มหัศจรรย์พันธุกรรม

โดย ชมพูนุท ช่วงโชติ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

Juan Enriquez ผู้เขียน As the Future Catch You บอกว่า เมื่อมนุษย์จับเอาแอปเปิล ส้ม และแผ่นดิสก์มาผสมกันสำเร็จ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ องค์ความรู้ใหม่นี้มีพลานุภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวิถีชีวิต สุขภาพ การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และความมั่งคั่งของสังคมมนุษย์ในอนาคตอย่างไม่อาจคาดเดาได้

ความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรมของยีน เกิดจากการก้าวข้ามพรมแดนของวิทยาศาสตร์ต่างสาขา เป็นความสำเร็จของการผสมผสานกันระหว่างวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาและเทคโนโลยีดิจิตอล มนุษย์ ไขความลับของธรรมชาติได้แล้ว ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดซับซ้อนมีข้อมูลมหาศาล ถูกบันทึก ค้นคว้า ถ่ายทอด ทดลอง ตัดต่อ และทำการเปลี่ยนแปลง จากนี้ไปมนุษย์จะสามารถควบคุมวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ได้ทั้งหมด มนุษย์ ได้เครื่องมือสำคัญที่พร้อมสำหรับการพัฒนาศักยภาพเพื่อการสร้างสรรค์หรือจะสร้างอาวุธเพื่อการทำลายล้างก็ได้

หน่วยพันธุกรรมซ่อนความลับทุกอย่างของธรรมชาติเอาไว้ บันทึกประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะของการต่อสู้และการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตลอดวิวัฒนาการอันยาวนานนับพันล้านปี การดำรงเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์ ย่อมพิสูจน์ถึงการครอบครองคุณสมบัติพิเศษหลายประการ คนสมัยก่อนแม้ไม่รู้จักรหัสพันธุกรรม ไม่รู้จักยีน แต่รู้ดีถึงคุณวิเศษอันหลากหลายของพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตรอบตัว ได้นำมาใช้ประโยชน์สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน สั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่ผูกพันอยู่กับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น

โลกของเรามีระบบนิเวศอยู่ราว 94 ระบบ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิต ที่รวมเรียกว่า Biodiversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพ นักชีววิทยาเฝ้าติดตามสำรวจชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันเราค้นพบแล้ว 1.7 ล้านสปีชีส์ แต่ชนิดพันธุ์ใหม่ยังถูกค้นพบเพิ่มขึ้นทุกวัน คาดว่า ส่วนที่การสำรวจยังเข้าไม่ถึงนั้นอาจมีถึง 10-14 ล้านสปีชีส์

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังตื่นตาตื่นใจกับการค้นพบคุณสมบัติดีเลิศนานาประการของพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักจำนวนมาก นักอนุรักษ์กำลังตระหนกตกใจกับอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่รวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปวันละ 1 ชนิด ปัจจุบันคาดว่าทุก 20 นาทีจะมีสิ่งมีชีวิตบนโลกสูญพันธุ์ไป 1 ชนิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การบุกรุกทำลายป่า ภาวะโลกร้อน และการคุกคามทำร้ายจากมนุษย์ และการพัฒนาสมัยใหม่ จนมีแนวโน้มว่า ร้อยละ 50 ของสิ่งมีชีวิตในโลกจะหายไปในครึ่งหลังของศตวรรษหน้า จะทำให้บางระบบนิเวศเสียหายไปอย่างไม่สามารถฟื้นคืนได้ แน่นอนว่าพันธุกรรมที่มนุษย์ยังไม่ได้ค้นพบจำนวนมากก็สูญหายไปด้วยอย่าง ถาวร

นับแต่อดีต ทรัพยากรชีวภาพและพันธุกรรมถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ รวมทั้งการทำยารักษาโรค มีประชากร 1 ใน 4 ของโลกที่พึ่งพิงการแพทย์พื้นบ้านและพืชสมุนไพร การแพทย์สมัยใหม่ก็ใช้ทรัพยากรพันธุกรรมในการผลิตตัวยาต่างๆ มีมูลค่าการตลาดราว 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในอนาคตอันใกล้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพจะทำให้พันธุกรรมพืชและสัตว์ที่หายากกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

การตื่นตัวที่มาจากการขยายพรม แดนแห่งความรู้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การบรรจบผสานของสิ่งที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ร่วมกันยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ ประเทศที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ไม่มีทรัพยากรชีวภาพ ประเทศที่มีทรัพยากรชีวภาพที่หลากหลายอุดมสมบูรณ์ ก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือล้าหลังยากจน ขาดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่เชื่อมต่อกับทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็เปรียบเสมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ภูมิปัญญาท้องถิ่นเท่านั้นคือแผนที่นำทาง ที่นำทรัพยากรชีวภาพและพันธุกรรมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาพบกัน ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ขบวนการค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรชีวภาพเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์แพร่กระจายไปทั่วโลก และพัฒนาไปสู่การจดสิทธิบัตรทางการค้า ที่ประเทศเจ้าของภูมิปัญญาและทรัพยากรอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ เลย

ประเทศยิ่งใหญ่อย่างอินเดีย ตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันการจดสิทธิบัตรยาในสหรัฐอเมริกามีจำนวนประมาณ 4,900 รายการ ราวร้อยละ 80 ของสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรหลายชนิดของอินเดีย ทั้งขมิ้นชัน สะเดา และสมุนไพรอื่นๆ ทำให้ประเทศอินเดียต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ติดตาม และฟ้องร้องการจดสิทธิบัตรที่ไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมากทุกๆ ปี รัฐบาลอินเดียจึงจัดทำโครงการบันทึกภูมิปัญญาดั้งเดิม รื้อฟื้นคัมภีร์โบราณอายุ 5,000 ปี ความยาวกว่า 6 ล้านหน้า ทั้งด้านอายุรเวช โยคะ Unani และ Sidha เพื่อจัดทำบันทึกเข้าสู่ระบบดิจิตอลสำหรับใช้อ้างอิงคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของอินเดียในระบบสากล โดยถือว่าเป็นการคุ้มครองมรดกของชาติ อินเดียสนับสนุนให้นำระบบนี้ไปใช้ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ เช่น จีน บราซิล และประเทศในกลุ่มอาเซียน

ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยนั้นนับว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพียงจังหวัด เดียว มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตมากกว่าเกาะอังกฤษทั้งเกาะ พันธุ์ข้าวของประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่า 5,000 ชื่อ สมุนไพรที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์มีอยู่ถึง 1,500 ชนิด ซึ่งรวมถึงชนิดของสมุนไพรที่มีค่าทางเศรษฐกิจหาได้ยาก หรืออยู่ในภาวะวิกฤติใกล้สูญพันธุ์ หากรวมถึงพืช สัตว์ จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ขุมทรัพย์ที่ยังไม่ได้สำรวจค้นพบของประเทศไทย มีมูลค่าเพียงใดไม่สามารถประเมินได้

คนในสังคมตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายทางชีวภาพ อันประกอบด้วยความหลากหลายของพันธุกรรม ชนิดพันธุ์ และระบบนิเวศน้อยมาก ป่าต้นน้ำบนเทือกเขาสูงที่มีพืชพันธุ์หลากชนิด สมุนไพร สัตว์ แมลง จุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ ถูกโค่นทำลายทิ้งเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว พ่อค้าเมล็ดพันธุ์ สารเคมีการเกษตร ยาฆ่า หญ้า ขนสินค้าใส่ท้ายปิกอัพดั้นด้นเข้าไปทุกหนแห่งเพื่อช่วยเกษตรกรบุกเบิกแผ้วถางภูเขาทั้งลูกเพื่อปลูกข้าวโพด ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าบุ่ง ป่าทาม ถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่รกร้าง เสื่อมโทรม รอการพัฒนาที่สามารถคำนวณผลตอบแทนเป็นตัวเงินชัดเจน แต่ใครจะสามารถคิดคำนวณถึงมูลค่าความสูญเสียของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ระบบนิเวศของป่าต้นน้ำแห่งหนึ่งที่กลายไปเป็นไร่ข้าวโพดนั้น เป็นได้ทั้งแหล่งอาหาร ยาสมุนไพร และของป่าที่ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดอายุขัย และอาจหมายถึงชนิดพันธุ์และพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคหลายชนิดที่หมอยังไม่สามารถเอาชนะได้ในปัจจุบัน

กูรูทั้งหลายล้วนเห็นว่าโลกอนาคต เป็นโลกแห่งการบรรจบผสานของสิ่งที่ไม่เคยผสมรวมกันได้มาก่อน ระหว่างผลส้มกับแผ่นดิสก์ ระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับวิทยาศาสตร์ ระหว่างพันธุกรรมของปลาทะเลน้ำลึกกับต้นไม้ดึกดำบรรพ์ พรมแดนแห่งความรู้เปิดกว้าง ประเทศไม่มีอาณาเขต บ้านไม่มีรั้ว หากเราไม่ออกเดิน สำรวจบ้านและศักยภาพอันน่าทึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ ก็จะมีผู้อื่นเข้ามาพร้อมด้วยเครื่องมืออันทรงพลัง หยิบฉวยเอาสิ่งที่เราทิ้งขว้างไม่รู้จักคุณค่าในอาณาเขตบ้าน นำออกไปใช้ประโยชน์และสร้างความมั่งคั่งไม่สิ้นสุด

ส่วนประเทศของเราก็ยังคงวิ่งไล่ล่า หาอดีต มุ่งหาเงินลงทุนจากอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เพื่อที่จะงัวเงียตื่นขึ้นสู่โลกของพันธุกรรมและส่วนผสมอันหลากหลายที่เราไม่รู้จักแม้แต่น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.