|
PROTON: Driving the Dreams
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพรถยนต์ Proton Savvy คันเล็กกะทัดรัด รวมถึง Proton Persona Gen-2 ที่วิ่งสัญจรอยู่บนถนนเมืองไทยอาจไม่ได้ก่อให้เกิดภาพประทับใจในระดับที่ทำให้ผู้พบเห็นให้ความสนใจหรือเพ่งพินิจความเป็นไปที่อยู่เบื้องหน้ามากนัก
หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง การโลดแล่นของ Proton กลับสะท้อนภาพลักษณ์ในเชิงยุทธศาสตร์การผลิตที่มีนัยความหมายมากกว่ากรอบวิธีคิดที่ดำเนินไปภายใต้วาทกรรมว่าด้วยการเป็น Detroit แห่งเอเชียของรัฐไทยไปไกลอย่างไม่เห็นฝุ่น
การเกิดขึ้นของ Proton ในฐานะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย เป็นภาพสะท้อนวิถีในการวางแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ระดับชาติของมาเลเซียได้เป็นอย่างดี แม้ว่าในชั้นต้นกรณีของ Proton จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นเพียงประหนึ่ง "ของเล่น" หรือ pet project ของท่านผู้นำที่เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานอย่าง Dr.Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในขณะนั้นก็ตาม
ความสำเร็จของฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจนได้รับการกล่าวถึงในฐานะ 4 เสือเอเชีย (4 Asian Tigers) ในช่วงทศวรรษ 1970 ต่อเนื่องถึง 1980 ทำให้มาเลเซียในยุคของ Dr.Mahathir Mohamad วางเป้าหมายไว้ที่การเป็นเสือตัวที่ 5 ด้วยการพัฒนามาเลเซียให้ก้าวขึ้นสู่สถานะของการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country: NICs) ตามรอยทางดังกล่าว
มิติทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้เป็นนโยบาย ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การพัฒนามาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางทางการผลิตด้วยเทคโนโลยี ชั้นสูงในระดับภูมิภาค การเป็นศูนย์กลางทางการเงินและศูนย์กลาง ด้านโทรคมนาคมได้รับการเรียกขานต่อมาว่า Malaysia Plans และเป็นเป้าหมายระยะกลางของแผนพัฒนามาเลเซียทั้งระบบ
The Heavy Industries Corporation of Malaysia Berhad หรือ HICOM ถูกจัดตั้งขึ้นมารองรับและสอดประสานกับแผนการพัฒนาระดับรัฐดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และเป็นจักรกลสำคัญที่บูรณาการพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ แห่งชาติของมาเลเซีย ซึ่งรวมถึง Proton ด้วย
เป้าประสงค์ของโครงการที่มี code name ว่า Proton ซึ่งมีรากฐานมาจากคำว่า PeRusahaan OTOmobil Nasional หรือ National Automobile Enterprise ที่ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งในปี 1983 จึงมิได้มีสิ่งใดซับซ้อนหรือเกินเลยไปจากความมุ่งหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่กลายเป็นเครื่องมือ หลักในการบริหารของ Dr.Mahathir Mohamad ตลอดระยะเวลากว่า 22 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ
Proton เริ่มต้นด้วยการพึ่งพิงเทคโนโลยีทั้งระบบจาก Mitsubishi Motors เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นแรกในนาม Proton Saga ในปี 1985 ซึ่งหากประเมินในมิติที่ว่านี้อาจกล่าวได้ว่า Proton เริ่มต้นขึ้นจากการจ้างให้ Mitsubishi ผลิตรถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของมาเลเซีย แทนที่จะปล่อยให้มาเลเซียอยู่ในสถานะของการเป็นฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้
แต่สิ่งที่สำคัญมากในจังหวะก้าวของ Proton มิได้อยู่ที่การได้เป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ เท่านั้น หากแต่เป็นกลไกว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและความสามารถในเชิงวิศวกรรมยานยนต์ที่จะเป็นพื้นฐานในการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติมาเลย์อย่างแท้จริงในอนาคต
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอะไหล่และอุปกรณ์จากผู้ประกอบการในมาเลเซีย ก็ได้รับการส่งเสริมให้ทวีบทบาทและกลายเป็นจักรกลสำคัญที่เข้ามาประกอบส่วนในการร่วมพัฒนา Proton ให้เป็นบรรษัทยานยนต์แห่งชาติในเวลาต่อมา
กรณีดังกล่าวทำให้ความเป็นไปของ Proton ข้ามพ้นมิติในเชิงสัญลักษณ์ว่าด้วยการเป็นโครงการรถยนต์แห่งชาติ ไปสู่รูปธรรมของการสร้างงานจำนวนมหาศาล ซึ่งส่งผลทางบวก โดยตรงต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของชาติ และผลสืบเนื่องทวีคูณซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้
ขณะเดียวกันมิติทางการตลาดและการขยายการรับรู้ในระดับสากลของ Proton เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะ Proton มิได้ขายความภาคภูมิใจที่จะครอบครองรถยนต์แห่งชาติให้กับชาวมาเลเซียเท่านั้น หากยังพยายามส่งออก Proton สู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกาด้วย
การขยายตลาดสู่ระดับนานาชาติ ทำให้ Proton ต้องเร่งแสวงหาทางเลือกในมิติของเครื่องยนต์และเทคโนโลยียนตรกรรมให้มากขึ้น ก่อนจะนำไปสู่การซื้อเทคโนโลยีและหุ้นส่วนใหญ่ของ Lotus จาก A.C.B.N. Holdings S.A. ในปี 1996 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Proton GEN-2 ในปัจจุบัน
ทศวรรษที่ 2 ของ Proton ดำเนินไปอย่างน่าสนใจเพราะนอกจากจะซื้อเทคโนโลยีจาก Lotus ผู้ผลิตรถสปอร์ตระดับหรูแล้ว Proton ยังพยายามแสวงหาพันธมิตรในโลกยนตรกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Volkswagen จากเยอรมนีในปี 2004 ภายใต้ข้อแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีที่ Proton จะได้รับกับการที่ Volkswagen จะอาศัย Proton เป็นฐานในการรุกเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าพันธมิตรระหว่าง Proton และ Volkswagen จะสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา หลังจากที่ Volkswagen พยายามเข้าครอบครอง Proton ด้วยการเสนอตัวเข้าถือหุ้น 51% ใน Proton ซึ่งย่อมไม่ใช่สิ่งที่ Proton ประสงค์จะให้เป็น และทำให้พันธมิตรคู่นี้ต้องมีอันเป็นไปอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2007
กระนั้นก็ดี พัฒนาการด้านยนตรกรรมของ Proton มิได้หยุดชะงักลงไปด้วย หากแต่ Proton ได้อาศัยจังหวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม ในช่วงปี 2008 ประกาศจะพัฒนาเครื่องยนต์แบบผสมที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน (fuel-efficient hybrid)
สิ่งที่ Proton ประกาศสู่สาธารณชน ไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยเหนือจริงหรือจับต้องไม่ได้ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ความร่วมมือระหว่าง Proton กับ Detroit Electric ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจาก Detroit, Michigan สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง
ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ Detroit Electric ลงทุนเพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่อง ยนต์ขับเคลื่อน Detroit Electric Advanced Propulsion Lab และโรงงานผลิตระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าในอาณาบริเวณที่ต่อเนื่องกับศูนย์ประกอบรถยนต์ของ Proton พร้อมกับแผนในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้ชื่อ Proton รวม 30,000 คันภายในปี 2010 และระบบการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากว่า 400,000 ชุดภายในปี 2012
กรณีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการดึงเงินลงทุนและการวิจัยพัฒนามาสู่มาเลเซียอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการจ้างงานจำนวนมากแล้ว ก้าวย่างดังกล่าวยังทำให้ Proton กลายเป็นผู้ประกอบการด้านยานยนต์ลำดับต้นๆ ของภูมิภาค ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแนวความคิดว่าด้วย Cool ASEAN ที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและประเด็นว่าด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาของประเทศในกลุ่ม ASEAN ได้อย่างลงตัว
การเติบโตขึ้นของ Proton มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติของเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์เท่านั้น หากแต่จังหวะก้าวของ Proton ยังผูกพันต่อพัฒนาการทางสังคมและผังเมืองไปในคราวเดียวกันด้วย
โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมภายใต้ชื่อ Proton City ทางเหนือของเมือง Tanjung Malim ในรัฐ Perak ซึ่งได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่เมื่อปี 1996 ด้วยเงินลงทุนมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านริงกิตและมีกำหนดแล้วเสร็จเต็มโครงการในปี 2020
สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 2020 (Vision 2020 หรือ Wawasan 2020) ที่ Dr.Mahathir Mohamad เคยประกาศในการประชุมเพื่อร่างแผนพัฒนามาเลเซียฉบับที่ 6 (Sixth Malaysia Plan) ตั้งแต่เมื่อปี 1991 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การพัฒนาให้มาเลเซียบรรลุสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มั่นคงแข็งแรงด้วยศักยภาพในการพึ่งพากลไกภายในประเทศอย่างมีพลวัตและเปี่ยมด้วยความสามารถในการแข่งขัน
เมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้ได้รับการกล่าวถึงในฐานะเมืองแห่งอนาคต (City of the Future) เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบรถยนต์ Proton มูลค่ากว่า 1.8 พันล้านริงกิตแล้ว พื้นที่โดยรอบยังจัดสรรไว้ให้กับอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่จะมีมากถึง 81 โรงงาน
ขณะเดียวกันเมืองใหม่แห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Universiti Pendidikan Sultan Idris (UPSI: Sultan Idris University of Education) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากสถาบันฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของมาเลเซีย
ควบคู่กับการออกแบบจัดวางระบบสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งในส่วนของศาสนสถาน โรงเรียน รวมถึงสวนสาธารณะที่จะเป็นแหล่งสันทนาการและพักผ่อนสำหรับประชากรที่คาดว่าจะย้ายเข้ามาอยู่ใน Proton City แห่งนี้มากถึง 250,000-300,000 คน
แม้ว่า Proton City จะไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็น Detroit แห่งเอเชีย หากแต่วิถีที่ดำเนินไปของเมืองใหม่แห่งนี้กำลังผลิตสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่แตกต่างจากสถาปนาศูนย์อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทที่ ASEAN กำลังเปิดกว้างต้อนรับการลงทุนจากกรอบการค้าเสรี รวมถึง ASEAN Comprehensive Investment Area (ACIA) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2010
ความเป็นไปของ Proton City ในห้วงขณะนี้จึงเป็นประหนึ่งการวางรากฐานเพื่อรองรับกับกลไกที่จะเกิดขึ้นภายใต้กรอบ ASEAN อย่างมั่นคง เป็นการเตรียมความพร้อมที่สามารถหนุนนำให้มาเลเซียก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศ "แถวหน้า" ของ ASEAN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เส้นทางที่ Proton ในฐานะยนตรกรรมอาจจะดำเนินไปในท่วงทำนองที่ไม่สะดุดตามากนัก แต่ Proton ในฐานะจักรกลที่หนุนนำยุทธศาสตร์การพัฒนา อาจส่งผ่านข้อความที่น่าสนใจไม่น้อย หากแต่วิสัยทัศน์ของสังคมไทยจะผลิตสร้างจักรกลในลักษณะนี้ขึ้นมาได้เมื่อใด ดูจะเป็นกรณีที่ยากจะคาดหวัง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|