|
เมื่อฟ้าไม่อาจจะขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงปี พ.ศ.2552 ผมเชื่อเหลือเกินว่าท่านผู้อ่านคงเบื่อเวลาที่มีการพูดถึงปัญหาระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะความพยายามที่ไร้ผลของรัฐบาลสารขันประเทศในการเดินทางไปทั่วโลกเอาสนธิสัญญาสมัยอาณานิคมไปขอให้อดีตอาณานิคมอังกฤษส่งอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งมาในข้อหาผู้ร้ายข้ามแดน หรือปัญหาคาราคาซังกับกัมพูชาเรื่องเขาพระวิหารที่ศาลโลกยกให้เขมร ซึ่งกลายเป็นปัญหาเรื้อรังข้ามปีทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วคนไทยกับคนเขมรก็ไม่ได้เกลียดกันมาแต่ชาติปางไหน
ที่ผมเกริ่นมาเสียยืดยาวเพราะผมมองว่าในศตวรรษที่ 21 โลกทั้งโลกพูดถึงยุคโลกาภิวัตน์โลกไร้พรมแดน การทำให้โลกเล็กลงผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศที่ฝรั่งเรียกว่า Integration ประเทศไทยกลับพยายามเดินนโยบายถอยหลังไปสู่โลกยุคชาตินิยม ทำให้ ผมนึกถึงงานชื่อ Angel of History โดย Walter Benjamin (1939) นักวิชาการชาวยิวที่เขียนก่อนโดนสังหารโดยนาซีว่า
His face is turned toward the past. Where we perceive a chain of events, he sees one single catastrophe which keeps piling wreckage and hurls it in front of his feet. The angel would like to stay, awaken the dead, and make whole what has been smashed. But a storm is blowing from Paradise; it has got caught in his wings with such violent that the angel can no longer close them. This storm irresistibly propels him into future to which his back is turned, while the pile of debris before him grow skyward. This storm is what we call progress.
บทความดังกล่าวแม้จะเสียดสีรัฐบาลเผด็จการของฮิตเลอร์ แต่กลับกลายเป็นผลงานคลาสสิกที่สามารถนำมาวิจารณ์รัฐบาลได้ทุกยุคทุกสมัย เทวดาก็เปรียบได้กับรัฐบาลที่มองแต่อดีต คอยปลุกผี หรือซากปรักหักพังโดยไม่มองถึงอนาคต ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า ในที่สุดเทพแห่งอดีตก็จะโดนพายุพัดไปสู่อนาคตอย่างไม่ทันตั้งตัว ขณะที่ซากปรักหักพังที่เทวดาพยายามปลุกให้คืนชีพต่างโดนพายุพัดหายไปในท้องฟ้า พายุนั้นคือความก้าวหน้า แต่วอลเตอร์ เบนจามินไม่ได้บอกว่าเทวดานั้นจะเป็นหรือจะตาย เพราะนั่นคือสิ่งที่รัฐบาลต่างๆ ต้องเอาตัวรอดเองหลังจากโดนพายุพัดซากปรักหักพังไปหมดแล้ว
แน่นอนครับ พายุดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะว่าโลกเราก้าวหน้าไปทุกวัน ถ้ารัฐบาลยังทำตัวเป็นเทวดาที่คอยบินไปเก็บซากปรักหักพังที่โดนพายุพัดหายไปโดยไม่สร้างสิ่งใหม่ๆ เทวดาก็คงต้องใช้พลังงานอย่างสูญเปล่าไปชั่วชีวิต แนวคิดด้านโลกไร้พรมแดนนั้นไม่ได้เป็นของใหม่แต่อย่างใด อันที่จริงแล้วหลังบทความของวอลเตอร์ เบนจามินแพร่ออกไปได้ไม่นาน บรรดานักโทษการเมือง ซึ่งโดยมากเป็นนักวิชาการที่โดนรัฐบาลนาซีกับฟาสซิสต์จับกุมไว้ นำโดยสปิเนลลี่ได้เริ่มแนวคิด ที่ต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นแนวคิดในวิชารัฐศาสตร์ แขนงใหม่เรียกว่า Integration ซึ่งนักการเมืองและนักวิชาการหัวโบราณส่วนมากคิดว่าเป็นแนวคิดที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์นั้นต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่าง ความคิด โลกที่ไร้พรมแดนจึงเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ แต่เมื่อมีคนคิดว่าทำไม่ได้ ย่อมต้องมีคนคิดว่าทำได้และลงมือทำ ตรงจุดนี้เองที่ประเทศในยุโรปเริ่มจาก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก เริ่มก่อตั้งกลุ่มเบเนลักซ์ขึ้น ซึ่งได้ขยายไปสู่เยอรมนี อิตาลี และ ฝรั่งเศสในนาม ECSC ในที่สุดก็ได้เป็นจุดกำเนิดของสหภาพยุโรปในปี ค.ศ.1992 ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าโลกไร้พรมแดนเป็นไปได้จริง
ทุกวันนี้ สหภาพยุโรปมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ ที่เปิดชายแดนเสรีและสมาชิกกว่าครึ่งยกเลิกสกุลเงินตรา ของตนเองและหันไปใช้เงินกลางของยุโรปอย่างยูโร ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประเทศที่เคยรบกันอย่างเอาเป็นเอาตายเป็นร้อยๆ ปี ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย สเปน ฮอลแลนด์ ต่างหันหน้าเข้าหากันได้ ประชาชน โยกย้ายถิ่นฐานมาทำมาหากินข้ามพรมแดนได้โดยอิสระ นอกจากอังกฤษแล้วประเทศคู่อริเหล่านี้ต่างหันมาใช้เงิน สกุลเดียวกันได้อีก ทำให้แนวคิดของโลกยุคโลกาภิวัตน์ดูเป็นไปได้ขึ้นมาทันที
นอกจากสหภาพยุโรปแล้วยังมีอีกสองประเทศที่เดินตามกระแส Integration อย่างไม่หยุดยั้ง นั่นคือประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั่นเอง แน่นอนครับการ Integrate ของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หากดูแบบคนทั่วไปอาจจะคิดว่ามันจะไปยากอะไร ก็เป็นอดีต อาณานิคมของอังกฤษเหมือนกัน คนส่วนมากก็เป็นฝรั่งเหมือนกัน แถมประชากรก็นิดเดียว แต่ที่หลายคนไม่ทราบคือความพยายามดังกล่าวนั้นยากพอๆ กับยุโรปทีเดียว ในขั้นแรกสุดคือการเปิดชายแดนระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสนั้นไม่ยากเพราะผืนดินติดกัน จากเดนมาร์กไปสวีเดนอาจจะต้องข้ามทะเล แต่ก็ไม่ไกลสร้างสะพานได้ ที่ยากคือช่องแคบโดเวอร์ ที่ต้องสร้างอุโมงค์จากอังกฤษไปฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้ เดินทางโดยเครื่องบินก็ยากพอสมควร แต่ถ้าใครลอง หันมามองดูแผนที่ระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ อาจจะคิดได้ว่ามีทะเลทัสมันกั้นอยู่ ซึ่งคนที่ไม่เคยเดินทางระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์อาจจะไม่ทราบว่าระยะทางจากซิดนีย์ไปโอ๊กแลนด์นั้นขนาดบินด้วยเครื่องบินยังต้องใช้เวลาถึงสามชั่วโมงกว่าๆ ก็คงราวๆ กรุงเทพฯ ไปไต้หวันหรือฟิลิปปินส์ทีเดียว นอกจากมีฟ้าและท้องทะเลมากั้นไว้แล้ว ประเทศ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีความแตกต่างกันพอสมควรเช่นเชื้อชาติ
แม้แต่บรรดาฝรั่งที่ไม่ได้มาจากเครือจักรภพ นั้น นิวซีแลนด์จะเป็นเชื้อสายดัตช์ ในขณะที่ออสซีจะเป็นยุโรปตะวันออกอย่างโครเอเชียกับกรีซจำนวน ไม่น้อย นอกจากนี้ชาวเอเชียในออสเตรเลียจะหลาก หลายกว่าในนิวซีแลนด์ ถ้าเป็นชาวจีนในออสเตรเลีย ส่วนมากจะเป็นจีนกวางตุ้ง ขณะที่ในนิวซีแลนด์จะเป็นจีนไต้หวันหรือจีนมาเลเซีย นอกจากนี้ชาวพื้นเมืองนิวซีแลนด์คือเมารี เป็นชาวโพลีนีเชียนและได้รับสิทธิคุ้มครองอย่างมากจากรัฐบาลกีวี ขณะที่อะบอ ริจินิสของออสเตรเลียเป็นชาวมิลาเนเชียนและโดนกดขี่จากรัฐบาลจิงโจ้ นอกจากนี้ระบอบการปกครอง ของทั้งสองประเทศก็ต่างกัน โดยออสเตรเลียมีการปกครองแบบสหพันธรัฐ ทุกรัฐมีนายกฯ ของตนเอง นอกเหนือจากการมีนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ในขณะที่นิวซีแลนด์เป็นระบบ unitary แบบเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะถมช่องว่างของสองประเทศเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1965 โดยมีข้อตกลง Close Economic Relations หรือ CER ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1990 เรียกได้ว่าก่อนสหภาพยุโรปถึงสองปี โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงตลาดร่วมคือการยกเลิกภาษีและการจำกัดปริมาณสินค้านำเข้าระหว่างสองประเทศ ข้อตกลงในการไม่ต้องมีวีซ่าเข้าประเทศ ข้อตกลงในการที่ชาวออสซีหรือกีวีจะเดินทางย้ายมาอยู่อาศัย ทำงาน เรียนหนังสือ ในสองประเทศอย่างเสรี โดยได้รับสิทธิและสวัสดิการเท่ากับคนของประเทศนั้นๆ หมายความง่ายๆ ถ้าชาวออสเตรเลียจากซิดนีย์เดินทาง มานิวซีแลนด์แล้วชอบควีนส์ทาวน์ก็สามารถซื้อบ้านแล้ว ก็อยู่อาศัยในควีนส์ทาวน์ ทำงาน ประกอบธุรกิจได้เลย ชาวนิวซีแลนด์จากเวลลิงตันบินไปเมลเบิร์นแล้วอยากเรียนมหาวิทยาลัยที่นั่นก็สมัครเข้าเรียนเสียอัตราเดียวกับชาวออสซีแถมมีเงินกู้ยืมในการเรียนหนังสือได้แบบชาวออสซี
นอกจากนี้ชาวออสซีหรือกีวีที่อยู่นานๆ เมื่อมีลูก ก็สามารถให้ลูกเลือกสัญชาติใดก็ได้ บ่อยครั้งที่ถือสอง สัญชาติ เช่นนักกีฬาจักรยานของออสเตรเลียที่ได้เหรียญ ทองแดงในโอลิมปิกครั้งก่อนคนหนึ่งนั้นเป็นชาวนิวซีแลนด์ ที่เกิดในออสเตรเลียและรัฐบาลทั้งสองประเทศต่างขอร้องให้แข่งในนามประเทศตน แต่รัฐบาลออสซีชนะไปทั้งๆ ที่ ครอบครัวของนักกีฬาคนดังกล่าวย้ายกลับมาอยู่ในนิวซีแลนด์แล้ว ตรงนี้รวมถึงดาราดังหลายคนรวมทั้งเคิร์ท รัสเซลที่ออสซีเคลมว่าเป็นออสซี เพราะโตทีนั่น ขณะที่นิวซีแลนด์ก็เคลมว่าเจ้าตัวเกิดในนิวซีแลนด์
ด้วยนโยบายดังกล่าวทำให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างที่คนส่วนมากไม่รู้หรือไม่ได้สังเกต เช่นถ้าคุณอยากได้ไวน์ชีราสดีๆ สักขวดหนึ่ง ราคาขายในเมืองแอดเลดซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตจะแพงกว่า ไวน์ตัวเดียวกันชนิดเดียวกันที่ขายในเมืองไครส์เชิร์ช ของนิวซีแลนด์ที่อยู่ห่างกว่าสามพันกิโลเมตร ทำไมเหรอครับ หนึ่งคือร้านเหล้าในแอดเลดซื้อในจำนวนไม่มากเท่ากับบริษัทนำเข้าของนิวซีแลนด์ ทำให้ราคาซื้อสูงกว่า พอบวกส่วนต่างของกำไรและภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาษีรัฐแล้วจึงออกมาแพงกว่าไวน์ที่ส่งไปนิวซีแลนด์ที่มีแต่ค่าขนส่งและภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกัน ถ้าจะซื้อสีทาบ้านของรีซีนซึ่งผลิตในนิวซีแลนด์ ราคาสีในร้านขายสีที่เมืองเล็กๆ อย่างทิมารู ห่างจากที่ผลิตไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจะแพงกว่าในซิดนีย์ที่ห่างไปสองพันกว่ากิโลเมตรถึง 20% เพราะว่าปริมาณการซื้อที่สูงกว่าของร้านในซิดนีย์
นอกจากนี้ชาวไทยอาจไม่ทราบเกี่ยวกับด้านการศึกษา จึงมองว่าส่งบุตรธิดาไปเรียนออสเตรเลียนั้นดีกว่านิวซีแลนด์ เพราะแนวคิดแบบที่เรียกกันว่า Stereotype แต่สิ่งที่ทุกคนไม่รู้คือจริงๆ แล้วการศึกษาในบางระดับนั้นนิวซีแลนด์ดีกว่าออสเตรเลีย และพ่อแม่ชาวออสซีต่างส่งบุตรหลานมาเรียนที่นิวซีแลนด์
ขณะที่คนไทยส่งลูกไปออสเตรเลียแทน ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชาวออสเตรเลีย เขาเล่าว่าการศึกษาในระดับมัธยมศึกษานั้นนิวซีแลนด์ดีกว่ามาก เพราะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและการเรียนการสอนในมาตรฐานที่สูงนั้นมีจำนวนใกล้เคียงกันและโควตาเข้าเรียนสูสีกัน ทีนี้ในซิดนีย์หรือเมลเบิร์นที่มีประชากรเกือบสี่ล้านคนทำให้ไม่มี โอกาสเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ ขณะที่ถ้ามาไครส์เชิร์ชประชากรแค่สี่แสนย่อมเป็นไปได้ง่าย นอกจากนี้ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทชาวออสเตรเลีย จำนวนไม่น้อยต่างเดินทางมาศึกษาในนิวซีแลนด์ เนื่องจากโอกาสในการเข้าสถาบันชั้นนำสูงกว่า ในขณะที่ชาวนิวซีแลนด์จะเดินทางไปศึกษาปริญญาเอกในออสเตรเลีย เพราะโอกาสได้ทุนการศึกษาสูงกว่า ผลปรากฏว่านักวิชาการชาวออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามักจะจบการศึกษาปริญญาตรี หรือโทในนิวซีแลนด์เป็นหลัก และปริญญาเอกในออสเตรเลีย โดยนิวซีแลนด์แก้เกมการศึกษาปริญญาเอก ด้วยการให้นักศึกษาจากประเทศอื่นๆ เข้าศึกษาในราคาเดียวกับนักศึกษานิวซีแลนด์เอง
แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างสองประเทศยังเป็นการบินแบบระหว่างประเทศต่อไปแม้การเข้าประเทศจะไม่มีวีซ่าแล้วก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ของนิวซีแลนด์และนายกรัฐมนตรีเควิน รัตของออสเตรเลีย ได้บรรลุข้อตกลงในการยกเลิกชายแดนระหว่างประเทศทั้งสอง โดยมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม
ข้อตกลงดังกล่าวจะเริ่มจากการเดินทางระหว่างโอ๊กแลนด์ไปสู่ซิดนีย์ เมลเบิร์น หรือบริสเบน ด้วยการไม่ต้องผ่าน ตม.หรือการตรวจเช็กกระเป๋า โดยผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์จะสแกนหนังสือเดินทางที่เครื่องออกตั๋วแบบในประเทศและผูกแท็กกระเป๋าเอง จากนั้นเครื่องจะออกบัตรโดยสารและเป็นอิเล็กทรอนิกส์พาสปอร์ตไปในตัว โดยผู้ถือตั๋วชนิดนี้จะผ่านประตูพิเศษและไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองหรือกระเป๋าแต่อย่างใด
โดยนโยบายดังกล่าวเป็นแผนสองปีภายในกลางปีหน้ารัฐบาลนิวซีแลนด์กับออสเตรเลียจะขยายระบบดังกล่าวไปสู่เมืองอื่นๆ ของทั้งสองประเทศ จากนั้นรัฐบาลทั้งสองประเทศจะวางแผนในระยะยาวที่จะเปิดชายแดนเสรี โดยให้การเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศเปลี่ยนจากการเดินทางระหว่างประเทศเป็นเหมือนการเดินทางในประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจ ลดภาษีสนามบินลงจากอัตราระหว่างประเทศเป็นภายในประเทศรวมทั้งการเปิดน่านฟ้าระหว่างสองประเทศโดยเสรี
นอกจากนี้รัฐบาลทั้งสองประเทศยังตั้งเป้าหมายให้มีการเปิดชายแดนเสรีของทั้งสองประเทศในแบบยุโรปในที่สุด โดยให้การเดินทางระหว่างสองประเทศ แม้จะห่างกันกว่าสองพันกิโลเมตร ภายในระยะเวลาห้าปี โดยตั้งความหวังไว้ว่าการเดินทางระหว่างสองประเทศในอนาคตอาจจะไม่ต้องมีแม้แต่หนังสือเดินทาง นอกจากนี้ยังได้มีข่าวการเจรจาเกี่ยวกับแนวคิดของเงินรวมออสเตรเลียนิวซีแลนด์ในระยะยาว ปัจจุบันแม้ว่าอาจจะดูค่อนข้างเลื่อนลอยก็ตาม
โลกทุกวันนี้เราน่าจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าโลกไร้พรมแดน โดยเฉพาะบรรดาชาวยุโรป ออสซี กีวี ต่างเริ่มที่จะเปลี่ยนทัศนคติจากแนวทางชาตินิยมมาสู่แนวคิดแบบโลกาภิวัตน์ ชาติที่เคยเป็นอริกันมานับร้อยปีอย่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสกลับกลายเป็นคู่หูในการเมืองยุโรปและการเมืองโลก
ขณะที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ที่ห่างกันเป็นพันกิโลเมตรก็มีความพยายามที่จะลดช่องว่างระหว่างประเทศลง เมื่อหันกลับมามองประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้ผมคิดว่าถ้าเราสามารถที่จะนำแนวคิดที่ดีของฝรั่งเพื่อนำมาใช้ในบ้านเราได้บ้าง แม้ไม่ถึงขั้นที่จะเปิดชายแดนหรือน่านฟ้าเสรีกับทุกประเทศแบบในยุโรปหรือนิวซีแลนด์
แต่ผมมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าประเทศไทยของเรามีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำของเอเชียในด้าน Integration ได้โดยเป็นตัวกลางที่จะสามารถลดความตึงเครียดระหว่างชาติต่างๆ ในเอเชียเพื่อนำไปสู่การรวมตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้ในอนาคต ถ้าเราหันมาเปิดใจให้กว้างและลดความขัดแย้งในประเทศของเราเองและที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|