุน ทำให้ต้องขอคณะกรรมการบริษัท จึงต้องใช้เวลา หรือบางบริษัทมองว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งปกติทำเยอะอยู่แล้วในการซื้อวัตถุดิบ และที่ผ่านมาก็มีบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งขอไปลงทุนมากกว่า 50 ล้านเหรียญด้วย จึงได้ผ่อนคลายเพิ่มเติมให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

นางสุชาดา กล่าวว่า สำหรับแผนระยะยาวจะรองรับการเปิดเสรีมากขึ้น โดยประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่ขณะนี้พิจารณาอยู่ คือ สนับสนุนให้ผู้ที่มีรายได้รูปเงินตราต่างประเทศหันทำการป้องกันความเสี่ยงเงินตราต่างประเทศ(Hedging) มากขึ้น โดยเฉพาะรายย่อย โดยในปัจจุบัน พบว่า สัดส่วนของผู้ส่งออกทำ Hedging ประมาณ 30% ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน จากเดิมที่มีสัดส่วน 20% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการทำถึง 50% ถือว่าน้อยมาก

ดังนั้น ในส่วนของรายย่อยที่ปัจจุบันมีการทำHedging ค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้นทุน Hedging สูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ และธนาคารพาณิชย์เองยากในการพิจารณาให้บริการนี้แก่ลูกค้ารายใหม่หรือรายย่อย ทำให้ในเบื้องต้น ธปท.จึงจะร่วมกับธนาคารพาณิชย์ให้คำแนะนำความรู้แก่ผู้ประกอบการ นอกเหนือจากการจัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.