F&N: Expanding Future

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่สังคมไทยกำลังห่วงกังวลกับปรากฏการณ์การเข้าครอบครองพื้นที่ผืนใหญ่โดยกลุ่มทุนหลากหลายสัญชาติ ซึ่งได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นการก่อรูปของภัยคุกคามต่อความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดน

หากแต่การเคลื่อนเข้ามาอย่างช้าๆ ของ F&N บรรษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งทุนหลายสัญชาติสู่การรับรู้ของสังคมไทย กลับให้ภาพที่แตกต่างออกไปและกำลังท้าทายกรอบความคิดดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

F&N อาจมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งย้อนหลังกลับไปได้ไกลถึง กว่าศตวรรษ เมื่อ John Fraser และ David Neave เปลี่ยนผ่านธุรกิจ จากสิ่งพิมพ์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มในปี 1883 ภายใต้ชื่อบริษัท The Singapore and Straits Aerated Water Company ก่อนที่บริษัทเครื่องดื่มแห่งนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น Fraser and Neave, Limited พร้อม การขยายตัวและเติบโตกว้างขวางออกไปในเวลาต่อมา

เป้าประสงค์ของ F&N ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการผันตัวเอง จากการเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นในสิงคโปร์-มาเลเซียไปสู่การเป็น regional player ดำเนินสืบเนื่องมาเป็นระยะ โดยที่ผ่านมา F&N แทรกตัวเข้าไปมีบทบาทในตลาดอาหารและเครื่องดื่ม แต่ละประเทศในภูมิภาค ASEAN อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือและร่วมลงทุนกับ Heineken จาก Holland จัดตั้งบริษัท Malayan Breweries เพื่อผลิตเบียร์ Heineken และ Tiger จำหน่ายในภูมิภาคตั้งแต่เมื่อปี 1931 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Asia Pacific Breweries ในปี 1990 เพื่อสะท้อนมิติของการขยาย ตัวและแรงบันดาลใจในเป้าประสงค์ที่มุ่งหมาย

บทบาทของทั้ง Malayan Breweries และ Asia Pacific Breweries เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ได้สะท้อนกระบวนทัศน์การขยายตัวของ F&N อย่างเป็นระบบ ทั้งการรุกเข้าไปในตลาดเวียดนามในปี 1991 การตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา รวมถึงการเข้าสู่ตลาดจีนตอนใต้ ในปี 1994 และตลาดเมียนมาร์ในปี 1995

Frazer & Neave, Limited (F&NL) ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนองคาพยพของกลุ่มบรรษัทในเครือ F&N Group ได้จัดวางน้ำหนักของการเป็นบรรษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มระดับแนวหน้าของโลก ภายใต้โครงสร้างการบริหารที่น่าสนใจ

เพราะนอกเหนือจาก Asia Pacific Breweries (APB) ที่ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการรุกเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ โดยโรงงานผลิตเบียร์ กว่า 32 แห่งใน 11 ประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งเป็นสมาชิก ASEAN แล้ว ยังรวมถึงจีน อินเดีย ศรีลังกา นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกีนี และมองโกเลีย

F&NL ยังแบ่งโครงสร้างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มให้ Frazer & Neave Holding Bhd. (F&NHB) เป็นจักรกลสำคัญของกลุ่มอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการนำสินค้า F&N เข้าสู่ตลาดเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งผลิตด้วย

ขณะเดียวกัน F&N Foods Pte Ltd ในสิงคโปร์จะทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ผลิต กระจายสินค้า และดูแลเรื่องการตลาดในสิงคโปร์เป็นหลัก ควบคู่กับการขยายตลาดไปสู่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกไกล แปซิฟิก ใต้ และแอฟริกา ภายใต้ International Business Unit ที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบทบาทที่สิงคโปร์ทำได้ดีและประสบผลสำเร็จอยู่เสมอ

มิติโครงสร้างการบริหารจัดการของ F&NHB ในมาเลเซีย และ F&N Foods Pte Ltd ในสิงคโปร์ดำเนินไปอย่างสอดประสานในลักษณะของการแบ่งงานกันทำ โดย F&NHB มีหน้าที่หลักอยู่ที่การรับผิดชอบเป็นแนวรุกในการเข้าสู่แหล่งวัตถุดิบและผลิต ขณะที่ F&N Foods มีบทบาทหลักในการทำหน้าที่เป็น trading firm ที่พร้อมขยายตัวสู่ตลาดใหม่ๆ วิถีและก้าวย่างในลักษณะดังกล่าว ทำให้ F&N พร้อมจะเป็นกลไกในเชิงยุทธศาสตร์ที่ดำเนินมาตรการตอบสนองวิสัยทัศน์ด้านอาหารในระดับรัฐได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า Temasek Holdings จักรกลที่มีบทบาทและรับผิดชอบด้านการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้เข้าซื้อหุ้นของ F&NL คิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ด้วยมูลค่าการลงทุนที่มากถึง 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงปลายปี 2006 นับเป็นการลงทุนที่มี "ขนาดใหญ่และมากที่สุด" ในธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเท่าที่ Temasek เคยลงทุนมา

นอกจากนี้ภายใต้โครงสร้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยขุมข่ายที่ทรง ประสิทธิภาพของ F&NL ยังประกอบด้วยธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่แผ่คลุมพื้นที่ตลาดใน ASEAN โดยเฉพาะขวดแก้วซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเครื่องดื่มโดยตรง หรือแม้กระทั่ง การดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการที่ต้องแสวงหาพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิต รวมถึงการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์อีกด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การลงทุนของ Temasek ดังกล่าวเกิดขึ้นในห้วงเวลา คาบเกี่ยวกับการที่ F&NHB หน่วยผลิตที่สำคัญของ F&NL ได้เข้าซื้อกิจการเครื่องกระป๋องและน้ำนมเหลวจาก Nestle ผู้ประกอบการรายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นการรุกขยายฐานทางการตลาดเข้าสู่ตลาด ASEAN ด้วยผลิตภัณฑ์ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Nestle และ F&N อย่างมีนัยสำคัญ เพราะการซื้อกิจการของ Nestle ดังกล่าวได้ส่งให้ F&N มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของกำลังการผลิตเดิม ทำให้ F&N กลายเป็นผู้ผลิตนมกระป๋องรายใหญ่ที่สุดใน ASEAN ไปโดยปริยาย

ความเคลื่อนไหวของ Temasek ที่ดำเนินผ่านการเข้าลงทุนใน F&N ย่อมมิได้ผูกพันอยู่เฉพาะในมิติของผลตอบแทนการลงทุนในรูปของเม็ดเงินเท่านั้น หากย่อมดำเนินไปอย่างสอดรับกับยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่มีการถกแถลงกันอย่างมากด้วย

เพราะศักยภาพและความมั่นคงในเชิงอาหาร ถือเป็นประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถบ่งชี้ความอยู่รอดหรือเป็นไปของชาติ ไม่แตกต่างจากกรณีว่าด้วยความมั่นคงในเชิงพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับสังคมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในยุคสมัยปัจจุบัน

ขณะเดียวกันภาพการขยายตัวเข้าสู่ประเทศไทยของ F&N ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานผลิตภัณฑ์จากนม มูลค่าการลงทุนกว่า 250 ล้านริงกิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ซึ่งเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนในฐานะที่เป็น "the best in its class" จากผลของการเป็นโรงงานที่มีต้นทุนการผลิตต่ำแต่มีประสิทธิภาพสูง

หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแห่งนี้จะเป็นประหนึ่งต้นแบบสำหรับการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ของ F&N ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 350 ล้านริงกิต ที่เมือง Palau Indah, Selangor ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี 2011 โรงงานที่มีมาตรฐานระดับ world class แห่งใหม่นี้จะเป็นโรงงานผลิตหลักของ F&N ในอนาคต และนับเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเลยทีเดียว

การลงทุนที่ดำเนินการโดย F&N Dairies (Thailand) ซึ่งดูประหนึ่งจะเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนการค้าในประเทศไทย หากแต่ภายใต้โครงสร้างของบริษัทที่มี F&NHB จากมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้น 100% เช่นนี้ จะประเมินความเป็นไปดังกล่าวว่าเกิดขึ้นโดยทุนสัญชาติใด

ยังไม่นับรวมไปสู่การที่ F&NHB ก็เป็นบริษัทในเครือของ F&NL ในสิงคโปร์ ซึ่งก็ไม่สามารถบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ภายใน F&NL มีทุนสัญชาติใดผูกพันและโยงใยอยู่อีกบ้าง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมิติแห่งทุนได้ข้ามพ้นเส้นแบ่งในเรื่องสัญชาติไปสู่ภาวะไร้สัญชาติมานานแล้ว

ขณะที่แนวความคิด "ชาตินิยม" และ "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ถูกท้าทายจากผลของความร่วมมือภายใต้กรอบ ASEAN อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาผ่านกรอบการค้าเสรี รวมถึง ASEAN Comprehensive Investment Area ซึ่งถือหลักปฏิบัติเยี่ยงชาติ (National treatment) และการกำหนดเป็น ASEAN Community ภายในปี 2015

ที่สุดแล้ว การพิจารณาเพื่อแสวงหามาตรการต่อกรณีที่ท้าทายเหล่านี้ สังคมไทยจำเป็นต้องเปิดโลกทัศน์ เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและรู้เท่าทันมากขึ้น

เมื่อประเมินในมิตินี้ สังคมไทยอาจต้องเริ่มต้นด้วยการให้ "อาหารสมองเพื่อความมั่นคงทางปัญญา" กันอย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.