|
Ice-cream Designer จับไอเดียมาใส่ไอติม
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ขนมก้อนกลมรสหวานเย็นที่เรียกกันว่า "ไอศกรีม" เกาะกุมหัวใจผู้คนทั่วโลกทุกเพศทุกวัย แม้มนุษยชาติมีไอศกรีมนับร้อยพันรสชาติ แต่ดูจะไม่ตอบสนองความต้องการของสาวกบางคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสาวน้อยที่ผันตัวเองมาเป็น "Ice Cream Designer" ผู้สร้างสรรค์รสชาติแปลกใหม่ประดับไว้ในโลกเย็นๆ ของไอศกรีม
กล่องเบนโตะเรียงรายด้วยอาหารหน้าตาคล้ายซูชิ แทนที่จะเป็นข้าวปั้นกลับเป็นไอศกรีมนมสดบ้าง ไอศกรีมรสข้าวบ้าง แทนที่ปลาแซลมอนสีส้มกลับเป็นมะละกอฝาน แทนที่ไข่หวานเป็นสับปะรด ส่วนก้อนที่ละม้ายวาซาบิกลับเป็นไอศกรีมรสวาซิบิแทน
นอกจากไอศกรีมหน้าตาญี่ปุ่น ยังมีไอศกรีมรสชาติขนมไทย ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมสีเหลืองทองรสแกงบวชฟักทอง ไอศกรีมห่อใบตองหน้าตาและรสชาติได้อารมณ์ข้าวต้มมัด ไอศกรีมผสมเนื้อฝอยทองให้รสชาติคล้ายขนมเบื้องและไอศกรีม รสขนมสอดไส้ที่ให้รสและกลิ่นมะพร้าวทั้งหอมและหวาน
แต่รสชาติที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นไอศกรีมสีเทาในที่เขี่ยบุหรี่ ดูราวกับขี้บุหรี่ ขนาดสิงห์อมควันยังบอกว่ารสชาติของบุหรี่จริงๆ
ไอศกรีมทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพียงเพื่อความสวยงาม หรือความเหมือนเพื่อสร้างกระแส "ทอล์คออฟเดอะทาวน์" แต่หลายรสชาติยังถูกลิ้นนักชิมและถูกใจหลายคนจนต้องซื้อกลับไปฝากคนที่บ้าน ไม่เว้นแม้แต่รสบุหรี่ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของไอศกรีมรสชาติแปลกใหม่ที่ถูกสร้างสรรค์โดย "นักออกแบบไอศกรีม" วัยเพียงไม่ถึง 30 ปี ที่ชื่อ "พริมา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา"
เส้นทางนักออกแบบไอศกรีมของพริมาเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็กที่ ม.ล.ยุวแก้ว จักรพันธุ์ ผู้เป็นพ่อมักจะเกี่ยวก้อยลูกสาวไปนั่งทานไอศกรีมด้วยกันเป็นประจำ แต่ด้วยจำนวนร้านและแบรนด์ที่ไม่มีให้มาก บวกกับรสชาติก็ไม่หลากหลาย บ่อยครั้งเธอจึงต้องช่วยพ่อปั่นไอศกรีมทานกันเอง
ความสนุกและการเรียนรู้ระหว่างกระบวนการทำไอศกรีมในวัยเด็ก ไม่เพียงเป็นภาพทรงจำดีๆ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ตกตะกอนอยู่ในลิ้นชักสมองเพื่อรอวันนำออกมาใช้
ปี 2546 หลังเรียนจบด้านออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พริมาได้งานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัท Benchmark Studio แต่ด้วยความเชื่อว่างานออกแบบไม่ควรจำกัดแค่การออกแบบเครื่องใช้หรืองานตกแต่ง ทว่าสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวันก็น่าจะถูกออกแบบได้
ไอศกรีมคือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้าม ทั้งที่เข้าถึงหัวใจของคนทุกเพศทุกวัยและทุกชาติทุกภาษา บวกกับความชอบทานไอศกรีมและภาพทรงจำในวัยเด็กประกอบกับตลาดไอศกรีมเริ่มบูมมากในช่วงนั้น ปัจจัยเหล่านี้จุดประกายให้เธอทดลองจับไอศกรีมมาออกแบบ
"ช่วงเรียนจบ berry ก็เพิ่งเปิด บาสกิ้นร็อบบิ้นส์ ไฮเก้นดาส ก็เข้ามาเมืองไทยแล้ว ตอนนั้นหลายคนอยากเปิดร้านไอศกรีม ร้านขนมก็ยังอยากเอาไอศกรีมเข้าร้าน ก็มาคิดว่าถ้าเราเปิดร้านเองคู่แข่งก็เยอะ แต่ถ้าเราให้บริการออกแบบไอศกรีมที่เข้ากับคอนเซ็ปต์ร้าน เราก็ไม่ต้องแข่งกับใคร"
พริมาใช้ครัวที่บ้านเป็นห้องทดลองผสมไอศกรีมรสชาติใหม่ โดยรสแรกที่เธอดีไซน์ขึ้นมา ได้แก่ ไอศกรีมรสค็อกเทลและรสเบียร์ ได้มาจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเมื่อคนนิยมดื่มแอลกอฮอล์ แต่ทำไมไม่มีใครทำไอศกรีมรสแอลกอฮอล์
ในทางกลับกัน หรือเคยมีคนทำแล้วแต่ไม่รุ่ง แล้วทำไมถึงไม่รุ่ง ...ด้วยนิสัยที่ชอบทดลองและชอบพิสูจน์ บวกกับความสงสัย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอลงมือทำ
พริมาเริ่มต้นจากไปเรียนผสมค็อกเทล ควบคู่กับการเรียนวิธีทำไอศกรีมจากพ่อ และชวนพ่อไปเทคคอร์สสั้นๆ ว่าด้วยการทำไอศกรีม "Creamery Science" ที่คณะวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วกลับมาทดลองผสมหาสูตรจนได้รสชาติที่ต้องการ
"พอได้ไอศกรีมก็ไปปรึกษาอาจารย์ว่าจะไปขายร้านไหนดี อาจารย์แนะนำว่า ไหนๆ ก็เรียนออกแบบอุตสาหกรรม ทำไมเราไม่คิดจากโจทย์ลูกค้า เหมือนกับเป็น "ไอศกรีมดีไซเนอร์" นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยิน ถือว่าอาชีพนี้อาจารย์ประทานมาก็ว่าได้" พริมาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
จากไอศกรีมก้อนแรกที่คิดและผลิตขึ้นเพื่อตอบโจทย์ของตัวเอง แล้วนำไปให้อาจารย์และเพื่อนชิม เพียงไม่นานเธอก็ได้งานออกแบบไอศกรีมชิ้นแรกให้กับ Art Cafe คาเฟ่เล็กๆ ที่มีไว้เพื่อเป็นมุมคุยงานในบริษัทสถาปนิกแห่งหนึ่ง
โจทย์แรกในชีวิตนักออกแบบไอศกรีมของพริมามีเพียงสั้นๆ "ทำอะไรก็ได้ให้ที่นี่" แต่ดูเหมือนไม่ง่ายอย่างที่คิด
โลโกกลมที่ประกอบด้วยสีแดง ดำ เทา กลายเป็นรูปและสีของไอศกรีม สีแดง คือไอศกรีมรสสตรอเบอรี่ สีดำคือไอศกรีมเนื้อคุกกี้โอรีโอดำสนิท สีเทาเป็นไอศกรีมรสลูกอมแฮค เสิร์ฟบนจานสีซึ่งมาจากการหยิบเอาของที่มีขายอยู่ในร้านมาเป็นแรงบันดาลใจ
ผลงานชิ้นแรกไม่ได้สร้างชื่อให้พริมาทันทีทันใดแต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญ เพราะเธอส่งผลงานชิ้นนี้เข้าประกวดบนเวที Young Talent Thai Designer ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก
ขณะที่ดีไซเนอร์คนอื่นส่งภาพสเกตช์ ผลงานบ้าง เฟอร์นิเจอร์บ้าง เครื่องประดับบ้าง พริมาส่งกล่องโฟมบรรจุไอศกรีมทั้ง 3 รสชาติไปให้คณะกรรมการชิม พร้อมคำอธิบายคอนเซ็ปต์
พริมาได้เป็น 1 ใน 21 Young Talent Thai Designer โดยผลงานจัดแสดงอยู่ในงาน BIG & BIH เมื่อปี 2547 บูธของเธอเป็นซุ้มเดียวที่มีตู้แช่ตั้งอยู่ จึงดึงดูดผู้ชมงานให้แวะมาชิมได้เป็นอย่างดี เธอดีไซน์ไอศกรีมรสใหม่ภายใต้ธีม "Red Box Event: Designer's Party" โดยไอศกรีมทุกรสขึ้นต้นด้วย Red เช่น Red Bull Extra คือไอศกรีมรสกระทิงแดง Red Beer หรือรสเลมอนเบียร์ แต่ที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุดก็คือ Red Marlboro หรือรสบุหรี่ ซึ่งเกิดจากข้อผิดพลาดขณะทดลองไอศกรีมรสกาแฟสูตรใหม่ แต่บังเอิญกลับได้ "เอฟเฟกต์" ในเรื่องสีและรสชาติที่กลับกระตุกต่อมอยากลองให้กับผู้พบเห็นได้มากกว่า
จากที่ทำเอาสนุก พอมีลูกค้ากลุ่มนิติบุคคลเข้ามาติดต่อเชิงธุรกิจ พริมาจำเป็นต้องตั้งบริษัทขึ้นเพื่อให้มีเอกสารถูกต้องตามหลักการธุรกิจ จึงเป็นที่มาของ "IceDea: Idea in Ice Cream" บริษัทที่มีปรัชญาหลักคือ การเอาไอเดียไปใส่ในไอศกรีมเพื่อให้คนกินได้เซอร์ไพรส์และอมยิ้ม
ไม่ต่างจากงานออกแบบผลิตภัณฑ์ งานของนักออกแบบไอศกรีมเริ่มตั้งแต่การพูดคุยคอนเซ็ปต์ และความต้องการของลูกค้าจนได้ภาพรวม จากนั้นก็นำคอนเซ็ปต์ไปออกแบบและพัฒนาเป็นสูตรไอศกรีมรสชาติใหม่ตามที่ลูกค้าต้องการ
ขณะที่ไอศกรีมบางรส พริมาต้องออกแบบไปถึงหน้าตาและภาชนะของไอศกรีมเพื่อให้ได้สมจริงเมื่อเทียบอาหารต้นแบบรสชาติ เช่น ไอศกรีมรสเชสด้าชีสจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ไอศกรีมรสเอิร์ลเกรย์ก็จะถูกบรรจุในถ้วยน้ำชา ให้อารมณ์ราวกับดื่มชาจริงๆ และไอศกรีมรสนมในชามคอร์นเฟล็กราวกับกำลังทานคอร์นเฟล็กมื้อเช้า เป็นต้น
โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้คือความอร่อยและความเข้มข้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับพริมาและพ่อของเธอทุกครั้ง ที่ละเลียดไอศกรีมเข้าปากอย่างมีความสุข
"ลักษณะเด่นของไอศกรีมของเราคือ เน้นทานคำเดียวแล้วได้รสชาติทั้งหมดของอาหารออริจินอลที่เราเลียนแบบ โดยไม่ต้องใส่เครื่องหรือท็อปปิ้ง อย่างไอศกรีมรสแบล็ค ฟอเรสต์เค้ก เราก็จะผสมทั้งเชอรี่ ช็อกโกแลต เนื้อเค้ก ลงไปปั่นกับเนื้อ ไอศกรีมเลย หรือรสเต้าฮวยน้ำขิงก็จะได้รสชาตินี้ในคำเดียว แต่หากจะอยากใส่ถั่วแดงเพิ่มก็ไม่ว่ากัน"
ไม่เพียงออกแบบไอศกรีมเข้าร้านลูกค้า พริมายังมีบริการออกแบบภาพรวม (corporate design) ตั้งแต่โลโก นามบัตร ภาชนะ ผ้ากันเปื้อน ป้ายร้าน และบรรยากาศภายในร้าน
จากงาน BIG พริมาไม่ได้มีเพียงลูกค้าคนไทย แต่เธอยังได้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าของตกแต่งหลากสี ซึ่งต้องการเปิดโชว์รูมในเมืองไทย และอยากมีพื้นที่เล็กๆ ในโชว์รูมเป็นมุมไอศกรีม
"โจทย์ของเขาคืออยากได้ไอศกรีมหลากสี เราก็มาคิดว่าถ้าเล่นสีเฉยๆ ก็ธรรมดาเกินไป ทำไมไม่ลองเล่นกับการรับรู้เรื่องสีของคน เพราะไอศกรีมไม่มีฟอร์มคนก็มักเดารสชาติ เอาจากสี แต่ถ้าสีชมพูไม่ใช่รสสตรอเบอรี่แต่เป็นรสช็อกโกแลต แล้วสีเขียวไม่ใช่รสชาเขียวแต่เป็นรสสตรอเบอรี่ คนทานเข้าก็ไปก็จะรู้สึกงงๆ แต่ก็คงน่าสนุกดี"
พริมาตั้งชื่อโปรเจ็กต์นี้ว่า Color Blind ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่เธอชื่นชอบในคอนเซ็ปต์มากที่สุด เนื่องจากได้เชื่อมโยงลูกเล่นเข้ากับพฤติกรรมการรับรู้และความเชื่อของคน แต่เธอก็ยอมรับว่าในเรื่องของรสชาติคงไม่จัดจ้านเท่ามาตรฐานไอศกรีมรสอื่นของเธอ เพราะโปรเจ็กต์นี้ต้องบาลานซ์สีและกลิ่นกับรสชาติให้ได้ จึงต้องใส่สีและกลิ่นสังเคราะห์ช่วย
นอกจากออกแบบไอศกรีมเข้าร้าน พริมายังแตกไลน์ไปสู่บริการออกแบบไอศกรีมและขนมให้กับเจ้าของสินค้าที่อยากได้ไอศกรีมหรือขนมมาช่วยสร้างแบรนด์ในงานอีเวนต์ ซึ่งระยะหลังเธอมีลูกค้ากลุ่มนี้ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการบอกต่อ
ตัวอย่าง งานเทศกาลร้อยเรื่องราวมะพร้าวไทยของห้างเดอะมอลล์ พริมาดัดแปลงขนมไทยมาใส่ในรสชาติของไอศกรีมได้อย่างกลมกล่อม ในงานไอศกรีมเฟสติวัลของห้างเซ็นทรัล เธอจับอาหารคาวสไตล์ค็อกเทลมาเป็นไอศกรีมหน้าตาและรสชาติคล้ายต้นแบบ เพียงแต่ยังคงหอมหวานในแบบไอศกรีม
หรือในงานเปิดตัวสนามฟุตบอลที่เจ้าของภูมิใจนำเสนอหญ้าเทียมนำเข้าคุณภาพดี พริมาก็เนรมิตบราวนี่หน้าฝอยทองสีเขียวที่ดูราวสนามหญ้ามาเป็นกิมมิคสนุกๆ ที่เธอสร้างสรรค์ให้กับงานอีเวนต์ โดยเบเกอรี่ก็เป็นขนมหวานอีกประเภทที่เธอขยายไลน์ออกมาจากไอศกรีม
"โจทย์สำคัญสำหรับงานอีเวนต์คือ เราจะสอดแทรกสินค้าหรือแบรนด์ของลูกค้าผ่านทางการกินได้อย่างไร โดยที่ไอศกรีมหรือขนมนั้นต้องดึงดูดสายตาหรือมีกิมมิคสนุกๆ ด้วย"
แม้จะเหมือนกับงานออกแบบสินค้า แต่การออกแบบไอศกรีมมีความท้าทายเพิ่มมากกว่าในฐานะที่เป็นของกิน และในความเป็นของกิน ไอศกรีมยังมีข้อควรระวังในเรื่องอุณหภูมิและเวลาที่อาจเปลี่ยนรสชาติ หน้าตา และเอฟเฟกต์บางอย่าง
แต่ถึงจะยุ่งยากกว่าอาหารทั่วไป ทว่าด้วยรสชาติหอมหวานและความไม่มีฟอร์มของไอศกรีม บวกความสุขขณะที่ไอศกรีมเข้าปาก พริมากลับมองว่าข้อจำกัดเหล่านี้ก็คือลูกเล่นที่สร้างเสน่ห์และความสนุกให้กับชั่วขณะที่ทานได้อย่างน่าสนใจ
ยกตัวอย่าง ไอศกรีมก้อนกลมที่โดดเด่นด้วยชั้นลายฟ้าขาวดูละม้ายคล้ายลูกโลกที่ค่อยๆ ละลายกลายเป็นกิมมิคที่ใช้สะท้อนภาวะโลกร้อน
"ถ้าเทียบกับอาหาร ไอศกรีมเป็นเรื่องของรสชาติ ส่วนความรู้สึกและภาพในหัวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ทานเข้าไปแล้ว ฉะนั้นโฟกัสทั้งหมดจึงอยู่ที่โมเมนต์ขณะกิน"
พริมาเชื่อว่าความรู้เรื่องไอศกรีมของเธอมีรากฐานมาจากความชอบทาน และประสบการณ์ทานไอศกรีมหลากรสจากหลายร้าน ซึ่งมีส่วนช่วยให้เธอสร้างจินตภาพในเรื่องรสชาติและสัดส่วนส่วนผสมได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกันรสชาติของร้านอื่นก็ยังเป็นค่ามาตรฐานที่เธอใช้เทียบเคียง นี่จึงเป็นอีกเหตุผลให้เธอเสาะหาไอศกรีมดีๆ จากร้านดีๆ มาชิมทุกครั้งที่มีโอกาส นอกจากความชอบส่วนตัว เพราะยิ่งชิมของดีมากเท่าไร มาตรฐานของเธอก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย
ดังนั้น ช่วง 2 ปีที่เธอได้รับเลือกให้ไปทำงานร่วมกับ Fabrica ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของ Benetton ในประเทศอิตาลี อันเป็นดินแดนแห่งเจลาโต (ไอศกรีมสไตล์อิตาเลียน) จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เธอได้ไปลิ้มรสไอศกรีมชั้นเลิศถึงถิ่น
ไม่เพียงไอศกรีม พริมายังต้องชิมอาหารทั้งคาวหวานให้หลากหลายเพื่อเก็บเป็นข้อมูลและไอเดียไว้ใช้ยามจำเป็น เผื่อว่าวันหนึ่งรสชาติเหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจหรือกลายเป็นต้นแบบรสชาติไอศกรีมของเธอก็ได้
นอกจากนี้ ไอเดียของไอศกรีมรสใหม่ยังอาจมาจากคำเรียกร้องของแฟนพันธุ์แท้ผู้ชอบแสวงหารสชาติแปลกใหม่ของไอศกรีม แต่ก็มีสาวกไอศกรีมไม่น้อยที่เรียกร้องเธออย่างท้าทายด้วยความสนุกมากกว่าจะอยากทานรสที่แนะนำจริงๆ
ไอศกรีมรสผัดกะเพราหมู รสไก่ย่าง รสข้าวผัด รสส้มตำ หรือรสต้มยำ ฯลฯ เหล่านี้เป็นบางส่วนของรสชาติที่ลูกค้าที่แวะมาทานไอศกรีมของพริมาแนะนำทิ้งไว้ แม้จะออกแนวขำขันแต่ก็มีบางรสที่เธอเอาไปทดลองทำจริง อย่างไอศกรีมรสต้มยำที่อยู่ในขั้นทดลองปรับสูตรให้ลงตัว
เพราะไม่ง่ายเหมือนกับเอาสูตรอาหารคาวลงไปปั่นในเนื้อไอศกรีมได้ หรือถ้าทำ ได้จริงก็ไม่ใช่ว่าจะได้รสชาติอร่อยสมเป็นไอศกรีม พริมาบอกว่ามันจำเป็นต้องมีการ "ถอดรูท" และ "แทนค่า" ในสมการสูตรอาหารสองประเภทอย่างระมัดระวัง เธอยกตัวอย่างไอศกรีมรสนิวยอร์คชีสพาย
"เราต้องหารสชาติและความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ของชีสพายก่อนและก็ดูว่าส่วนประกอบหลักตัวไหนทำให้เกิดความรู้สึกหรือรสชาตินั้น แล้วถ้าเป็นไอศกรีมจะใส่ตัวนั้นลงไปได้ไหม อย่างไอศกรีมรสชีสพายเราก็ใส่ชีสลงไปเลยเพื่อให้ได้รสชาติ แต่จะใส่เยอะก็ไม่ได้เพราะมันไม่ใช่อาหารคาว เราก็เลยใส่วิปปิ้งครีมแทนซึ่งมีค่าเป็น fat เหมือนชีสแต่เหมาะจะใส่ในไอศกรีมมากกว่า ขณะที่ความกรุบกรอบของพายเราก็ใช้วิธีปั่นแป้งพายไปในเนื้อไอศกรีมด้วย" พริมาอธิบาย
สำหรับไอศกรีมรสต้มยำ เธอแอบบอกสูตรว่าเป็นเบสไอศกรีมรสชาติเชอร์เบต มะนาวโดยใส่ส่วนประกอบที่ให้กลิ่นอายเครื่องต้มยำลงไป
เพื่อให้สามารถพลิกแพลงสูตรและรสชาติตามความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น เมื่อ ต้นปีพริมาตัดสินใจชวนพ่อไปเรียน Ice-cream Short Course ที่ Penn State University ณ ประเทศอเมริกา เพื่อเรียนรู้เชิงลึกเรื่องคาแรกเตอร์และโครงสร้างส่วนประกอบ ของไอศกรีม
ตลอด 7 วัน เธอต้องเรียนรู้เรื่องไอศกรีมตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 3 ทุ่ม เรียนตั้งแต่ความแตกต่างของวนิลาและช็อกโกแลตแต่ละพันธุ์ เรียนรู้ค่าทางกายภาพของไอศกรีม (Icecream Physic) และตัวแปรที่ทำให้ไอศกรีมเปลี่ยนแปลง (Sensory Variation) ตลอดจนวิธีคำนวณหาค่าบาลานซ์ของสูตรไอศกรีม เพื่อที่จะได้ลดขั้นตอนการทดลองและพลิกแพลงสูตรได้ง่ายขึ้น
นอกจากงานออกแบบไอศกรีม พริมายังมีอาชีพเป็น Stationery Designer ให้กับบริษัท Mola Design โดยเธอแบ่งเวลาให้งานประจำในวันพุธ-ศุกร์ ส่วนเวลาที่เหลือยกให้ธุรกิจ ออกแบบไอศกรีมของครอบครัว ซึ่งวันนี้มีลูกค้าประจำเป็นร้านอาหารมีชื่อเสียงอยู่หลายแห่ง
เช่น "มหานาก้า" ร้านอาหารไทยสไตล์หรูที่เธอออกแบบไอศกรีมจากผลไม้ไทยชนิดต่างๆ ให้, "Jerlot Coffee Space" ที่ให้เธอดีไซน์ไอศกรีมรสชาติและหน้าตาคล้ายเครื่องดื่ม และของทานเล่น รวมถึง corporate design, "วนิลา บราสเซอรี่" และ "วนิลา เรสเตอรองต์" ที่อยากได้ไอศกรีมรสเค้กชนิดต่างๆ และ "ลี คาเฟ่" ที่ให้เธอดีไซน์ไอศกรีมที่มีความเป็นจีนให้ เป็นต้น
จากจุดเริ่มต้นที่เครื่องทำไอศกรีมขนาดเล็กสำหรับไว้ทดลองสูตร ล่าสุดพริมาลงทุนสั่งซื้อเครื่องทำไอศกรีมที่ผลิตได้ถึง 3 พันกิโลกรัมต่อเดือน เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยฝ่ายผลิตคนสำคัญอีกคนก็คือพ่อของเธอ โดยหลังจากเกษียณผู้เป็นพ่อยังไปเรียนทำขนม เพิ่มเติมเพื่อที่ลูกสาวจะได้รับงานออกแบบขนมควบคู่ไปกับไอศกรีมไปด้วย
สำหรับโปรเจ็กต์เร่งด่วนของพริมาน่าจะเป็นการเปิดร้านไอศกรีมของตัวเอง เพื่อเป็นโชว์รูมแสดงคอลเลกชั่นรสชาติขึ้นชื่อที่เป็นผลงานที่เธอเคยทำและรสชาติแปลกใหม่ที่ต้องการทดลองตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าที่เป็นสาวกไอศกรีมที่ชื่นชมความแปลกใหม่เรียกร้องเข้ามามาก
จากไอศกรีมก้อนแรกที่ออกแบบด้วยความสนุกและอยากทดลองทำอะไรแปลกใหม่ พริมายอมรับว่าไม่เคยคิดว่าเส้นทางนักออกแบบไอศกรีมของเธอจะมาไกลได้ถึงขนาดนี้
"ถ้ารู้สึกสนุกกับอะไรก็ให้มุ่งมั่นไปทางนั้น เพราะความสนุกจะขับเคลื่อนและชี้ทางเราว่าควรจะทำอะไรต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องมองให้ต่างไปจากกรอบที่มันเคยมีและที่เราเคยชิน" พริมาสรุป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|