|
CIMB: Regional Networking
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
นับตั้งแต่ CIMB เข้าซื้อกิจการของไทยธนาคารจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทย ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 6 พันล้านบาท จังหวะก้าวของ CIMB สถาบันการเงินซึ่งมีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสถาบันการเงินในกลุ่ม ASEAN ที่ดำเนินผ่าน CIMB Thai กำลังสะท้อนมิติที่เกี่ยวเนื่องและสอดรับกับโครงข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาคที่น่าสนใจยิ่ง
การเปิดตัวบัตร CIMB Preferred ของ CIMB Thai เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การเป็นบัตรซึ่งสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเครือข่ายสาขารวมกว่า 1,150 สาขาของ CIMB ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค และนับเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดใน ASEAN บ่งบอกเป้าหมายของ CIMB ที่ต้องการเป็นสถาบันการเงิน ระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน CIMB กำลังปรับเปลี่ยนสถานะของ CIMB Thai จากสถาบันการเงินที่ขาดทุนต่อเนื่อง มาสู่การเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนการลงทุนของ CIMB ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน หลังจากที่ CIMB เข้ามามีอำนาจในการบริหารและผนวกสถาบันการเงินแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย
กรณีดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดจากผลประกอบการของ CIMB Thai ในไตรมาส 3 ของปี 2009 ที่สามารถบันทึกผลกำไรรวมเป็นเงินกว่า 461 ล้านบาท จากที่มีผลประกอบการขาดทุนรวมกว่า 246 ล้านบาทในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนศักยภาพความสามารถและวิธี การบริหารของ CIMB ได้อย่างน่าสนใจ
ท่วงทำนองของ CIMB Thai ที่พยายามปรับลดสัดส่วนของเงินฝากจากเดิมที่มีอยู่ในระดับ 1.4 แสนล้านบาทให้เหลือเพียง 1.1 แสนล้านบาทภายในสิ้นปี 2009 เพื่อเป็นการตัดลดต้นทุนภาระดอกเบี้ย ขณะเดียวกันก็พยายามเร่งปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เปิดให้เห็นมิติของเงินทุนที่สถาบันการเงินแห่งนี้กำลังบริการจัดการ
การประกาศผลกำไรและเป้าหมายการลดยอดเงินฝาก เพิ่มวงเงินสินเชื่อของ CIMB Thai เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการประกาศขายอาคารสำนักงาน CIMB Thai ที่สาทรซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวน การในปลายปีนี้
"ในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน CIMB มุ่งหมายที่จะใช้เงินทุนให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารงบดุลเพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อและสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการขายอาคารดังกล่าวจะทำให้ CIMB Thai สามารถกระชับการบริหารได้จากสำนักงานหลังสวน และเป็นการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป" สุภัค ศิวะรักษ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ CEO ของ CIMB Thai ระบุ
ขณะเดียวกัน วิสัยทัศน์ของ CIMB ที่ต้องการเป็น "Southeast Asia's Most Valued Universal Bank" ไม่ได้มีฐานะเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูแต่จับต้องไม่ได้ หากกำลังดำเนินไปอย่างจริงจังและในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น
โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ CIMB เป็นประหนึ่งเรือธงในธุรกิจการเงินให้กับ Khazanah Nasional บรรษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลและรับผิดชอบยุทธศาสตร์การลงทุนระดับชาติของรัฐบาลมาเลเซีย ที่กำลังเร่งขยายบทบาทในระดับภูมิภาค รวมถึงการมีเครือข่ายของกลไกระดับรัฐทั้ง EPF (Employees Provident Fund) และ KWAP (Kumpulan Wang Amanah Pencen-Pensions Trust Fund) เป็นผู้ถือหุ้นที่พร้อมสนับสนุนการรุกทางยุทธศาสตร์ของสถาบันการเงินแห่งนี้
เครือข่ายของ CIMB สถาบันการเงินอันดับสองของมาเลเซีย มีกระจายอยู่ในเกือบทุกประเทศของ ASEAN ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในสิงคโปร์และบรูไน หรือการลงทุนใน CIMB Thai รวมถึงการซื้อหุ้นธนาคาร Niaga และควบรวมกับ Lippo Bank ในอินโดนีเซียเพื่อตั้งเป็น CIMB Niaga ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ในอินโดนีเซียในปัจจุบัน
นอกจากนี้เครือข่ายของ CIMB ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านธนาคารเท่านั้น หาก CIMB ยังมีเครือข่ายผ่านกลไกของ CIMB-GK กิจการด้านหลักทรัพย์ที่ CIMB เข้าซื้อกิจการจากกลุ่ม GK Goh Securities ในสิงคโปร์และมีเป้าหมายจะพัฒนาให้ CIMB-GK ก้าวขึ้นเป็นวาณิชธนกิจระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
เป้าหมายของ CIMB ที่ดำเนินภายใต้ ASEAN's Brand Strategy ไม่ใช่ความลับทางธุรกิจ หาก CIMB ได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความชำนาญการด้านธนาคารอิสลาม ซึ่งอาจเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะผลักดันให้ CIMB บรรลุสู่เป้าหมายในระดับภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น
CIMB Islamic อาจจะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในประเทศไทย หากแต่ในกลุ่มประเทศชาติสมาชิก ASEAN แห่งอื่นๆ ที่มีกลุ่มประชากรมุสลิมอยู่หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน หรือในสิงคโปร์ และการเชื่อมประสานเครือข่ายการให้บริการทางการเงินไปสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นฐานของเงินทุนขนาดใหญ่ ของโลกในปัจจุบัน ก็เป็นไปโดยอาศัยกลไกของ CIMB Islamic เช่นกัน
บทบาทของ CIMB กำลังเป็นประหนึ่งการท้าทายสถานะของทั้ง MayBank ธนาคารอันดับหนึ่งของมาเลเซีย หรือแม้กระทั่ง DBS และ UOB สองสถาบันการเงินจากสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ในภูมิภาคและก่อให้เกิดคำถามต่ออนาคตและความเป็นไปของสถาบันการเงินของไทยไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ ASEAN กำลังมุ่งหน้าสู่การเปิดเสรีและการมุ่งเน้น Connectivity หลากหลายประการ ไม่เว้นแม้ในภาคบริการและการเงินเช่นนี้ เพราะวิถีที่ดำเนินไปของสถาบันการเงินเหล่านี้ ได้ข้ามพ้นข้อจำกัดทางธุรกิจที่เคยตีบแคบอยู่เฉพาะ ในพื้นที่ของประเทศใดประเทศหนึ่งให้กลายเป็นผู้ประกอบการที่กำลังมีบทบาทในระดับ ภูมิภาคและระดับนานาชาติ ซึ่งพร้อมจะดำเนินการสอดประสานกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ ด้วย
วิถีที่ดำเนินไปของ CIMB จึงไม่ใช่เพียงความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมไทยเท่านั้น หากยังเป็นการสะท้อนภาพในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ของมาเลเซียที่พร้อมเข้าแสวงประโยชน์จากพื้นที่รอบภูมิภาคที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|