อนาคต “เรือไทย” ในแม่น้ำโขง!?

โดย เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

เมษายน 2544 เป็นต้นมา เรือสินค้า-นำเที่ยวนับร้อยๆ ลำที่วิ่งขึ้นล่องในแม่น้ำโขง ตามกรอบข้อตกลงเปิดเดินเรือพาณิชย์ฯ ไทย พม่า ลาว จีน ล้วนแต่เป็นเรือสัญชาติจีนทั้งสิ้น แต่วันนี้แม่น้ำโขงมีเรือนำเที่ยวสัญชาติไทยวิ่งแล้ว

"เพื่อนที่ไม่เคยกันมานับสิบปีเสิร์ชในกูเกิ้ล เจอเลย ผกายมาศ ผู้ล้างอาถรรพ์แม่น้ำโขง" ผกายมาศ เวียร์รา หรือติ๋ม ประธานกรรมการบริษัทแม่โขง เดลต้า ทราเวลเอเจนซี จำกัด ผู้ให้บริการนำเที่ยวในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทั้งทางบก ผ่านเส้นทาง R3a และ R3b และทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงตอนบน จากเชียงแสน-เชียงรุ่ง เปิดฉากการสนทนากับผู้จัดการ 360 ํ ทันทีเมื่อเจอหน้า

หลังจากผู้จัดการ 360 ํ ลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง R3a ส่วนหนึ่งของเส้นทาง คุน-มั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) และการเดินเรือในแม่น้ำโขงเพื่อรายงานความเป็นไปของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (รายละเอียดอ่านเรื่อง "เปิดตลาด (อินโด) จีน" และเรื่อง "ผกายมาศ เวียร์รา ผู้ล้างอาถรรพ์แม่น้ำโขง" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www. gotomanager.com ประกอบ)

"ผกายมาศ" ถือเป็นนักลงทุนไทยคนหนึ่งที่ยืนหยัดในแม่น้ำโขงได้ยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้นักลงทุน หลายรายที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้ ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านแบบ "ไม่เจ๊า ก็เจ๊ง"

กว่า 2 ปีของแม่โขง เดลต้าฯ ภายใต้การนำเธอ มาถึงวันนี้ กล่าวได้ว่ากำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่ง เธอกำลังเริ่มสร้างตำนานบทใหม่ในแม่น้ำโขง ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะ 2 ปีกว่าที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าด้วยความเป็น "ผู้หญิง" ทำให้เธอสามารถยืนบนแม่น้ำโขงได้

เพราะพื้นที่แถบนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ทหาร พื้นที่ความมั่นคง การใช้ความอ่อนโยนของผู้หญิงเข้าไปประสานงานจะราบรื่น มากกว่าการใช้ผู้ชายเข้าไปทำงาน จนอาจเปรียบเปรยได้ว่า "ไอ้ที่ไม่ยอม คุยไปคุยมา ก็ยอมไปครึ่งหนึ่งแล้ว คุยต่อไปอ้าว...ตาย ผมอนุมัติไปตั้งแต่เมื่อไหร่"

วันนี้เธอกำลังสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งสำหรับการลงทุนในแม่น้ำโขง ด้วยการต่อเรือสัญชาติไทย-ชักธงชาติไทย วิ่งขึ้นลงในแม่น้ำโขงตอนบน

เพราะหลังจากเดือนเมษายน 2544 ที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม 4 ชาติ (ไทย พม่า ลาว จีน) ร่วมลงนามเปิดการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน (เชียงรุ่ง-หลวงพระบาง) ร่วมกันที่อำเภอท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมาร์แล้ว จนถึงทุกวันนี้ เรือแทบทุกลำที่วิ่งในแม่น้ำโขง ทั้งเรือสินค้า-นำเที่ยว-เรือโดยสาร ล้วนแต่เป็นเรือสัญชาติ จีนทั้งสิ้น

(รายละเอียดอ่านเรื่อง "ลั่นช้างเจียง ลมหายใจสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)

เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา บริษัทแม่โขง เดลต้าฯ นำเรือท่องเที่ยวขนาด 80 ที่นั่งลำใหม่มาใช้งาน โดยใช้วิศวกรจาก 3 ชาติ (ไทย ลาว จีน) ร่วมกันคุมงาน

เรือใหม่ลำนี้ถูกสั่งให้ต่อขึ้นที่แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประกอบด้วยชั้นธุรกิจ 40 ที่นั่ง ชั้น VIP 40 ที่นั่ง สามารถปรับเป็นห้องประชุมสัมมนาลอยน้ำได้ กว้าง 5 เมตร ยาว 41 เมตร กินน้ำลึก 60 ซม.

ปัจจุบันเรือลำนี้นำมาเทียบท่าที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าสำนักงานของบริษัทที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อตกแต่ง เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เพิ่มเคาน์เตอร์ พื้นที่ทำกิจกรรมให้ลูกค้า เพราะการล่องเรือในแม่น้ำโขงต้องใช้เวลานานนับสิบๆ ชั่วโมง ต้องมีพื้นที่กิจกรรมบนเรือลดความเบื่อหน่ายให้กับลูกค้า ก่อนจะเริ่มทดลองวิ่งในแม่น้ำโขงอย่างจริงจังในช่วงไฮซีซันของปีนี้ (2552)

"เรือลำนี้จะเป็นเรือสัญชาติไทยลำแรกที่วิ่งในแม่น้ำโขง ถ้าไม่นับพวกเรือหางยาว เรือแจวที่ทำมาหากินในแม่น้ำโขงกัน มานาน" ผกายมาศย้ำว่าเรือลำนี้จดทะเบียน ที่ประเทศไทยเป็นเรือสัญชาติไทย ใช้ชื่อไทยที่ตอนนี้กำลังคิดอยู่ ส่วนกัปตัน ถ้าขึ้นไปทางเชียงแสน จากสามเหลี่ยมทองคำ-สิบสองปันนา จะใช้กัปตันสัญชาติจีน ลูกเรือจีน แต่ถ้าล่องลงไปที่หลวงพระบาง ก็ใช้คนลาว นายน้ำลาว ลูกเรือผสมกันระหว่างจีน-ลาว แต่ฝ่ายต้อนรับทั้งหมดจะใช้คนไทยที่มีทักษะดีกว่า

"อีกลำจะต่อที่ไทย" เธอบอกพร้อมอธิบายต่อว่า เพราะถ้าต่อในจีนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจีน เช่น ลูกเรือ ซึ่งทางการจีนจะตรวจสอบหมดทุกคน ลูกเรือต้องอายุไม่เกิน 45 ปีเท่านั้น ถึงจะขับเรือท่องเที่ยวได้ ใบขับขี่ก็ต้องต่ออายุเท่านั้น รวมถึงจำนวนคนที่กำหนดไว้ 48 คน ก็ต้อง 48 คน ถ้าเกิน 48 คน เขาจับลงเลย Passport ก็ไม่แสตมป์ให้คนก็ต้องอยู่รอตรงนั้นจนกว่าจะหาทางกลับเอง แต่อยู่ตรงนี้เราใช้กฎหมายไทย แล้วค่อยไปขออนุญาตเข้าจีนและลาว เพื่อวิ่งเข้าหลวงพระบางด้วย"

ส่วนเรือท่องเที่ยวที่เคยร่วมมือกับบริษัทขนส่งเทียนต๋าสิบสองปันนา รัฐวิสาหกิจของสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ทั้งเรือ "นกยูงทอง" เรือท่องเที่ยวที่มีห้องพักในตัว รองรับผู้โดยสารได้ 76 คน (ขยายเป็น 130 คน) เรือสามเหลี่ยมทองคำ 8 จุผู้โดยสารได้ 68 คนกับเรือเทียนต๋า 1 และ 2 ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ลำละ 48 คน ก็จะค่อยๆ ปลดระวางไป เพราะบางลำจะสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก บางลำเริ่มมีปัญหากับอายุการใช้งานที่มากขึ้น เพราะกระแสน้ำในแม่น้ำโขง แตกต่างจากน้ำทะเล และแหล่งน้ำอื่นๆ มาก

ผกายมาศบอกว่าตอนนี้เธอกำลังเจรจากับพาร์ตเนอร์จีนอยู่ว่าจะเอาอย่างไร กันต่อสำหรับเรือเก่าเหล่านี้จะปล่อยหรือไม่ ขณะที่เธอก็อยากเดินเอง แม้ว่าหลังรัฐบาล ไทย มีนโยบายห้ามหน่วยราชการดูงานต่างประเทศ ทำให้ลูกค้ากรุ๊ปทัวร์ล่องน้ำโขงลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็สามารถปรับโปรแกรมเป็นเดินทางระยะสั้นในแม่น้ำโขงเพียง 1 วัน ไม่ต้องออกนอกประเทศขึ้นมารองรับได้ เช่น เปิดห้องสัมมนาลอยน้ำ เป็นต้น

รวมถึงระยะหลังจะมีการเปิดใช้เส้นทาง R3a หรือ R3b ขึ้นมาก็ตาม แต่แม่น้ำโขงก็ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากกว่า หน่วยงาน-สถาบันต่างๆ เช่น เทศบาล อบต. อบจ.ที่สามารถหันมาดูงานชายแดนมากขึ้น

"ถ้าเทียบระหว่างทางใต้ อีสานกับเหนือ เขาอยากมาทางเหนือมากกว่าลงใต้ ก็ไม่กล้ากันเท่าไหร่ เพราะฝนตก สึนามิบ้าง เหตุการณ์ทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง"

เธอมองว่าอนาคตของการท่องเที่ยวแถบสามเหลี่ยมทองคำ-การท่องเที่ยวผ่านแม่น้ำโขงยังไปได้ คนชอบแต่การเดินทาง แม่น้ำโขงต้องใช้เวลานับสิบๆ ชั่วโมง ทำให้คนเบื่อได้ คนจะตื่นเต้นระยะแรกที่ได้ลงเรือแม่น้ำโขง

สิ่งที่ต้องทำก็คือ การสร้างกิจกรรม รองรับบนเรือ เช่น เคาน์เตอร์บาร์ ห้องอาหาร ฯลฯ แต่ไม่ควรเป็นเรือนอน เพราะคนกลัวที่จะนอนระหว่างทางในแม่น้ำโขง

"เดี๋ยวพวกหน่อคำมาสะกิดกลางทาง เขาก็กลัว" เธอย้ำด้วยการหยิบยกเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธในสังกัด "หน่อ คำ" ที่เคลื่อนไหวแถบรัฐฉานตะวันออกของพม่า ที่เคยก่อเหตุยิงเรือตำรวจจีนกลางแม่น้ำโขง เมื่อต้นปี 2552 ที่ผ่านมา สุดท้าย ถูกกองทัพพม่าส่งกำลังจากเชียงตุงเข้ากวาดล้างอย่างรุนแรง

ดังนั้น เธอต้องหาจุดพักกลางทาง อาทิ หมู่บ้านลาว หรือสบโหลย ฝั่งพม่า ที่ปัจจุบันกลายเป็นชุมทางสินค้า-คนมากขึ้น โดยเฉพาะเกาหลีเหนือที่ทะลักมาพักรอเดินทางเข้าไทยอยู่เป็นจำนวนมาก

ส่วนเรือโดยสารก็สามารถบริหารจัดการได้ตามปริมาณผู้โดยสาร เช่น ช่วงพีคเดิมเคยวิ่งเชียงแสน-เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) ไปกลับสัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ขาขึ้น จันทร์ พุธ ศุกร์, ขาล่อง อังคาร พฤหัสบดี เสาร์) ก็ปรับเหลือสัปดาห์ละ 2 เที่ยว (ไปกลับรวม 4 เที่ยว) และเมื่อถึงไฮซีซันก็เพิ่มความถี่สูงขึ้นเท่านั้น

ส่วนทางบก ผ่าน R3a (ไทย ลาว จีน) ส่วนหนึ่งของคุน-มั่น กงลู่ หรือคุนหมิง-กรุงเทพฯ (รายละเอียดอ่านเรื่อง "เส้นทาง R3a กว่า 10 ปีจึงเป็นรูปเป็นร่าง" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ) โดยมากเน้นหนักเรื่องการเดินทางติดต่อค้าขายมากกว่า เพราะตลอดเส้นทางวนเวียนอยู่ในภูเขา ขณะที่ สปป.ลาวก็กำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเดินรถอยู่ เพื่อป้องธุรกิจสัญชาติลาวเอง

ขณะที่ R3b (ไทย พม่า จีน) ที่แม้ก่อสร้างเสร็จมานานหลายปี (รายละเอียดอ่านเรื่อง "R3b เส้นทางที่ต้องมีพี่เลี้ยง" ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนสิงหาคม 2550 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ) ที่จีนปิดพรมแดนมาร่วม 3-4 ปี ล่าสุด สป.จีนก็เปิดพรมแดนต้าล่อ หรือต้าลั่ว สิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ที่เชื่อมต่อกับปลายทาง R3b ที่เมืองลา เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 แห่งสหภาพพม่าของกลุ่ม "อูไซลิน" แต่ในฝั่งพม่ายังไม่เปิดพรมแดนให้ โดยส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่า-ชนกลุ่มน้อย ที่พม่าก็ยังไม่สามารถคุมได้ตลอดเส้นทาง และการจัดสรรผลประโยชน์กับกลุ่ม "อูไซลิน" ที่ปกครองพื้นที่อยู่ทั้งเรื่องค่าผ่านทางไกด์ วีซ่า (เข้าเขตปกครอง)

อย่างไรก็ตาม ผกายมาศบอกว่า เส้นทาง R3b ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวไทยอยู่เนืองๆ เพียงแต่ยังไม่สามารถเดินทางทะลุเข้าจีนผ่านทางนี้ได้เท่านั้น

เช่นเดียวกับคนจีน (ไทลื้อ) ที่เดินทางไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องในแถบนี้มานานก็ยังคงใช้ Border pass เข้าพม่ามาจนถึงท่าขี้เหล็ก (ตรงข้าม อ.แม่สาย จ. เชียงราย) อยู่ บางกลุ่มขับรถมาเองด้วยซ้ำ เพียงยังไม่สามารถข้ามฝั่งมาถึงไทยได้

"จริงๆ พรมแดนพม่า-จีน ไม่ปิดนะ เพียงแต่เขายังไม่ให้คนชาติที่ 3 ข้ามไปมาเท่านั้น" ผกายมาศบอก

ซึ่งปัญหานี้...รอเพียงเวลาในการคลี่คลายเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.