วัฒนธรรมใต้โต๊ะ วงจรร้ายในองค์กร

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่ห้วงขาลงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงการทุจริตและคอร์รัปชั่นสูง จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยังพบว่าบริษัทเอกชนจ่ายเงินพิเศษให้กับหน่วยงานรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

ภายในงานสัมมนาหัวข้อ Fraud and Corruption Risk in Economic Downturn ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี (Thai Institute of Directors: IOD) พบว่าแนวโน้มการทุจริตในประเทศไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมีเพิ่มขึ้น เกิดจากรัฐบาลขาดเสถียรภาพอยู่ในภาวะอ่อนแอ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในปัจจุบัน

จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่ามีการทุจริต ในวงราชการไทยเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนเงินพิเศษหรือต้นทุนที่นักธุรกิจต้องจ่ายให้กับหน่วยงานและข้าราชการต่อปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2552 พบว่าหน่วยงานที่รับเงินเพิ่มหรือเงินใต้โต๊ะมากที่สุดคือ นักการเมืองที่มีอิทธิพลต่อกิจการ รวมไปถึงกรมศุลกากร กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และกรมสรรพากร

รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากหลายๆ ส่วน เช่น ปั้นโครงการขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล การฮั้วประมูล สัญญากำกวมเปิดช่องใช้ดุลยพินิจล็อกสเป็ก กระบวนการยื่นซองและเปิดซองไม่โปร่งใส เรียกเงินพิเศษขั้นตอนการตรวจรับงาน หรือเลือกจุดตรวจสอบเพื่อรับมอบงาน โดยไม่ตรวจสอบคุณภาพวัสดุเอื้อประโยชน์ ต่อผู้รับเหมา

ณรงค์ รัฐอมฤต รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริตว่า ผู้บังคับบัญชาไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ระบบความสัมพันธ์ของเจ้านายและลูกน้อง สามารถแบ่งปันผลประโยชน์กันได้ และขาดระบบการตรวจสอบที่มีคุณภาพทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมใต้โต๊ะ

แม้ว่าคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียในปี 2551 จะมีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นอยู่ในระดับกลาง หรือมีคะแนน 3.5 ซึ่งดีกว่าประเทศลาว กัมพูชา และพม่าก็ตาม แต่ประเทศไทยมีการคอร์รั่ปชันมากกว่าประเทศมาเลเซีย จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ จึงทำให้ประเทศไทยมีเป้าหมายลดภาพลักษณ์ทุจริต ด้วยการเพิ่มคะแนนให้สูงขึ้นให้อยู่ในระดับ 5 ภายใน 2 ปีข้างหน้า (ปี 2554)

ชาญชัย จารุวัสตร์กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีความน่าเป็นห่วง จะเพิ่มการทุจริตมากขึ้น เพราะมีบทบาททำงานไม่ชัดเจน แม้ว่าแนวทางการบริหารจะเป็นรูปแบบเอกชนก็ตาม โดยเฉพาะคณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งจากภาครัฐและคนภายนอก ทำให้มีโอกาสติดสินบนในงานประมูล

สิ่งสำคัญที่สุดคือกฎหมายปฏิบัติขัดกันอยู่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายรัฐวิสาหกิจ กฎหมายรัฐวิสาหกิจกำหนดให้ผู้บริหารต้องดูแลผลประโยชน์ของรัฐ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

การคอร์รัปชั่นของภาครัฐใน 5 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีมากกว่าภาคเอกชน แต่สาเหตุที่ทำให้นักธุรกิจทุจริตเมื่อเข้าไปร่วมงานกับหน่วยงานรัฐ เพราะมองว่าการจ่ายเงินพิเศษเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

ในส่วนขององค์กรภาคเอกชนแม้ว่า จะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยกว่าภาครัฐก็ตาม แต่ในสภาพเศรษฐกิจในช่วงขาลงมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยมีเหตุปัจจัยหลัก 3 ส่วน คือ แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ โอกาส และข้ออ้างต่างๆ เมื่อทั้ง 3 ส่วนรวมกันจะส่งผลให้มีการทุจริตสูงมาก

ดังนั้นระบบการทำงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการและผู้บริหาร ต้องดูแลให้ธุรกิจมีความโปร่งใสและป้องกัน การทุจริตในองค์กร และสิ่งที่กดดันให้คณะ กรรมการและผู้บริหารต้องทำงานอย่างมีธรรมาภิบาลมากขึ้น เพราะว่าพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 กำหนดไว้ว่า กรรมการหรือผู้บริหารบริษัท ผู้ใดไม่ระมัด ระวัง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตทำให้บริษัทเสียหาย ต่อตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ จะถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี

ส่วนผู้สอบบัญชี หากพบข้อสงสัยให้ แจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วและ ให้คณะกรรมการรายงานผลภายใน 30 วัน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประมาณกว่า 400 แห่ง และผู้ประกอบการกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ดำเนินธุรกิจเป็นธุรกิจครอบครัว ดังนั้นการทำงานจึงเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ขาดกระบวนการทำงาน

หรือบางครั้งผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อธุรกิจ เพราะผู้บริหารมีความเข้าใจว่าตนเองเป็นเจ้าของ แม้ว่าบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไปแล้วก็ตามที

แต่เมื่อมีกฎหมายเข้ามาควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กร จึงทำให้คณะกรรมการต้องทำงานอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น และกลายเป็นคนที่ถูกจับตามองใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานตรวจสอบบัญชี

ฉัตรชัย บุญรัตน์รองประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีจำนวนมาก มีขนาดธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะบริษัทเล็กยังต้องทำความเข้าใจกฎระเบียบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทต้องมีคณะกรรมการความเสี่ยง ผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจบทบาทตัวเองเพียงพอ

ชนินทร์ ว่องกุศลกิจประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) และในฐานะกรรมการสมาคมบริษัทจดทะเบียนและอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย บอกถึงวิธีการป้องกันการทุจริตในองค์กร เขาได้ยกตัวอย่างของบริษัทบ้านปูว่า การทำงานของบริษัทมีสำนักงานตรวจสอบภายใน เพื่อทำหน้าที่รายงานต่อคณะกรรมการอย่างต่ำทุกไตรมาส

หลังจากได้รับผลการตรวจสอบภาย ในแล้ว จะให้ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอกมาประชุมภายในร่วมกับคณะกรรมการ โดยไม่มีผู้บริหารเข้าร่วม และรายงานให้คณะผู้บริหารรับรู้ต่อไป ซึ่งการตรวจสอบภายใน ต้องเป็นไปอย่างเข้มแข็ง และให้ผู้ตรวจสอบภายในเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้กระบวน การตรวจสอบภายในบริษัททำให้ไม่พบการทุจริตบ่อย

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่าจากการศึกษาพบว่า บริษัทที่คอร์รัปชั่นจะพบว่าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กรมสรรพากรจะตรวจสอบอย่างหนักเพื่อหาวิธีเก็บภาษีเพราะเป้าหมายของกรมสรรพากรต้องการภาษีเพิ่ม ในขณะที่บริษัทที่มีกระบวนการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามระบบจะมีความเสี่ยง น้อยกว่า

อย่างไรก็ดี การทุจริตและคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงทำให้หลายประเทศรวมตัวกันเพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น และประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 เมืองเมริดา ประเทศเม็กซิโก มีทั้งหมด 140 ประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว เนื่องจากต้องตรวจสอบพันธกรณีต่างๆ และต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ คือ

1. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ที่เกี่ยวกับการลักทรัพย์)

2. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการติดตามทรัพย์สินได้จากการกระทำผิด

3. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ความร่วมมือทางอาญา

นอกจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นยังมีกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า The Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบบริษัทที่ทำธุรกิจกับบริษัทสหรัฐอเมริการาว 400 แห่ง ว่าทุจริตหรือติดสินบนอย่างไร

โดย FCPA ได้ยกตัวอย่างของประเทศไทยเกี่ยวกับการจ่ายสินบนอย่างน้อย 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลอาวุโสการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อ้างว่าเกิดการจ่ายเงินทางอ้อมผ่านบัญชีธนาคารของบุตรสาวและเพื่อนที่เป็นพนักงานของรัฐที่เปิดไว้ในสิงคโปร์ อังกฤษและเจอร์ซี่ การเปิดเผยข้อมูลลงในรายละเอียดแบบเชิงลึกยังเป็นความลับ

บทบาทของกฎหมาย FCPA ที่ขยายไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ให้ความสำคัญการป้องกันการทุจริตในระดับนานาชาติเพิ่มสูงขึ้นทุกที

ขณะเดียวกันประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ ในวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2553 ภายใต้ชื่องาน 14th International Anti Corruption

ชาญชัย กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย มีแนวคิดผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ราว 10 ราย ร่วมเซ็นสัญญาการป้องกันการทุจริตภายในองค์กร เพื่อความโปร่งใสและสร้างบรรยากาศการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศร่วมกันภายในงานนี้ด้วย

ความร่วมมือป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เร่งให้คณะกรรมการในองค์กรและภาครัฐต้องเรียนรู้กฎระเบียบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทว่าการทุจริตจะต้านทานความละโมบของมนุษย์ได้หรือไม่ ว่ากันว่าความเจริญอยู่ที่ใด การทุจริตคอร์รั่ปชั่นก็งอกงามที่นั่น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.