|
Chapelle expiatoire
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ถนนโอสมานน์ (boulevard Haussmann) นั้นยาวมาก มักไปเริ่มจากห้างสรรพสินค้า กาเลอรีส์ ลาฟาแยต (Galeries Lafayette) ผ่านห้างสรรพสินค้าแพรงตองป์ (Printemps) ไปเรื่อยๆ จนถึงโบสถ์แซงต์-โอกุสแตง (Saint-Augustin) ลานหน้าโบสถ์มีรูปปั้นฌาน ดาร์ก (Jeanne d'Arc หรืออีกนัยหนึ่ง Joan of Arc) เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอนุสาวรีย์ของสาวบ้านนอก ผู้พยายามกอบกู้ฝรั่งเศสให้พ้นจากการครอบครองของอังกฤษ หากการต่อสู้ทาง การเมืองทำให้เธอพ่ายแพ้ ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและถูกเผาทั้งเป็น อย่างไรก็ตาม ในภายหลังฌาน ดาร์กได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ
รูปปั้นของฌาน ดาร์กอีกแห่งที่โดดเด่นกว่านี้อยู่บนถนนริโวลี (rue de Rivoli) ตรงปลายสุดของอาคารที่เป็นพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) สีทองอร่ามจับตาอยู่กลางถนนตรงทางแยก
ระหว่างห้างแพรงตองป์และโบสถ์ แซงต์-โอกุสแตงมีสถานที่ควรแก่การแวะชมอยู่คนละฟากถนน คือ Square Louis XVI ล้อมรอบด้วยรั้วเหล็กหลอม มีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น เป็นสวนเล็กๆ สำหรับผู้คนในย่านนั้น ม้านั่งยาวตั้งเป็นระยะๆ ผู้คนมายึดจอง บ้างนอนบนผืนหญ้าที่มีนกพิราบเป็นเพื่อน นกดูเชื่องเพราะนั่งพักเหนื่อยเช่นกัน หากสิ่งที่น่าสนใจคืออาคารที่อยู่ด้านหลัง มีชื่อเรียกว่า Chapelle expiatoire
Chapelle expiatoire มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก สถาปนิกผู้ออกแบบคือปิแอร์-ฟรองซัวส์-เลโอนาร์ด ฟงแตน (Pierre-Francois-Leonard Fontaine) ในอดีตเป็นสุสานของโบสถ์มาดแลน (Basilique de la Madeleine) ผู้ให้สร้าง Chapelle expiatoire คือกษัตริย์หลุยส์ 18 (Louis XVIII) เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานสำหรับกษัตริย์หลุยส์ 16 และพระนางมารี-อองตัวแนต (Marie-Antoinette)
ในรัชสมัยหลุยส์ 16 ประชาชนยากจนอดอยาก ในขณะที่ราชสำนักยังหรูหราฟู่ฟ่า เมื่อความทราบถึงมารี-อองตัวแนตว่าประชาชนไม่มีขนมปังจะกิน มารี-อองตัวแนตไร้เดียงสาเกินกว่าจะตระหนักว่าความยากจนเป็นอย่างไร จึงกล่าวประโยคประวัติศาสตร์ว่าไม่มีขนมปัง (pain) จะกิน ก็กินบริออช (brioche) สิ
อันว่า brioche นั้นคือขนมปังเนย ที่มีราคาแพงกว่าขนมปังธรรมดา จึงทำให้ประชาชนโกรธแค้นยิ่งขึ้น ปัญหาสะสมจนเกิดการปฏิวัติใหญ่ในปี 1789 เริ่มจากการที่ประชาชนมุ่งไปพระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) เพื่อจับตัวหลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนต หากหนีไปได้เสียก่อน อีกส่วน หนึ่งไปยึดคุกบาสตีย์ (Bastille) อันเป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง ยึดบาสตีย์ได้ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ฝรั่งเศสจึงถือวันที่ 14 กรกฎาคมเป็นวันฉลองแห่งสหพันธรัฐ - fete de la Federation ตั้งแต่ปี 1790 ต่อมาในปี 1880 จึงมีการออกกฎหมายให้เป็นวันฉลองแห่งชาติ - fete nationale ซึ่งคือวันชาตินั่นเอง
หลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนตหนีไม่พ้นเงื้อมมือพวกปฏิวัติถูกนำไปขังที่ปราสาทตองปล์ (Chateau du Temple) และถูกพิพากษาประหารชีวิตในวันที่ 21 มกราคม และ 16 ตุลาคม 1793 ตามลำดับ ถูกตัดศีรษะด้วยเครื่องกีโยตินที่ปลาซ เดอ ลา เรโวลูซิอง (Place de la Revolution) ซึ่งภายหลังคือปลาซ เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) ศพถูกนำมาฝังที่ซึ่งในปัจจุบันคือ Chapelle expiatoire
ในปี 1796 พวกปฏิวัติขายที่ดินผืนนี้แก่อิซัก จาโกต์ (Isaac Jacot) ต่อมา ปิแอร์-หลุยส์ โอลิวีเอร์ เดส์โคลโซส์ (Pierre-Louis Olivier Desclozeaux) ผู้พิพากษาที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพำนักในบริเวณใกล้เคียงซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ และปลูกต้นไม้รายรอบบริเวณที่เป็นที่ฝังศพของหลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนต
ดูแชส ดองกูแลม (Duchesse d'Angouleme) ซึ่งเป็นพระราชธิดาของหลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนต ขอให้กษัตริย์หลุยส์ 18 ขุดหาศพ ในวันที่ 21 มกราคม 1815 จึงนำไปบรรจุที่วิหารแซงต์-เดอนีส์ (Basilique Saint-Denis) อันเป็นที่ฝังศพของกษัตริย์ฝรั่งเศส
ชาโตบริอองด์ (Chateaubriand) นักเขียนดังซึ่งไปร่วมพิธีย้ายศพของหลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนตได้เขียนเล่าในเรื่อง Memoire d'outre-tombe
ปิแอร์-หลุยส์ โอลิวีเอร์ เดส์โคลโซส์ขายสุสานเก่าแห่งนี้แก่หลุยส์ 18 ในปี 1816 จึงให้สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงหลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนต โดยให้สถาปนิกของนโปเลอง (Napoleon) ชื่อ ปิแอร์-ฟรองซัวส์ เลโอนาร์ด ฟงแตน (Pierre-Francois Leonard Fontaine) เป็นผู้ออกแบบ ใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี 1816-1826
ในบริเวณนี้มีป้ายรำลึกถึงทหารสวิสที่ปกป้องหลุยส์ 16 และมารี-อองตัวแนตที่พระราชวังตุยเลอรี (Tuileries) ด้วย
ภายใน Chapelle expiatoire มีรูปปั้นด้านซ้ายและขวา รูปหนึ่งเป็นผลงานของโบซิโอ (Bosio) เป็นรูปปั้นหลุยส์ 16 มีนางฟ้าส่งขึ้นสวรรค์ อีกรูปหนึ่งเป็นผลงานของกอร์โตต์ (Cortot) เป็นมารี-อองตัวแนตขึ้นสู่ฟ้า
พี่น้องตระกูลกงกูรต์ (Goncourt) คือเอดมงด์ (Edmond) และจูลส์ (Jules) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Histoire de Marie-Antoinette ไม่ชอบ Chapelle expiatoire เอาเสียเลย ต่างจากชาโตบริอองด์
Chapelle expiatoire ยังเป็นที่ฝังศพกงแตส ดู บารี (Comtesse du Barry) ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|